องค์กรสื่อหนุน ตร.แก้ประวัติอาชญากร

องค์กรสื่อหารือ “บิ๊กโจ๊ก” หนุนแก้ไขข้อมูลประวัติอาชญากรให้ถูกต้อง คืนความเป็นธรรมให้ประชาชน แนะยกเลิกเก็บลายนิ้วมือ แก้ระเบียบให้สอดคล้องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้หารือร่วมกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากร ลบล้างความผิด คืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลประวัติอาชญากรจำนวนมากที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะตามระเบียบการปฏิบัติได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออกเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิในการทำงาน การเดินทางไปต่างประเทศ และสิทธิอื่นๆในฐานะผู้บริสุทธิ์ได้ หรือแม้แต่ผู้สื่อข่าวเองที่ยังมีประวัติอาชญากร ก็ทำให้ไม่สามารถทำบัตรผู้สื่อข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์ได้

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการย้ายข้อมูลในส่วนของผู้ที่เคยเป็นเพียงผู้ต้องหาออกมา ไม่ให้อยู่ในฐานข้อมูลประวัติอาชญากรอีกต่อไป เนื่องจากมองว่ากรณีที่ผู้ต้องหาถูกยกฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว ควรจะถูกลบประวัติออก แต่เนื่องจากปัจจุบันมีประวัติที่ยังไม่คัดแยกผลคดีกว่า 12.4 ล้านราย ประกอบกับเจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนน้อย แต่จะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 จากนั้นจะแจ้งให้เจ้าตัวทราบต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและสิทธิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือที่อยู่ในการจัดเก็บของตำรวจ ไม่ได้เป็นเพียงข้อมูลของตำรวจ แต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนด้วย ซึ่งประชาชนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองในข้อมูลส่วนบุคคลของตนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอเสนอให้การจัดเก็บข้อมูลประวัติอาชญากรต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงและกฎหมาย เช่น ในชั้นสอบสวนต้องไม่มีการเก็บลายพิมพ์นิ้วมือ หากจะเก็บต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร และเก็บไว้ในฐานข้อมูลผู้ต้องหา ไม่ใช่ฐานข้อมูลอาชญากร และในกรณีที่ไม่ใช่อาชญากรแต่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลอาชญากร ตำรวจต้องเร่งจำหน่ายชื่อนั้นออกโดยเร็ว และเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ และเร่งแก้ไขถ้าเจ้าของข้อมูลแจ้งความผิดพลาด

ขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ รับปากว่า ยินดีรับข้อเสนอทั้งหมด และจะศึกษาพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียด ซึ่งระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำลังแก้ไขจะต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติฉบับนี้