เบื้องลึกงานวิเคราะห์การเมืองร้อนของคนสื่อ ยึดหลักสำคัญ “ข้อมูล-หลักเกณฑ์-วิธีการ”

เบื้องลึก เบื้องหลัง งานวิเคราะห์การเมืองร้อนของคนสื่อ ยึดหลักสำคัญ“ข้อมูล-หลักเกณฑ์-วิธีการ”เพื่อแกะรอยเกมการเมือง การจับขั้วรัฐบาล ขณะที่นักวิชาการสายวิเคราะห์ต้องเผชิญความท้าทาย เมื่อฝ่ายเห็นต่างประทับตราเป็นสารพัดสี ชี้การหาข้อมูลรอบด้านเพื่อถ่วงดุลเป็นจุดแข็ง ยึดหลักวิชาการเพื่อประเมินทิศทาง ไม่มีธงให้การเมืองแย่ลง

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ข้อมูล-หลักเกณฑ์-วิธีการ งานวิเคราะห์การเมือง ของคนสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์

ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ ผู้สื่อข่าวสายการเมือง นสพ.ไทยรัฐ และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

สถานการณ์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ผ่านมาเกือบ 3 เดือน การจัดตั้งรัฐบาล และรวบรวมเสียงโหวตนายกรัฐมนตรี ยังคงพลิกผันด้วยเงื่อนไขการต่อรองทางการเมือง ขณะที่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการหาข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลัง ในการรายงานข่าว วิเคราะห์สถานการณ์ ก็ยากยิ่ง จึงต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการทำหน้าที่ของสื่อในประเด็น “ข้อมูล-หลักเกณฑ์-วิธีการ ในงานวิเคราะห์การเมืองสถานการณ์การเมืองของคนสื่อ ผ่านมุมมองทั้งนักวิชาชีพและนักวิชาการ

นักวิชาชีพ ที่คร่ำหวอดในสายข่าวการเมืองมาอย่างยาวนาน ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ ระบุว่า หลักสำคัญของตนในการติดตามสถานการณ์การเมืองเวลานี้ คือยึดเรื่องโครงสร้าง ความสมดุล และความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ เพราะทุกเรื่องในสถานการณ์การเมืองไทย จะประกอบด้วย 3 ส่วนนี้ 

การจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ มีความพิเศษอย่างหนึ่ง เนื่องจากโครงสร้างของประเทศเริ่มสู่ความสมดุล ดังนั้นการจัดระบบระเบียบจึงเกี่ยวข้องกับชนชั้นนำ ที่เป็นเพลย์เมกเกอร์ ที่อยู่ในกลุ่มอำนาจรัฐ และพรรคการเมือง รวมทั้งมวลชน ที่เป็นองค์ประกอบทั้งหมด ฉะนั้นเวลาที่แต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม แต่ละคน ในการเมือง ตัดสินใจเรื่องใด ก็จะกระทบกันไปหมด

หากอยากรู้ว่า สูตรการเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรู้โครงสร้างหลักนี้ จากนั้นก็ต้องไปดูโครงสร้างที่แยกย่อยออกไป ว่าเขาอยากได้รัฐบาลรูปแบบไหน เมื่อเห็นชัดเจนแล้วว่า พรรคใดเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคใดถูกบีบไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งแกนนำหลักของสองฝ่ายแล้ว ก็จะรู้ได้ชัดขึ้นถึงสูตรจัดตั้ง

.

อย่างไรก็ตาม ปราเมศ ชี้ว่า ถึงแม้สื่อจะประเมินมาก่อนเลือกตั้ง ถึงขั้วรัฐบาล แต่สถานการณ์ก็ยังพลิกไปพลิกมา

“ใครจะเชื่อว่าคุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะไปพรรคเพื่อไทย หากก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้ง คงไม่มีใครเชื่อ แต่ก็ได้เห็นกันแล้ว ว่าเกิดอะไรขึ้น” สถานการณ์เช่นนี้ สื่อก็ต้องไปแกะรอย เบื้องหลังว่ามีใครเป็นคนดีล

