การรายงานข่าวไสยศาสตร์และหวย ต้องแบบไหน..?

ประธานจริยธรรม สภาการฯ ชี้ แนวปฏิบัติฯ นำเสนอข่าวไสยศาสตร์-หวย เพื่อองค์กรสมาชิกได้ทำงานในทิศทางเดียวกันและก่อประโยชน์ให้สังคม ขณะที่ บก.พระเครื่อง เดลินิวส์ แนะ เชื่อแล้วมีความสุขก็ดี แต่ต้องมีขอบเขตและเหตุผล พร้อมเผย ปัจจุบัน “พระเครื่องพิมพ์นิยม” มีมูลค่าสูงถึง 60-70 ล้านบาท ด้านนักวิชาการย้ำ โลกเข้าสู่ยุค “สื่อหลอมรวม” แต่ กสทช. ยังเน้นวิทยุ-โทรทัศน์ ตั้งคำถาม OTT จะอย่างไร การเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพแบบสมัครใจถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนหรือยัง


รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 ซึ่งออก อากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “แนวปฏิบัติและการรายงานข่าวไสยศาสตร์-หวย” โดยมี นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายศิวสรร เมฆสัจจากุล หรือ หมู-มหาเวทย์ หัวหน้าข่าวหน้า 1 และบรรณาธิการพระเครื่อง นสพ.เดลินิวส์ รวมทั้ง รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมพูดคุยในรายการกับ นายวิชัย วรธานีวงศ์ และนายณรงค สุทธิรักษ์


ทั้งนี้สืบเนื่องจากการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ของสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา มีลักษณะของการนำเสนอเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล เรื่องเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ อันนำไปสู่การสร้างความงมงาย รวมถึงการให้ข้อมูลสนับสนุนการเล่นพนัน การเข้าร่วมกิจกรรมเสี่ยงโชคสินค้าและบริการ รวมถึงการทายผลตัวเลขสลากพนัน


สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในสังกัดสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ข้อ 32
โดยนายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติไปแล้วเกือบ 20 ฉบับ ส่วนรายละเอียดของแนวปฏิบัติเรื่อง “การนำเสนอข่าว และภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน พ.ศ. 2565” ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 นั้น มีสาระสำคัญรวม 11 ข้อ แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นที่สีแดง คือ ข้อ 1-5 ซึ่งเป็นการระบุห้ามไว้ว่า “ต้องไม่นำเสนอ” ขณะที่ข้อ 6-8 เป็นส่วนของพื้นที่สีชมพู คือ “ให้พึงระมัดระวัง” ส่วนข้อ 9-10 “เป็นข้อแนะนำ” ว่า ควรจะต้องเป็นอย่างไร และสุดท้ายคือ ข้อ 11 เป็น คำนิยามของแนวปฏิบัติทั้ง 10 ข้อ


ทั้งนี้เหตุผลและความจำเป็นในการตัดสินใจออกแนวปฏิบัติเรื่องนี้ก็คือ ปัจจุบัน มีผู้ทำหน้าที่สื่อหลากหลายมากขึ้น โดยมีโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone เพียงเครื่องเดียวก็สามารถเป็นสื่อได้แล้ว แต่ผู้ที่เป็นสื่อนั้น อาจจะไม่มีความเข้าใจถึง “หน้าที่ความรับผิดชอบ” ของสื่อที่ต้องมีต่อสังคม ตัวอย่างเช่น กรณีแม่น้ำหนึ่ง ที่จุดธูปแล้วออกมาเป็นตัวเลขนั้น แม่น้ำหนึ่ง ก็อยู่ในฐานะที่เป็นสื่อแล้ว เนื่องจากมีการผลิตเนื้อหา และเผยแพร่เนื้อหาที่ผลิตสู่สาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) แต่เนื่องจากแม่น้ำหนึ่งไม่ได้เป็นองค์กรสมาชิก สภาการสื่อมวลชนฯ จึงไม่สามารถเข้าไปพูดคุยหรือดูแลแม่น้ำหนึ่งได้ แต่หากมีสื่อหลักที่เป็นองค์กรสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนฯ นำเนื้อหาที่แม่น้ำหนึ่งผลิตมาเผยแพร่ซ้ำ สภาการสื่อมวลชนฯ มีหน้าที่ต้องเข้าไปดูแล รวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่หากเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับองค์กรสภาการสื่อมวลชนฯ ก็ต้องเข้าไปดูแล และหนึ่งในวิธีการดูแลก็คือ การกำหนดแนวปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง


“เราก็พยามกำกับดูแลกันเองอย่างเต็มที่ และองค์กรสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนฯ ก็ทำงานอยู่ในกรอบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อน้ำดีมักจะไม่มี เรตติ้ง เนื่องจากประชาชนไม่ค่อยให้ความสนใจกับเนื้อหาที่สื่อน้ำดีนำเสนอ ดังนั้นจึงอยากฝากประชาชนให้สนับสนุนสื่อน้ำดีด้วย เพราะถ้าไม่สนับสนุนกันแล้ว เรตติ้ง ของสื่อน้ำดี ก็จะไม่มี และ(เรตติ้ง) จะไปอยู่ในกลุ่มสื่อหวือหวาหมด คือ สื่อน้ำดีต้องมีที่ยืน และต้องสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อสังคมที่ดี”


ทางด้านนายศิวสรร ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องความเชื่อความศรัทธา และไสยศาสตร์ เช่น ข่าวพระเครื่องนั้น ถ้าเป็นสื่อในกลุ่มสื่อหลักก็จะนำเสนอในกรอบในกติกา และไม่มีการมอมเมา คือ จะไม่แนะนำว่า คล้องพระเครื่องรุ่นนั้นรุ่นนี้แล้วหนังเหนียวฟันไม่เข้ายิงไม่ออก แต่จะมีเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อ่านได้เปรียบเทียบและคิดตามไปพร้อม ๆ กัน เช่น คนดังประสบอุบัติเหตุ แล้วมีการรายงานข่าวว่า รถพังยับทั้งคันแต่คนขับไม่ได้รับบาดเจ็บเพราะแขวนพระรุ่นโน้นรุ่นนี้ ซึ่งอยากจะทำความเข้าใจว่า หากมีข่าวประเภทนี้ออกมา ผู้รับสาร (Audience) ก็คงต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมตลอดจนลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุให้ชัดเจนและรอบด้าน ซึ่งถือว่า เป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องนำพิจารณาเพื่อประกอบความเชื่อจากการติดตามข่าวนั้นๆ ด้วย


อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากพัฒนาการของสื่อในยุคปัจจุบันที่ไปไกลมากแล้วนั้น ทำให้ผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone ก็สามารถนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องพระบูชาได้ ไม่ว่า ข้อมูลจะถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมี สมาคมฯ (สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย : Thai Buddha Image Admiration Association) แต่งานของสมาคมก็เน้นไปในเรื่องควบคุมคุณภาพ พระเครื่องพระบูชา (เก๊ / แท้) มากกว่าที่จะดูแลเรื่องจริยธรรมของผู้นำเสนอเนื้อหา ทำให้การควบคุมกำกับดูแลเป็นไปค่อนข้างลำบาก


“ทุกวันนี้ใครมีมี Smart Phone ก็เป็นเซียนได้หมด ดังนั้นผู้รับสารจึงต้องทำความเข้าใจและต้องรู้เท่าทันว่า เรากำลังดูอะไร หรือกำลังติดตามใครอยู่ แล้วบุคคลที่เราติดตามนั้น มีความรู้ ความเข้าใจจริงหรือไม่ ส่วนคำถามที่ว่า พระเครื่องมีความสำคัญถึงขั้นที่สื่อหลักต้องมีโต๊ะข่าวพระเครื่อง และมี บก.กำกับดูแลนั้น ก็เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยให้ความเคารพ ความเชื่อ และความศรัทธพระเครื่องเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพระเครื่อง คือรูปเคารพหรือตัวแทนของพระพุทธเจ้า และผู้สร้างพระเครื่องก็มีเจตนาที่ต้องการให้พระเครื่องเป็นสิ่งย้ำเตือนให้คนที่แขวนทำความดี มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งมองพระเครื่องไปในเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็เพราะสมัยโบราณนักรบจะต้องมีของดีคล้องคอใครแคล้วคลาดก็แสดงว่า มีของดี หรือบางกลุ่มมีความเชื่อความศรัทธาว่า คล้องพระเครื่องแล้ว พระจะคุ้มครอง ทำให้ชีวิตดี คนกลุ่มนี้ก็พยายามแสวงหามาคล้องคอ ดังนั้นจากการให้เปล่า จึงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิ่งของ กระทั่งกลายเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงิน ทำให้พระเครื่องบางพิมพ์ในปัจจุบันมีราคาสูงถึง 60-70 ล้านบาท”


