ชี้ “ทฤษฎีสมคบคิด” ในการเมืองไทย เป็นแค่การสื่อสารที่หวังผลการเมือง

กูรู เคลียร์ปม “ทฤษฎีสมคบคิด” ในการเมืองไทย ยังไม่เข้านิยาม ชี้เป็นเพียงเรื่องตัวบุคคล ยกเคสระดับโลกที่มีเป้าหมาย-กระบวนการชัดเจน ขณะที่นักวิชาการชี้เป็นแค่การสื่อสารที่หวังผลการเมือง ชี้สื่อทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนถูกเหมารวม แนะ ปชช. ประเมินใครได้ประโยชน์  ด้านคนสื่อยอมรับข้อมูลล้นโชเชียลมี“อเจนด้า” เชื่อสื่อรู้ทัน ต้องยึดแนวทางกลั่นกรองก่อนส่งต่อให้ปชช.ตัดสิน

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ทฤษฎีสมคบคิด ในมุมของคนสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ทนง ขันทอง ผู้เชี่ยวชาญข่าวต่างประเทศ และอดีตบรรณาธิการเดอะ เนชั่น รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศักดา เสมอภพ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวการเมือง นสพ. กรุงเทพธุรกิจ

ทนง ขันทอง ได้อธิบายถึงที่มา “ทฤษฎีสมคบคิด” Conspiracy ว่า ผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรกก็คือ ซีไอเอของสหรัฐอเมริกา หลังจากเหตุการณ์ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ถูกลอบสังหารในปี 1963 ซึ่งอุดมการณ์ของเคนเนดี้ ขัดผลประโยชน์ของอีลิท (Elite) พวกรัฐบาลเงา จึงวางแผนร่วมมือกัน ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะมีมหาอำนาจของตะวันตกฝั่งยุโรปเข้าร่วมด้วย เนื่องจากว่าจะลอบสังหารประธานาธิบดี ซึ่งเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา

หลังจากเรื่องนี้จบลง ก็มีคนตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้ว่า คน ๆ เดียว (ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐ) จะฆ่าเคนเนดีได้โดยปืนไรเฟิล ที่ซ่อนอยู่ในตึก เป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้ต้องเป็นขบวนการใหญ่ จึงพยายามขุดคุ้ย ซึ่งใครก็ตามที่ขุดคุ้ย และเขียนรายงานเรื่องราวออกมาตรงกันข้ามกับสิ่งที่คณะกรรมการสอบสวน ใช้เหตุผลอ้างข้อมูลต่าง ๆ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามบอก จะถูกระบุว่าเป็นพวกสมคบคิด ตั้งแต่นั้นมา ทฤษฎีสมคบคิดจึงถูกใช้โดยหน่วยงานรัฐของรัฐบาล เพื่อทำลายผู้ที่พยายามพูดความจริงให้กับชาวอเมริกัน ชาวโลก ได้รับทราบ นั่นคือที่มาของทฤษฎีสมคบคิด

ทั้งนี้ เมื่อมีทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมา ประเด็นสำคัญคือ จะมีการกำหนดวาระ (Set Agenda) เอาไว้ก่อน โดยผ่านสื่อกระแสหลัก โดยทนง ได้ยกกรณีถล่มตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ เวอร์ชั่นที่เป็นทางการบอกว่ากลุ่มก่อการร้าย นำโดย บินลาเดน เป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้สั่งการให้พวกก่อการร้ายประมาณ 10 กว่าคน ใช้เครื่องบิน 4 ลำ ถล่มตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ ตึกคู่แฝด ทำเนียบขาว และเพนตากอน นี่คือเวอร์ชั่นของทางการ ซึ่งระบุว่ากลุ่มก่อการร้ายเกลียดอเมริกา จึงมุ่งจะทำลายความมั่นคงของอเมริกา และประชาธิปไตย ระบบเสรี เพราะฉะนั้นพอทำลายตึกเวิล์ดเทรดที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ทุนนิยมโลกแล้ว หลังจากเหตุการณ์นั้น ประธานาธิบดี จอร์จ บุช ได้ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง

มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ ทั้งเรื่องสถานการณ์จริง กับข่าวที่ถูกรายงานออกมา เหมือนมีสคริปต์ไว้ล่วงหน้าเรื่อง 911 เป็นเรื่องกระทำการภายในเองของพวกรัฐลึก (Deep State) อเมริกา เพื่อจะเป็นสาเหตุให้คนกลัว อันนำไปสู่การทำสงคราม

