คนดีออกแบบไม่ได้ : ‘จอกอ’

googlehangout

คนดีออกแบบไม่ได้

คนดีออกแบบไม่ได้ : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

               รับชวนไปให้ความรู้ และให้กำลังใจการรวมกลุ่มของวิทยุชุมชน ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีเป้าหมายในการกำกับดูแลกันเอง หรือกำกับดูแลร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นแม่งาน

ถัดมาตัวแทนคณะทูตจากสหภาพยุโรป ยื่นหนังสือถึงคุณเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะตัวแทน 4 องค์กรสื่อเพื่อให้ทบทวนบทบาทการเสนอข่าวคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวและเรื่องอื่นๆ

วันเดียวกัน  คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ เชิญไปร่วมเสวนา ว่าด้วยเรื่อง “จริยธรรมสื่อมวลชน : เรียนและสอนอย่างไรให้เกิดผล” เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาสั้นๆ คู่ขนานไปกับการทำงานปฏิรูปสื่อในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งในประเด็นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของสื่อ ยังมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ในฐานะคนสอนจริยธรรม และคนที่มีหน้าที่โดยตรง ผมจำเป็นต้องมีคำตอบ และยินดีจะตอบทุกครั้ง แม้จะเป็นคำตอบซ้ำๆ ในคำถามเดิม เพราะเรื่องนี้สำคัญยิ่ง

เรื่องการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เกาะเต่า ไม่ได้มีเพียงเรื่องข้อสงสัยว่า 2 ผู้ต้องหาชาวพม่าเป็นตัวจริงหรือแพะเท่านั้น หากยังมีเรื่องการทำงานของสื่อไทย ที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพด้วย การที่ตัวแทนคณะทูตอียู เข้าพบคุณสุภิญญา กลางณรงค์ และพบตัวแทนองค์กรสื่อ เพื่อขอให้ระมัดระวังการเสนอข่าวเกี่ยวกับคนในสัญชาติของเขา คล้ายกับตอบรับคำขอร้องของพ่อแม่ฮันนา วิคตอเรีย ที่เดินทางมารับศพลูกสาว และขอให้สื่อไทยอย่ารุกล้ำเรื่องราวส่วนตัวครอบครัวของเขา

ผมเชื่อว่าการสอนจริยธรรมที่ดีที่สุด คือสอนด้วยกรณีศึกษา และควรจะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส หรือเพิ่งเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องบรรจุวิชาว่าด้วยการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ให้แก่เด็กๆ ตั้งแต่ประถมขึ้นมา เพราะเมื่อเขาโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเป็นผู้บริโภคข่าวสารที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสื่อ ที่คุ้นชินกับการเสนอภาพและข่าวที่ขาดไร้ความรับผิดชอบ ลำพังองค์กรสื่อ หรือผู้บริโภคข่าวสารในสังคมปัจจุบัน ก็คงไม่เพียงพอที่จะจัดการสื่อที่ละเมิดได้

กรณีฆาตกรรมที่เกาะเต่า เราได้เห็นภาพผู้เสียชีวิต ในสภาพเดิมที่น่าอเนจอนาถ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับการแชร์ไปอย่างกว้างขวาง เรื่องแบบนี้ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับญาติผู้เคราะห์ร้าย

พ่อแม่ของฮันนาจึงอาจรู้สึกแปลกใจที่สื่อไทย นำเสนอเรื่องราวลูกสาวของพวกเขา โดยไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดอะไร และสื่อไทยเองก็คงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องของคนต่างชาติที่ไม่ต้องทำตามหลักการ เช่นเดียวกับการเสนอภาพข่าวเดวิด คาราดีน ฆ่าตัวตายที่เมืองไทยหลายปีก่อน

ความรับผิดชอบเรื่องจริยธรรมนั้น อยู่นอกเหนือเงื่อนไขของกาลเวลา สถานที่ และชาติพันธุ์

จริยธรรมเป็นความดีชนิดหนึ่ง คนมีจริยธรรมก็ต้องนับว่าเป็นคนดี แต่ต้องไม่อวดดี หมายถึงเขาจะต้องไม่ประกาศตัวว่าเป็นคนดี ความดีความชั่วตัดสินจากคนอื่น จากคนอื่นที่เฝ้ามองเขามาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยนัยเดียวกัน ผมเสนอความเห็นว่า การสอนเรื่องจริยธรรมที่ดูเหมือนยังไม่ไปไหน ก็เพราะเราขาดแคลนต้นแบบของความดี ขาดคนที่เชื่อมั่นและศรัทธาในจริยธรรม ขาดคนที่คิด และสอนในสิ่งที่เขาเชื่อ

แม่ปูที่พยายามสอนให้ลูกปูเดินให้ตรงทาง ยังมีมากเกินไป