คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ส่งหนังสือชื่นชมการทำงานของสภาการสื่อฯ

คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ทำหนังสือชื่นชมการทำงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในการกำชับการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนตามมาตรฐานวิชาชีพสื่อและจริยธรรมสื่อ หลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ทางจริยธรรม และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม จากเหตุกราดยิงที่จ.หนองบัวลำภู

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้รับหนังสือชื่นชมจากคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ในการดำเนินการกำชับการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนตามมาตรฐานวิชาชีพสื่อและจริยธรรมสื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู

นางสาวนิภาวรรณ กล่าวว่า หนังสือชื่นชมดังกล่าว ลงนามโดยนางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ความว่า จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีเหตุคนร้ายกราดยิงนักเรียนและครูภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู รวมทั้งระหว่างทางได้ก่อเหตุขับรถชน และทำร้ายประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีสื่อมวลชนหลายแขนงนำเสนอภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีลักษณะอุจาดสร้างความรู้สึกสยดสยอง เนื้อหาข่าว การสัมภาษณ์ที่มีลักษณะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงการนำเสนอข่าวในลักษณะเป็นการดูถูกเหยียดหยามผู้ก่อเหตุแม้จะเสียชีวิตแล้วก็ตาม ที่อาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพจิตของครอบครัวผู้สูญเสีย ครอบครัวผู้ก่อเหตุ และสังคมในวงกว้างระยะยาว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และองค์กรวิชาชีพสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ได้ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนตรวจสอบและกำชับการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนตามมาตรฐานวิชาชีพสื่อและจริยธรรมสื่อ หลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ทางจริยธรรม และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมนั้น

คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติโดยฝ่ายเลขานุการ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงาน รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ในด้านสุขภาพจิต

จึงขอส่งหนังสือแสดงความชื่นชมท่านที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม โดยให้มีการตรวจสอบและกำชับการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมสื่อที่อาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพจิตของครอบครัวผู้สูญเสีย ครอบครัวผู้ก่อเหตุ และสังคมในระยะยาว.