ทนง ยังยกตัวอย่าง เรื่องการไปดวงจันทร์ของนักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง โดยยานอวกาศ ในปี 1969 แล้วคนก็ไม่เชื่อว่าไปได้ โดยตั้งข้อสังเกตถึง ภาพถ่าย รอยเท้า พื้นผิวดวงจันทร์ ยานอวกาศ การกลับมายังโลก การถ่ายทอดสด การสื่อสารระหว่างประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ด้วยการโทรศัพท์คุยกับนักบินอวกาศที่อยู่บนดวงจันทร์ ก็มีคนไม่เชื่อ ตั้งข้อสงสัยว่าอเมริกันลวงโลก ไม่มีการส่งคนไปดวงจันทร์ ทุกอย่างเป็นสตูดิโอ ฮอลลีวูด ใครก็ตามที่เขียนหนังสือหรือทำคลิปออกมาในลักษณะนี้ ก็คือพวกสมคบคิด

กรณีนักการเมืองไทยไม่เข้านิยาม

เมื่อถามถึงสถานการณ์ในประเทศไทยในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีการใช้คำว่า เป็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิด มีกระบวนการบ่อนเซาะ ไม่ให้นักการเมืองคนหนึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มองอย่างไร ทนง กล่าวว่า เรื่องทฤษฎีสมคบคิดต้องมีสัญลักษณ์ที่เป็นเป้า กรณีมีนักการเมืองทำมือลักษณะรูปสามเหลี่ยมพีรามิด สัญลักษณ์ของพวกอิลลูมินาติ (Illuminati) ก็เลยมีกระแสขึ้นมาว่า จะเป็นพวกเดียวกันแบบนั้นหรือไม่ อาจจะมีคนตั้งข้อสังเกต แต่มันไม่ได้เป็นขบวนการทฤษฎีสมคบคิด เพราะต้องมีเป้าที่ชัดเจน และมีกระบวนการชัดเจน 

เช่นเดียวกับ กรณีมีข้อกล่าวหาว่า มีกลุ่มคนไปสมคบคิดกันช่วยกันปั่น พยายามสร้างข้อมูลเพื่อดึงคนเข้าไปอยู่ในสามเหลี่ยมเอคโค่แชมเบอร์ (Echo Chamber) เพื่อสกัดกั้นนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง แล้วเรียกว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด เป็นความเข้าใจที่ผิด อย่างนั้นคือการต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้นเอง เป็นการรวมหัวกันคิด เพื่อจะทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งเป็นความเชื่อในทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง หรือหลักการใดหลักการหนึ่ง ซึ่งขัดแย้งกับหลักการ หรือคำบอกเล่าของทางการ

เวลาจะใช้ทฤษฎีสมคบคิด จะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวบุคคล เรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ระดับเมกกะ จะใช้กับระดับรัฐ ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐ และเรื่องที่ใหญ่ แคมเปญระดับโลก เช่น ระเบิดตึกเวิล์ดเทรด วัคซีนโควิด การไปเหยียบดวงจันทร์ เช็คสเปียร์ มีตัวตนจริงหรือไม่ ใครไม่เชื่อ ก็อาจจะบอกได้ว่าสมคบคิดได้เหมือนกัน ก็เป็นการถกเถียงกันทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้มีผลอะไรมาก

นิยามทฤษฎีแต่ละกลุ่มแตกต่าง

ในมุมของนักวิชาการ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ​เห็นว่า สถานการณ์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ว่าสื่ออาชีพ สำนักข่าวหลัก หรือสื่อสมัครเล่น กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่า กลายเป็นองค์ประกอบของทฤษฎีสมคบคิดโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะการนำข้อมูลเชิงลึกในอดีตของนักการเมืองบางคนออกมาเผยแพร่ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ก็นำเสนอในลักษณะที่เป็นคุณ และไม่เป็นคุณต่อนักการเมืองบางคน กระทั่งถูกกลุ่มผู้สนับสนุนนักการเมืองคนนั้น ออกมาตำหนิ และทัวร์ลง

