ยิ่งใช้โซเชียลมีเดียเยอะ เฟกนิวส์ยิ่งเยอะ ผู้รับสารคือต้นทางลดปัญหา ต้องรู้เท่าทันสื่อ

ศูนย์ต้านข่าวปลอมเปิดกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอม วางกรอบ 4 หมวด ก่อนส่งข้อมูลหน่วยงานเกี่ยวข้องพิสูจน์ข้อมูล ยอมรับเป็นเรื่องปลายทาง แต่ต้องจำกัดวงส่งต่อความเสียหาย ลุยเชิงรุกถึงสถานศึกษา เพิ่มภาคีเครือข่าย ด้านนักวิชาชีพชี้แนวโน้มไม่ลด รูปแบบอาจพัฒนาจากการขยายตัวของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย แม้แพลตฟอร์มพยายามสกัด ขณะที่นักวิชาการชี้ผู้รับสารคือต้นทางลดปัญหา แนะ 3 ข้อตรวจสอบอย่างง่าย 

     รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง รู้ทัน“ข่าวต้องสงสัย”ว่า“ปลอม”ได้อย่างไร ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ดร.เอกพล เธียรถาวร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     จากกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยสถานการณ์ข่าวปลอมปี 2565 พบว่ามีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 517,965,417 ข้อความ จากการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนผ่านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในช่องทางเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ และ Line Official และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening) เกี่ยวกับข่าวปลอม หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 14,859 เรื่องแบ่งเป็น หมวดหมู่นโยบายรัฐ 3,772 เรื่อง หมวดหมู่สุขภาพ 2,344 เรื่อง หมวดหมู่เศรษฐกิจ 634 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 450 เรื่อง โดยข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยที่สุด 10 ลำดับ

     สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ อธิบายถึงที่มาการจัดอันดับข่าวปลอมของกระทรวงดีอีเอส ว่าได้รับข้อมูลมาจาก 2 ทาง คือประชาชนแจ้งเข้ามาตามช่องทางต่างๆ ของโซเชียลมีเดีย อีกทางคือกระทรวงมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจจับเนื้อหาที่อยู่บนโลกออนไลน์ โดยใช้คีย์เวิร์ดที่โซเชียลพูดถึงจำนวนมาก แล้วใส่คำนั้นเข้าไปค้นหา ระบบจะกวาดข้อความทั้งหมดที่ตรงกับคีย์เวิร์ดที่ใส่เข้าไป

     เราค้นหาเฉพาะช่องทางที่เป็นสาธารณะ ไม่ได้เข้าไปในข้อมูลส่วนตัว อย่าง Facebook หรือ LINE กลุ่ม  เราจะกวาดที่เป็นโอเพ่นที่มีคนแชร์ ใช้เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ขึ้นถึง 500 กว่าล้านข้อความ เพราะเนื้อหาเดียวกัน ที่มีการพูดถึงหนึ่งครั้ง แต่มีคนแชร์ 10,000 คน ก็จะเท่ากับมีทั้งหมด 10,000 ข้อความ การใช้เครื่องมือนี้ในการกวาด มันจะทวีคูณ แม้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ปริมาณที่คนพูดถึง จะถูกนับรวม ในตอนแถลงข่าวเรื่องนี้ อาจจะไม่ค่อยเคลียร์ 

เปิดกระบวนการตรวจสอบ-คัดกรอง

     เรารับข้อมูลที่เข้ามาเป็นล้านข้อความ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ส่งตรวจสอบ กระบวนการคือ ต้องคัดกรองเรื่องส่วนตัวออก แล้วก็มาดูอีกว่าเป็นความคิดเห็นหรือไม่อีกส่วนหนึ่งคือตัดเรื่องข่าวบันเทิง ดารา ออก จากนั้นจึงจะนำไปตรวจสอบ 

     เรากำหนดหมวดหมู่ไว้ 4 หมวดหมู่เท่านั้น คือ 1.สุขภาพอนามัย 2.เศรษฐกิจ 3.ภัยพิบัติ 4.นโยบายรัฐบาล ซึ่งก็น่าจะครอบคลุมเรื่องหลักๆ เกือบทั้งหมดที่เป็นปัญหาข่าวปลอม เพราะส่วนมากก็จะวนอยู่แค่ 4 หมวดนี้ และมีแยกย่อยลงไปในหมวดเหล่านี้

     จากนั้นก็มาดูว่าเรื่องที่ได้มา อยู่ในหมวดหมู่ไหน เรื่องไหนที่ไม่ตรงก็เอาออก ใน 4 เรื่องนี้ก็จะมีกว่า 300 หน่วยงาน เป็นเครือข่าย เราก็จะส่งข้อมูลเข้าไปตามหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ

ส่งหน่วยงานเกี่ยวข้องพิสูจน์ข้อมูล

     การส่งไปให้เจ้าของเรื่อง ที่เขาสามารถพิสูจน์ได้ เพราะถ้าเป็นนโยบายรัฐบาล เรื่องที่เราส่งไป ต้องมีข้อพิสูจน์ได้ ต้องมีหลักฐาน จะไม่ให้ตอบแค่จริง ปลอม หรือไม่จริง ไม่ถูก หรือไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ และเวลาที่เราส่งข้อความบรอดแคสต์ออกไป เราก็ย่อยข้อมูล ข้อความมาแล้ว ซึ่งเรื่องเบื้องหลังก็จะมีรายละเอียดจำนวนมาก แต่เราก็ย่อยข้อมูลออกมาให้ประชาชนอ่านง่าย เมื่อหน่วยงานปรูฟเสร็จ ก็ค่อยมาตรวจสอบแล้วก็บรอดแคสต์

     รอง ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ อธิบายถึงชื่อศูนย์ด้วยว่า ชื่อศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาจจะดูตื่นเต้น แต่เพื่อให้จับต้องได้ง่าย ชื่อโครงการจริงๆ คือศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม แต่ชื่อนี้มันอาจจะพีอาร์ไม่ได้ หน้าที่จริงๆ ของเรา ไม่ได้มีหน้าที่ไปปรูฟว่าจริงหรือไม่จริง อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามว่าทำไมเป็นกระทรวงดีอีเอสต้องมาทำ 1.กลไกของประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศ เรายังมีการขับเคลื่อนโดยรัฐเป็นหลัก นโยบายต่างๆ ลงมาจากรัฐ ไม่ได้ขับเคลื่อนเอกชนเป็นหลัก อย่างเช่น ถ้ากินอาหารไม่มีอย.คนก็ยังมีความเชื่อมั่นในภาครัฐ ถ้าเป็นเอกชนอื่นๆ อาจจะไม่มีความร่วมมือได้ง่ายเท่ากับภาครัฐทำ จึงเป็นที่มาของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ให้ความรู้ความจริง จำกัดการเผยแพร่

          เมื่อถามถึงมาตรการในการแก้ปัญหา ต่อปริมาณของข่าวปลอมที่นับวันจะมากขึ้น รองผอ.สันติภาพ กล่าวว่า เรามีมาตรการรองรับตั้งแต่มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แต่ถึงแม้ข่าวปลอมจะมีมากขึ้น แต่คนตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมน้อยลง ซึ่งต้องแยกกัน เพราะข่าวปลอมไม่ได้หมายถึง พวกคอลเซ็นเตอร์ ที่เป็นเรื่องฉ้อโกง คนจะเชื่อน้อยลง เมื่อเขามีความรู้ความเข้าใจ 

     หากย้อนไป 3 ปีก่อนที่จะมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม คนจะเชื่อง่ายโดยเฉพาะเรื่องโควิด โชคดีที่เราตั้งก่อนโควิดประมาณ 2 เดือน เพราะช่วงโควิดข่าวปลอมมีมากและกว้างกว่านี้เยอะ แต่ก็ต้องชี้แจงว่า เราเป็นปลายน้ำ การจะทำให้ข่าวปลอมน้อยลงก็เหมือนกับการให้ความรู้ ถ้าคนมีความรู้ มีประสบการณ์ ก็จะไม่หลงเชื่อ

     สำหรับการจัด10 อันดับข่าวปลอมที่มีคนแชร์จำนวนมาก ไม่ได้วัดนัยอะไร ถ้าดูจุดประสงค์ลึกๆ จริงๆ ที่่แชร์เยอะเพราะความกลัวเป็นหลัก ใน 10 เรื่องจะเป็นเรื่องความกลัว 8 เรื่อง และด้วยความห่วงใยจึงส่งต่อให้กัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องอายุ แต่เป็นประสบการณ์มากกว่า บางเรื่องผู้แชร์เป็นเด็ก เป็นเพราะเขาไม่รู้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แชร์ โดยเฉพาะเรื่องอาหารและยาที่มักจะเป็นเด็กที่ไม่รู้ไม่มีประสบการณ์

เชิงรุกถึงสถานศึกษา-เพิ่มภาคีเครือข่าย

     อีกทั้งดูไปถึงว่า ในเอเชียมีเทรนด์เรื่องนี้อย่างไร เพื่อจะได้เป็นการป้องกัน และขับเคลื่อนไปในสถานศึกษามากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้ อาจจะต้องใช้เวลา เพราะอะไรที่เป็นประโยชน์มันจะไปได้ยากสักหน่อย ยิ่งในยุคหลังๆ มันเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ มันก็ไปได้เร็วยิ่งขึ้น แต่เราก็ปรับตัว ให้อินฟลูเอนเซอร์ นักเรียน นักศึกษา เข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เช่นร่วมกับ สสส.ให้เขาครีเอทสิ่งที่จะจับกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำเชิงรุก

แนวโน้มเฟกนิวส์ไม่ลด-รูปแบบเพิ่ม

     ด้านกนกพร มองว่า คำว่าเฟกนิวส์ มีถึง 7 รูปแบบ 1.Satire or Parody เสียดสีหรือตลก 2.False connection โยงมั่ว 3.Misleading ทำให้เข้าใจผิด 4.False Context ผิดที่ผิดทาง 5.Impostor มโนที่มา 6.Manipulated ปลอม ตัดต่อ 7.Fabricated มโนทุกอย่าง 

     ยิ่งเราอยู่ในโลกดิจิทัลมากแค่ไหน จำนวนก็มากขึ้นเท่านั้น และแนวโน้มที่ผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ต เข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ เรื่องแบบนี้ ก็คงยากที่จะลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหลากหลายรูปแบบขึ้น

     ถ้าเป็นปัญหาของวิกฤติข่าว หรือเฟกนิวส์ ในปัจจุบันจะแบ่งผลกระทบ คือ ที่เกิดในโซเชียลมีเดียเป็นหลัก มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน 3 ส่วน ทั้งตัวเนื้อหา หรือคอนเทนต์ ก็จะมีจุดที่เอื้ออำนวยได้ เช่น เรื่องคอนเทนต์ทุกเรื่องสร้างเป็นข่าวปลอมได้หมดและการจัดอันดับความนิยม ก็จะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องเหตุการณ์ร้ายแรง คนดัง เรื่องของความเชื่อ จะเป็นโหมดที่ได้รับความนิยมต่อการสร้างข่าวปลอม อีกอันคือลักษณะที่ทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจาย ที่เรามักจะได้ยินคำว่าข่าวปลอมแชร์เร็ว หลาย 10,000 แชร์ แต่ข่าวแก้แค่หลัก 10 คือข่าวปลอมจะไว กว่าเราจะไปแก้มันก็ช้า

แพลตฟอร์มพยายามสกัดปัญหา

     กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เป็นแพลตฟอร์ม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เอื้ออำนวยไม่น้อยเช่นกัน เราเริ่มมีโซเชียลมีเดียขึ้นมา คนก็ให้ความนิยมกับโซเชียลมีเดียมากกว่าตัวเว็บไซต์หรือโอลด์มีเดีย ดังนั้นโซเชียลมีเดียที่เป็นแพลตฟอร์ม จึงอ่อนไหวกับเรื่องข่าวปลอม เพราะมีฟังก์ชั่นที่เอื้ออำนวยหลายอย่าง เช่น มีปุ่มแชร์ง่าย ทำให้ขนส่งต่อกันได้เร็ว ง่ายกว่า และคืนค่ากลับมาไม่ได้ 

     บางส่วนเช่น LINE ซึ่งค่อนข้างเป็นวงปิด ถ้าเราส่งข่าวปลอมไป เราจะตามไปแท็กหรือไปแก้ไขข่าวใน LINE ซึ่งเป็นการส่งส่วนตัวกัน ชื่อบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่ง โดยที่เจ้าของข่าว ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ แต่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ยังคงมีระบบ เช่นเราแชร์ข่าวปลอมหนึ่งมาที่ Facebook ถ้าหากกลางแจ้งสกัด ทาง Facebook ให้ระงับข่าวนี้ ก็สามารถไปสกัดที่ต้นทางได้

     นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังเอาใจเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล เรื่อง PDPA การเข้าถึงชื่อบัญชีที่เป็นบัญชีส่วนตัวบางแพลตฟอร์มสามารถสร้างโดยที่ไม่รู้ตัวตน เช่นทวิตเตอร์ใช้แอคหลุมก็ได้ ใช้ชื่อนามสกุลปลอมได้ ซึ่งบัญชีเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่แพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้สร้างขึ้นมา ก็จะทำให้เราตรวจสอบยาก ไปตามหาต้นตอยาก สกัดยาก

พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อตัวแปร

     อันที่ 3 ของแพลตฟอร์ม คืออัลกอริทึม หรือแอคโค่แชมเบอร์ ก็เป็นตัวสำคัญ คนที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือการเสพข้อมูลตามอัลกอริทึมที่แพลตฟอร์มนั้นสร้างขึ้นมา ถ้าเราชอบคลิกเบทจากเพจนั้นบ่อยๆ ไปเอ็นเกจบ่อยๆ ไปไลค์ ไปแชร์คอมเมนต์บ่อยๆ คอนเทนท์จากเพจนั้น ซึ่งอาจจะเป็นเพจหลอกลวง ก็อาจจะป้อนเข้ามาเรื่อยๆ นั่นก็คือแอคโค่แชมเบอร์แบบหนึ่ง เราก็จะได้คอนเทนต์แบบนี้บ่อยๆ

     อัลกอริทึมจะเรียนรู้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง เพื่อนของเราที่อยู่ในกลุ่ม เป็นการจดจำโดยเอไอ ถึงพฤติกรรมของตัวเรา ซึ่งทุกแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย มีอัลกอริทึมเป็นตัวควบคุม ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่แพลตฟอร์มจึงทำไม่ได้ ต้องมาแก้ที่ความรู้เท่าทัน

ทางแก้ทุกฝ่ายเกี่ยวข้องต้องทำรอบด้าน

     สำหรับปี 2566 นี้ การแก้ปัญหาก็ต้องทำทุกด้าน เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกันหมด ทั้งแพลตฟอร์มที่พยายามทำ แต่ละเจ้าจะอัพเดตเรื่องเทคโนโลยี หรือเทคนิคในการช่วยป้องกัน มีปุ่มมีคำเตือนให้รีพอร์ต ฟังชั่น เล็กๆน้อยๆ ในเมนูคำสั่งที่แพลตฟอร์มพยายามช่วย เป็นตัวสกรีน เราก็ต้องเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้น ตามประเด็นปัญหาหรือจุดอ่อนที่เจอ

     ในด้านของสื่อ ก็พยายามให้การศึกษา โดยเปิดรับเคสจากผู้ชมผู้ฟังที่แจ้งเข้ามาแล้วก็มาตรวจสอบ และต้องทำเป็นองค์ความรู้ ฉะนั้นสื่อเองก็ต้องให้ความรู้สังคมด้วยเช่นกัน

          สำหรับประชาชน 1.ก็ต้องค้นหาก่อน ตรวจสอบแหล่งที่มาก่อน แล้วดูว่ากำลังอ่านเพจไหน แบรนด์ไหน เป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือ 2.ค้นหาข้อมูลใน Google คือถ้าข่าวจริง จะต้องมีมากกว่าหนึ่งแหล่ง 3.ถ้าเป็นเกี่ยวกับเรื่องภาพ ที่มักถูกปลอมแปลง โดยเฉพาะภัยพิบัติในต่างประเทศเอามาใช้ประกอบเรื่อง ก็จะมีเทคโนโลยีเข้าไปใน Google คือเอาภาพถ่ายไปค้นใน Google แล้วจะเห็นได้ว่า ภาพไปปรากฏที่ไหน อันนี้ก็เป็นเครื่องมือง่ายๆ 

     4. ถัดมาก็คือดูความน่าเชื่อถือ โซเชียลมีเดียมีความน่าเชื่อถือที่ไม่ใช่แค่ชื่อแบรนด์ เพราะชื่อแบรนด์จะถูกปลอมแปลงง่ายมากโลโก้พวกนี้เรียกว่าเป็นคุณลักษณะที่อาจจะต้องสังเกต 5.ดูเรื่องคอนเทนท์ ข่าวที่ปลอมและคนที่มักจะมีเจตนาไม่ดีมักจะเล่นกับเรื่องของความเชื่อ ข่าวร้าย สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องสังเกต และ 6.สุดท้าย เราต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ Alert ไม่ไว้วางใจอะไรง่ายๆ เป็น Active Netizen มากขึ้น เมื่อเข้ามาอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต

     แนวโน้มปัญหาข่าวปลอม กนกพร เชื่อว่ายิ่งมีคนใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้น เล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้นเท่าไหร่ ลักษณะของข่าวที่อาจจะปลอม หรือสร้างความเข้าใจผิด จะยิ่งเพิ่มขึ้นยัง อยากฝากว่าข่าวปลอมไม่ได้มีแค่เฉพาะโลกออนไลน์อย่างเดียว ยังมีข่าวปลอมอยู่อีกหลายที่ ทั้งอีเมลปลอม จากองค์กรหน่วยงานต่างๆ การคลิกลิงค์ปลอม แนวโน้มคงไม่ลดลง แต่คนอาจมีประสบการณ์มากขึ้น รู้เท่าทันที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับผู้ไม่หวังดี ก็อาจจะเก่งขึ้นในการหลอกลวง ซึ่งพัฒนาการก็ตามกันไป

ข่าวปลอมไม่ควรเหมารวมเรื่องฉ้อโกง

          ดร.เอกพล ระบุว่าไม่แปลกใจกับจำนวนที่มากขึ้นของข่าวปลอม ปัจจุบันคุณลักษณะสื่อเอื้อต่อการเกิดข้อมูลข่าวสารที่ผิดปกติ ให้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะหลายอย่าง เช่น เรื่องการส่งต่อได้ง่าย การดัดแปลงได้ง่าย เทคโนโลยีที่เรียกว่าดีฟเฟก เอาคลิปวิดีโอมาใส่แทนหน้าคนพูดได้

     ประเทศไทยใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างเข้มข้น และคุณลักษณะการใช้งานแต่ละแพลตฟอร์ม ก็อาจจะแตกต่างกัน แต่โดยภาพรวม เราอยู่ในกลุ่มที่มีการใช้งานมาก แม้จะยังไม่ติดท็อปของโลก แต่ทุกประเทศก็เจอปัญหาเฟกนิวส์หมด ไม่ว่าจะประเทศที่ใช้โซเชียลมีเดียหนักหรือเบา แม้แต่ประเทศที่ดูเหมือนใช้โซเชียลมีเดียสร้างสรรค์ ก็ยังมีเรื่องเฟกนิวส์ รูปแบบก็อาจจะแตกต่างกันไป

     การรู้เท่าทันข่าวปลอม ในทางวิชาการคำว่าเฟกนิวส์ อยากให้ใช้ในความหมายที่แคบสักหน่อย คือข่าวที่จงใจสร้างมาเพื่อหลอกลวงให้เชื่อว่าเป็นความจริง

แนะตั้งคำถาม-ค้นข้อมูลก่อนเชื่อเรื่องแชร์

     หากในชีวิตประจำวันของเราที่เรียกรวมว่า เป็นข่าวปลอม หลักการง่ายๆ เบื้องต้นเงื่อนไขแรกคือ ตั้งคำถามก่อนที่จะเชื่ออะไรกับทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ว่าห้ามเชื่ออะไรเลย ขอให้ใช้เกณฑ์เพิ่มขึ้นมาอีก อย่างน้อยเรื่องที่จำเป็นต้องเจอ คือเรื่องที่ส่งผลกระทบค่อนข้างร้ายแรง เช่น ยาที่จะส่งผลต่อสุขภาพหรือชีวิตของเรา และเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก อันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญ

ในอนาคตจำเป็นต้องบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้รู้ทันข่าวปลอมหรือไม่ ดร.เอกพล กล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับหลักสูตรตนไปคุยมาหลายที่เหมือนกัน ปัจจุบันบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านข่าวปลอมตั้งแต่มัธยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีด้วยเช่นกัน

     สำหรับการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอม อย่างแรกให้ตรวจสอบไปที่แหล่งข้อมูล อย่างที่สองก็คือตรวจสอบเนื้อหา สองส่วนนี้จะสัมพันธ์กันเสมอ และควรจะตรวจสอบทั้งคู่ ก่อนอื่นเราจะต้องดูแหล่งข้อมูลว่า ข้อมูลที่เราได้มาจากไหน ต้นทางเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม หรืออาจจะดูว่าเจ้าของข้อมูลมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร หรือเชี่ยวชาญแค่ไหน เกี่ยวกับข้อมูล นอกจากนั้น ยังต้องดูบริบทด้วยว่า ข้อมูลตรงนี้มันเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ อัพเดทล่าสุดไหม 

ในส่วนของการตรวจเนื้อหา เราก็ต้องเข้าไปที่เป้าหมายว่า เนื้อหานั้นนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร เช่น แจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือแอบแฝงการนำเสนอสินค้า หรือบริการอะไรไหม และแยกระหว่างเรื่องข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก บางส่วนมันเป็นความคิดเห็น แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริง มันควรจะต้องจับต้องได้ มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน

ผู้รับสารต้นทางลดปัญหาแพร่ข่าวปลอม

     หากจะแก้ปัญหา ก็ต้องทำกันในหลายภาคส่วน แต่สำคัญที่สุดผู้รับสารเอง เพราะการที่เราจะมีองค์กรกำกับดูแลต่างๆ ก็ไม่สามารถตามทันสื่อที่มีช่องทางเยอะมากในปัจจุบันได้ ทางที่ดีที่สุด ต้องเป็นกลุ่มผู้รับสาร จะต้องให้ความรู้ รณรงค์ ใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน และมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อได้ กล้าโต้ตอบกลับกับข้อมูลที่ผิด

     ส่วนบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ ในปัจจุบันเห็นความพยายาม และจริงจังในการทำงานของภาครัฐและเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมมือกันทำได้ดีในระดับหนึ่ง ถ้าจะทำให้เข้มแข็งมากขึ้น ก็ควรจะเป็นลักษณะที่เป็นการขยายขอบเขต อาจจะต้องทำเครือข่ายให้มีมากขึ้นและให้แอคทีฟขึ้น เพราะการที่จะจัดการกับสื่อที่มีข้อมูลผิดปกติได้ จะให้เฉพาะเพียงเจ้าหน้าที่รัฐมาดูก็คงจะไม่ไหว ให้เอไอดูก็เช็คได้ไม่ละเอียด ต้องให้ผู้รับสารร่วมกัน อย่างโคแฟคก็จะใช้วิธีให้ส่งเข้ามาตรงกลาง แล้วช่วยกันดู

     สำหรับสื่อกระแสหลักกับปัญหาไปหยิบข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย ดร.เอกพร มองว่า ปัจจุบันสื่อที่เป็นสื่อมืออาชีพไม่ผิดพลาดบ่อยเหมือนในอดีต แต่หากเป็นการนำเสนอข่าวกรณีเหตุการณ์ ที่ต้องนำเสนอข้อมูลที่ได้ ณ เวลานั้น และเมื่อมีความคืบหน้า ก็ต้องรีบอัพเดทให้ครบถ้วนรอบด้านอย่างเร็วที่สุด แม้ความผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด

++++++++++++++++