สังคมเฝ้าระวังจับผิดสื่อมากขึ้น แนะสื่อต้องรู้เท่าทันตัวเอง ตระหนักผลกระทบคนในข่าว

นักวิชาการชี้สังคมเฝ้าระวัง รู้ทัน จับผิดสื่อมากขึ้น พบปัญหาข่าวด่วน ทุกสื่อใช้ข้อมูลจากกู้ภัยแหล่งเดียว เตือนระวังข้อมูลสุ่มเสี่ยงละเมิด นักวิชาชีพชี้จุดเปลี่ยนสื่อ กำลังถูกคนดูจัดระเบียบ แนะต้องรู้ทันทุกสิ่งที่นำมารายงาน ยอมรับงานผลิตข่าวของสื่อลดลง เหตุใช้ข้อมูลโซเชียล อาจส่งผลนักข่าวมืออาชีพลดจำนวน ขณะที่หน้าจอจำเป็นต้องปรับจากอ่านเป็นเล่าข่าว โดยเติมความรู้  ขณะที่นักวิชาการด้านเยาวชน เตือนขยายดราม่าข่าวเด็กเสี่ยงผิดกฎหมายหลายฉบับ ยกแนวปฏิบัติสื่อต่างชาติเข้มงวด แนะสื่อไทยช่วยเหลือเหยื่อที่ต้องมาพร้อมกับการปกป้อง สื่อต้องรู้เท่าทันตัวเอง ตระหนักผลกระทบคนในข่าว

       รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “เมื่อสังคมต้องรู้เท่าทันสื่อ แล้วสื่อต้องรู้เท่าทันใคร” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

       “เมื่อสังคมต้องรู้เท่าทันสื่อ แล้วสื่อต้องรู้เท่าทันใคร” ในมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ระบุว่า ที่ผ่านมาเราขับเคลื่อนกลไกทางสังคมในการรณรงค์ส่งเสริมให้รู้เท่าทันสื่อพอสมควร ซึ่งก็มีทั้งสื่อเดิม สื่อสมัยใหม่ที่เป็นออนไลน์ และก็มีเสียงสะท้อนจากคนรับสื่อ จากการร้องเรียนไปยังองค์กรวิชาชีพ รวมถึง กสทช.เรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อโดยรวม ซึ่งไม่ได้แยกแพลตฟอร์ม โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องดราม่าที่ไม่มีประโยชน์ หรือจากแหล่งข่าวหิวแสง ซึ่งสื่อเองก็รู้ว่า มีแหล่งข่าวลักษณะต้องการสร้างกระแสดราม่า และยังมีข้อมูลเหล่านี้จำนวนไม่น้อยในข่าว 

       รวมทั้งมีการปั่นข่าว ปล่อยข่าวออกมา สังคมก็ตั้งข้อสังเกตบางครั้งสื่อเกาะข่าวหนึ่ง อยู่ๆ ก็มีคนออกมาปั่นข่าว ปล่อยข่าวลือ อ้างว่ามีข้อมูลออกมาในจังหวะที่ต้องการจะกลบข่าวใดข่าวหนึ่ง ถึงแม้สมัยก่อนจะมีดราม่า แต่ความเร็วก็ไม่เท่ากับดราม่าในปัจจุบัน เพราะทุกคนเหมือนมีสื่ออยู่ในมือ ปฏิกิริยาของ Engagement จะเกิดขึ้นเร็วมาก ในเรื่องของดราม่า บางทีก็ทำให้เกิดเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา

       ผู้ดำเนินรายการได้หยิบยก กรณีดราม่า ลอยกระทงขนมปัง ย่อยสลายง่าย ปลากินได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีมุมที่นักวิชาการออกมาระบุว่า จำนวนที่ปลากินไม่หมดจะส่งผลให้เกิดจุลินทรีย์ในน้ำ กรณีพระบิณฑบาตตี 4 สวดมนต์แผ่เมตตา กรณีเด็ก 18 ฆาตกรรมเด็ก 14 สุดท้ายก็จะไปขายน้ำท่อม สุดท้ายข่าวนี้ไม่ได้ไปถึง Primary source มีการนำเสนอต้องการแค่ Engagement ไม่มีการสังเคราะห์ วิเคราะห์ และสรุป ในฐานะนักวิชาการ มองอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ กล่าวว่า หลักการสำคัญของสื่อ ไม่ว่าแพลตฟอร์มใด เวลามีเหตุการณ์น่าสนใจหรือสำคัญ ที่่สังคมควรรับรู้ สื่อก็รีบหยิบมานำเสนอเรื่องที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ซึ่งก็ย่อมเกิดขึ้นได้ และอาจไม่ใช่ข่าวใหญ่เท่ากับวันแรกที่เปิดประเด็น แต่เป็นการเกาะติดเพื่อให้คำตอบกับสังคมได้ สื่อที่เปิดประเด็นก็น่าจะต้องติดตามต่อเนื่องว่าสุดท้ายเรื่องจะเป็นอย่างไร