อันดับแรก คือเรื่องข้อมูล ที่ต้องให้ความสำคัญ จากนั้นจึงมาดูหลักเกณฑ์ ก่อนที่จะนำไปวิเคราะห์ จึงจะได้สูตร ที่เป็นไปได้มากที่สุดด้วยเหตุผลใด 

การจะได้ข้อมูลมา คือการจะเช็คกับแหล่งข่าว ของแต่ละขั้ว แต่ละฝ่าย ที่ต้องเช็คทุกระดับ ตั้งแต่เบอร์ต้น เบอร์สอง เบอร์สาม แต่ก็ต้องระมัดระวังว่า ข้อมูลอาจมีโอกาสบิดเบี้ยวได้ แต่อย่างน้อยก็จะมีข้อเท็จจริงอยู่ ขณะเดียวกัน วิธีการที่จะได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนน้อยลง ก็ต้องไปเช็คฝ่ายตรงข้ามว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงย่อมมีสิ่งเดียวที่ตรงกันเสมอ 

ยึดโครงสร้างหลักก่อนแกะรอยความเชื่อมโยง

ปราเมศ หยิบยกประเด็นที่สามารถแกะรอยได้ เช่น กรณีที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรายแรกที่จงใจบอกเรื่องถูกพรรคเพื่อไทยเชิญเข้าร่วมรัฐบาล ก็จะเห็นความเชื่อมโยงได้ว่า พรรคขั้วรัฐบาลเดิม อาจได้รับการประสานจากเพื่อไทยด้วย ดังนั้นสื่อก็ต้องไปแกะรอยในระดับหัวหน้าพรรคเหล่านั้น ก็จะเห็นความเชื่อมโยงกันที่กำลังไปสู่ “รัฐบาลสูตรใหม่” เป็นต้น 

เมื่อถามว่า ในสังกัดสื่อหลักใหญ่ อาจจะไม่มีข้อสงสัยถึงแหล่งที่มาของข้อมูล เพราะนักข่าวสายการเมืองล้วนอยู่ในระดับที่มีประสบการณ์สูง มีแหล่งข่าว แหล่งข้อมูลมากมาย การทำข่าวจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ที่มีความสลับซับซ้อน ยากง่ายอย่างไร ปราเมศ ระบุว่า หากเรารู้หลัก โดยยึดโครงสร้าง แกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ที่ชัดเจนแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยาก แม้ในตอนต้นสถานการณ์อาจแตกต่างจากอดีต ที่พรรคอันดับ 1 แล 2 จะเป็นแกนนำรัฐบาล และแกนนำฝ่ายค้าน แต่ครั้งนี้สูตรแรก พรรคอันดับ 1 ก้าวไกล มาจับขั้วกับอันดับ 2 เพื่อไทย แต่ในที่สุดก็แยกทาง การเมืองกลับมาสู่สูตรแบบเดิม

ดังนั้น ก็ต้องมาดูว่ารัฐบาลจะรวบรวมตัวเลข ให้ได้กี่เสียง เสถียรภาพจึงจะมั่นคง ก็มีกรอบว่าประมาณ 200 ปลาย ๆ ถึง 300 ต้น ๆ ขณะที่ขั้วฝ่ายค้าน ก็จะเหลือตัวเลขราว ๆ 100 ปลาย ๆ หรือ 200 ต้น ๆ จากนั้นก็จะแกะรอยได้ว่า มีพรรคใดถูกทาบทามบ้าง ซึ่งก็ต้องเช็คข่าวจากหลายแหล่ง เพื่อให้สามารถต่อจิ๊กซอว์ได้ทั้งกระดาน 

