“เสรีภาพ เสรีเพศ” เฝ้าระวังสื่อนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ

มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ กสทช. จัดงานเสวนา “เสรีภาพ เสรีเพศ” พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายในการดำเนินงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต่อสื่อมวลชน องค์กรการศึกษา และภาคีความหลากหลายทางเพศ

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่หอประชุม ดร. เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดงานเสวนา “เสรีภาพ เสรีเพศ” โครงการความเข้มแข็งกลไกบูรณาการภาคประชาชน สื่อมวลชน และภาคการศึกษาในการเฝ้าระวังสื่อนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ

วิทยากร ประกอบด้วย ดร. ตรี บุญเจือ สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ / ประธานคณะทำงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผศ.ดร. รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน/หัวหน้าโครงการฯ อาจารย์ ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หลังจากนั้นได้มีการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อองค์กรกำกับดูแลสื่อ

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายในการดำเนินงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศแยกเป็น ข้อเสนอต่อสื่อมวลชน ข้อเสนอต่อองค์กรกำกับสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ข้อเสนอต่อองค์กรการศึกษา ข้อเสนอต่อภาคีความหลากหลายทางเพศ

ข้อเสนอต่อสื่อมวลชน

  1. สื่อมวลชนรูปแบบหลักในปัจจุบัน ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ ควรมีแนวปฏิบัติการดำเนินงานด้านสื่อมวลชนในด้านการบริหารบุคลากร การจัดทำสื่อ การนำเสนอ และการประเมินผลที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎหมาย แนวจริยธรรมสื่อ เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินงานที่ไม่กระทบสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
  2. สื่อมวลชนในภูมิภาค หรือสื่อมวลชนที่ส่งเนื้อหาข่าวไปยังสื่อมวลชนรูปแบบหลัก ควรยึดหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎหมาย แนวจริยธรรมสื่อตั้งแต่เริ่มจัดทำเนื้อหา เพื่อเป็นการยืนยันและสร้างสรรค์เนื้อหาที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
  3. สื่อมวลชนรูปแบบอื่น ๆ ในปัจจุบัน ได้แก่ สื่อออนไลน์ สื่อในแอพลิเคชันต่าง ๆ ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการผลิต และนำเสนอที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎหมาย แนวจริยธรรมสื่อสากล เพื่อป้องกัน ส่งเสริมไม่ให้เกิดการแพร่หลายของอคติ การผลิตซ้ำเนื้อหาที่ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
  4. สื่อมวลชนทุกรูปแบบควรให้ความสำคัญต่อการวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอแนะ ร้องเรียนที่ผู้รับสื่อส่งไปยังสื่อมวลชน และแสวงหาความร่วมมือจากภาคี หรือองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงหรือพัฒนาการดำเนินงานสื่อ ไม่ให้การดำเนินงานที่กระทบสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นอีก

ข้อเสนอต่อองค์กรกำกับสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ

  1. องค์กรกำกับสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ควรนำเอาแนวปฏิบัติการดำเนินงานด้านสื่อมวลชนในด้านการบริหารบุคลากร การจัดทำสื่อ การนำเสนอ และการประเมินผลที่องค์กรภาคีต่าง ๆ ได้ออกแบบขึ้น มาดำเนินการบังคับใช้ หรือทำงานร่วมกันกับสื่อมวลชนทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เพื่อสร้างบรรยากาศ หรือสิ่งแวดล้อมของสังคมที่เคารพสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
  2. องค์กรกำกับสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ควรยึดหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎหมาย แนวจริยธรรมสื่อ ในการทำงานร่วมกันกับสื่อมวลชนทุกรูปแบบ เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินงานที่ไม่กระทบสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
  3. องค์กรกำกับสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ควรให้ความสำคัญกับมิติการเคารพสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในการส่งเสริม ยกย่อง เชิดชูเกียรติกับสื่อมวลชนทุกรูปแบบ เพื่อสร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมของสังคมที่เคารพสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ข้อเสนอต่อองค์กรการศึกษา

  1. องค์กรการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในมิติเพศ เพศภาวะ เพศวิถี สิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ ในการเรียนรู้ของผู้เรียนรู้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อประกอบสร้างแนวคิดให้กับสื่อมวลชน
  2. องค์กรการศึกษาควรมีการศึกษาวิจัยในประเด็นผลกระทบทั้งเชิงบวก และเชิงลบจากการดำเนินงานของสื่อมวลชนที่ไม่กระทบสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และระมัดระวังในการดำเนินงานของสื่อมวลชน
  3. องค์กรการศึกษาควรดำเนินการในการ Upskill และ Reskill ในมิติเพศ เพศภาวะ เพศวิถี สิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศให้กับสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่องให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังในการดำเนินงานของสื่อมวลชน

ข้อเสนอต่อภาคีความหลากหลายทางเพศ

  1. ภาคีความหลากหลายทางเพศควรให้ความสำคัญกับการวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอแนะ ร้องเรียน ในกรณีที่มีการดำเนินงานของสื่อมวลชนทุกรูปแบบ ที่ดำเนินงานด้านสื่อมวลชนในด้านการบริหารบุคลากร การจัดทำสื่อ การนำเสนอ และการประเมินผลที่กระทบสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
  2. ภาคีความหลากหลายทางเพศไม่ควรผลิต หรือนำเสนอสื่อของตนในลักษณะของการเผยแพร่อคติ การผลิตซ้ำเนื้อหาที่ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
  3. ภาคีความหลากหลายทางเพศควรร่วมดำเนินการศึกษาวิจัยในประเด็นผลกระทบทั้งเชิงบวก และเชิงลบ จากการดำเนินงานของสื่อมวลชนที่ไม่กระทบสิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังในการดำเนินงานของสื่อมวลชน
  4. ภาคีความหลากหลายทางเพศควรร่วมดำเนินการกับสื่อมวลชนทุกรูปแบบ และองค์กรกำกับสื่อและองค์กรวิชาชีพในการขับเคลื่อนสังคม เพื่อสร้างบรรยากาศ หรือสิ่งแวดล้อมของสังคมที่เคารพสิทธิของมนุษย์โดยเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ.