บทบาทของสื่อในการลดความรุนแรง และเกลียดชัง

ทีมคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการฯ ยก 2 กรณีข่าวดังก่อเหตุรุนแรง สะท้อนบทบาทของสื่อในการลดความรุนแรง-เกลียดชัง ชี้เหตุรุนแรงเชื่อมโยงจุดยืนการเมือง สื่อต้องไม่ผลิตซ้ำ และตระหนักปัญหาความขัดแย้งในสังคม แนะเสนอมิติความปลอดภัย การดูแลผู้ป่วยเพื่อประโยชน์สังคม ด้านนายกสมาคมนักข่าวฯ สะท้อนปัญหาสื่อสร้างความรุนแรง-เกลียดชังค่อย ๆ ลดลง หนุนเสนอแง่มุมนำไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหา ที่สังคมคาดหวังสื่อเป็นแบบอย่าง ขณะที่นักวิชาการชี้การทำงานของนักข่าวคือแบรนด์ดิ้งองค์กร หวังทุกฝ่ายร่วมมือวัดเรตติ้งด้านคุณภาพ กสทช. ให้รางวัล-ลงโทษ ทิศทางคู่ขนาน อาจได้ผล

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “บทบาทของสื่อในการลดความรุนแรง-เกลียดชัง” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทองอาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.เอื้อจิต มองผ่าน 2 เหตุการณ์ ที่เกิดในระยะเวลาไม่ห่างกัน กรณีวันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล อ้างว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ทำร้ายร่างกายนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขณะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน การแสดงทอล์คโชว์  “เดี่ยว 13”  และถัดมาวันที่ 23 ตุลาคม 2565 กรณี นายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือ เค ร้อยล้าน นักธุรกิจชาวอินเดีย ล็อกคอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ก่อนตะโกนว่ามีระเบิด

โดยระบุว่า ทั้งสองกรณี โดยเฉพาะกรณีนายศรีสุวรรณ มีสื่อออนไลน์ ซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไป รวมทั้งสื่อที่ทำเฉพาะเนื้อหาออนไลน์ และเพจประชาชนทั่วไป ได้โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องยี่ห้อรองเท้าของผู้กระทำ ทำให้รองเท้ายี่ห้อนั้น กลายเป็นกระแสทางออนไลน์  

ขณะที่สื่อมวลชน เล่นข่าวนี้อย่างมีสีสันมากกว่ากรณีนายธนาธร เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที และค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุมีปัญหาทางสุขภาพจิต เคยก่อเหตุในที่ต่าง ๆ มาพอสมควร สืื่อหลักก็เล่นเรื่องนี้ ข้องแวะไปในประเด็นว่า เขามีจุดยืนทางการเมือง และผู้ที่ถูกกระทำก็เป็นบุคคลทางการเมือง เวลาสัมภาษณ์ความเห็นก็จะมีการพาดพิงไปถึงการเมือง

ชี้เหตุรุนแรงเชื่อมโยงจุดยืนทางการเมือง

เรื่องนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า หลาย ๆ กรณีเป็นความรุนแรงที่เชื่อมโยงในเรื่องจุดยืนทางการเมือง และตอกย้ำเรื่องการเป็นตัวแทนกลุ่มการเมือง แม้ว่าบุคคลทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะมีความคิดความเชื่อทางการเมือง การแสดงออกอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ด้วยสภาพจิตใจผู้ก่อเหตุที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงแสดงออกมาในทางรุนแรง เขาก็ต้องรับผลจากการกระทำนั้น 

ส่วนประเด็นที่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้ ก็คือ มีบางสื่อที่ไปสัมภาษณ์บุคคล หรือบุคคลอาจจะให้สัมภาษณ์เองก็ได้ แต่สื่อก็ยังพาดพิงไปถึงมิติการเมือง เช่น ใช้คำว่านักวิชาการฝ่ายนั้นให้สัมภาษณ์ การกระทำของคุณเค ว่าอย่างนี้ กรณีนี้สื่อไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงและตอกย้ำ เท่ากับว่าสื่อก็ต้องการเปิดแผลในเรื่องนี้อีก ซึ่งเป็นเรื่องที่บ้านเมืองของเรามีปัญหาที่ค่อนข้างเรื้อรังยาวนาน

กรณี เค ร้อยล้าน สื่อมีสิทธิ์ที่จะไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว แต่สื่อไม่จำเป็นต้องตอกย้ำ ย้อนหลังว่าบุคคลคนนี้เคยแสดงจุดยืนทางการเมืองแบบนี้ และมาก่อเหตุกับบุคคลที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่าง ความจริงเรื่องนี้น่าจะเน้นเรื่องของการที่สังคมเรามีบุคคลที่มีความไม่ปกติทางสภาพจิตใจควบคุมตัวเองไม่ได้ กรณีรายนี้ก็ก่อเหตุหลายครั้ง 

แนะเสนอมิติความปลอดภัย-ช่วยเหลือผู้ป่วย

เรื่องนี้ ตนได้พูดคุยในคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยสื่อมวลชนท่านหนึ่ง ท่านก็ได้อธิบายว่า ในเรื่องนี้เคยไปสัมภาษณ์ ไปทำข่าวว่า โรงพยาบาลไม่สามารถดูแลผู้ป่วยแบบนี้ไว้ ด้วยเหตุข้อจำกัดนานาประการ มีให้รับยาไปทาน ไปหาหมอตามนัด แล้วให้ครอบครัวดูแลกัน เหตุการณ์ที่เกิดคือครอบครัวไม่ได้ดูแล เพราะฉะนั้น ถ้าจะสรุปความเห็นต่อเหตุการณ์เค ร้อยล้าน ซึ่งเราก็ได้พูดคุยในคณะทำงานด้วยก็คือ อย่าไปเปิดประเด็นทางการเมืองเลย เปิดประเด็นในเรื่องของการที่มีคนควบคุมตัวเองไม่ได้ และพร้อมที่จะทำความรุนแรง โชคดีที่เขาไม่มีอาวุธในมือ