นายศิวสรร กล่าวต่อไปว่า วงการพระเครื่องก็เหมือนวงการอื่น ๆ ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ดังนั้นข่าวการหลอกลวงในวงการพระเครื่องจึงมีอยู่จริง แต่ในอีกมุมหนึ่งของผู้นิยมพระเครื่องคือ เรื่องความเชื่อ ความศรัทธา และความหวังนั้น ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นใครที่เชื่อแล้วมีความสุขก็ให้เชื่อต่อไป เพียงแต่ ความเชื่อที่ว่านั้น ต้องมีขอบเขต และต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล


ขณะที่ รศ.สุรสิทธิ์ กล่าวว่า ในจำนวน 11 ข้อของของแนวปฏิบัติเรื่อง “การนำเสนอข่าว และภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน พ.ศ. 2565” นั้น มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์รวมอยู่ด้วย คือ ข้อ 7 (พึงระมัดระวังการเสนอข่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากเดินทางไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ โดยชี้นำไปสู่การส่งเสริมให้มีการเล่นพนัน ซื้อสลากพนัน หรือสนับสนุนความเชื่ออันงมงายซึ่งพิสูจน์ไม่ได้) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น ปรากฏการณ์แบบ “ดราม่า” อยู่ในสื่อบางแพลตฟอร์ม ซึ่งก็ขอตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่มีอยู่แล้ว และที่กำลังจะมี จะสามารถครอบคลุมไปถึงสื่อในลักษณะนี้หรือไม่เช่น ปัจจุบัน มี “เพจเฟซบุ๊คเลขเด็ด” อยู่มากกว่า 1 พันเพจ หรือกรณี เพจแม่น้ำหนึ่งนั้น กฎหมายสามารถครอบคลุมถึงหรือไม่ ขณะที่แนวปฏิบัติของสภาการฯ ในเรื่องนี้ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้กับองค์กรสมาชิกฯ เท่านั้น เรื่องของสื่อออนไลน์ในกรณีนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก


“เมื่อครั้งที่ผมเป็นอนุกรรมการ ในสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผมเคยเป็นคณะทำงานร่วมจัดทำแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เรื่อง การนำเสนอข่าวและภาพข่าวกีฬา พ.ศ. 2560 ซึ่งตอนนั้นเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่าง นักวิชาการ นักวิชาชีพ และตัวแทนจากภาคประชาชน จึงจะเห็นได้ว่า การจัดทำแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรายงานข่าว เป็นหน้าที่ของสภาการฯ และมีการทำกันมาโดยตลอด ส่วนคำถามที่ว่า ความนิยม หรือพฤติกรรมของคนไทยในยุคดิจิทัล และภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของที่โควิด-19 นั้น มีการเสพข่าวไสยศาสตร์ ตัวเลข หรือหวยมากน้อยแค่ไหนนั้น ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดในเวลานี้ก็คือ คนไทยทำบุญน้อยลง”


รศ.สุรสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สื่อไทยพยายามเรียกร้องให้มีการส่งเสริมและกำกับดูแลกันเองมาโดยตลอด ขณะที่องค์กรที่เกี่ยวข้องก็พยายามให้ความรู้แก่ประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องของการ รู้เท่าทันทันสื่อ (Media literacy) กระทั่งเกิดเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2540 จากนั้นก็มีการจัดตั้ง กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งทั้ง 2 องค์กรนี้ มีมาหลายทศวรรษ กระทั่งสื่อมีการข้ามแพลตฟอร์ม (การหลอมรวมสื่อ : Media Convergence) แต่กฎหมาย กสทช. ก็ยังคงเน้นอยู่ในเรื่องของวิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งก็ต้องตั้งคำว่า ถึงวลาที่จะต้องครอบคลุมไปยัง OTT (Over The Top : การให้บริการใดใดผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด โดยที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่มีการลงทุน หรือไม่ต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง) แล้วหรือยัง และการยินยอมให้กำกับดูแลกันเองในรูปแบบสมัครใจนั้น ถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบแล้วหรือไม่