       อย่างกรณี กระทงขนมปัง เท่าที่เรารับรู้ ก็เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่หากถูกตั้งข้อสังเกตใหม่ สื่อก็ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ ด้านสิ่งแวดล้อม หรือวิทยาศาสตร์ ถ้าไปติดตามต่อ เรื่องก็น่าจะสะเด็ดน้ำ ก็น่าจะเป็นประโยชน์

       อีก 2 เรื่องข้างต้น เป็นคดีอาชญากรรม เหตุการณ์อย่างนี้เท่าที่ทราบจากผู้ปฏิบัติงานสื่อ บางเรื่องที่ไปต่อไมได้ เพราะคนทำคดีไม่เปิดเผยข้อมูล มีลักษณะเรื่องที่คล้ายกันเทียบเคียงได้ อย่างกรณีคีย์บอร์ดคอมพ์พิวเตอร์ระเบิดที่ จังหวัดนนทบุรี ตอนแรกคนอยู่ในเหตุการณ์และตำรวจไม่พูด กระทั่งทนกระแสสังคมที่เชื่อว่าอาจจะไม่ใช่คีย์บอร์ดระเบิดไม่ไหว แต่พอสื่อรายงานไปก็โดนทัวร์ลง เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งบางครั้งสื่อก็ทำงานภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องข้อมูล 

       อีกเรื่อง เป็นการรายงานข่าวเรื่องเด็ก เชื่อว่าสื่อเองก็กำลังหาจุดพอดี รวมถึงการหาสาเหตุอะไรเป็นแรงจูงใจ แต่พอสื่อไปทำข่าว นำข้อมูลนี้มาเสนอ ก็สุ่มเสี่ยงล้ำเส้นพนักงานสอบสวน และเมื่อไปถามข้อมูลแวดล้อม ที่เค้าไม่พร้อมจะตอบ ก็ถูกตำหนิ ก็มีปัญหาตามมา อย่างไรก็ตามในมุมของข่าว ถ้าเรื่องยังไม่สะเด็ดน้ำ ในแง่นี้สื่อก็ต้องติดตาม เพราะประชาชนก็ต้องการคำตอบ

       ส่วนกรณีการพาดหัวข่าว ขณะที่เรื่องกำลังเกิดขึ้น ยังไม่มีผู้ยืนยันข้อมูล ตัวอย่างกรณีข่าวคีย์บอร์ดระเบิด ขอยกเป็นกรณีศึกษา พาดหัวก็ต้องกระชับ เรียกความสนใจ ไม่ได้มีเจตนาเป็นหลุมดัก แต่ก็ทำให้คนเชื่อ รับรู้ได้ทันทีว่าคีย์บอร์ดระเบิดได้ แต่ถ้าสื่อใส่รายละเอียดข้อมูลลงไป โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่เป็นผู้ระบุ ผู้คาดว่า ในขณะที่เรื่องยังไม่คอนเฟิร์ม ดังนั้นการเติมข้อมูลลงไป ก็น่าจะปลอดภัยในการนำเสนอ

          ปัญหาใช้ข้อมูลเสี่ยงจากแหล่งเดียว

       มีอีกประเด็นที่ตนอยากแชร์ อันเนื่องมาจากข่าวคีย์บอร์ดระเบิด กับเหตุการณ์กราดยิงที่ จังหวัดหนองบัวลำภู ในฐานะคณะทำงานกำกับเนื้อหา กสทช. ได้ตั้งข้อสังเกตกันว่า ในช่วงที่ผ่านมา ข่าวที่เกิดเหตุฉับพลันทันด่วน ข่าวที่ได้ออกอากาศ ถูกนำเสนอทุกแพลตฟอร์ม เป็นภาพที่มาจากกู้ภัยที่เข้าไปในเหตุการณ์ ปรากฎว่า กลายเป็นงานชิ้นเดียวที่ทุกสื่อนำไปใช้ 

       จึงมีประเด็นตามมาว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซ้ำเดิมผู้สูญเสียหรือไม่ กระทบสิทธิเด็กหรือไม่ บางช่องก็ทำภาพเบลอ บางช่องเลี่ยงไปทำอิมเมอซีฟ จำลองเหตุการณ์เสมือนจริง เป็นการไปซ้ำเติมอีก ฉะนั้นสื่อต้องระมัดระวังการใช้ข้อมูล First source ที่ไม่ได้มาจากนักข่าวตัวเอง แต่มาจากกู้ภัย เท่าที่รับทราบ แชร์กันในกู้ภัยแล้วหลุดมาที่สื่อ แล้วสื่อรู้หรือไม่ว่า เวลาผู้เสียหายจะฟ้อง คือฟ้องคนนำเสนอ คือสื่อเอง