หรือกรณีที่เค้าอ้างว่ามีระเบิด และหากมีจริงแล้ว ในงานมหกรรมหนังสือ ก็มีคนอยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าสื่อสนใจในประเด็นที่กระทบต่อสาธารณะ น่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ การดูแลผู้ป่วยแบบนี้ และเพิ่งเกิดเหตุกราดยิง (หนองบัวลำภู) สังคมเราถึงจุดที่ว่า พื้นที่สาธารณะไม่ใช่พื้นที่วางใจได้ 100% หรือเปล่า เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะมีใครที่ถืออาวุธ หรือมีอะไรร้ายแรง และด้วยสภาพจิตที่ไม่ปกติ สมมุติว่าเป็นระเบิด แล้วคนที่เข้าถึงระเบิดได้ ทำระเบิดได้ ก็เป็นประเด็นที่เปิดได้ เพราะฉะนั้น กรณีคุณเค ร้อยล้าน น่าจะเปิดประเด็นมิติที่เป็นประเด็นสาธารณะ ในเรื่องของความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ การดูแลบุคคล บทบาทของครอบครัวในการดูแลบุคคล

ในกรณีนี้ ตนไม่เห็นสื่อไหนที่มีข้อมูลที่เค้าเป็นผู้ป่วยแบบนี้จริง ๆ เค้าต้องอยู่บ้าน รับยา ครอบครัวต้องดูแล หรือทำไมไม่อยู่ในสถานพยาบาล ทำไมไม่เปิดประเด็นว่า สถานพยาบาลที่ดูแลบุคคลที่มีความผิดปกติทางสภาพจิตใจ หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ปัจจุบันเขาเผชิญปัญหาอะไรถึงไม่สามารถดูแลได้ เคยอ่านบทความว่า เราไม่รู้หรอกว่าคนที่เดินกับเราในพื้นที่สาธารณะ เราเจอคนที่มีภาวะที่พร้อมจะทำอะไรที่เราคาดไม่ถึงได้

อ้างไม่หนุนรุนแรงแต่เสนอฉากรุนแรง

ส่วนกรณีคุณศรีสุวรรณ ครั้งนี้บางสื่อเล่นหนัก อย่างเช่น รายการทอล์ค เข้าข่าวเอาภาพนั้นมา แล้วใส่เพลงเหมือนกับเพลงมวย และมีการบรรยายประกอบภาพ ฝ่ายนี้ปล่อยหมัดเท่าไหร่ ขณะที่อ่านข่าวเรื่องนี้ ก็มีการหยุดภาพว่า อันนี้เป็นหมัดที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม โดนอะไร

แม้ว่าผู้ดำเนินรายการข่าววันนั้น จะพูดว่าไม่สนับสนุนความรุนแรง แต่เอาฉากความรุนแรงมาเป็นตัวนำเสนอ คือคุณสนับสนุนแล้ว สิ่งที่พูดด้วยวาจา ว่าเราไม่สนับสนุนความรุนแรง เป็นการแก้เกี้ยวมากกว่า เพราะคุณเล่นกับมิติความรุนแรง 

สิ่งที่หยิบยกมา พูดถึงสื่อหลักยังไม่ได้พูดถึงสื่อออนไลน์ นี่ก็คือเกรงใจที่สุดแล้ว ที่ไม่ระบุ ซึ่งเรื่องนี้ Media Alert ไม่ได้ศึกษา ถ้าเราศึกษา เราจะระบุเลยว่าเป็นสื่อไหน อันนี้เป็นประเด็นที่อยากจะพูดว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ก็มีเรื่องเกี่ยวข้องกับทางการเมือง เพราะผู้กระทำเหตุ ก็ประกาศว่าเหตุที่กระทำเพราะอะไร แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ สื่อที่เล่นสนุกกับตัวเหตุการณ์นี้ สิ่งที่ทุกครั้งที่นำเสนอข่าว ภาพความรุนแรงจะถูกปรากฏซ้ำ เหมือนตอนเสนอข่าวคุณเคร้อยล้านไปตบป้าเป้า ความจริงเหตุเกิดไม่กี่วินาที แต่ภาพนั้นถูกฉายซ้ำ ๆ กรณีคุณศรีสุวรรณ ถูกฉายซ้ำ แล้วใส่เพลงเป็นการบรรยายมวย 

บางทีพอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มีสื่อที่ไปเปิดประเด็นสัมภาษณ์นักกฎหมาย เพื่อจะดูความผิดเรื่องทางกฎหมาย ก็ไปได้นักกฎหมายที่มีกรณีกับคุณศรีสุวรรณ และนักกฎหมายคนนั้นชื่อดังด้วย ก็ขอบคุณแทนคนที่ไปก่อเหตุ

สื่อต้องไม่ผลิตซ้ำ ขยายผลความรุนแรง

ฉะนั้น สื่อต้องทำอย่างสมดุล หากไม่เชื่อในความรุนแรง สื่อต้องไม่ผลิตซ้ำ ไม่ต้องขยายผล และไม่ควรจะทำ โดยเฉพาะ ในประเด็นว่าการกระทำแบบนี้ผิดข้อกฎหมายข้อใด แต่สื่อน่าจะตั้งหลักว่า การกระทำแบบนี้ การเห็นต่างทางการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะจัดการด้วยความรุนแรง ฉะนั้น เหตุเกิดแบบนี้ สิ่งที่เกิดจริงในโลกออนไลน์คือ มีคนพูดอย่างขบขัน สะใจ อันนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความเห็นไป แต่พอเป็นบทบาทของสื่อมวลชน เชื่อว่าไม่มีสื่อมวลชนค่ายไหนระบุว่าเราชอบความรุนแรง โดยวิชาชีพเราต้องบอกว่า เราไม่สนับสนุนความรุนแรง เพราะฉะนั้น ถ้าหากสื่อตั้งหลักว่า เราไม่สนับสนุนวิธีการสำหรับเสนอข่าว นอกจากไม่ผลิตซ้ำ ไม่ขยี้ฉากความรุนแรงนั้นแล้ว สื่อก็ต้องหาวิธีที่จะนำเสนอจากแหล่งข่าว ที่จะให้สติสังคมในเรื่องของการไม่กระทำความรุนแรงต่อกัน

เหนืออื่นใด ภาพที่ผลิตซ้ำ ไปกระตุ้นบางคนที่ชอบทางนี้ แล้วเกิดไปกระตุ้นคนบางคนที่มีปมบางประการ ที่อาจจะคิดว่า ทำแบบนี้แล้วดังเปรี้ยง อันนี้คือเรื่องการเลียนแบบ เพราะฉะนั้นโดยสรุป ก็อยากจะขอร้องว่า สื่อมวลชนวิชาชีพ ต้องไม่เสนอ ไม่สนับสนุนความรุนแรง สื่อต้องชี้ทางออก ฉะนั้นวิธีคิด แหล่งข่าว ประเด็นการนำเสนอข่าว สื่อต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง การเล่นสนุกกับตัวเหตุการณ์ สมมติว่าข่าวยาว 10 นาที สื่อเล่นกับตัวเหตุการณ์ไป 8 นาที แล้วไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวในมิติว่าผิดในกรณีใดบ้าง สื่อไม่ได้คิดประเด็นข่าว หรือแหล่งข่าวที่จะช่วยชี้แนะชี้นำสังคม ในเรื่องการไม่กระทำความรุนแรงต่อกัน

ทั้งสื่อ-ผู้ถูกสัมภาษณ์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า กรณีที่สื่อไปสัมภาษณ์นักวิชาการ แล้วระบุว่านักวิชาการฟากนั้น ในแง่ความเห็นของนักวิชาการควรจะเป็นความเห็นที่เป็นกลาง เป็นทิศทางที่ชี้นำสังคม  แต่นักวิชาการบางคนให้ความเห็นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือใส่ความรู้สึกบางอย่างลงไป จนสวนทางกับความรู้สึกคนส่วนใหญ่ อันนี้นักวิชาการ หรือสื่อที่นำเสนอ ฝ่ายใดต้องรับผิดชอบ

ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของทั้งสองส่วน ถ้าสื่อเลือกที่จะนำเสนอ ก็ต้องมีส่วนในความรับผิดชอบ แล้วนักวิชาการแต่ละคนก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ตนมองว่า สื่อสามารถคิดประเด็นว่า ถ้าเหตุการณ์เป็นแบบนี้ เราจะดูว่า ให้นักกฎหมายพูดว่าเรื่องนี้มีความผิดอะไรบ้างก็ว่าไป แล้วมีนักกฎหมายคนหนึ่งพูดว่า ก่อนที่จะพูดเรื่องนี้ขอขอบคุณผู้กระทำเหตุ สื่อก็เลือกที่จะนำเสนอ 

แม้จะไปสัมภาษณ์มาแล้ว ไม่นำเสนอก็ได้ เพราะสื่อกำลังใช้พื้นที่สาธารณะ แล้วอย่างนี้สื่อเองถ้าจะบอกว่าไม่ได้มีจุดยืนเข้าข้างใครแต่เวลาทำงาน วิเคราะห์คอนเทนท์ เราจะมาดูว่า สัดส่วนของเวลาของข่าวที่เสนอ ให้พื้นที่แหล่งข่าวด้านใด แล้วให้พื้นที่ข้อมูลความเห็นแบบไหน เราไม่ถึงกับขนาดต้องวัดกันเป็นนาที ความยาวบางทีไม่สำคัญเท่าความรุนแรง 

ต้องตระหนักปัญหาความขัดแย้งในสังคม

อย่างกรณีที่ตนพูด สื่อก็ไม่ได้ชื่นชมนักวิชาการท่านนั้น ก็อยู่ในฟากจุดยืนทางการเมืองด้านหนึ่ง ซึ่งสื่อมีคำต่อท้ายว่า เป็นนักวิชาการแบบไหนด้วย แล้วสื่อเองก็มีส่วนในการตอกย้ำ และขยายความรุนแรง ปัญหาหลักของสังคมไทยตอนนี้ ก็คือการแบ่งขั้วเลือกข้างทางการเมือง ไม่ได้อยู่บนหลักของเหตุผล แม้บุคคลมีสิทธิ์ที่จะชอบ หรือชื่นชมแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด เป็นสิทธิ์เต็มที่ แต่สำหรับสื่อ ต้องมองว่าสังคมไทยเรามีปัญหานี้อยู่

ในรายงานการศึกษาที่ตนเคยมีบทบาทดูแล ทำเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย กรณีแอนชิลี ที่เคยได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2564 และประกาศจุดยืนความเชื่อของเขา เรื่องเรียลไซส์บิวตี้ คือ ความสวยงามที่ไม่ได้มีแบบฉบับ หรือมาตรฐานเดียวเท่านั้น ในเรื่องของทรวดทรงองค์เอว ในความเห็นเหล่านั้นยังมีกลุ่มโจมตีความเห็นที่เห็นต่างกันว่า เป็นพวกมีจุดยืนทางการเมืองด้านโน้นด้านนี้ เราอยู่ในสังคมที่มีความคิดแล้วว่า ถ้ามีจุดยืนแบบนี้คุณเป็นกลุ่มการเมืองแบบนี้

เรากำลังก้าวสู่การตัดสินใจครั้งใหญ่ของประชาชน ถ้าการเลือกตั้งจะมาในช่วงกลางปีหน้า สื่อต้องช่วยสังคมตั้งสติ จากความเห็นต่างในเรื่องใดก็ตามเจ้า ที่มีบทบาทในการวิเคราะห์ ความเห็นในโลกออนไลน์โยงไปเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง ทำไมเราไม่สามารถจะแก้จุดนี้ให้ได้ ทำไมเราไม่ทำให้คนที่จะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สามารถวินิจฉัยได้ว่า จะเลือกพรรคได้หรือเลือกใครจากจุดยืนทางการเมืองจากนโยบาย แต่ไม่ใช่เหมารวม

ต้องช่วยให้สังคมมีมติ ไม่สนับสนุนความรุนแรง

ทั้งสองกรณี ศรีสุวรรณ และเค ร้อยล้าน มีจุดยืนทางการเมืองแฝงอยู่ เพราะฉะนั้นถึงแม้สื่อส่วนใหญ่จะไม่ได้ไปขยี้ ขยาย ในเรื่องการเมือง แต่สื่อต้องช่วยให้สังคมมีสติ ในการที่ไม่ยอมรับ และไม่สนับสนุนการแสดงออกในความรุนแรง ถ้าเราทำไปอย่างนี้ ก็จะเกิดเหตุไปเรื่อย ๆ ไม่พอใจในปมประเด็นชีวิตของตัวเอง แล้วไปทำร้ายคน

