ประธานจริยธรรม สภาการสื่อฯ ชี้กรณี “เด็กหยก” สื่อหมิ่นเหม่จริยธรรม-กฎหมายคุ้มครองเด็ก

“เด็กหยก” กับ “เด็กดี” ควรมีพื้นที่บนสื่อแค่ไหน ผู้บริหารสื่อแนะกระบวนการทำหน้าที่สื่อ ต้องไม่ตัดสิน ชี้นำ ควรเสนอทางออก เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ชี้ 2 กรณีเยาวชน คนละบริบท ไม่ควรเปรียบเทียบ ด้านประธานจริยธรรม สภาการสื่อฯ ชี้ เคสนี้ สื่อหมิ่นเหม่จริยธรรม – กฎหมายคุ้มครองเด็ก แต่ภาพรวมสื่อดีขึ้นมาก เรียกร้องผู้บริโภคปรับตัวไปพร้อมกัน ขณะที่นักวิชาการสะท้อนข่าวน้องหยก กินพื้นที่สื่อมาก แนะบาลานซ์ สะท้อนปัญหาสื่อมากหลากหลาย แต่ประเด็นซ้ำ ความเร็วยังมาก่อนคุณภาพ 

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “เด็กหยก” กับ “เด็กดี”…ควรมีพื้นที่บนสื่อแค่ไหน? ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และจินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส วีรศักดิ์ โชติวานิช ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

กรณีสื่อนำเสนอข่าวเยาวชน “น้องหยก” นักเรียนหญิง นักกิจกรรมการเมือง ซึ่งแสดงจุดยืน เรื่องสิทธิเสรีภาพการแต่งกาย ทรงผม ในโรงเรียน และ “น้องยูโร“ นักเรียนชาย ที่ช่วยเหลือ 3 นักท่องเที่ยว รอดชีวิตจากการจมน้ำ สังคมได้ตั้งข้อสังเกต และเปรียบเทียบถึงการให้พื้นที่ข่าวระหว่างสองกรณีนี้ ดังนั้น จึงชวนถกประเด็นการทำหน้าที่ของสื่ออีกครั้ง หลังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างข่าวน้องหยกกับน้องยูโร ว่าข่าวลักษณะนี้ สื่อควรมีแนวทางการทำหน้าที่อย่างไร รวมถึงการให้น้ำหนักกับข่าวลักษณะนี้ 

ในมุมมองของผู้บริหารสื่อ คณิศ บุณยพานิช ให้ความเห็นว่า หากเรามองเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในมุมของการรายงานข่าว สื่อควรรายงานปรากฏการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม ซึ่งเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน พอสมควร เพราะผู้ชมก็มักจะตัดสินใจในบางมุมไปแล้ว แต่สื่อไม่มีหน้าที่ไปตัดสินว่า การกระทำนั้นถูกหรือผิด โรงเรียนทำเหมาะสมหรือไม่ 

สำหรับไทยพีบีเอส เราตั้งคำถามในกระบวนการทำงานคือ เรามีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำข่าวนี้ เราได้เห็นการเรียนรู้ทางสังคมว่าจากเรื่องนี้ สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในสังคมปัจจุบันย่อมไม่เหมือนอดีต ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การพูดถึงความหลากหลาย การเคารพความหลากหลายทางสังคม การเรียนรู้เรื่องสิทธิของบุคคล หรือหน้าที่ของบุคคล มันมาไกล และไปถึงเด็กและเยาวชน ซึ่งเขาก็พยายามเรียกร้องขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด เราเรียนรู้เรื่องกระบวนการทางโรงเรียน ซึ่งพยายามหาทางออกเรื่องแบบนี้ ถูกหรือผิดอย่างไร การเคารพสิทธิของเด็กกรณีนี้ และระมัดระวังเรื่องปัญหาเด็กของคนอื่น ๆ กับเคสแบบนี้อย่างไร 

หน้าที่สื่อหาทางออก-ให้สังคมเรียนรู้

ในมุมของการทำข่าว เราพยายามตกผลึกเรื่องนี้ก่อนที่จะออกไปทำข่าว ถ้าเราทำเรื่องนี้แล้ว สังคมควรจะเรียนรู้อะไร การเรียกร้องสิทธิของเด็กๆ ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย ทรงผม ซึ่งทุกวันนี้เราคงใช้กระบวนการแบบในอดีตไม่ได้แล้ว และเมื่อเรียนรู้แล้ว เราจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร โดยไม่ไปตัดสินว่า ใครถูก ใครผิด หรือใครมีบริบทที่มา ก่อนหน้า ที่จะเกิดเรื่องราวแบบนี้อย่างไร

การทำหน้าที่ของสื่อ ไม่ได้แค่สะท้อนปัญหาอย่างเดียว แต่ต้องนำเสนอเพื่อมองให้เห็นว่า เรื่องอย่างนี้มันควรมีทางออกแบบไหน ซึ่งก็ต้องมีทั้งทางออกแบบสร้างสรรค์ด้วย ข้อตกลงที่เห็นร่วมกันคืออะไร เวลามองภาพของการรายงานข่าว มันควรมีจุดร่วม ไม่ว่าจะเป็นกรณีของน้องหยกก็ตาม ควรมีจุดร่วมที่เป็นทางออกได้ ซึ่งทางออกนั้นควรจะเป็นการพูดคุยกัน สื่อควรจะทำหน้าที่ในมุมมองที่ว่า ควรจะมีใครเข้าไปคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรจะมีใครหาทางออกในเรื่องแบบนี้ หรือมีทางออกไหนที่จะสมประโยชน์ทุกฝ่าย

“ควรเสนอทางออกที่เหมาะสมต่อเด็กคนหนึ่ง ที่ควรจะมีสิทธิในการเรียนหนังสืออย่างไร หรือทางออกสำหรับข้อพิจารณาร่วมกัน หรือเรียนรู้ร่วมกันว่า จากปรากฏการณ์นี้ เราควรเรียนรู้อะไรร่วมกัน”

ถ้ามีกระบวนการแบบนี้แล้ว ก็อธิบายให้เกิดความเข้าใจได้ว่า ได้ทำ 1-2-3-4-5 แล้ว และควรมีกระบวนการที่เปิดเผย อย่างโปร่งใส เพราะปัญหาในหลายกรณี รวมทั้งเคสอย่างนี้ เราอาจจะไม่ได้เห็นว่ากระบวนการที่เปิดเผยโปร่งใส ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรืออะไรที่ทำได้ และทำไม่ได้ ฝ่ายเกี่ยวข้องได้พูดกับสื่อครบทุกด้านหรือยัง

หากมีข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ถ้าสื่อยังทำงานอยู่ในกรอบ และยึดมั่นในวิธีการทำงานอย่างถูกต้อง เราก็จะเดินไปได้ โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่า สังคมจะคิดกับเราอย่างไร ในการทำงานในหน้าที่ เราต้องตระหนักว่า กำลังรายงานข่าว เพื่อนำไปสู่อะไร ถ้านำไปสู่การร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ หรือนำไปสู่การสร้างความขัดแย้ง แม้จะเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้ง มีคู่ขัดแย้งจำนวนมาก ซึ่งจริง ๆ สื่อก็ผ่านการรายงานข่าวในช่วงวิกฤติในสังคม ทางการเมือง มาหนักกว่านี้ แต่ถ้าเราทำงานอยู่ในกรอบของเรา ประชาชนจะพิจารณาเอง หลังจากที่ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนจากสื่อแล้ว 

2 กรณีไม่ควรรายงานเชิงเปรียบเทียบ

สำหรับกรณี “น้องยูโร” คณิศมองว่า การรายงานข่าวของสองกรณีนี้ ไม่ควรเป็นลักษณะเปรียบเทียบกัน เพราะคนละเรื่อง คนละบริบทกัน การที่มีเยาวชนทำความดี สื่อก็ต้องมารายงานว่า ตัวอย่างที่เค้าทำแบบนี้ ในการรายงานข่าวกรณีของน้องยูโร ไทยพีบีเอสก็รายงานเป็นปรากฏการณ์ข่าว ที่เขาได้ทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง ก็เหมาะสมที่ควรจะต้องรายงานข่าวแบบนี้ไปด้วย

“ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน ไทยพีบีเอสก็จะคุยกันว่า เราไม่ควรจะเริ่มต้นการพิจารณาประเด็นข่าวจากการตัดสิน เอาความคิดความเชื่อมาเป็นส่วนสำคัญ แต่ละเรื่องควรจะมีพื้นที่ของการนำเสนอ และการจะนำมาเปรียบเทียบกัน สื่อต้องใช้ความระมัดระวังมาก ไม่ควรมีอคติตั้งแต่แรก และต้องรายงานข่าวทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” คณิศ ระบุ 

ข่าว “น้องหยก” สื่อเกินเลยจริยธรรม

ทางด้านสภาวิชาชีพ ที่กำกับดูแลองค์กรสมาชิกของสภาการสื่อฯ วีรศักดิ์ โชติวานิช ประธานคณะกรรมการจริยธรรม มองว่า ปรากฏการณ์ข่าวนี้ เกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา สื่อค่อนข้างจะเกินเลยกรอบจริยธรรมในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก 

สภาการสื่อฯ เอง ก็มีแนวปฏิบัติเรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พ.ศ.2564 อย่างชัดเจน เพื่อเป็นกรอบในการนำเสนอข่าว นอกจากนี้ กฎหมายก็ยังมี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก 2546 เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อต่าง ๆ อยู่ด้วย จะสังเกตได้ว่า เวลานำเสนอข่าวของสื่อ แม้ว่าจะเบลอหน้าของเด็กคนนั้นก็ตาม แต่ก็ทำให้รู้อัตลักษณ์ และตัวตนของเด็ก เหตุเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แนวปฏิบัติของสภาการสื่อฯ ข้อ 2 ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องไม่เปิดเผยชื่อ ชื่อสกุล ภูมิลำเนาที่อยู่ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุล และภูมิลำเนาที่อยู่ของบิดา มารดา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ถึงตัวเด็กและเยาวชนได้ เช่น ข้อมูลสถานศึกษาหรือที่ทำงาน โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กและเยาวชน

เตือนตระหนัก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะมองว่าเป็นความต้องการของเด็กเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก แม้จะเป็นอย่างนั้นก็ตาม แต่ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ก็ให้ความคุ้มครองในเนื้อหาการนำเสนอข่าว เหมือนกับในแนวปฏิบัติ เพราะฉะนั้นไม่ว่า จะได้รับความยินยอมจากเด็กหรือไม่ก็ตาม แต่การทำหน้าที่ของสื่อ ก็จะต้องทำด้วยความระมัดระวังปัญหาที่เกิดขึ้นตอนที่นำเสนอข่าว

“ผมมองดูแล้ว ค่อนข้างเป็นกังวลมาก เพราะสื่อนำเสนอค่อนข้างถี่ ติด ๆ กัน และนำเสนอในเชิงลึก เหมือนกรณีเหตุการณ์ลุงพล ซึ่งน่าเป็นกังวลมาก เพราะสื่อหย่อนยานในเรื่องจริยธรรม แม้จะเข้าใจว่า เป็นข่าวที่สังคมชอบ แต่การทำหน้าที่จะต้องมีความพอดี อย่าหวังเรตติ้งจนทำให้มีปัญหาด้านจริยธรรมตามมา เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

 วีรศักดิ์ ระบุอีกว่า “ขณะที่โรงเรียนซึ่งมีเด็กเป็นพันคน และเด็กเหล่านั้น มีฉันทานุมัติที่จะต้องปฏิบัติตามกรอบของโรงเรียน แต่มีเด็กคนหนึ่งเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปัญหาที่ตามมาคือสังคมเกิดความสับสน กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของคนเดียวที่เรียกร้อง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เวลาสื่อจะนำเสนออะไรก็ตาม ต้องตระหนักในเรื่องการให้ความรู้กับประชาชนด้วย อยากให้กรณีนำเสนอข่าวเด็กและเยาวชนในครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่สื่อพึงระมัดระวัง” 

หลังใช้แนวปฏิบัติ มาตรฐานสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามในภาพรวมขององค์กรสมาชิก ประธานคณะกรรมการจริยธรรม ระบุว่า หลังจากที่มีการออกแนวปฏิบัติต่าง ๆ และมีการทำความเข้าใจในองค์กรวิชาชีพของสื่อ โดยเฉพาะเกี่ยวกับกฎหมาย เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอ ที่สื่อได้รับความคุ้มครอง ภายใต้การทำหน้าที่จะต้องอยู่ในกรอบจริยธรรม เท่าที่ผ่านมา ในความเห็นของตน การทำหน้าที่ของสื่ออยู่ในขั้นที่ดีมาก พอมาเจอเหตุการณ์นี้เนื่องจากมันมีกระแสหลายอย่างปะปนกัน รวมทั้งการเมือง จึงอาจทำให้สื่อที่เล่นตามกระแส หลุดจากกรอบจริยธรรมไป สภาการสื่อมวลชนฯ เองก็เป็นกังวล และมีขั้นตอนที่คณะกรรมการจริยธรรมจะนำมาทบทวนการทำหน้าที่ของสื่อเช่นกัน 

หนุนสื่อให้พื้นที่ข่าวเยาวชนตัวอย่าง

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า เนื่องจากข่าวนี้เป็นเยาวชนที่มีชื่อเสียง และเป็นเรื่องที่ต่อเนื่อง สื่อจึงนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง วีรศักดิ์ กล่าวว่า การจะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม แต่การกระทำนั้นมันไปละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และแนวปฏิบัติที่อยู่ในกรอบจริยธรรม ตรงนี้ตนค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะการทำหน้าที่อย่างพอดี ย่อมสามารถทำได้ หากสื่อยังต้องเกาะติดเรื่องนี้ อยากให้ดูกรณีข่าว “ลุงพล” เป็นตัวอย่าง ที่สังคมสะท้อนการทำหน้าที่ของสื่ออย่างไร ตนยังมีความหวังลึก ๆ ว่าหลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น สื่ออาจต้องกลับไปพิจารณาทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ว่าเรื่องนี้การทำหน้าที่ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมกับสังคมแค่ไหน อย่างไร  

ในอีกกรณีหนึ่ง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็มีข่าวของเยาวชนอีกคนหนึ่ง น้องยูโร ที่ช่วยชีวิตคนจมน้ำ โดยที่ตัวเองก็ได้รับผลเหมือนกันต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่สื่อก็นำเสนอน้อยมาก เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สื่อก็ต้องทบทวนด้วยว่า การนำเสนอข่าวด้านใดด้านหนึ่ง ควรจะทำหน้าที่อย่างไร เพราะข่าวดี ๆ ทำให้ให้สังคมได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือกันในสังคม

เรียกร้องผู้บริโภคปรับตัวไปพร้อมกัน

วีรศักดิ์ ระบุด้วยว่า สถานการณ์สื่อ ตั้งแต่เป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จนยกฐานะเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ได้ทำแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้การทำหน้าที่ของสื่ออยู่ในกรอบจริยธรรม คิดว่าดีขึ้นมาก หลาย 10 เท่าตัว จะมีอยู่บางเรื่องเท่านั้น ที่พยายามจะปรับปรุงแก้ไข คือช่วงใกล้วันหวยออก จะเห็นได้ว่าจะต้องมีใบ้หวย เลขเด็ด ที่สังคมไทย ยังพึ่งพาการเสี่ยงโชค 

“ทุกเวทีที่ผมมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ก็จะเรียกร้องผู้บริโภคด้วยว่า อย่ามองแต่ว่า สื่อทำผิด ต้องตำหนิ หรือลงโทษ เพราะถ้าผู้บริโภคสื่อไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ในการบริโภคสื่อ มันก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกันทั้งผู้บริโภคสื่อ และสื่อด้วย เพราะลำพังไปเรียกร้องให้สื่อปรับตัวเอง ในขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่ยอมปรับ ยังอยากจะบริโภคแต่ข่าวสารที่มีปัญหา สื่อก็อยู่ยาก เพราะฉะนั้นก็ต้องร่วมกัน หากจะทำให้สังคมดีขึ้น ลำพังแต่สื่ออย่างเดียวมันยาก เพราะตราบใดที่สื่อยังต้องทำธุรกิจ จะไปรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก็ไม่ได้ ฉะนั้นในจุดนี้ ก็ต้องเห็นใจสื่อเช่นกัน

ฉะนั้นผู้บริโภคก็ต้องปรับปรุงตัวเองด้วยเช่นกัน สื่อถึงจะอยู่ได้ และจะมีกำลังใจในการนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ที่ผู้บริโภค ที่ส่วนหนึ่งก็เรียกร้องว่าสื่อต้องเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อพลเมือง สื่ออิสระ ก็ขอให้ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง จะทำให้วิชาชีพสื่อเป็นที่ยอมรับของสังคม” ประธานคณะกรรมการจริยธรรมฯ ทิ้งท้าย

ข่าวน้องหยกกินพื้นที่สื่อมาก-แนะบาลานซ์

ทางด้านนักวิชาการ อาจารย์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ มองว่า ข่าวเรื่องนี้ กินพื้นที่สื่อค่อนข้างมาก มีช่วงระยะหนึ่ง ก็ตั้งคำถามว่า ข่าวน้องหยก ทำไมสื่อจึงนำเสนอค่อนข้างมาก ช่วงประมาณสัปดาห์แรก ๆ ทีวีหลายช่องนำเสนอ ขณะที่ยังมีเยาวชนคนอื่น ๆ อีก ที่ผลงานดี มีกิจกรรมดี ๆ เยอะ แต่ก็จะมาในตอนท้าย ต้องบอกว่ามันเป็นกระแสตีกลับ ที่บอกว่าพื้นที่การทำข่าวคงน้องหยกอาจจะมากเกินไป เพราะเรายังมีเด็กคนอื่น ๆ ที่จะต้องนำเสนอ ให้พื้นที่กับเขาด้วย

อ.ธาม ยังสะท้อนถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วยว่า แต่ก่อนจะมีผู้ส่งข่าวให้สื่อ ข้อมูลจะมาจากแหล่งข่าวเพื่อให้สื่อเผยแพร่ แต่ปัจจุบัน ไม่ใช่แล้ว เพราะกลุ่มทางสังคม กลุ่มการเมือง แม้กระทั่งกลุ่มยูสเซอร์ทั่วไป กลุ่มรณรงค์ต่าง ๆ สามารถมีพื้นที่ข่าว ได้ด้วยตัวเองแล้ว

“ผมนึกถึงทฤษฎี Spin news หรือที่เรียกว่าปั่นข่าว กระบวนการของแหล่งข่าวเองที่ปั่น และสร้างเรื่องเพื่อล่อลวงให้สื่อมวลชนกระแสหลักไปรายงานข่าวที่ตัวเองปั่น ทฤษฎีนี้ก็อธิบายว่า สปิน นิวส์ ก็เกิดจากกลุ่มทางการเมืองที่สามารถสร้างกระแส หรือกำหนดวาระเพื่อให้สื่อมวลชนหลงรายงานข่าวเรื่องนี้อยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องในหนัง Wag the Dog ในปี 1997 ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าไม่ใช่เป็นเหมือนข่าวปกติที่เกิดเหตุ แล้วนักข่าวก็ไปรายงาน ไปลงพื้นที่ แต่ปัจจุบัน ก่อนจะรายงานข่าว มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น นักข่าวจำเป็นต้องรู้เท่าทัน ส่วนกลุ่มที่รู้ไม่เท่าทัน ก็จะหลงเป็นเหยื่อของกระบวนการอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ” 

สื่อมากหลากหลายแต่ประเด็นซ้ำ

อ.ธาม ยังระบุด้วยว่า สถานการณ์เช่นนี้ เป็นปัญหาของโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อ เพราะสื่อสมัยก่อน เช่น ทีวีมีช่องจำนวนน้อย แต่ปัจจุบันใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ โดยทางทฤษฎี จำนวนสื่อที่มากขึ้น ประเด็นข่าวสาร หรือเรื่องราวจะต้องมากขึ้น เพราะฉะนั้นประเด็นข่าวจะมากขึ้น แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน 

“แม้ทีวีจะมีมากมายหลายช่อง แต่ประเด็นกลับไม่หลากหลาย ต้องแยกกันว่า ความมากหลายของสื่อที่เรามีไม่ได้ทำให้เรามีความหลากหลายของประเด็นข่าวที่เราเห็น มันมีแต่เรื่องซ้ำๆ กัน ก็เพราะว่ายูสเซอร์ คนที่เป็นนักข่าวพลเมือง หรือบรรดาอินฟลูเอ็นเซอร์ แม้กระทั่งชาวบ้านก็ผลิตข่าวพวกนี้ได้ ก็ทำซ้ำเดิม เพราะเขาเอาข่าวที่สื่อกระแสหลักเล่น เอามา Repeat ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ กันอยู่แบบนั้น”

“ฉะนั้นความหลากหลายที่เราคาดหวังว่า จะมีคุณภาพ มีประเด็นที่ต่อยอด มีมุมมองที่แตกต่างกันไป มันไม่ให้ผลแบบนั้น เรามีสิทธิเสรีภาพในการผลิตข้อมูลข่าวสารเรื่องพวกนี้ก็ได้ แต่ในที่สุด ถ้าเราเพ่งหาปริมาณ ไม่ใช่เชิงเนื้อหาคุณภาพ เนื้อหาสาระ โดยเฉพาะพูดถึงความหลากหลายของเนื้อหาข่าวสารข้อมูล มันไม่มี” อ.ธาม ระบุ

สะท้อนปัญหายุคชิงความเร็วก่อนคุณภาพ

อ.ธาม ยังกล่าวถึง ในการเรียนการสอนมัน เรื่องคุณภาพ แต่ที่สุดความเร็ว ก็มีมูลค่าสูงกว่าความถูกต้อง ซึ่งเขาก็คิดว่า ถ้าข่าวไปถึงผู้ฟังก่อนใคร เขาก็จะชนะ แล้วใครที่ไปถึงทีหลังแล้ว ใครจะอ่านข่าวซ้ำเรื่องเดิม ทุกวันนี้ไม่เฉพาะเรื่องคุณภาพ ที่จะต้องทำโดยใช้เวลามากขึ้น ส่วนความเร็วก็ทำให้ข่าวซ้ำๆ ต่อตาของคนเสพ นี่คือเหตุผลที่เขาอธิบายในชั้นเรียน ความเร็วถึงมีมูลค่า ที่มากกว่าคุณภาพ เราจึงได้เห็นข่าวซ้ำ ๆ กัน แม้แต่สำนักข่าวต่าง ๆ ก็เหมือนกัน เพียงแค่มุมกล้องต่างกัน แต่ประเด็นเหตุการณ์ก็ซ้ำกัน”

ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของการหารายได้ ซึ่งกลายเป็นว่า ทุกคนที่มุ่งหน้าหารายได้ จะทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ยอดวิว ยอดไลก์ เรตติ้งมา ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ จากสิ่งเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่สำนักข่าวที่ผลิตข่าวซ้ำ ๆ ตัวอย่างสำนักข่าวออนไลน์ทั่วไปที่อยู่ในแพลตฟอร์มชั้นนำ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ติ๊กต้อก ลองไปสังเกตดูว่า คนที่ได้กำไรที่แท้จริง ไม่ใช่เจ้าของช่อง แต่เป็นแพลตฟอร์มต่างหาก ที่เป็นคนคุมอัลกอริทึม ที่พยายามจะ Repeat พวกนี้ซ้ำๆ เพราะเวลาที่เราชอบดูข่าวประเภทไหน อัลกอริทึม มันจะเดาออกมาจากการ Repeat ซ้ำ ๆ หรือปรากฏการณ์ Echo Chamber และระหว่างแพลตฟอร์มด้วยกันเองก็ต่อสู้กับแพลตฟอร์มอื่น เพื่อให้ผู้บริโภคเสพข่าวแบบซ้ำ ๆ ก็ยิ่งทำให้การแย่งชิงข่าวสาร เป็นการต่อสู้กันระหว่างแพลตฟอร์ม.