       เช่น เวลาไปสัมภาษณ์นักการเมืองที่ใส่ความฝ่ายตรงข้าม เวลาเค้าฟ้องหมิ่นประมาท คือคนนำเสนอ แต่ไม่ได้ฟ้องคนพูด ดังนั้น อนาคตสื่อที่ใช้ข้อมูลจากกู้ภัย ก็สุ่มเสี่ยงจะมีความผิด โดยเฉพาะผู้ที่รับใบอนุญาตก็อาจมีความผิด เพราะมีมิติทั้งกฎหมายและจริยธรรม ฉะนั้นสื่อเองก็จะต้องรู้เท่าทันข้อมูลตรงนี้

       เมื่อถามต่อว่า สื่อต้องรู้เท่าทันคอนเทนท์ที่เราไปหยิบมาใช้ นอกจากความรวดเร็ว จะต้องมีการเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้รายละเอียดมานำเสนอต่อเนื่อง เป็นไปได้หรือไม่ ที่บางคอนเทนต์ก็เปรียบเหมือนสินค้า ที่ค่อยๆ ปล่อยข้อมูลออกมาเรื่อยๆ กั๊กเอาไว้ก่อนแล้วค่อยๆ นำเสนอ รศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า เป็นไปได้ ในการบริการจัดการข้อมูลข่าว ซึ่งในกอง บก.ทราบดี อาจจะมีเหตุผลที่ทยอยปล่อย เพื่อไปตามข้อมูลเพิ่มเติม แต่อีกด้านก็อาจถูกมองได้ว่าเจตนาขายข่าว

          สังคมเฝ้าระวังรู้ทันจับผิดสื่อมากขึ้น

       ต่อข้อถามว่า ในยุคดิจิตอล ที่สังคมไทยเข้าสู่ สังคมนิวนอร์มอล วิธีการทำงานของสื่อหลัก จะเปลี่ยนไปอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ กล่าวว่า ความหนักหนาสาหัสที่เราทำงานกัน ก็จะเข้าลูปเดิม คือทำงานอย่างเข้มข้น ไม่ว่าสื่อเก่าสื่อใหม่ แต่ช่วงหลังก็มีกติกาใหม่ๆ สำหรับออนไลน์ ซึ่งทำงานยากมากขึ้น 

       อย่างไรก็ตาม สำคัญคือ สังคมเฝ้าระวังและรู้เท่าทันมากขึ้น แม้แต่พิธีกรออกเสียงผิด ใช้คำไม่ถูกต้อง การแต่งกาย คนตื่นรู้มากขึ้น ก็ขอฝากสื่อให้ตระหนัก ง่ายที่สุด ถ้าจะนำเสนออะไรให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ทำร้ายใคร หลักในการนำเสนอเรื่องราวบุคคลต่างๆ ก็ให้คิดว่า เป็นญาติพี่น้อง ต้องไม่ไปซ้ำเติมใคร หรือละเมิดใคร

          งานข่าวผลิตเองลดน้อยถอยลง

       ด้าน นักวิชาชีพ คณิศ บุณยพานิช ​กล่าวถึง วงการสื่อที่กำลังไล่ตามเทคโนโลยี แต่สำหรับคอนเทนต์ วิธีการทำงาน โดยเฉพาะเนื้อหา ถ้าประเมินจากการผลิตงานข่าวภาพรวม วันนี้เรามีข่าว ที่นักข่าวผลิตตั้งแต่ต้นทาง มีแหล่งข่าวจากการสืบค้นข้อมูล วางแผนการทำงาน ลงพื้นที่จริง เพื่อผลิตเป็นชิ้นงาน แล้วกลับออกมา รูปแบบอย่างนี้มันน้อยลงมาก แม้ว่ายังจะมีเหลืออยู่บ้าง 

       ข่าวที่เราจะเห็นในภาพรวมส่วนใหญ่ มีแหล่งที่มาจากที่ไม่ใช่นักข่าวทำ หรือถ่ายภาพ แต่เป็นคลิปออนไลน์ จาก TikTok ภาพจากกล้องวงจรปิด กล้องหน้ารถ หรือแม้แต่โพสต์ที่มีคนไปถ่ายมา ก็เอามาเล่า หรือเพจ อินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ที่เค้ามีชุดข้อมูล มีภาพมา มีคนส่งให้ มี inbox เข้ามา แล้วนักข่าวก็ไปหยิบมาเล่าเป็นเรื่องเป็นราวได้ ภาพก็จะใช้วนซ้ำอยู่อย่างนั้น อย่างกรณีที่มีการทำร้ายกัน เราก็จะเห็นภาพแบบนี้ ก็ต้องถามกลับไปว่า นโยบาย และวิธีการทำงาน จะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อนักข่าวจริงๆ ที่ทำงาน ก็น้อยลงมาก

          ผลกระทบนักข่าวมืออาชีพลดลง

       ต่อข้อถามว่า ถ้าอย่างนั้นขนาดกอง บก.ก็ต้องลดลง ไม่จำเป็นต้องเป็นกองใหญ่จำนวนมาก คณิศ กล่าวว่า อาจจะเป็นอย่างนั้นได้ ถ้าเรายังคงมีวิธีการทำงานแบบนี้ ความจำเป็นของนักข่าวก็คงจะลดลง อาจจะมีแค่ผู้ประกาศ 2-3 คน แล้วเอาภาพคลิปจากออนไลน์ แล้วมานั่งเล่า อย่างมากก็อาจจะยกหูโทรคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะให้นักข่าวลงไปสัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย แล้วมาประกอบเป็นเรื่องราวได้

       แล้วคนที่เรียนทำข่าว เขียนข่าว ทำสคริปต์ การลำดับภาพมา วิธีการเล่าเรื่องแบบ Story Telling จะไปอยู่ตรงไหน บางครั้งก็ต้องมีคำถามกลับไปเหมือนกันว่า แล้วอย่างนี้จะไปกันอย่างไร ขณะที่อีกด้าน ก็ต้องยอมรับว่า คนดูก็ยังดูอยู่กับการผลิตงานแบบนี้ เพราะเค้าไม่ได้สนใจหรอกว่า คุณทำงานอย่างไร เค้าแค่อยากรู้ อยากดู แต่ก็ต้องมีคำถามกลับเหมือนกันว่า เราเอาอะไรให้เค้าดูด้วย

          จำเป็นต้องปรับจากแค่อ่านเป็นเล่าข่าว

       เมื่อถามต่อว่าการนำเสนอข่าวในฟอร์แมตของทีวีในความเป็นข่าว ฟอร์แมตของทีวีมีผู้ประกาศอ่านข่าว วันนี้ไม่จำเป็นต้อง Wrap up ข่าว อ่านไปแสดงความคิดเห็นไป จะกลายเป็นแบบนี้ไปหมดแล้วหรือไม่ คณิศ กล่าวว่า ส่วนใหญ่กำลังจะเป็นแบบนั้น ซึ่งไทยพีบีเอส ก็พยายามรักษารูปแบบ คือผู้ประกาศมีสคริปต์ข่าว แต่เราก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน เพราะไม่อย่างนั้น จะต้องอ่านสคริปต์อย่างเดียว ก็คงไม่ตอบสนองต่อคนดูแล้ว แต่ต้องมีวิธีอธิบาย ให้ความรู้เพิ่มเติม เคียงข่าว ต้องมีอะไรเข้ามาเพิ่มเติม เช่น ตัวเลข สถิติ เป็นการให้ความรู้เพิ่มเติม จากข่าวแบบเดิมๆ เมื่อก่อนอาจจะเป็นสคริปต์ข่าวที่ กองบก.เขียนให้ผู้ประกาศอ่านอย่างเดียว โดยไม่สามารถไปเติมอะไรได้มากกว่านั้น แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น คนเล่าข่าวก็ยังเอาทุกอย่างมาเล่า บนสิ่งที่ตัวเองเตรียมมา ไปค้นคว้าหาข้อมูลมา ไปดูจากคนอื่นเค้าเล่า ก็เอามาเล่าต่อ

       เมื่อถามว่า การทำข่าวของนักข่าวสมัยก่อนที่ต้องไปทำความคุ้นเคยกับแหล่งข่าวถึงจะได้ข้อมูลมา แต่จุดอ่อนการยกหูโทรหา อาจจะไม่ได้ความจริงทั้งหมด คณิศ กล่าวว่า ความจริงในข่าว มันก็คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องแบบไหน เหตุการณ์นั้นก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ เพียงแต่สิ่งที่เล่า มันอาจจะผสมไปด้วยความรู้สึก การอิน อารมณ์ การเร้าอารมณ์ การกระตุ้นให้คนดูรู้สึกคล้อยตามว่า มันควรจะเป็นแบบนั้น

          ไม่ควรใช้คำ“ชี้นำ”กล่าวหา

       ตัวอย่างข่าวกรณีเยาวชนอายุ 18 ปีฆาตกรรมรุ่นน้อง ถ้าเราเห็นภาพรวม ในการรายงานข่าว ก็จะไปเอาเสียงที่เป็นคลิปเสียงที่อาจจะคุยกับใครสักคนมาเผยแพร่ แต่วิธีการเล่า การใช้ภาษา ใช้คำว่า “กร่าง” สมัยก่อนเราอาจคงไม่กล้าใช้คำแบบนั้น เพราะคำว่ากร่างมันคือการกล่าวหาเขา แล้วเค้ากร่างจริงหรือไม่ มันไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า กร่างคือแค่ไหน แม้ว่าความรู้สึกของคนทั่วไป จะรู้สึกว่าวิธีการพูดแบบนี้ดูว่ามันก็กร่าง ก็เป็นลักษณะแบบนั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การรายงานข่าวมันไม่ควรจะไปชี้นำ ให้คนรู้สึกแบบนั้น เช่นเดียวกันมันคือการกล่าวหา แล้วก็มีความผิดทางกฎหมายด้วย ต้องอย่าลืม