ผศ.ดร.เอื้อจิต ระบุด้วยว่า ปลายปีนี้ในนามคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะมีผลสำรวจ ซึ่งอาจจะไม่ใช่การทำวิจัยลึกซึ้ง มีการสำรวจว่า การนำเสนอเรื่องใด แบบใดของสื่อ ที่ผู้บริโภครับไม่ได้ เราไม่อยากใช้คำว่าสื่อยอดเยี่ยม สื่อยอดแย่ แต่บางทีการสะท้อนของผู้บริโภค เชื่อเสมอว่าสื่อมวลชนวิชาชีพจะฟังผู้รับสื่อของเขา เพราะฉะนั้น บางทีก็เป็นหน้าที่ของทางสังคมเหมือนกันเพราะบางทีสังคมก็ไปทำให้ผลการศึกษาของ Media Alert ที่ตนเคยเป็นที่ปรึกษา ค่อนข้างชัดเจน ปรากฏว่าสื่อที่ค่อนข้างจะมีการนำเสนอที่ขัดต่อจริยธรรม หรือจรรยาบรรณ เป็นกลุ่มสื่อที่ได้รับความนิยมในเชิงของเรตติ้ง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ต้องสะท้อนกลับมาที่สื่อบางทีเราพูดถึงสื่อเยอะ ต่อไปเราต้องถามผู้รับสื่อ และชวนผู้รับสื่อว่ายังเชื่อว่าสื่อมีพลังที่จะชี้นำสังคมได้ และเราช่วยกันชี้นำผู้รับสื่อแล้วเรามาแข่งขันเรตติ้งกัน ในเชิงว่า เรานำเสนอข่าวนี้ได้ดีกว่าการนำเสนอข่าวนี้ได้สะใจและรุนแรงและเร้าใจ

สื่อสร้างความรุนแรง-เกลียดชัง ลดลง 

ด้านนายมงคล บางประภา มองสถานการณ์ของสื่อตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอย่างไร โดยระบุว่า ตั้งแต่ตนอยู่ในวงการข่าวมา 30 กว่าปี สถานการณ์การใช้สื่อและก่อให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรง หรือยอมรับในสิ่งรุนแรงมีมานานมาก ถ้าหากเรามองเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นระยะยาว ไม่มองแค่ช่วงสั้น ๆ ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อาจจะไม่ทันใจเปลี่ยนปุ๊บปั๊บ หรือจะไม่มีอีกเลย ก็ไม่ใช่อย่างนั้น 

ในอดีตตอนที่เข้าวงการสื่อใหม่ ๆ ก็เห็นภาพหน้าหนึ่ง ที่เป็นภาพศพ สมัยนั้นก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวิชาชีพ วิชาการว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สมควร ใหม่ ๆ สื่ออาจจะฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่เมื่อเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเอง ในระหว่างสื่อ และเสียงของสังคมเริ่มดังขึ้นเสียงสะท้อนเหล่านั้นก็มีผลตามมา

เดี๋ยวนี้เป็นยุคของโซเชียล ก็มีข้อดีคือ เสียงสะท้อนของสังคมมาเร็วและมาแรง แต่ในยุคโซเชียลเองในด้านบวก ก็มีด้านลบ ซึ่งโซเชียลเองก็เป็นตัวที่ไปกระทำซ้ำ ในสิ่งที่ดูรุนแรงในตัวมันเองอีก เพราะโซเชียลอย่างไรก็มาจากคน ซึ่งคนก็มีทั้งสองด้าน

เมื่อถามถึงกรณี การทำร้ายศรีสุวรรณ ที่มีความเห็นกันว่า หากสื่อที่อยู่ในเหตุการณ์เหตุการณ์ช่วยห้าม บางทีเรื่องก็ไม่ลุกลาม นายมงคลมองว่า สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการสื่อ หรืออาจจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นช่างภาพ อาจมองภาพไม่ออก ตนอยากให้มองอีกมุมหนึ่งด้วยว่า คนที่จะทำหน้าที่รายงานข่าว หรือทำข่าว หรือบันทึกภาพข่าวจะมีสมาธิก็อยู่กับอุปกรณ์ เครื่องมือ มุมของภาพ จังหวะของภาพ เพื่อที่จะได้เก็บภาพที่เป็นข่าวออกมานำเสนอได้ดีที่สุด

อันนี้ในแง่สมาธิ ของคนทำงานในเวลานั้น เขาก็จะมุ่งปฎิบัติหน้าที่ให้เต็มที่ ได้ภาพ คลิปเสียงที่ดีสุด ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นถ้าพูดถึงการที่จะให้ช่างภาพที่เห็นเหตุการณ์ทิ้งกล้องไปช่วย แล้วไม่ทำหน้าที่ อันนี้ก็จะฝืน ๆ อยู่

หน้าที่สื่อไม่เพิกเฉย-อาจดูบริบทเหตุการณ์

ประเด็นที่สอง ไม่ได้แปลว่าคนที่เป็นสื่อ ถ้าอยู่ในเหตุการณ์ที่สามารถช่วยเหลือชีวิต หรือพยุงชีวิตของคนอื่นได้ ให้เพิกเฉย ไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่ต้องดูบริบทของเหตุการณ์ว่า ณ ที่แห่งนั้น มีคนอื่นที่สามารถทำหน้าที่ตรงนั้นได้ไหม ถ้าเขาสามารถทำได้ ขณะที่สื่อก็สามารถทำหน้าที่ในการรายงานเหตุการณ์ เพื่อให้สังคมเรียนรู้ ตระหนัก และสะท้อน อันนี้หน้าที่ของสื่อที่เป็นตัวกลาง ที่จะส่งภาพหรือเหตุการณ์ไปให้สังคมได้รู้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไปแย่งการทำหน้าที่กับหมอ ในขณะที่มีหมออยู่ มันมีหน้าที่ของกันและกัน 

แต่ถ้าเหตุการณ์นั้น เป็นเหตุการณ์ไม่มีคนอื่นเห็น เช่น คนกำลังจะกระโดดสะพานตาย เป็นสื่อและคุณอยู่คนเดียว ถ้ามัวแต่จ้องถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพเด็ด อย่างนั้นก็เกินเหตุ นั้นเป็นเรื่องของบริบท

