ข่าว “เป็นแล้วไม่ตาย” ดันตัวเลขผู้ติดเชื้อ “โอมิครอน” พุ่ง

            นักวิชาชีพฯ แนะ เปิดรับข้อมูลโควิด “ต้องฟังหูไว้หู” ตรงไหนไม่มั่นใจให้เช็คซ้ำจากสื่อฯ หลัก  ด้านโฆษกกรมอนามัยรับ ติดเชื้อสูงแต่อาการหนักมีน้อย เมื่อเทียบ “เดลต้า” ปี ’64  อยากรู้ สธ. เอาอยู่หรือไม่ ให้ดูจำนวนผู้ป่วยหนัก พร้อมขอ หยุดย้ำ “ติดเชื้อแล้วไม่ตาย” ขณะที่นักวิชาการชี้ ชุดข้อมูลจากภาครัฐมีหลายแบบ มากช่องทาง แถมนักข่าวช่วยเจาะเพิ่ม ประชาชนตั้งตัวไม่ทัน ส่งผลสับสนทั้งแผ่นดิน    

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5อสมท. ในประเด็น “โอมิครอน กับ วิธีการสื่อสาร” นั้น นางสาวน.รินี เรืองหนู อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา  รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะโฆษกกรมอนามัย และผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการสื่อสาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมเป็นแขกรับเชิญเข้าพูดคุยในรายการ โดยมีนายสืบพงษ์ อุณรัตน์ และนายณรงค สุทธิรักษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเกิน 10,000 ราย ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 และเกิน 20,000 ราย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 กระทั่งล่าสุด วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ศบค. หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 25,615 ราย รวมทั้งผู้เข้าข่ายผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกจากการใช้ Antigen Test Kit (ATK) อีก 21,934 ราย

อย่างไรก็ตาม ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19  รวมทั้งแพทย์ในสาขาต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง ได้เผยแพร่ข้อมูลรวมทั้งนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงของ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ผ่านสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ไปในทำนองเดียวกันคือ แม้จะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อได้ง่าย และรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ความรุนแรงจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตอยู่ในระดับที่น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างเห็นได้ชัด

จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำเกิดคำถามว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในลักษณะนี้ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ “การ์ดตก” และการติดเชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศ กระทั่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ และ/หรือ ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีวิธีการสื่อสารอย่างไร เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักรู้ ถึงอันตรายจากการติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง  

ทั้งนี้ นางสาวน.รินี  เรืองหนู ได้ให้มุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า จากการติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากว่า 2 ปี กระทั่งสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบันนั้น เห็นได้ชัดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน และกลุ่มผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกจากการตรวจด้วย ATK ขณะที่ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีอัตราเพิ่มที่ค่อนข้างสูง แต่ระบบสาธารณสุขของไทยกลับยืนยันว่า “รับได้” และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตในขณะนี้ก็ “ไม่ได้เกินความคาดหมาย” เนื่องจากได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่า ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่วันละประมาณ 40 ราย 

ส่วนคำถามที่ว่า วัคซีนฯ ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้จริงหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวมองว่า วัคซีนฯ ช่วยลดอาการรุนแรงได้ แต่ประชาชนที่เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19  ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังติดเชื้อ ก็อาจจะเป็นเพราะเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ  สามารถหลบหลีกวัคซีนตัวเดิม ๆ ได้ เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกยังคงใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ใน เจนเนอเรชั่นที่ 1 ขณะที่เชื้อโควิด-19 ได้พัฒนาและมีการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง

นางสาวน.รินี ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อนั้นมีหลากหลาย รวมทั้งแหล่งที่มาก็หลากหลายด้วยเช่นกัน แต่ประชาชนซึ่งเป็นผู้รับสารมีความรู้เรื่องโควิด-19 ไม่เท่ากัน และมีความระมัดระวังในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารไม่เหมือนกัน  ดังนั้นการให้ข้อมูลอย่างใด ๆ จากหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องใช้ความระมัดระวัง รวมทั้งการที่รัฐออกมาประกาศว่า จะให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น คงต้องพิจารณาก่อนว่า คนไทยพร้อมหรือไม่ และภาครัฐให้ข้อมูลเพื่อการเตรียมตัวของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ และทำความเข้าใจเรื่องไวรัสโควิด-19 ได้จริง ๆ แล้วหรือยัง

“ตรงนี้ คงต้องพิจารณาให้ดีว่า คนไทยพร้อมแล้วหรือยัง ขณะที่ในส่วนของผู้รับสารนั้น ก็อยากจะฝากว่า การเปิดรับข้อมูลข่าวสารในเรื่องโควิด-19 ขอให้ฟังหูไว้หู คือเมื่อมีข้อมูลเข้ามา ก็ขอให้ไตร่ตรองดูว่า มาจากหน่วยงานราชการหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า ข้อมูลข่าวสารที่เราอ่านไปแล้วนั้น อยู่บนเว็บไซต์ข่าวของสำนักข่าวหลักหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นข่าวปลอม และเมื่อเป็นข่าวปลอมหน่วยงานราชการก็ต้องจัดการแก้ไข หรือแก้ข่าวในทันทีทันใด” 

ขณะที่นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยว่า จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ คือ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงเดือนมีนาคม คือ จะเป็นเช่นนี้อีกประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นก็จะเริ่มทรงตัวและจะค่อย ๆ ลดลงเหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก แต่หากนำตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในขณะนี้ เปรียบเทียบกับช่วงของการระบาดในระลอก 3 คือ ปลายเดือนกรกฎาคม 2564  ก็จะเห็นได้ว่า ในช่วงนั้น ประเทศไทยมีการติดเชื้อวันละประมาณ 25,000 คน และจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมีมากถึง 5,600 คน ขณะที่ปัจจุบันตัวเลขการติดเชื้อก็อยู่ที่ประมาณ 25,000 คนเท่ากัน แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบมีเพียง 965 คน  นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในช่วงปลายเดือน ก.ค.2564 อยู่ที่ 1,300 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจเพียง 263 ราย นอกจากนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงปลายเดือน กรกฎาคม 2564 มีมากกกว่าวันละกว่า 200 ราย แต่ปัจจุบันอยู่ที่วันละประมาณ 40 รายเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันมาก และขอยืนยันว่า สาธารณสุขไม่ได้ปกปิดตัวเลขไว้อย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกต

“ไม่มีเหตุผลที่เราจะปกปิดตัวเลข และการที่จะดูว่า ระบบสาธารณสุขของไทยยังรับมือได้หรือไม่ นั้น ขอให้สื่อมวลชนและประชาชนสนใจตัวเลขของระบบบริการซึ่งก็คือ ตัวเลขผู้ป่วยหนัก และตัวเลขผู้ที่ต้องใส่ท่อหายใจแบบเน้น ๆ เพราะตรงนี้จะเป็นดัชนีที่ชี้ว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยยังเอาอยู่หรือไม่ และตอนนี้เรายังเอาอยู่”

ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาสื่อสารว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง กระทั่งคนไทยไม่ตระหนักถึงอันตรายและป้องกันตัวเองน้อยลงนั้น นายแพทย์เอกชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลออกมาในลักษณะนี้ เพราะจะทำให้ประชาชน “การ์ดตก” และอาจนำเชื้อไปติดประชาชนในกลุ่ม 608 

นอกจากนี้ การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ข้อเท็จจริงคือ ผู้ติดเชื้อราว 30-50% จะมีอาการหลงเหลืออยู่ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า เป็นอาการของ Long Covid ซึ่งจะเกิดกับผู้ป่วยโควิดหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว เช่น ปวดหัว มึนงง ไม่สดชื่น แสบตา คัดจมูก การรับกลิ่น ชาที่ลิ้น ใจสั่น ปวดท้อง ปวดข้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด วิตกกังวล ซึมเศร้า และอาการเหล่านี้จะติดตัวผู้ป่วยอยู่ราว 3-6 เดือน หรือบางรายอาจจถึง 1 ปี ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงไม่ควรให้ตัวเองติดเชื้อ

ในด้านของ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร กล่าวว่า การที่จะทำให้สื่อมวลชน และสื่อออนไลน์ สนใจและให้ความสำคัญกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นเป็นเรื่องยาก แม้สัปดาห์ที่ผ่านมาสังคมไทยเริ่มมีแนวโน้มที่จะให้ความะสนใจมากขึ้น อันเนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น  แต่ก็มีประเด็นข่าวอื่นเข้ามาชิงพื้นที่ข่าวนี้ไป เช่น ข่าวดาราสาวตก “สปีดโบ๊ต” 

            อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการควรจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ผ่านสื่อออนไลน์ที่เป็นที่นิยมของคนไทยให้มากขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารของคนไทยนั้น นิยมรับจากสื่อออนไลน์มากกว่าช่องทางอื่น ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือกับกับสื่อออนไลน์ต่าง ๆ รวมทั้ง “Line@” ของ “หมอพร้อม” ก็ควรต้องมีข้อมูลที่ทันสมัย (up date) อยู่ตลอดเวลา เช่น การแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขนั้น “Line@” ของ “หมอพร้อม” ก็ควรจะมีพร้อม ๆ กับการแถลงข่าวดังกล่าวด้วยเช่นกัน   

ส่วนการสื่อสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ของหน่วยงานภาครัฐนั้น โดยส่วนตัวมองว่า ควรเป็นการสื่อสารในเชิงรุก แต่ทุกวันนี้ดูเสมือนกับเป็นการทำงานแบบตั้งรับ การสื่อสารออกมาหลายช่องทางจนมากเกินไป ข่าวสารถูกส่งออกมาจากหลายหน่วยงานอย่างกระจัดกระจาย ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ขณะที่สื่อเองก็ไปสัมภาษณ์บุคคลหลากหลาย และข้อมูลก็ไม่ตรงกัน จึงทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสับสน 

“ทุกวันนี้ นอกจากจะสร้างความสับสนแล้ว รัฐก็ยังไม่ยอมรับอีก เช่น มีภาพคนนอนรอรับการรักษาข้างถนน รัฐก็บอกว่าไม่มี (กรณีไรเดอร์ นอนรอรับการรักษาที่ รพ.นพรัตน์ฯ)  ซึ่งจริง ๆ ควรยอมรับ และต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา ต้องพยายามเปิดช่องทางการสื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงได้จริง เช่น อาจจะพิจารณาปรับระบบ “Call Center” ของหน่วยงานบางแห่งที่ในช่วนี้ประชาชนใช้บริการน้อย แล้วระดมมาให้ความช่วยเหลือประชาชน ทำระบบลิงค์ข้อมูลเข้าไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องโควิดโดยตรง ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ส่วนกรณีหมอที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ออกมาให้ข้อมูลเยอะมากนั้น ก็คงต้องดูว่า ข้อมูลที่นำมาเผยแพร่มาจากแหล่งไหน เชื่อถือได้หรือไม่  แต่จริง ๆ  แล้ว เรื่องแบบนี้ แพทยสภาฯ ควรต้องเข้ามาดูแล  ส่วนประชาชนก็ต้องมีภูมิคุ้มกันก่อนที่จะเปิดรับข้อมูลข่าวสาร  และสื่อฯ ก็ต้องให้ข้อมูลเรื่องโควิดในประเด็นที่น่าสนใจมากขึ้น เช่น ตอนนี้ ต้องเน้นเรื่อง Long Covid คือ ต้องเน้นให้มากกว่านี้”

————————–