          จุดเปลี่ยนสื่อถูกคนดูจัดระเบียบ

       เมื่อถามต่อว่า ในยุคที่กำลังจะข้ามจากอนาล็อกมาสู่ดิจิตัล ก็เตือนกันว่า นักข่าวจะต้องเก่งทุกอย่าง ทำข่าวได้ เขียนข่าวได้ ถ่ายภาพได้ ตัดต่อได้ ทำทุกสิ่งอย่างได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นนักข่าว Mojo ทุกวันนี้ ผู้ประกาศก็ควรจะต้องมีมัลติสกิลมากกว่าการอ่านสคริปต์อย่างเดียวก็เป็นพัฒนาการด้วยนั้น คณิศ กล่าวว่า เป็นวิวัฒนาการที่ควรจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า หรือเราอาจจะมีวิวัฒนาการที่มันสอดคล้อง แต่สาระสำคัญคือ การใช้ภาษา การใส่ความเห็น การผลิตงาน ที่ควรจะต้องวางแผนในการทำงาน ลงพื้นที่ เก็บภาพ เล่าเรื่องสืบค้นหารายละเอียด มันควรจะต้องมีอยู่ไหม สุดท้ายแล้ว คนดูก็จะเป็นคนที่ตัดสินทุกอย่าง

       วันนี้แม้สื่อจะรายงานไม่เหมาะสม กรณีทั้งกราดยิงโคราช และกราดยิงหนองบัวลำภู ที่เห็นได้ชัดคือ สื่อถูกจัดระเบียบโดยคนดู ดูคนที่อยู่ในโลกออนไลน์แล้ว เค้ามองเห็นว่า ไม่ควรทำแบบนั้น เพราะมีช่องไหนแหลมไปสักช่อง คนดูที่ไม่ได้มีความรู้ด้านข่าว แต่เค้าจัดระเบียบให้สื่อต้องระวัง กรณีกราดยิงโคราช เป็นจุดเริ่มต้นที่เราเห็นว่า ต้องระวัง แม้อาจจะมีประเด็นที่ถูกตำหนิบ้าง แต่กรณีหนองบัวลำภู เห็นได้ชัดว่า นักข่าว แต่ละช่องระมัดระวังมากขึ้น วันแรกอาจจะหลุดไปบ้าง แต่วันถัดมา เริ่มจัดระเบียบตัวเอง 

          ต้องยึดมาตรฐานเดียวกัน

       อย่างไรก็ตาม คณิศ มองว่า ความระมัดระวัง อาจจะเกิดเฉพาะข่าวใหญ่ แต่พอเป็นคดีอาชญากรรมทั่วไป ก็กลับมาเป็นแบบเดิม มันต้องยึดมาตรฐานแบบเดียวกัน ต้องรายงานโดยวิธีการแบบเดียวกัน เพราะเป็นเหตุการณ์อื่นๆ อย่างเรื่องครอบครัว สามีภรรยาทะเลาะกัน เห็นต่างกัน ก็เอามาเป็นข่าว นั่งทอล์คกันเป็นชั่วโมงๆ มันควรมีคำถามจากคนดูแบบเดียวกัน แต่ว่าก็พูดยาก เพราะบางคนก็ยังอยากดู แต่บางคนก็อาจรู้สึกว่า จะดูไปทำไมกับเรื่องแบบนี้

       เมื่อถามต่อว่า รูปแบบการนำเสนอ ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคหรือคนดูที่อยากได้แบบไหน อยากดูข่าวอะไร เมื่อไหร่ ใช่หรือไม่ คณิศ กล่าวว่าจริงๆ เป็นเหมือนเรื่องไก่กับไข่ คนผลิตงานส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า ก็เพราะคอนดูชอบ บางคนก็ด่าไปดูไป แต่ในทางกลับกัน ที่คนดูทำอย่างนั้นก็เพราะสื่อไม่มีใครกล้าที่จะบอกว่าคนดูจะได้ดูอะไร เพราะทำสักช่องหนึ่ง ช่องอื่นก็ทำตาม แต่ถ้าช่องอื่นๆ นำเสนอในสิ่งที่ควรจะเป็นช่วยพัฒนาคนดูพัฒนาสังคม อีกสองช่องที่เหลือก็ต้องพัฒนาเหมือนช่องส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ยังทำในสิ่งที่คนดูชอบก็จะกลายเป็นแบบนั้นแบบเดิมถ้าคนส่วนใหญ่ทำในสิ่งที่ควรจะต้องทำ คนดูก็ต้องดูในสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับตัวเขา เราต้องมองแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไก่กับไข่แน่นอน