เซฟแหล่งข่าวโดยเนื้อหาข่าวไม่ผิดเพี้ยน

ในขั้นตอนนี้ ความสำคัญก็อยู่ที่นักข่าวภาคสนาม ที่มีข้อมูลที่อัพเดตตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่แปรผันตลอด ขณะที่กองบรรณาธิการ ก็ต้องใช้ข้อมูลทุกส่วนจากภาคสนามมาประมวล และประกอบกัน เพื่อให้ทันสถานการณ์ ก็จะสามารถถอดสูตรพรรคการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความไม่นิ่งของสถานการณ์ เพราะยังมีสูตร มีลุง ไม่มีลุง ซึ่งข่าวการเมืองเวลานี้ ถือว่าสนุกตรงนี้ ที่ต้องตามเจาะว่า “รวมไทยสร้างชาติ ลุงตู่ไปแล้ว ไม่มีลุง แล้วส่วนลุงป้อม ที่ก่อนหน้านี้ลาออกจากหัวหน้าพรรค แล้วก็กลับเข้ามาใหม่ เบื้องหลังมีอะไรหรือไม่ จากนี้ลุงจะถอยหรือไม่ ถ้าพรรคลุงเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว ตัวเองจะรับตำแหน่งหรือไม่” 

การหาข้อมูล จากแหล่งข่าวในช่วงร้อนแรงเช่นนี้ สื่อเองก็จะต้องปกปิดแหล่งข่าว เพราะหลายคนที่รู้ข้อมูลก็ถูกสั่งให้ปิดปาก เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ได้มา ก็ต้องมีวิธีการนำเสนอที่เซฟแหล่งข่าวพอสมควร นอกจากนี้ นักข่าวแต่ละค่ายที่เช็คข้อมูล ก็จะนำมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วต่างคนก็ไปเช็คเพิ่มอีก ฉะนั้นจึงอาจเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ แต่ละช่วงเวลา เช้า กลางวัน เย็น พลิกผันตลอดเวลา

ฉะนั้น ในการวิเคราะห์สถานการณ์ สื่อเองก็ไม่สามารถฟันธงได้ 100% เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อการเจรจามีเงื่อนไขเพิ่มเข้ามาตลอด ยังไม่นิ่ง และยังมีตัวแปรเยอะ ในการดึงแต่ละพรรคเข้าร่วมขั้วใด

อีกตัวแปรสำคัญ คือ สว. ที่ไม่ง่าย มีการพูดถึงสถานการณ์ สว.ว่า ถ้าไม่มีลุง ไม่มี สว.ดังนั้นเวลาดีลเรื่องโหวตนายกฯ ก็จะชัดเจนว่า สว.ส่วนใด จะโหวตให้หรือไม่ กรณีไม่มีลุง อีกทั้งการเมืองครั้งนี้ ยังมีเงื่อนไขการกลับไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วย

การเมืองวันนี้ เป็นเรื่องเดียวกันทั้งกระดาน ขยับอะไร อย่างอื่นก็ขยับตามไปด้วยทั้งหมด

ตรวจสอบข้อมูลหลายแหล่งยืนยันความถูกต้อง

เมื่อถามถึงกรณีที่มีแหล่งข่าวจากหลายแหล่งที่นักข่าวเช็คมา กองบก.ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกประเด็นขึ้นมานำ ปราเมศ ระบุว่า  ยึดหลักจุดกึ่งกลางที่สุด โดยนำชุดข้อมูลมาพิจารณาว่ามีส่วนใดตรงหรือไม่ตรงกัน หากมี 3 ส่วนที่ตรงกัน อีกส่วน 1 ที่ไม่สอดคล้อง ก็ตัดทิ้งไป และเลือกนำเสนอในส่วนที่ตรงกันก่อน 

อย่างไรก็ตาม ปราเมศ ย้ำว่า แม้ประเด็นที่เช็คมาหลายแหล่งจะเป็นเรื่องจริง คือวิธีการนำเสนอที่ต้องปกป้องแหล่งข่าวด้วย เพราะบางครั้ง เรื่องนั้น ๆ มีพูดคุยกันอยู่แค่สองคน หากเราได้ข้อมูลมา 100 เปอร์เซ็นต์ จะนำเสนอทั้ง 100 ก็ไม่ได้ ก็อาจต้องเลี่ยงไปว่า ไปรับฟังมาจากแหล่งข่าวที่สาม ที่สี่ เพื่อไม่ให้กระทบกับสองคนในเหตุการณ์ที่ได้ข้อมูลมา ก็ต้องมีเทคนิคในรักษาแหล่งข่าวด้วย

ปราเมศ ระบุด้วยว่า สถานการณ์ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นภารกิจที่สื่อต้องตามติดอย่างต่อเนื่อง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากตัวแปร ปัจจัยต่าง ๆ บางสถานการณ์ที่อาจมองว่านิ่งแล้ว อาจจะพลิกได้อีก แม้จะมีการวางแผนวางเกมไว้แล้ว อาจจะถึงขั้นมีการตัดสินใจหน้างาน

โดยหยิบยกตัวอย่าง เหตุการณ์โหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ ประยุทธ์ ที่มีกลุ่มกบฏ เตรียมโหวตคว่ำ ซึ่งต่างฝ่ายต่างเช็คเสียง ทั้งวันทั้งคืนจนเกือบเช้า เช้ามาหน้างานก็ต้องมาเช็คอีก สื่อก็ต้องเกาะติดตามความเคลื่อนไหวนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีข้อมูลจากนักการเมืองจำนวนมาก สื่อเองก็สุ่มเสี่ยงจะถูกปล่อยข่าวเช่นกัน ซึ่งมีเป้าหมายปล่อยเพื่อหาข่าวจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นการต่อสู้เชิงข้อมูล เพื่อดูกระแสว่าเป็นอย่างไร 

ปราเมศ ให้ความมั่นใจว่า ข่าวการเมืองที่ออกมาจากสื่อหลัก ยังเป็นข่าวที่เชื่อถือได้มาก แม้ในแต่ละช่วงวัน อาจจะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงแทบทุกชั่วโมง แม้จะมีบางรายละเอียดอาจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบ จึงอยากให้ติดตามข่าวการเมืองโดยจับหลักโครงสร้างข้างต้น ข่าวการเมืองจะไม่น่าเบื่อ 

งานสื่อคุณภาพ “ข้อมูล” สิ่งสำคัญที่สุด

ด้านมุมมองนักวิชาการด้านสื่อ รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ถึงสถานการณ์ข่าวการเมืองที่มีมากเวลานี้ว่า ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ถ้าถอยหลังไป 20-30 ปี หรือหลังจากนั้น เป็นยุคขาดแคลนข่าวสาร และข่าวสารที่มีน้อยอยู่แล้วยังถูกปิดกั้นอีก พอมา พ.ศ.นี้ต้องยอมรับว่า ข่าวสารท่วมท้น เรามีแหล่งข้อมูลที่เป็นสื่อมวลชนมากมาย ทั้งวิทยุ ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม มีสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล

ขณะที่ผู้บริโภคเอง ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนเช่นกัน เพราะองค์ประกอบของข้อมูลข่าวสาร เปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งที่เราเห็นกันมาในช่วง 5-10 ปี ทุกคนก็เป็นสื่อได้ ฉะนั้นช่องทางหลักของข่าวสาร อาจจะมาจากสื่อมวลชนก็จริง แต่ทัศนคติ ความคิดเห็น ได้กระจัดกระจายไปมหาศาล จากที่แต่ละคนสื่อสารออกไป ใช้พื้นที่ออนไลน์ หรือโซเชียล ดังนั้นการกระจายสื่อ ข่าวสารออกไป จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกยุคสมัยนี้

เมื่อถามถึงคุณภาพของข้อมูลที่สื่อนำเสนอออกไป โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน อ.อัศวิน ระบุว่าในสังคมเรา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราอยู่กับสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม จะอลเวงมาก เราจะหากฎเกณฑ์ กติกาไม่ได้เลย ไม่รู้อันไหนถูกผิด ฉะนั้น ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด 

.