เมื่อถามว่าการทำหน้าที่ของสื่อในลักษณะของการเจาะลึกข้อมูลนักการเมือง และนำเสนอต่อสาธารณชน เป็นการสมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยไม่รู้ตัว และเข้าองค์ประกอบทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่ อ.สุรสิทธิ์ ขอมองในมุมของเรื่องการสื่อสารของสื่อ กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสื่อกำลังแสดงเป็นผู้เล่นอยู่ในความขัดแย้งได้หรือไม่ ในบรรยากาศนี้ ปัจจุบันที่เราก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีสื่อสาร จะเอื้อการทำงานไม่เฉพาะสื่อ แต่สังคมเองเมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามาก เรื่องการให้คุณค่าทางจริยธรรมมันลดลงไป 

ในแง่ของการตั้งข้อสังเกตว่า สื่อตกอยู่ในกระบวนการทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่ เวลาเรารับแนวคิดทฤษฎีต่างประเทศมาแปลเป็นไทย เวลาแปล หรือคุยเรื่องเดียวกัน เราเข้าใจคนละเรื่องเดียวกัน เพราะแต่ละคำ เวลานำมาอธิบาย ขยายความในบ้านเรา ไม่ได้นิยามเหมือนกัน

นักวิชาการอาจนิยามแบบหนึ่ง นักข่าวการเมืองอาจนิยามแบบหนึ่ง ชาวบ้านก็อาจนิยามแบบหนึ่ง มันมีหลายคำ ไม่เฉพาะคำว่าทฤษฎีสมคบคิด มันมีเรื่องวาทกรรม นิยามก็ต่างกัน และโฟกัสไปในจุดที่แตกต่างกัน ทำไมพูดเรื่องเดียวกันแต่ละสำนักก็อธิบายแตกต่างกัน 

ตนจึงระมัดระวังในการที่จะบอกว่า ตอนนี้ที่สื่อถูกตั้งข้อสังเกตว่าเข้าไปอยู่ในทฤษฎี ใครพูด แล้วกำลังจี้ไปที่ใคร ซึ่งก็มองได้เหมือนกันว่า คนที่ชี้ว่าคนอื่นสมคบคิด แต่ตัวเค้าเองเป็นคนสมคบคิด แล้วไปนิยามคนอื่นหรือไม่ ฉะนั้นเวลาเราประเมินอะไร ก็มักจะยึดตามฝั่งของตัวเอง ฉะนั้น ตอนนี้ถ้าถอยออกไปมองนอกสนาม ก็จะเห็นว่ามีทุกวง แต่นั่นหมายถึง เรากำลังนิยามมันว่าอะไร

ชี้สื่อสารหวังการเมือง หลายฝ่ายถูกพ่วง

เมื่อถามถึงสถานการณ์หลังเลือกตั้ง ที่มีผู้สนับสนุนนักการเมืองบางคน จนกลายเป็นความรุนแรงบนโซเชียลมีเดีย จึงเริ่มมีคำพูดทำนองว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับนักการเมืองบางคน อยู่ในทฤษฎีสมคบคิด เพราะพยายามจะสกัดกั้น จึงเริ่มมีการใช้คำนี้ขึ้นมา อ.สุรสิทธิ์ มองว่า ข้อมูลข่าวสารที่สื่อนำเสนอออกมา ไม่ว่าสื่อกระแสหลัก หรือสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งหมดทั้งมวล ถ้ามองในแง่ทฤษฎีการสื่อสาร นิเทศศาสตร์ เรื่องตรงนี้ เป็นกระบวนการที่การสื่อสารเข้าไปเกี่ยว คือการส่งต่อข้อมูล ตามหลักของการสื่อสาร ข้อมูลทุกรูปแบบที่สามารถสื่อความหมายได้ ถือเป็นการสื่อสารแทบทั้งสิ้น

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ ภาษากาย ท่าทาง หรืออวจนภาษา หรือวาทกรรม สร้างคำ ประดิษฐ์คำขึ้นมา แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหว หรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่การรายงานข่าวที่เลือกหยิบเฉพาะมุมที่เป็นผลกับเป้าหมายของเรา กับความเชื่อของเรา จึงทำให้ใครก็ตาม ที่เห็นแตกต่างออกไป แล้วต้องการเป็นกบฏในแง่ของความคิด ไม่เชื่อสิ่งที่รับรู้มา แต่พยายามจะหาข้อมูลใหม่มาเปิดเผย เปิดโปง ลักษณะอย่างนี้ มันเป็นความหมายหนึ่งที่อยู่ในทฤษฎีสมคบคิด ถ้าเรามองอย่างนี้ จะมีหลายฝ่ายมาก ที่โดนพ่วงไปว่ากำลังอยู่ในขบวนการนั้น 

