โลกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ : ‘จอกอ’

googlehangout

โลกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์

โลกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักพิมพ์ดีเอ็มซี พูดในวงเสวนา “วางกรอบความสัมพันธ์นักข่าว และนักโฆษณา ประชาสัมพันธ์อย่างไร ให้เหมาะสม” บนเวทีประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

ประเด็นที่คุณดนัยต้องการสื่อสาร คือ มนุษย์ยุคใหม่มักให้น้ำหนักเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก มากกว่าเหตุผล และความเป็นจริง แต่ประเด็นที่ผมต้องการพูดก็คือ ในแวดวงสื่อก็มักให้น้ำหนักอารมณ์ ความรู้สึก มากกว่าเหตุผลเช่นกัน

เวทีประชุมเครือข่ายปีนี้มี 2 วัน วันแรกเป็นการปูพื้นฐานความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การสร้างสมดุลให้สื่อมีคุณภาพและอยู่รอดทางธุรกิจ การวางกรอบความสัมพันธ์ของนักข่าว นักโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สุดท้ายคือ การเสนอทางเลือกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อ วันต่อมาเป็นการระดมสมอง เพื่อปฏิรูปหลักสูตร ซึ่งผมได้จุดประกายความคิดนี้ไว้ เมื่อการประชุมครั้งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

การปฏิรูปหลักสูตรเป็นความตั้งใจแต่แรกเมื่อเริ่มจัดให้มีการประชุม โดยจะปฏิรูปหลักสูตรคู่ขนานไปกับการปฏิรูปตำราด้านวารสารศาสตร์ที่หลายเล่มเกือบจะใช้การไม่ได้แล้วในบริบทสังคมวันนี้

น่าสนใจที่เมื่อมีการระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปหลักสูตร ปรากฏความเห็นแย้งระหว่างฝ่ายวิชาการและวิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นเลย เพราะการจัดให้ทั้งสองฝ่ายมีเวทีที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ก็เพื่อให้ความบาดหมางทางความคิด ความเชื่อของฝ่ายวิชาการ และวิชาชีพที่มีมานาน ได้ถูกเจือจางลงด้วยการหันหน้ามาพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีอะไรที่ดีทั้งหมด หรือเลวทั้งหมดจนใช้การอะไรไม่ได้เลย สำคัญคือ เรามองเห็นทิศทางร่วมกันหรือไม่ ว่า เราจะสร้างนักนิเทศศาสตร์ที่มีคุณภาพได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม นั่นอาจเป็นส่วนน้อยที่ยังมองเห็นภาพไม่ชัด หรือไม่ได้ร่วมคิด ร่วมทำกันมา แต่ในภาพใหญ่ผมยังเชื่อมั่นว่า ด้วยวิธีการเช่นนี้ จะนำเราไปสู่การอภิวัฒน์ ปฏิรูปหลักสูตรเป็นผลสำเร็จ

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ริเริ่มร่วมกับศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน กับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ราว 4 ปีก่อน จัดให้มีการระดมความเห็นระหว่างนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อมองทิศทางการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่คืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ หรือที่เราเรียกว่า อภิวัฒน์สื่อ โดยอนุมานเอาจากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

พัฒนาการสู่ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ หรือ Media Landscape ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ความรู้ใหม่ทางด้านการสื่อสารที่ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่สถาบันการศึกษา ซึ่งผลิตบัณทิตให้แก่ตลาดแรงงานจนกระทั่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่ก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ยังคงขาดแคลนตำราร่วมสมัย ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ้ง รอบด้าน “วารสารศาสตร์ คอนเวอร์เจนท์” เป็นตำราเล่มแรกที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของเครือข่ายวิชาการ วิชาชีพ สื่อมวลชน ที่ก่อตัวขึ้นในนาม “กลุ่มวารสารศาสตร์แห่งอนาคต”

กลุ่มวารสารศาสตร์แห่งอนาคต เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการที่ส่วนใหญ่ประจำการอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชน และนักวิชาชีพส่วนหนึ่ง ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จำเป็นต้องปฏิรูปองค์ความรู้ ระบบการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์อย่างขนานใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า ภายใต้เงื่อนไขโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะผลักดันความมุ่งมั่นเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ ถึงกระนั้นการก้าวไปข้างหน้าแม้เพียงหนึ่งก้าว ก็ย่อมดีกว่าการเพิกเฉย ละเลยในหน้าที่ความรับผิดชอบของความเป็นครู

ดังนั้น ในห้วงระยะเวลาราว 4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มวารสารศาสตร์แห่งอนาคตจึงมีกิจกรรมการจัดประชุมร่วมเครือข่ายวิชาการ วิชาชีพ ในหัวข้อสำคัญๆ หมุนเวียนกันไปในแต่ละสถาบันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ครั้งสุดท้ายครั้งที่ 8 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาหลักสูตร ไม่ว่าช้าหรือเร็ว ก็เรียกว่าได้ทำ จะเป็นใครที่ไหนก็ตาม เก่งกาจสามารถเพียงใดก็ตาม ถ้าเพียงคิดโต้แย้ง และยึดมั่นถือมั่นในแนวทางของตัวเองว่า เป็นหนทางรอดเพียงหนทางเดียวในโลกนี้ มิจฉาทิฐิเช่นนี้ แม้เพียงสักประโยคก็ไม่มีใครเชื่อฟัง