ข่าวที่สื่อไทยให้ความสนใจ ใน Q1/65

โดยไม่ได้นัดหมาย ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ผอ. สนข.ไทยพีบีเอส และนักวิชาการนิเทศฯ อาวุโส ชี้ชัด “3 เดือนแรก ปี ’65” ข่าวดาราสาวแตงโม ครองพื้นที่สื่อได้อย่างน่าตกใจ ขณะที่ประเด็นสำคัญขาดหายไปจากหน้าจอ พร้อมแนะหาจุดร่วม “ความสนใจใคร่รู้ และสิ่งที่ผู้คนควรจะรู้” ให้เกิดประโยชน์ ขณะที่ “อาจารย์จุม” ย้ำ ยุคนี้ Investigative News มีคุณค่ามากกว่า Copy สื่อสังคมออนไลน์เพื่อหาเรตติ้ง

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2565 ซึ่งออก อากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “ข่าวที่สื่อไทยให้ความสนใจ ในไตรมาสแรกของปี ’65” โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการ สำนักข่าวไทยพีบีเอส และ รศ.จุมพล รอดคำดี นักวิชาการนิเทศศาสตร์ ร่วมพูดคุยในรายการ

ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ได้เกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล โดยเฉพาะการป้องกัน การรักษา การเยียวยา การเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และมาตรการผ่อนคลายของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 รวมทั้งข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและการปรับขึ้นราคาสินค้า นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโม ตลอดจนข่าวแก๊ง คอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงคนไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ฯลฯ

การติดตามเพื่อนำเสนอรายละเอียดข่าวของสื่อหลัก ในประเด็นดังกล่าวเหล่านี้ให้แก่กับผู้รับข้อมูลข่าวสาร (Audience) จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรหาคำตอบว่า สื่อหลัก รวมทั้งผู้รับสารให้ความสนใจ และให้น้ำหนักข่าวใดมากกว่ากัน ภายใต้การตัดสินใจแบบไหน เพื่อเป็นข้อมูลในการทำงานข่าวในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้

โดย ดร.ธนกร กล่าวว่า สื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดวาระข่าวสาร และทิศทางความสนใจทางสังคมที่สำคัญกลไกหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากกระแสข่าวดาราสาวแตงโม (นิดา พัชรวีระพงษ์) ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมนั้น สื่อต่าง ๆ ได้รายงานข่าวนี้ตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากเป็นการเสียชีวิตของผู้มีชื่อเสียงในแวดวงบันเทิง และการเสียชีวิตมีข้อสงสัย แม้สื่อมวลชนถือเป็นผู้มีบทบาทในการติดตามความเคลื่อนไหวและรายงานข่าวดังกล่าว แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงพื้นที่สำหรับนำเสนอข่าวอื่น ๆ ที่อาจถูกละเลยและไม่มีการนำเสนอ หรือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เช่น เหตุการณ์ที่เป็นความสนใจในระดับโลก คือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

“Media Alert” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้ทำการสำรวจวาระข่าวสารและสัดส่วนเวลาจากรายการข่าวโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือ ทีวีดิจิทัล จากกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกมาจากข้อมูลการจัดอันดับของ “นีลสัน” ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ติดตามรายการข่าว ในช่วง 19.00 น. ของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ในกลุ่มสถานีโทรทัศน์ที่มีผู้ชมสูงสุด 5 อันดับแรก อีก 3 สถานี เพื่อแสดงให้เห็นถึง ประเด็นข่าว วาระข่าวสาร และเปรียบเทียบความยาว หรือสัดส่วนในการนำเสนอ ในวันที่ 11, 13 และ 15 มีนาคม 2565
ผลการสำรวจพบว่า มีประเด็นข่าวที่หายไป (Missing Topics) และหลายประเด็นได้รับความสนใจจากสื่อน้อยมาก กระทั่งอยู่ในระดับที่ไม่สมดุล ขณะที่บางประเด็นกลับมีการให้น้ำหนักจน “ล้นเกิน” เช่น การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับดาราสาวแตงโม ของทั้ง 4 ช่องดังกล่าวนั้น มีการนำเสนอในสัดส่วนที่สูงถึง 59.02% ขณะที่ข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ มีการนำเสนอเพียง 15.03% ข่าวสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน 5.83% ข่าวการเสียชีวิตของ สรพงษ์ ชาตรี 3.89% และข่าวรับน้องที่เกิดการเสียชีวิตของนักศึกษาปีหนึ่ง 3.81% ขณะที่ข่าวโควิด-19 เป็นข่าวที่ขาดหายไปจากหน้าจอ

“ถ้าลงไปดูสัดส่วนการนำเสนอข่าวดาราสาวแตงโมของแต่ละสถานีโทรทัศน์ทั้ง 4 ช่อง ก็จะพบว่า ไทยพีบีเอส มีการนำเสนอข่าวดาราสาวแตงโม 15.13% ขณะที่ช่องเชิงพาณิชย์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวชิ้นนี้ 73% และอีกหนึ่งช่องนำเสนอมากถึง 83.5% ของข่าวที่มีการนำเสนอทั้งหมด ในช่วงไพรม์ไทม์ คือ ช่วงข่าวค่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า 3 เดือนแรกของปี 2565 สื่อเน้นนำเสนอประเด็นที่ผู้คนอยากรู้”

ดร.ธนกร กล่าวต่อไปว่า แม้ เรตติ้ง จะเป็นปัจจัยหลักสำหรับความอยู่รอดของสื่อ แต่สังคมก็ต้องแยกแยะสื่อมวลชนออกจากสื่อทั่วไป โดยสื่อทั่วไปในความหมายนี้ก็คือ สื่อที่เกิดจากประชาชนที่ส่งออกหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ถือว่าเป็นสื่อมวลชน ขณะที่คำว่า สื่อมวลชนนั้น ก็จะต้องมีแนวปฏิบัติ (Quote of Conduct) ภายใต้กรอบจริยธรรม และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ดังนั้นหากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวแบบดราม่า และแสวงหาเรตติ้งเป็นหลัก การทำหน้าที่ของสื่อก็จะขาดสมดุล ขณะที่ผู้ชมผู้ฟังก็ต้องรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และต้องไม่มีความรู้สึกที่คล้อยตามการนำเสนอจนมากเกินไป หรือ “in” กับประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่สื่อนำเสนอ โดยต้องระลึกไว้เสมอว่า การนำเสนอข่าวของสื่อในลักษณะดราม่านั้น มักจะมีมิติเรื่องรายได้เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

ด้ายนายก่อเขต กล่าวถึงการให้น้ำหนักข่าวของไทยพีบีเอสในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ว่า มีหลากหลายประเด็นคละเคล้ากันไป ไม่มีกำหนดว่า จะต้องนำเสนออะไร แต่จะนำเสนอประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ และประเด็นที่ประชาชนต้องรู้ แต่หากพิจารณาถึงภาพรวมในการให้น้ำหนักข่าวสารของสื่อไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ก็จะพบว่า สื่อไทยให้ความสนใจนำเสนอข่าวในกลุ่มที่ประชาชนต้องการรู้ มากกว่าข่าวที่ประชาชนควรรู้ โดยเฉพาะข่าวการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโมง เช่นเดียวกับสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่นำเสนอในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องและหลากหลายแง่มุม

“คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารดาราสาวแตงโมจากสื่อสังคมออนไลน์แล้ว การติดตามข่าวนี้จากสื่อหลักยังจำเป็นต้องมีอยู่อีกหรือไม่ และสื่อหลักจะมีเนื้อหาหรือวิธีการนำเสนออย่างไร ที่จะให้อะไรกับประชาชนได้มากกว่าสื่อสังคมออนไลน์ ตรงนี้เป็นประเด็นที่สื่อหลักต้องพิจารณา”

นายก่อเขต กล่าวต่อไปว่า แม้ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์จะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่สื่อหลักก็ยังต้องเป็นที่พึ่งพิงให้กับสังคม และต้องกลับไปสู่มาตรฐานพื้นฐานของการทำงานข่าวคือ การตรวจสอบ การกลั่นกรอง ทุกข่าว ทุกข้อมูลที่ได้มา ต้องผ่านกระบวนการกองบรรณาธิการ พร้อม ๆ กับต้องทำให้ข่าวที่นำเสนอมีความน่าสนใจ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งหมายถึงว่า หากข่าวใดยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาของข้อมูลได้อย่างชัดเจน ก็ต้องลดคำว่า ความเร็ว และลดคำว่าแข่งขัน ที่แม้จะเป็นปัจจัยหลักในการหารายได้ แต่สื่อก็ไม่สามารถละทิ้งหลักการทำงานได้ นอกจากนี้ยังต้องหาจุดร่วมของความสนใจใคร่รู้ และต้องทำสิ่งที่ผู้ควรจะรู้ ให้เป็นสิ่งที่สนใจใครรู้ และทำสิ่งที่สนใจใคร่รู้ให้มีประโยชน์ ให้ความรู้ พร้อม ๆ กับให้ความหวังกับประชาชนในข่าวเดียว เช่น ข่าวดาราสาวแตงโม เป็นต้น

ขณะที่ รศ.จุมพล ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ข่าวการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโมถือว่า เป็นที่สุดของข่าวในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากมีการนำเสนอ กระทั่งผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความเบื่อหน่ายที่จะติดตาม โดยเฉพาะจากสื่อหลัก เนื่องจากไม่มีความหวังที่จะเห็นประเด็นที่เป็นความก้าวหน้าของคดีความ ยกเว้นข้อมูลที่นำมาจากแหล่งข้อมูลรอง (Secondary Source) แล้วนำมาเสนอซ้ำ ทั้งที่ควรจะทำข่าวชิ้นนี้ในเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative News)

“ข่าวดาราสาวแตงโม กินพื้นที่ข่าวไปมาก ทำให้คุณค่าข่าวหายไป และข่าวไม่น่าเชื่อถือ เพราะนำข้อมูลจากสื่อโซเชียลมานำเสนอ คือ สื่อโซเชียลว่าอย่างไร สื่อหลักก็นำเสนอออกไปอย่างนั้น เช่น ขอนไม้กลายเป็นร่างคุณแตงโม สื่อหลักก็นำเสนอโดยไม่มีการตรวจสอบ หรือแม้แต่คำพูดของชาวบ้านที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ ก็มีการนำมาเสนอ ดังนั้นสื่อต้องตั้งหลัก ต้องทำข่าวสืบสวนสอบสวน เพราะในยุคนี้ข่าวสืบสวนสอบสวนสำคัญมาก อย่าไปวิ่งตามข้อมูลที่ชาวบ้านโพสต์ เพราะผู้รับสารจะไม่ได้อะไร และความน่าเชื่อถือของสื่อก็จะหายไปด้วย”

รศ.จุมพล กล่าวต่อไปว่า นอกจากข่าวดาราสาวแตงโมแล้ว การนำเสนอข่าวโควิด-19 นั้น สื่อหลักทำได้ดี คือ ครบถ้วนรอบด้าน แต่ควรจะเพิ่มน้ำหนักในประเด็นการแนะนำเพื่อให้ประชาชนอยู่คู่กับโควิด-19 แบบจับต้องได้จริง คือ ไม่รายงานแค่การให้กำลังใจ แต่ควรจะมีข้อแนะนำที่สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคมเป็นอย่างมาก