ข่าวสืบสวนในมุมสื่อ ถูกเหมารวม

แต่มีอยู่อย่างหนึ่งในมุมมองของคนสื่อ มีนัยบางอย่างที่ออกมาในการนำเสนอข้อมูล ที่ถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นการสมคบคิดก็คือ หน้าที่ในการตรวจสอบของสื่อ ขณะที่เอฟซีบางส่วน ก็โวยไปถึงการทำข่าวแบบ Investigation สืบสวนสอบสวน มันก็เป็นเหรียญสองด้าน ที่อยู่ระหว่างกลาง และถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ในฐานะที่สอน และเคยทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมาก่อน เวลาเลือกประเด็นที่จะนำเสนอ มันมีกระบวนการคัดกรอง ที่มีข้อดี ที่เราสามารถเรากรองสิ่งที่คิดว่าน่าเชื่อถือได้มากที่สุด 

มันเป็นทฤษฎีเก่า ที่เรียกว่า Gatekeeper แต่ความเป็นสื่อ มันมีความน่าเชื่อถือ ตรงที่มันหลายตา หลายมือ ช่วยกันตรวจสอบมาหลายขั้นตอน สำหรับสถาบันมือที่เป็นมืออาชีพ ตรงนี้ก็อาจนำไปใช้ในเรื่องการเลือกสรรหาข้อมูล ที่จะมานำเสนอให้สาธารณชนรับรู้ ซึ่งข้อมูลนั้นตรง กับความเชื่อของตัวเอง สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง  

ตรงนี้สำคัญ เพราะมันเป็นวิกฤติ ความเจริญก้าวหน้า เรามองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ลดน้อยลง ก็คือการให้ค่ากับความดี หรือคุณค่าทางจริยธรรม บางเรื่องคนยุคหนึ่งอาจจะประเมินว่า สิ่งหนึ่งสิ่งนี้ยอมรับไม่ได้ แต่อีกยุคหนึ่งก็บอกว่า ยอมรับได้ เพราะโลกมันเปลี่ยน จึงเกิดความย้อนแย้ง ขัดแย้งกันในเรื่องของการให้ค่า ซึ่งคนกลุ่มใหญ่ไปให้ค่าแบบนั้น ก็เลยเกิดวิกฤติอย่างนี้ แล้วสิ่งที่หนักมากขึ้นไปกว่านั้นคือ มีสื่อเข้ามาร่วมในกระบวนการด้วย

ประเมินใครได้ใครเสียในเกมอำนาจ

เมื่อถามว่า หากเราจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร และประโยชน์ที่จะได้ จากความเห็นที่แตกต่างควรเป็นอย่างไร อ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า ผู้ฟังผู้ชมก็ต้องตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้ ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังไหม มีใครได้ประโยชน์ในข้อมูลชุดนี้ ต่อไปนี้เราจะไม่เชื่อว่า ใครพูด แล้วเราจะเชื่อ หรือช่องของคนดังทั้งหลายแล้วเราจะเชื่อ คิดง่ายๆ ว่า ใครได้ประโยชน์จากข่าวชิ้นนี้ มันต้องมีคนได้ประโยชน์จากการนำเสนอ แล้วคนได้ประโยชน์เห็นๆ คือ คนเอามารายงาน เพราะเรตติ้งมันจะมา คนจะตามมาดู แต่มันไม่ได้มีแค่นั้น มันมีใครได้ประโยชน์เบื้องหลังหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจการเมือง ที่เป็นเรื่องอำนาจ และผลประโยชน์ แต่ผลประโยชน์อาจจะตกมาที่สื่อบางส่วน ที่อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

“ฉะนั้นแนะนำประชาชนที่จะรู้เท่าทันสื่อ ต่อไปนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หลายสื่อนำเสนอ ก็ต้องตั้งคำถามว่า เรื่องนี้ใครได้ประโยชน์ มีเบื้องหลังไหมจะเป็นผลดี ผลเสียหายกับใคร อย่างไรก็ตาม หากมองแบบใจเป็นธรรม เปิดใจให้กว้าง เราก็จะเห็นได้ว่า ก็พอๆ กัน เพียงแต่ว่าใครจะมีคุณค่าเชิงจริยธรรมมากกว่ากัน ฉะนั้นการนิยามว่าอะไรคือดี อาจะนิยามไม่เท่ากัน แล้วแต่ใครจะเป็นเอฟซีใคร” อ.สุรสิทธิ์ ทิ้งท้าย 

สะท้อนสถานการณ์เซ็ตวาระข่าวสาร

ศักดา เสมอภพ กล่าวในมุมนักวิชาชีพ ถึงการทำข่าวสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลานี้ ว่ายากพอสมควร และต้องเพลย์เซฟอย่างมากในเรื่องข้อมูล เมื่อพรรคการเมือง นักการเมือง ต่างก็มี Agenda หรือแม้แต่คนรับสื่อก็มีอเจนด้าขณะที่สื่อเองก็พยายามนำเสนอให้รอบด้านรวมทั้งกรุงเทพธุรกิจ ที่เราเชื่อมั่นถึงความเป็นกลางเช่นเดียวกับหลายๆ สำนักข่าว แม้ในออนไลน์ยอดคนดูจะไม่ได้สูงแต่ก็เพื่อไม่ให้เสียตัวตนของคนสื่อ

เมื่อถามถึงอเจนด้า หรือวาระข่าวสาร จะโยงไปถึงทฤษฎีสมคบคิด ที่สังคมกำลังพูดกันอยู่ว่าการสมรู้ร่วมคิด มีกระบวนการบ่อนเซาะจะหมายถึงอเจนด้าหรือไม่ แล้วจะเข้าไปสู่ทฤษฎีสมคบคิดได้หรือไม่ ศักดา มองว่าในบางทีอาจจะมี แต่ในหลายๆ สื่ออาจถูกยัดเยียดเพราะคอนเทนท์ไม่ถูกใจกองเชียร์กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่อาจถูกใจกองเชียร์อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสื่อก็ไม่ได้ตั้งใจ ฉะนั้นในช่วงการเมืองเข้มข้น การเมืองเลือกข้าง สื่อเองก็อาจถูกมองว่าบิดพลิ้วไปพอสมควร

“อย่างข่าวเกี่ยวกับหุ้นไอทีวี ของแคนดิเดตนายกฯบางสำนักข่าวก็รายงานตามข้อเท็จจริงธรรมดา แต่ก็ถูกตีความไปว่า เชียร์ฝั่งโน้นฝั่งนี้ ทั้งที่เป็น Fact แฟคตามที่ปรากฏ ไม่ได้เอียงไปทางฝั่งไหน แต่ก็มักจะถูกโยงเลือกข้าง จนถูกมองว่า เป็นการเลือกข้างของสี่อ” ศักดา ระบุ

สื่อรู้ทัน เน้นกระบวนการกลั่นกรอง

เมื่อถามว่า ภายใต้สถานการณ์นี้ประเด็นหุ้นไอทีวีที่วนเวียนประมาณเดือนหนึ่งและสื่อก็จำเป็นต้องนำเสนอ ขณะเดียวกันก็อาจถูกสงสัยว่ากำลังตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามเซ็ตอเจนด้าเรื่องนี้ขึ้นมาหรือไม่ ศักดา มองว่า ตนมองว่าบางข่าวแม้เรารู้ว่ามีอเจนด้า แต่บางอเจนด้าก็เป็นข้อเท็จจริง ที่เราต้องนำเสนอ แต่เราก็ต้องไตร่ตรองว่า ข้อเท็จจริงนั้นมีผลดีผลเสียมากน้อยแค่ไหน

ในฐานะสื่อ ซึ่งเป็น Gatekeeper เราก็ใช้ระบบกลั่นกรองก่อนนำเสนอ เพราะข้อมูลต่างๆจะมีทั้งความคิดเห็น เอกสารต่างๆ และในโลกโซเชียล ที่มีข้อมูลทะลักเข้ามามากมาย มีทั้งเรื่องการปล่อยข่าว เพื่อหวังอะไรก็ตาม แต่ที่สุดก็จะมีการคัดกรองก่อนที่ส่งต่อไปยังผู้รับสารให้ประเมินด้วยตัวเอง.