อยากเปรียบเทียบ กรณีีภาพข่าวรางวัลพูลิเซอร์ในสมัยยุคสงครามเวียดนาม ที่เป็นภาพเด็กผู้หญิงวิ่งร้องไห้ออกมา จากแบ็คกราวนด์ ที่หมู่บ้านโดนระเบิด ถามว่าคนที่เป็นสื่อ ถ้าทิ้งกล้อง ไม่ถ่ายภาพ แล้วไปช่วยเหลือก็ทำได้ แต่สิ่งที่จะหายไปในสังคมโลก ก็คือภาพนั้นออกมาเป็นภาพที่สะท้อนสถานการณ์ในเวียดนามได้ ทำให้โลกส่งเสียง และมีผล มีส่วนทำให้หยุดสงคราม ที่จะทำลายชีวิตคนอีกมากมาย อันนี้ก็คือหน้าที่อีกมุมของสื่อ

เสนอแง่มุมนำไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหา

เมื่อถามว่า บทบาทของสื่อในการลดความรุนแรง เกลียดชัง นายมงคล มองว่า ประเด็นนี้ตนเห็นด้วย สิ่งที่ควรจะต้องอธิบาย และบางเรื่องที่สื่อควรจะเซ็นเซอร์ตัวเอง คือการเผยแพร่ภาพความรุนแรงเกินความจำเป็น การสื่อข่าว คือการให้ผู้บริโภคข่าวสารได้รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และดีที่สุดคือ มันสามารถนำไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหา นี่คือสื่อในอุดมคติ ที่นักวิชาการนักวิชาชีพอยากจะให้เห็น แต่ถ้าเน้นแต่ความรุนแรง แน่นอนอาจจะมีคนติดตามดู เพราะมีเรตติ้ง สื่อบางส่วนก็อาจจะมองในแง่ของรายได้ แต่มันต้องมีความพอดี

ในตอนนี้ที่เรากำลังพูดถึงสื่อ ในความหมายที่เราเข้าใจกัน หมายความว่าสื่อมวลชนที่มีกองบรรณาธิการ มีตัวตนอย่างแน่นอน มีความรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่ทุกวันนี้ สื่อที่สังคมพูดกัน ความหมายเค้าไปไกลกว่านั้น เค้าอาจจะหมายถึงใครก็ได้ ที่มีช่องทางในการเผยแพร่ในทางโซเชียลของตัวเอง ก็เรียกว่าสื่อ อย่างกรณีเหตุการณ์คุณศรีสุวรรณ คนที่กระทำ เค้าก็มีการนำไปเผยแพร่ มุมหนึ่งเค้าก็คือสื่อหรือไม่ อันนี้ต้องถามสังคมว่า ยอมรับสื่อแบบนี้หรือไม่ ถ้ายอมรับก็แปลว่า ถ้าสะใจกับภาพที่ได้เห็น รู้สึกสนุกสนานสนานกับภาพที่ได้เห็นวันหนึ่งอาจจะตกเป็นเหยื่อของการถูกกระทำ แล้วก็ถ่ายภาพตัวเอง เอาไปหารายได้ ต้องมองมุมนี้ด้วย

นายกสมาคมนักข่าวฯ ระบุด้วยว่า ปีที่ผ่านมา ก็เพิ่งจะมีการจัดเสวนาให้คนที่อยากเป็นสื่อพลเมือง มีการแนะนำช่องทางการหารายได้เช่น การขอทุนจากแหล่งทุนทั้งหลาย แต่สิ่งสำคัญที่พยายามจะแนะนำคือ จรรยาวิชาชีพ เพราะว่าการที่เผยแพร่ข่าวสารออกไป มีผลกระทบต่อคนอื่นเสมอ ถามว่าในมุมของสื่อมวลชนทั่วไป นิยามคืออะไร ในแวดวงเรา ก็พยายามจะคิดหานิยามที่สามารถรับผิดชอบกับสังคมได้ แปลว่าถ้าคุณผิดพลาดโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ผู้เสียหายต้องสามารถเป็นเจ้าทุกข์ ที่มีจำเลย ที่ต้องรับผิดชอบทางคดี หรือเยียวยาข้อเสียหายนั้น หมายถึงว่าต้องมีตัวตนรับผิดชอบทางนิตินัย อันนี้คือพื้นฐานต่ำ สุดสูงกว่านั้นก็คือ คุณรู้จักหลักจรรยาวิชาชีพเอง ถ้ารู้แล้วไม่ปฏิบัติ การละเมิดอย่างแรก ก็จะเกิดขึ้นได้น้อย อาจจะเกิดจากความพลั้งเผลอไม่ตั้งใจก็ยังพอจะแก้ไขเยียวยาดูแลกันได้ 

แต่การที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องไม่ทำตัวเป็นอวตาร เป็นใครก็ไม่รู้ ใส่ชื่อปลอม หรือไม่ใส่ชื่อ ก็ปล่อยคอนเทนต์มาไปสู่สังคม หวังผลทางธุรกิจการค้า หรือต้องการแค่ความสะใจ หรือมีอเจนด้าต่าง ๆ จะทางการเมือง หรืออะไร อย่างนั้นเป็นการใช้สื่อ แต่ไม่ใช่นักสื่อสารโดยหลักจรรยาวิชาชีพ

เมื่อถามว่า เวลาสมาคมนักข่าวฯ ขอความร่วมมือสมาชิกคนทำงานสื่อ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในสมาคมฯ เรื่องลดภาพความรุนแรงที่ไม่สวนทางความรู้สึกคน ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างไร นายมงคล กล่าวว่า ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ สมาคมนักข่าวฯ เราเป็นเพียงหน่วยหนึ่งขององค์กรสื่อมีสมาชิกเป็นตัวนักข่าวที่เราสามารถส่งเสียงออกไป เพื่อบอกกล่าวกับสังคมว่า กำลังจะมีการปฎิบัติการของสื่อที่มันล้ำกับสิ่งที่วิชาชีพยอมรับ สังคมจะได้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ นอกเหนือการยอมรับของวิชาชีพ ถ้ายังทำต่อไป สังคมก็จะได้รู้ว่าสื่อของช่องนี้ เว็บนี้ เค้าทำนอกลู่นอกรอยแล้ว 

แต่ยังมีองค์กรที่ดูแลเรื่องของจรรยาบรรณเป็นหลักก็คือ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกเป็นองค์กร ฉะนั้นเครือข่ายเหล่านี้จะเรียกว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ก็ถูก แต่ต่างก็ร่วมมือกันภายใต้หลักจรรยาวิชาชีพที่จะสื่อสารออกไปข้างนอก หลายครั้งเมื่อสื่อสารไป มันเกิดการปรามได้ผล และยุติ ยกตัวอย่างเช่น 13 หมูป่าติดถ้ำ องค์กรวิชาชีพสื่อไทยออกแถลงการณ์ไปว่า ระมัดระวัง การกระทบต่อจิตใจของเด็ก ๆ ที่ถูกช่วยเหลือออกมา อย่าเพิ่งไปรบกวนเขา ปรากฏว่าสื่อไทยทำตามทุกอย่าง แต่สื่อต่างชาติแอบไปสัมภาษณ์ เพราะฉะนั้นถามว่าได้ผลหรือไม่ มันเป็นจิตสำนึกร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว

คาดหวังสื่อเป็นแบบอย่างของสังคม

ต่อข้อถามว่า ในช่วงหลังความรุนแรงเกิดขึ้นถี่ ในแง่ของตัวคนทำงานควรจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง นายมงคล กล่าวว่า สื่อมวลชนทำอย่างที่ตัวเองทำอยู่ให้สมบูรณ์ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เพราะสังคมต้องการแบบอย่าง ถ้าสื่อเราทำตัวเป็นแบบอย่างได้ คนอื่น ๆ ที่ใช้สื่อเค้าก็จะได้รู้ว่า ขอบเขตที่ควรทำเป็นอย่างไร สื่อที่ทำตัวไม่เป็นแบบอย่าง แน่นอนวงการสื่อ วงการวิชาชีพเค้าก็ตำหนิติเตียน เราก็รับฟังเสียง สังคมติเตียนว่า รุนแรงขนาดไหน ถ้ามากถึงขนาดบอกว่า ทำแบบนี้สร้างความเสียหาย สังคมก็ต้องช่วยกันประณามและบอยคอตสื่อนั้น ถึงจะเกิดพลัง

มี 2 สถานการณ์ที่สื่อจะไปไม่รอด จำเป็นต้องหาเรตติ้ง มันก็เป็นข้อเท็จจริง เรตติ้งที่พยุงให้สื่อทำหน้าที่เป็นสื่อได้ ถ้าเรตติ้งมาทำให้สื่อกลายเป็นเครื่องมือ หรือกระบอกเสียงของกลุ่มทุน หรือกลุ่มการเมือง ก็ไม่ใช่สื่อ แม้จะอยู่รอด แต่ความเป็นสื่อของคุณหายไป อันนี้คือความบาลานซ์ตรงนี้ 

ส่วนที่สอง คือเมื่อคุณอยู่รอดแล้ว ทีนี้นายทุนไม่รู้จักพอ อันนี้คือปัญหา จากเดิมที่บอกว่า ถ้าผลประกอบการแสดงว่าเริ่มอยู่ได้แต่ไม่พอแค่นั้น ต้องการจะรวยอย่างเดียว แล้วสิ่งที่ปรากฏออกมาสังคมก็เห็นว่า สิ่งที่คุณทำมุ่งหวังเรตติ้งได้ดีขึ้น มีรายได้ แต่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม อันนี้ต้องถามแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่ สื่ออยู่ไม่ได้ หรือนายทุนไม่รู้จักพอ

สะท้อนบทเรียนจากสื่อตะวันตก    

ด้านนักวิชาการ ผศ.ดร.เจษฎา สะท้อนความเห็นจาก เวที Cofact Live Talk เมื่อ 27 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยเชิญ แฟรงค์ สมิธ (Frank Smyth) นักข่าวสืบสวนอิสระดีกรีรางวัล ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านสงคราม อาชญากรรมข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ รวมถึงการเคลื่อนไหวประเด็นอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา มาพูดคุย “บทเรียนโศกนาฎกรรมกราดยิง จากสหรัฐฯ ถึง หนองบัวลำภู” ในมุมของบทบาทสื่อที่ควรเป็น และการป้องกันความรุนแรงในสังคม 

แฟรงค์ สมิธ เป็นนักข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน เชี่ยวชาญในเรื่องของข่าวสงครามอาชญากรรม การใช้อาวุธ ที่น่าสนใจ เค้าเขียนหนังสือ และถูกนำเอาไปทำสารคดี ซึ่งเป็นคนให้ข้อมูลหลักของสารคดีที่เผยแพร่ทาง CNNเกี่ยวกับ National Rifle Association of America : NRA ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนเรื่องของปืนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราจะตั้งคำถามตลอดว่า ทำไมในสหรัฐอเมริกา ถึงมีปัญหาเรื่องการใช้ปืนอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็คือ NRA ทำธุรกิจเรื่องการค้าปืนในสหรัฐ ได้ผลประโยชน์จากตรงนี้ เป็นคนสนับสนุนเงินทุนให้กับพรรคการเมืองทั้งเดโมแครต และรีพับลิกัน

ดังนั้นจะมีเรื่องของเชิงการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในปัญหาปืนของสหรัฐฯ ซึ่งคุณแฟรงค์ เขียนหนังสือและเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของสารคดีที่ออกมาเปิดโปง วิเคราะห์ถึงความเกี่ยวพันทางการเมืองของ NRA ช่วงหลังเขาเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องรายงาน และเข้าไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและความรุนแรง ค่อนข้างจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

เทียบสหรัฐ-ไทย กม.เปิดช่องใช้ปืนต่างกัน

จากการพูดคุยกับคุณแฟรงค์ เขาพูดในเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างกรณีของไทย กับกรณีของสหรัฐฯ เค้าบอกว่าสิ่งที่น่าตกใจอย่างในสหรัฐฯ ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ขึ้นชื่อเรื่องอาชญากรรม หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากปืน ซึ่งสืบเนื่องมาจากกฎหมายของแต่ละรัฐและเรื่องของสังคมอเมริกัน ที่เป็นสังคมที่ค่อนข้างใช้ปืนเยอะ

สำหรับของเมืองไทย คุณแฟรงค์บอกว่า โดยกฎหมายไทย ไม่ใช่พลเรือนจะสามารถเข้าถึงปืนได้ง่าย ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่สามารถเข้าถึงปืนได้ แต่ขณะเดียวกัน กลับมีตัวเลขของความรุนแรง อาชญากรรมที่เกิดจากปืนการเสียชีวิตจากปืนในไทย ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาค่อนข้างสูง

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง ตลาดมืดของปืน การเข้าถึงปืนอย่างไม่ถูกต้อง นี่คือปัญหาที่อยู่ใต้พรมที่คุณแฟรงค์บอกเอาไว้ว่า ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งนี้ เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู มันจึงเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญมาก ๆ ว่าปัญหาเหล่านี้มันถูกซุกอยู่ใต้พรม มันจึงต้องถูกนำมาพูดถึง นี่คือสิ่งที่เขาได้พูดเอาไว้ นี่คือภาพรวมของปัญหา

ก่อนสัมภาษณ์ผู้สูญเสีย ต้องแจ้งเรื่องคำถาม

จากนั้นก็ได้พูดคุยกันถึงเรื่องของบทบาทสื่อ ในโคแฟคไลฟ์ทอล์ค เราเน้นไปที่เรื่องของบทบาทสื่อเป็นหัวใจหลักว่า สื่อควรทำหน้าที่อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ จากการพูดคุย เค้ามีความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยค่อนข้างดี ทั้งเรื่องการเมืองโครงสร้างสังคม และกฎหมาย เท่าที่ฟัง ไม่ใช่ฝรั่งที่ไม่รู้จักเมืองไทย 

ส่วนเรื่องข้อแนะนำง่าย ๆ ในวันนั้น เราถามว่า ยกตัวอย่างว่า ในสื่อไทยบางครั้ง ผู้ประกาศข่าวบางช่อง บางท่าน โฟนอินถามคุณแม่ของเหยื่อรู้สึกอย่างไร ให้เล่าเหตุการณ์ให้ฟังจนคุณแม่ของเหยื่อร้องไห้กลางรายการ ตรงนี้คุณแฟรงค์บอกว่า ถ้าเป็นที่สหรัฐ ข้อแนะนำของเขาคือเราสามารถคุยกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ คุยกับครอบครัวของเหยื่อได้ แต่วิธีการคือ เราบอกเขาก่อนว่า เราจะขอสัมภาษณ์ ซึ่งคุณจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ให้ก็ได้ คือให้สิทธิ์กับคนที่ถูกสัมภาษณ์ และควรจะบอกประเด็นว่า เราจะคุยประเด็นนั้นประเด็นนี้ แต่ตัวประเด็นควรจะมุ่งไปสู่ประโยชน์สาธารณะ มากกว่าเรื่องความรู้สึก คือไม่ได้ต้องการจะถามว่ารู้สึกอย่างไร แต่ผู้สื่อข่าว หรือคนถามต้องคิดเสมอว่า เวลาที่เราถามคำถามไป สาธารณะได้ประโยชน์อะไร ที่เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องอารมณ์ความรู้สึก 

ตรงนี้จะเห็นได้ว่า คำถามลักษณะที่ถามว่าคุณรู้สึกอย่างไร สาธารณะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งจะไม่ถูกถามในเบื้องต้น สำคัญคือถ้าหากตัวผู้ถูกถาม ญาติหรือพ่อแม่ของเหยื่อ รู้คำถามว่าจะถามว่ารู้สึกอย่างไร คิดว่าเค้าก็คงไม่ยินดีที่จะตอบคำถามแบบนี้ออกอากาศกลางรายการ ตนมองว่าเป็นหลักปฏิบัติที่ทำตามได้ แต่จะทำตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ทำงานของนักข่าวคือแบรนด์ดิ้งองค์กร

ส่วนกรณีที่องค์กรสื่อด้วยกันเองพยายามจะเตือนแต่ไม่ได้ความร่วมมือ แต่หากเป็นคนนอกเตือนเราจะโฟกัสมากกว่า อาจารย์เจษฎามองว่า ก็อาจจะมีส่วน เวลาที่เราได้รับเสียงสะท้อนจากคนนอกบ้าน ก็น่าจะทำให้เรารู้สึกอะไรได้มากกว่าคนในบ้าน เราก็เคารพว่าคุณมาจากประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องการทำงานสื่อ ดังนั้นสิ่งที่บอกเรา มันดูน่าเชื่อฟังมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่าลืมว่า CNN ก็มีปัญหาเหมือนกัน

การทำงานของสำนักข่าว ของนักข่าว ก็เป็นแบรนด์ดิ้งขององค์กรนั้น ๆ เอง เช่นนักข่าวลงไปภาคสนาม ผู้ประกาศข่าวรับลูกมาทั้งหมดทั้งมวล ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ท้ายที่สุดแล้ว ตัวของช่องหรือสถานีไหนบั่นทอนความน่าเชื่อถือของตัวเองสุดท้ายก็จะไปไม่รอดอยู่ดี 

สำหรับมุมมองของตนว่าทำไมเกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ได้ถอดบทเรียนไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และไม่รู้จะถอดกันอีกถึงเมื่อไหร่ ตราบใดก็ตามที่เรายังแข่งกัน เรื่องเรตติ้งทำยังไงก็ได้ให้มา เป็นสิ่งที่น่ากลัว และจะทำให้เราทำอะไรก็ได้ที่ไม่แคร์ว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม

จะเหมือนกับที่คุณแฟรงค์พูดว่า สุดท้ายก็ต้องตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราทำ คำถามที่เราถาม ภาพที่เราสื่อออกไป ทุกอย่างสังคมได้ประโยชน์อะไร ถ้าคำตอบคือวัดด้วยเรตติ้ง ตรงนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เรตติ้งไม่ได้เท่ากับการสื่อข่าวที่มีคุณภาพเสมอไปไม่ได้เท่ากัน แบบนั้นมันอาจจะต้องกลับมาดูว่า อะไรที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ไม่เกิดผลลบ ที่สำคัญการมองว่า มันจะมีวิธีกระบวนการหนึ่งในต่างประเทศ ที่เรียกว่าโซเชียลแซงชั่น ถ้าสื่อไหนทำไม่ถูกต้อง หรือแบบนี้ประชาชนคิดว่าไม่โอเค ในต่างประเทศค่อนข้างจะมีบทลงโทษจากสังคมค่อนข้างรุนแรง ไม่อุดหนุน กดดันให้ถอนสปอนเซอร์ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สังคมสามารถเปล่งเสียงออกมาได้และสามารถทำได้จริง