          สื่อต้องรู้เท่าทันทุกสิ่งที่นำมารายงาน

       เมื่อสังคมต้องรู้เท่าทันสื่อ แล้วสื่อต้องรู้เท่าทันใคร คณิศ มองว่า มี 2-3 อย่าง ถ้าทุกวันนี้คนทำข่าวยังใช้แหล่งข้อมูลที่มันเป็นคลิป เป็นภาพ ไวรัล เป็น TikTok อันนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่า สื่อควรจะต้องรู้เท่าทันสิ่งที่ตัวเองหยิบมารายงาน บางทีมันเป็นเฟกนิวส์ ก็เป็นปัญหา สื่อก็ต้องรู้สึกว่า ในการตรวจสอบอย่างไร เราต้องรู้เท่าทัน การได้แหล่งข้อมูล

       ที่สำคัญคนดูก็ต้องรู้เท่าทันสื่อเหมือนกัน สิ่งที่สื่อรายงานหวังผลอะไร กำลังจะบอกอะไร อยากให้คนดู คนติดตาม ผู้บริโภคก็ ต้องรู้เท่าทันสื่อเหมือนกันที่รายงาน ถ้าสองฝ่ายรู้เท่าทันซึ่งกันและกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าสื่อก็ต้องถูกจัดระเบียบโดยผู้บริโภคเหมือนกัน ถ้าแหลมไป พลาดไป เดี๋ยวนี้คนดูไม่ได้ดูเฉยๆ แต่ดูจริงจัง จับผิดให้เห็น อินบ็อกซ์มาทันที โพสต์ให้เห็นเลยว่ารายงานผิด

          ขยายดราม่าข่าวเด็กเสี่ยงผิดกม.หลายฉบับ

       ด้าน ธาม เชื้อสถาปนศิริ ​มองสถานการณ์ข่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวดราม่าเยอะ สำนักข่าวก็เล่นข่าวภาคค่ำ ข่าวต้นชั่วโมง วิเคราะห์กันทุกช่อง ความวัวยังไม่ทันหายความควายต้องล้อมคอกก็เกิดขึ้นมา สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและเยาวชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องบอกว่าสื่อตั้งรับไม่ทัน ไม่ว่าจากคดีความ ฆาตกรรม หรือปัญหาชิงรักหักสวาท แม้กระทั่งการกระทำความรุนแรงต่อเด็กในหลายรูปแบบ 

       หลายเรื่องเหล่านี้ ถ้ามองในมุมว่า เราต้องรู้เท่าทันสื่อ คำถามคือ หนึ่งเรารู้เท่าทันสื่อมากน้อยแค่ไหน แต่คำถามที่สำคัญกว่า ถ้าเราอยากจะรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเราอาจจะเป็นประชาชนที่ทำได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ แต่สื่อฐานันดรที่สี่ต้องรู้เท่าทันใครอันนี้คำถามดีกว่ามาก เพราะหลังสื่อคือใครก็ไม่รู้ ถ้าสื่อตรวจสอบสังคมแล้วใครตรวจสอบสื่อ

       ฉะนั้น ประเด็นข่าวเหล่านี้ ขอหยิบยกเรื่องแรกก่อน กรณีชิงรักหักสวาท เท่าที่อ่านข่าว ข่าวไม่ค่อยลึก พล็อตเรื่องคล้ายละคร มีการพาดหัวข่าว เช่น หนุ่มใหญ่ 52 เนื้อหอม หรือใช้คำว่าแฟนรุ่นเด็ก ตนเห็นคำพวกนี้ รู้สึกว่า สื่อมวลชนรู้หรือไม่ว่า คำพวกนี้ พอไปพาดหัวข่าว เราแทบจะไม่เห็นแหล่งข่าวที่เป็นผู้ชายคนนั้นที่อายุ 52 ปี แต่มีเด็กหญิง 14 ปี 13 ปี นามสมมุติ 

       ประเด็นเรื่องนี้ ผิดกฎหมายหลายฉบับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เผยแพร่คลิปประจานกัน ผิดกฎหมายอาญา เคสนี้ อันดับแรก ปัญหาการกระทำผิดไซเบอร์บูลลีอิ้ง คือการกลั่นแกล้งรังแกเด็ก ที่ถูกถ่ายคลิป เค้าบอกว่าไม่ได้เกิดเหตุการณ์ครั้งเดียว เกิดมาตั้งแต่มิถุนายน จุดแรกมาจากเพจในจังหวัดสื่อท้องถิ่นที่ทำข่าว แล้วแพร่กระจายไปที่สำนักข่าวประจำจังหวัด และกลายมาเป็นข่าวระดับประเทศ

          แนวปฏิบัติสื่อต่างชาติเข้มงวดข่าวเด็ก

       อันนี้สะท้อนว่าการตรวจสอบในชั้นที่หนึ่ง ชั้นที่สอง เป็นต้นมา อาจจะเร่งตีข่าวเพื่อให้เด็กได้รับความช่วยเหลือ แต่ในอีกทางหนึ่งมี Code of Conduct ของสำนักข่าวต่างประเทศ อย่าง BBC ถ้าเป็นข่าวเกี่ยวกับเด็ก เรื่องของคดีทางเพศ ถูกล่วงละเมิด หรือ Grooming การตระเตรียมความพร้อมจากเด็กเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางเพศ เรื่องนี้หนุ่ม 52 กับเด็ก 14 ปี ในสหรัฐอเมริกาติดคุกทันที

       ในต่างประเทศ BBC ระบุว่า ข่าวแบบนี้ให้รายงานให้น้อยที่สุด และสื่อมวลชนก็สามารถจัดการหลังบ้านได้ แปลว่า กระทรวง พม. กรมสวัสดิการคุ้มครองเด็ก พม.จังหวัด สำนักงานตำรวจ ที่อยู่ในเขตจังหวัด จัดการเรื่องนี้ได้ โดยไม่ต้องเป็นข่าว ซึ่งสื่อต่างประเทศเค้าระบุเรื่องการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของตัวเด็ก แต่ของเรา เห็นข่าวทีวีทุกช่อง สำนักข่าวออนไลน์ก็ทำอินโฟกราฟิก อธิบายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน 

       อาจารย์ธาม ระบุว่า ตนเอาเรื่องนี้ไปสอนในชั้นเรียน ถ้าอธิบายว่า เรื่องที่ไม่ควรเป็นข่าว นักข่าวก็สามารถที่จะทำให้มันจบเร็วๆ ได้เพราะหลักการของ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเด็กคือ พูดถึงเรื่องการปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของตัวเด็ก ในกรณีนี้เป็นเด็กทั้งคู่ ไม่ต้องสนใจว่าใครผิดใครถูก แต่สนใจก่อนว่า หลักการที่นำเสนอเด็ก สื่อมวลชนต้องปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ฉะนั้น เรื่องนี้ถ้าคุยกันในสื่อมวลชนประจำจังหวัด มันจบได้ง่ายๆ แต่ต้น 

          ความช่วยเหลือที่ต้องเน้นการปกป้อง

       แม้เรื่องนี้ น้องที่ถูกกระทำแจ้งความแล้ว แต่คดีความไม่คืบหน้า ก็ต้องมาร้องสื่อในจังหวัด และก็ขยายผลต่อมาเป็นระดับประเทศ ที่สุดก็ต้องบอบช้ำกันหลายฝ่าย เพราะมันไม่จำเป็นเลยต้องทำให้เป็นข่าว เรื่องนี้น่าสงสารที่สุดคือตัวเด็กและเยาวชนนั่นเอง

       ประเด็นนี้ ถ้าไม่รายงานข่าว แล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะขยับมาแก้ปัญหา หรือถ้ารายงานข่าวไปแล้วให้คนแก้ไขปัญหา ต้องรอให้โพทนาไปทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ กลไกของรัฐ ในการปกป้องคุ้มครองเด็กจะต้องทำงานบนพื้นฐานที่เข้าใจว่า ผลประโยชน์สูงสุดคือการปกป้องเด็กไม่ได้หมายถึงว่า เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที แต่หมายว่า ชื่อเสียง ตัวตน และเกียรติยศของเด็ก จะต้องถูกปกป้องไว้ด้วย 

       ข้อมูลตามข่าว ระบุว่าเด็ก 13 ปีที่มีชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวง ไม่กล้าไปไหน อับอาย ลองคิดดูตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ถ้าตั้งสมมุติฐานว่า รอให้เป็นข่าวก่อน แล้วหน่วยงานรัฐ ตำรวจค่อยขยับ แล้วยังมีสำนักข่าวรายงานด้วยว่า ให้ไปหาหลักฐานเอง อันนี้สะท้อนปัญหามากๆ ว่า เด็กอยู่ในบรรยากาศวัฒนธรรมความรุนแรง แล้วระบบกลไกที่จะช่วยเหลือเด็ก ไม่ทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้อง เรื่องการผลักภาระให้ผู้เสียหาย หรือเหยื่อต้องไปหาหลักฐานเอง มันเป็นกลไกที่ผิดเพี้ยนผิดพลาดมากของระบบกระบวนการยุติธรรมของไทย

       ต้องเข้าใจว่าเด็กอยู่ในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายจะต้องฟูลออฟชั่น คือช่วยเหลือปกป้องพิทักษ์และเยียวยาโดยเร็ว เพราะนี่ไม่ใช่เหตุเรื่องลักเล็กขโมยน้อย นี่คือคดีที่ส่งผลกระทบต่อความทารุณจิตใจ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยวุฒิ แล้วมันจะส่งผลกระทบตอนที่เค้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

       ขณะที่เราทิ้งมันอย่างยาวนานจริงๆ แต่ก็มองว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นที่พึ่ง และสื่อมวลชนก็ควรจะรู้เท่าทันว่า ระบบนี้มันทำงานถูกต้องไหม ใน Code of Conduct ของบีบีซี ระบุว่า ถ้ารายงานไปแล้ว ผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับเด็กมากกว่า เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่า เราปิดไม่รายงาน แต่เราใช้กลไกสื่อมวลชนในการทำเรื่องนี้ โดยไม่รายงานเป็นข่าวได้ไหม 

          สื่อต้องรู้เท่าทันตัวเอง ตระหนักผลกระทบ

       คำถามว่าสื่อจะต้องรู้เท่าทันใคร ก็คือต้องรู้เท่าทันตัวเองก่อนว่า ถ้ารายงานเรื่องนี้ แล้วผลกระทบของการรายงาน เพื่อให้เด็กคนนี้ได้รับการช่วยเหลือ เราจะต้องทำให้คนทั้งประเทศรู้เรื่องนี้ไหม มันคุ้มกันไหม ที่เขาจะต้องใช้ชีวิตต่อ และสมัยนี้ข่าวนี้ออนแอร์จบ อีกชั่วโมงเอาไปลงใน YouTube, TikTok ในเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ ค้นหาใน Google เมื่อไหร่ ก็เจอแบบนี้ มันไม่คุ้มกับคำว่า ถ้าไม่เป็นข่าวแล้วเด็กจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ

       ส่วนคดีเยาวชน 18 ฆาตกรรมเด็ก 14 ที่เผยแพร่คลิปเสียงระบุว่า เป็นลูกคนรวย รู้กฎหมาย มีเส้นสาย สุดท้ายบอกว่าอนาคตกำลังจะไปขายน้ำท่อม ไม่สังเกตกันเลยหรือว่า จะมีเศรษฐีครอบครัวไหน ที่จะปล่อยให้ลูกไปขายน้ำท่อม แล้วก็นำเสนอ เรื่องนี้ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า สื่อมวลชนไม่ค่อยคิดหลายชั้นว่า ในการที่จะเอาโพสต์ Status ของจำเลย หรือผู้ต้องหาที่เค้าก่อเหตุ หลายช่องก็เอาข้อมูลจาก Facebook ที่เค้าโพสต์ อาจจะเซ็นเซอร์คำหยาบบ้าง แต่เปิดไปช่องไหนก็เจอทุกช่อง ไปสัมภาษณ์พี่ชาย น้องชายในงานศพ ไปเอาข้อความต่างๆ มา

          เน้นกรองข้อมูล-เลี่ยงผลิตซ้ำรุนแรง

       “ผมมอนิเตอร์ข้อมูลหลายๆ ช่อง ก็เห็นว่าสื่อมวลชนไม่ค่อยคัดกรองข้อมูล แต่เน้นว่าผู้ก่อเหตุไม่สำนึก ผู้ประกาศข่าวก็ใส่อารมณ์ลงไปผมว่าเรื่องนี้เราอยากจะรู้เท่าทันสื่อ แต่เมื่อเห็นภาพกราฟิกไม่มีภาพความรุนแรง ปกป้องสิทธิเด็กแล้ว แต่สื่อมวลชนผลิตซ้ำบ่อยๆ เรื่องของความหยาบคาย เค้าเป็นเด็ก ต่อให้เค้าโพสต์ Status สาธารณะ ไม่ว่าจะโอ้อวด อวดดี โอหัง หรือไม่สำนึกผิดอะไรก็ตาม สื่อมวลชนไม่ควรไปเอาข้อความเหล่านั้นมาผลิตซ้ำ เอาไปขยายความทำให้เค้ารู้สึกว่า เค้าได้รับความสำคัญ” อาจารย์ธาม กล่าวและว่า

       ที่จริงสื่อมวลชนต้องการตีประเด็นว่า ไม่สำนึก แต่ในมุมกลับ ในทางจิตวิทยา ไม่ควรขยายข้อความที่เป็นด้านลบมากขึ้น เพราะไปทำให้เป็นการยกคุณค่าความสำคัญ สปอตไลท์ไปอยู่ที่คนโพสต์ คล้ายๆ กรณีกราดยิงโคราช ที่ไปไล่ล่า ตามชีวิต ประวัติ พูดถึงชื่อของเค้า ตั้งสมญา จ่าคลั่ง

       สื่อมวลชนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นชั้นที่สองว่า ต้องไม่เป็นกระบอกเสียงให้ความรุนแรง เช่น ผู้ก่อการร้ายอยากให้อ่านแถลงการณ์แต่ก่อนสำนักข่าวจะไม่รายงานเหมือนกันหมดเลย ไม่อ่านแถลงการณ์ ไม่พูดว่าผลเป็นงานของใคร ทำให้ข้อความเหล่านั้นไม่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ กรณีแบบนี้ก็เช่นกัน ต้องพยายามลดโทนเรื่องนี้ลง แล้วไปมุ่งเรื่องปัญหาโครงสร้าง กระบวนการยุติธรรมจริงๆ จะดีกว่า

+++++++++++++++++++++