ยุคข้อมูลท่วมทันมลพิษข่าวสารปะปนคุณภาพ

“ในภาวะนี้ วิวัฒนาการทางสังคมไปถึงจุดที่เรียกว่า ความปะปนกันไปของคุณภาพข่าวสาร มันเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเรามองตั้งแต่สเกล 0-100 มันปะปนไปด้วยทั้งขยะ มลพิษทางข่าวสาร ข่าวสารที่คัดกรองแล้ว มันปนกันอยู่ในนิเวศสื่อทั้งหมด ฉะนั้นตรงนี้ก็ย้อนกลับมาทั้งในแง่ผู้ผลิตเอง ก็ต้องมีมาตรฐานวิชาชีพ มีกรอบจริยธรรม จรรยาบรรณในการทำงาน ขณะที่ผู้รับข่าวสารเอง ก็ต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในแง่ของการรู้ทันสื่อ การเพิ่มขีดความสามารถของตนเองในการคิด แยกแยะข้อมูลข่าวสารที่เข้ามา” 

“เราก้าวข้ามความขาดแคลนของข้อมูลไปแล้ว เรากำลังอยู่ในภาวะที่ข้อมูลท่วมท้น โจทย์คือทำอย่างไร ที่จะทำให้ข้อมูลที่เรามี และเห็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ ถ้าเรามองจุดหลัก ๆ ผู้ผลิตคือสื่อ ซึ่งมีกองบรรณาธิการ มีนักปฏิบัติวิชาชีพ ซึ่งถือว่าช่วยเราในระดับหนึ่งแล้ว จากต้นทางการผลิตข้อมูลข่าวสาร มีกลไกที่ตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันผู้รับสารเอง ต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกรับเลือกเสพ” 

อ.อัศวิน มองว่า ยังมีตัวแปรอีกอย่าง คือพื้นที่ออนไลน์ ที่มีหลากหลายช่องทาง หลายแนวคิด หากมองทุกอย่างเป็นเสรีภาพ เป็น ประชาธิปไตย ก็จะไม่ตื่นตระหนก เพราะเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย โดยมองเรื่องประโยชน์ มองเป็นคุณ ก็จะเห็นว่าสังคมเราเดินไปข้างหน้า

แนะเปิดใจรับข้อมูลในมุมที่เห็นต่าง

เมื่อถามถึงวิธีการติดตามการเลือกเสพสื่อ ควรเปิดใจรับสื่อที่มีความเห็นต่างอย่างไร อ.อัศวิน ระบุว่า ในแง่คนทำสื่อ หรือผู้ผลิต มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ในกระบวนการทำงาน ยึดหลักบรรณาธิการ จรรยาบรรณวิชาชีพ ตรงนี้จะช่วยคัดกรอง ตรวจสอบ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฟังผู้ชมผู้อ่านได้ ส่วนอีกด้าน ผู้รับสารก็ต้องเปิดใจ แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะโดยธรรมชาติทางสังคม เราจะมีความคิดที่เรียกว่าซ้าย ขวาหรือก้าวหน้ากับล้าหลังอยู่สองปีก 

“ความคิดสายกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่ จำนวนมากของสังคมจะกระจุกอยู่ตรงกลาง ฉะนั้นก็ไม่ผิดที่เราจะเลือกอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือพึงพอใจที่จะรับสารเฉพาะฝั่งใด แต่อย่าลืมว่าคนส่วนใหญ่อาจจะอยู่สุดอีกด้านหนึ่ง เราอาจจะอยู่ในส่วน 5-10% ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของสังคม จะอยู่ตรงกลางมากกว่า ซึ่งทางวิชาการพิสูจน์มาแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังต้องอยู่ในสังคม ยังต้องพบปะผู้คนพูดคุยกับคน คิดว่าอาจจะเป็นจุดยืนของตัวเอง แต่ทางสายกลาง หรือกระแสหลักที่อยู่ตรงกลางของคนส่วนมากของสังคม คิดว่าส่วนนี้เราไม่ควรละเลย” 

“เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในกลุ่มก้อน ไม่ว่าจะอยู่ในบริษัท หรือองค์กร มหาวิทยาลัย ชุมชนสังคม ก็ตาม ก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกา และการตัดสินใจร่วมกันของคนส่วนใหญ่ ถ้าเรายึดตรงนี้ การรับข้อมูลข่าวสารก็เช่นเดียวกัน มันไม่แปลกว่า เราจะมีความพึงพอใจ ฝั่งซ้ายสุด ขวาสุด แต่อย่าลืมว่า สังคมเดินไปได้ด้วยคนส่วนใหญ่ 70-80% ฉะนั้นเราอาจจะต้องเปิดใจรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ในสิ่งที่ไม่เหมือนเรา และคนอื่นคิดอย่างไร หลังจากนั้นก็มาชั่งน้ำหนักดูว่า อะไรที่เราเคยเชื่ออย่างนั้น ถ้าเราเคยเปิดใจสักนิด บางทีอาจจะเป็นสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตของเราก็ได้”

สื่อเพิ่มคนตื่นตัวเรียนรู้การเมืองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อ.อัศวิน มองว่า ในยุคนี้ความรู้ทางการเมืองของคนไทยดีขึ้นกว่า 10-20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเรียนรู้นโยบายและการหาเสียงในเชิงภาพใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่การขายฝันธรรมดา ที่เราเห็นมาโดยตลอด ก็เริ่มจะถูกลดความสำคัญลงไปพอสมควรเพราะมีหลักฐานที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะป้ายโฆษณา ทั้งในออนไลน์ มีทั้งคลิป เอกสาร หลักฐานอย่างดี ที่จะทำให้การหาเสียงเกินจริงยากขึ้นเรื่อย ๆ

อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของสื่อ ก็ทำให้ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลัง และครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่ จะเห็นว่าจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วภูมิภาค ตื่นตัวกันหมด และยังไปถึงในช่วงวัยด้วย แต่เดิมเราเคยได้ยินเสียงบ่นว่า ทำไมเด็กวัยรุ่น ไม่ตื่นตัวเลย สนใจแต่เรื่องแฟชั่น แต่กลายเป็นว่ายุคหลังนี้ตื่นตัวสูงมาก

สำหรับการติดตามข้อมูลข่าวสารการเมือง อ.อัศวิน มีข้อแนะนำว่า “ในระบบนิเวศของการสื่อสาร โดยข้อมูลข่าวสารที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันมาจากหลายช่องทาง หลายแหล่งข้อมูล แต่ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาหาเรา และเราเข้าไปหาข้อมูลในแต่ละวัน ก็เปรียบเสมือนอาหาร อากาศ ที่เรารับทุกวัน ถ้าเรารับข่าวสารที่เป็นข่าวปลอม ข่าวเท็จ ข่าวลวง ความคิด การตัดสินใจของเราเอง ก็อาจจะผิดเพี้ยนตามข้อมูลเหล่านั้นไปด้วย

ฉะนั้นเพื่อให้เป็นการรับประกันความครบถ้วน เราอาจจะต้องบริโภคข่าวที่หลากหลายพอสมควร และใช้ความคิด วิจารณญาณ เปิดใจแม้เราอาจจะมีจุดยืนของเราเป็นส่วนสำคัญ แต่สถานการณ์เปลี่ยนเร็ว ไม่ใช่แค่เช้าบ่าย แต่แทบทุกชั่วโมง ในยุคใหม่ เป็นยุคที่ต้องปรับตัวพอสมควร ต่างไปจาก 10-20 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง ถ้าเราทุกคนในสังคมพร้อมและปรับไปกับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ อนาคตข้างหน้าสังคมก็จะมีคุณภาพ

ถ่วงดุลข้อมูลจุดแข็งงานวิเคราะห์

ด้านมุมมองของ ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง ต่อประเด็น “ข้อมูล-หลักเกณฑ์-วิธีการ งานวิเคราะห์การเมือง ของคนสื่อ” ระบุว่า สาระสำคัญที่สุดของข้อมูล ต้องมีรายละเอียด และความชัดเจน บางครั้งเราเอาข้อมูลมารับใช้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ข้างเดียว ในสิ่งที่เลือกจะพูด อาจไม่เพียงพอ และจะถูกมองว่าเลือกข้างหรือโน้มเอียง ก็จะกลายเป็นปัญหาได้

ขณะเดียวกัน บริบทของเวลา จะต้องบอกด้วยว่า เมื่อเวลานั้น มีวิธีคิดแบบนั้น ซึ่งสื่อก็ต้องบอกตัวเองด้วย เพราะไม่อย่างนั้น ก็จะถูกแสตมป์ หรือตราประทับ ว่าเราไม่สามารถเคลื่อนทางความคิดการเมืองแบบอื่นไปได้เลย

สำหรับการทำหน้าที่ของสื่อ อ.วันวิชิต มองว่า หากวิพากษ์พรรคการเมืองหนึ่ง ถ้าพูดทั้งจุดดี และจุดแข็ง จุดอ่อน ข้อบกพร่อง ข้อจำกัด ไปพร้อมกันโดยไม่มีอคติมากเกินไป และมีการถ่วงดุลของข้อมูล คิดว่าสื่อก็จะได้รับการยอมรับด้วย คนก็จะได้ดูในเชิงที่หลากหลายมากขึ้น

ตอนนี้คนเสพสื่อจะแสตมป์แม้แต่นักวิชาการ บางคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแรง ๆ พอเขาเห็นชื่อว่าจากสถาบันไหน บางคนก็คอมเมนต์ว่า ไม่เอาอาจารย์สลิ่ม ซึ่งเป็นความรู้สึกจากความเคลื่อนไหวช่วงหนึ่ง ที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ที่มหาวิทยาลัยไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม จึงถูกเหมารวม ก็จะถูกตีตราประทับ แม้นักวิชาการคนนั้น อาจไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกแสตมป์ก็ได้ อีกทั้งอาจารย์แต่ละสถาบันก็มีความคิดแตกต่าง ก็เป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งคนมองในเรื่องของแม็คโครภาพรวม ไม่อดทนฟังอะไรยาวนาน ถ้าไม่ใช่สิ่งที่พูดแล้วถูกใจ

ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ด้วยหลักการ

ความท้าทายในการวิเคราะห์สถานการณ์ของนักวิชาการ ในมุมมองต่าง ๆ อ.วันวิชิต ระบุว่า หากมีแต่หลักการ แต่ไม่กล้าฟันธงเสียที บางทีประชาชนก็ชอบอะไรที่ตรงไปตรงมา ทำให้บางครั้งนักวิชาการก็ถูกด่า ว่าไปปั่นก็มี หลายท่านถูกกล่าวหา ทั้งที่บางครั้ง เป็นการวิเคราะห์การเมือง ที่ดักทางนักการเมือง เพราะบางทีเขาฟังนักวิชาการ ก็ไม่อยากเดินเกม ตามที่นักวิชาการขีดเส้นไว้ให้ 

“เห็นไหมอาจารย์ไม่แม่น มั่ว ซึ่งเอาเข้าจริง ก็เป็นการปิดทางหนีทีไล่เขา เหลือข้อจำกัดในสิ่งที่พึงจะเป็นให้มากที่สุด นักวิชาการไม่ได้เสนอให้การเมืองไปสู่ทิศทางที่แย่ลง นักวิชาการส่วนมาก ก็หวังจะให้เป็นไปตามครรลอง” อ.วันวิชิต ระบุ

เมื่อถามถึงวิธีวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์การเมืองในฐานะนักวิชาการการ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ในการพูดคุยกับสื่อ อ.วันวิชิต ระบุว่า ทุกวัน ก็ต้องติดตามข่าวสารหลากหลายสื่อ หลายช่องทาง ทั้งสื่อที่มีแนวคิดแตกต่างกัน ทั้งสื่อในประเทศ ต่างประเทศ ซึ่งก็จะได้เห็นว่า สื่อแต่ละค่าย มีแนวคิดเป็นอย่างไร ข้อมูลเรื่องเดียวกัน คนเดียวกัน ก็มีทั้งเป็นบวก และเป็นลบ ซึ่งเราก็ต้องชั่งน้ำหนัก และยังต้องไปดูความคิดเห็นของผู้คนในโลกโซเชียลด้วย ว่าเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการถ่วงดุล 

อีกทั้งยังต้องไปดูทฤษฎี เวลาจะให้สัมภาษณ์ แม้เราจะมั่นใจในข้อมูล เพราะเก็บข้อมูล อ่านหนังสือทุกวัน การวิเคราะห์ หรือบางครั้ง เราก็เห็นว่า อาจไม่เป็นไปในทางนั้น หรือบางครั้งก็เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ ก็จะนำมาเชื่อมต่อกัน เพื่อประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