เพราะสมัยก่อนเราสามารถรู้สึกว่าสื่อบอกอะไรมาก็เชื่อ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว คนดูสามารถลุกขึ้นมาแล้วบอกได้ว่า แบบนี้เราไม่เอา ไม่ชอบ ตรงนี้หากส่งเสียงกันมากพอ เชื่อว่าไม่มีสื่อไหนไม่กล้าทำตาม ไม่มีสื่อไหนที่กล้าฝืนกระแส เพราะว่าถ้าหากฝืนไป สุดท้ายก็จะไม่มีคนดู  คุณแฟรงค์จะให้ภาพรวมว่าทางสื่อสหรัฐทำแบบนี้ แล้วสื่อไทยอาจจะลองพิจารณาดู กระบวนการที่เค้าทำในสหรัฐฯ 

หนุนร่วมมือ วัดเรตติ้งด้านคุณภาพ

เมื่อถามถึงกระบวนการของเรตติ้ง เรายังแก้ปัญหากันไม่ตกว่า เราจะใช้มิติทางคุณภาพไหนมาจับ ซึ่งเอเจนซี่ก็ยอมรับว่า จัดตามจำนวนคนดู คือปริมาณ และสัดส่วนการจัดสรรเม็ดเงินโฆษณาก็ให้กับสื่อที่มีเรตติ้งสูง คิดว่าเอเจนซี่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสื่อในบ้านเรา ต้องมาตั้งวงคุยกันหรือไม่ว่า ต่อไปนี้ขอให้มีเรตติ้งสำหรับที่มีเนื้อหาคุณภาพได้หรือไม่ และต้องมีกรรมการเข้าไปให้คะแนนว่า รายการไหนมีคุณภาพแค่ไหน มีความเป็นไปได้หรือไม่ ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี เพราะจริงๆ ไม่ควรจะมีแค่เชิงปริมาณ แต่ควรมีเชิงคุณภาพด้วย แม้ว่าการจะได้มาเรตติ้งในเชิงคุณภาพมันค่อนข้างยาก 

ต้องได้รับการยอมรับจากทั้งอุตสาหกรรมสื่อ ทั้งระบบนิเวศน์ และทางเอเจนซี่ก็ต้องยอมรับได้ ทางสถานี ทางผู้ผลิต ก็ต้องยอมรับได้ อันนี้ค่อนข้างยาก แม้จะมีความพยายามของภาควิชาการ ที่หลายมหาวิทยาลัยกำลังศึกษาเรื่องการทำเรตติ้งเชิงคุณภาพ เราเห็นความพยายามหลายอย่าง ซึ่งจะต้องร่วมกันทุกภาคส่วน กสทช.ที่กำกับดูแล ก็ต้องมาดู ต้องไปกันทั้งระบบ 

ในส่วนของการกำกับดูแลกันเองก็ดี ในส่วนของเอเจนซี่ คนดูเอง ก็ต้องตระหนักเรื่องนี้ด้วย ตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลา และต้องจริงจังไม่ฉะนั้นกลายเป็นว่า เรายังติดอยู่ในกับดักของเรตติ้ง แล้วมันก็วนกลับมาแบบนี้เหมือนเดิม และต้องมาถอดบทเรียนกันอีกเรื่อย ๆ

ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปล้มระบบเรตติ้งในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพน่าจะต้องมีคนจัดกลุ่มเข้ามาเป็นกรรมการ

รางวัล-ลงโทษทิศทางคู่ขนานอาจได้ผล

  อีกส่วนหนึ่ง เป็นไปได้หรือไหม หากจะมีวิธีการให้รางวัล เช่น กสทช.อาจมีรางวัลให้ช่อง ที่ไม่เคยนำเสนอเรื่องไสยศาสตร์เลย ผู้ประกอบการก็จะเห็นพ้องต้องกันว่า หากไม่เอาโล่ห์ หรือประกาศนีียบัตร ก็ขอลดค่าสัมปทานคลื่นได้หรือไม่ ให้เห็นเป็นตัวเงินชัดเจน อะไรที่เกี่ยวกับตัวเงิน เค้าอาจจะยินดีทันที ดังนั้นก็ต้องไปหากลไกว่าจะทำอย่างไร ทั้งการให้รางวัลและการลงโทษ ซึ่งแค่เตือนเค้าก็อาจจะเฉย ๆ ลองลงโทษ ด้วยการจอดำไปซักหนึ่งสัปดาห์คงไม่มีใครกล้าหือแน่

ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องกลับมาดูเรื่องกลไกต่างๆ เพราะการให้รางวัล และการลงโทษ ที่มันผูกโยงกับเรื่องนี้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ถ้ามันเกิดจากตัวสื่อปรับได้เอง และคนดูก็รับรู้ได้ ไปในทิศทางเดียวกันแบบยั่งยืน แบบนี้จะดีกว่า

เมื่อถามว่า สื่อมืออาชีพกับคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อ สองกลุ่มนี้ใครควรจะต้องรับผิดชอบสังคมมากกว่ากัน และคิดว่าใครจะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่ากัน 

ผศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า ตอนนี้ต้องเปลี่ยนวิธีนิยามคำว่าสื่อ เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคที่ผู้รับสาร สามารถลุกขึ้นมาสร้างสรรค์เนื้อหาได้ดังนั้นเส้นแบ่งระหว่างความเป็นสื่อกับบุคคลค่อนข้างเบลอแล้ว เพราะคน ๆ หนึ่งมีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ เสร็จปุ๊บ ทำติ๊กต๊อก มีคนดูหลักพัน เค้าก็สถาปนาตัวเองเป็นสื่อได้แล้ว ดังนั้นตนมองว่า สิ่งที่ทำให้มีความเป็นมืออาชีพ แตกต่างกับใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ คือเรื่องจริยธรรมความรับผิดชอบต่อสังคม อันนี้จะทำให้มีความแตกต่างในฐานะเป็นสื่อมืออาชีพ ที่ไม่ใช่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้

ส่วนใครจะต้องรับผิดชอบสังคม ไม่ว่าจะเป็นสื่อมืออาชีพ หรือเป็นคนธรรมดาที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อ เมื่อใดก็ตามที่มีคนมาติดตามก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน