ข่าวพ่อแม่ฆ่าลูกต่อเนื่อง พม. ห่วงฟุตปรินท์ออนไลน์ส่งผลต่ออนาคต

ข่าวพ่อแม่ฆ่าลูกต่อเนื่อง

พม. ห่วงฟุตปรินท์ออนไลน์ส่งผลต่ออนาคต

ข่าว “พ่อแม่ถูกกล่าวหาฆ่าลูกต่อเนื่อง” สะท้อนความรุนแรงต่อเด็กเพิ่มขึ้นจากในครอบครัว พม. ห่วงฟุตปรินท์ออนไลน์ส่งผลต่ออนาคต นักข่าวภาคสนามสะท้อนสื่อส่วนบุคคลสุ่มเสี่ยงเผยแพร่ข้อมูลอ่อนไหวในคดี หวังแง่มุมข่าวอาชญากรรมให้คนในสังคมช่วยเหลือกัน นักวิชาการชี้จุดอ่อนการทำข่าวคดีโหด เปิดพฤติกรรมคนร้าย สร้างความชอบธรรมให้ผู้ต้องหา แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แนะสื่อเน้นบทลงโทษ กระตุ้นเตือนสังคมรู้ทันสัญญาณอาชญากรรม

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “การนำเสนอข่าว พ่อแม่ถูกกล่าวหาฆ่าลูกต่อเนื่อง” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย นิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จิณห์นิภา บัวแสงใส ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม นสพ.เดลินิวส์  ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

คดีพ่อแม่ถูกกล่าวหาฆ่าลูกต่อเนื่อง กรณีชายที่มีภรรยา 5 คน ลูก 10 คน จากการสืบสวนสอบสวนในกระบวนการยุติธรรม พบว่ามีลูก 5 คนเสียชีวิต และลูกที่รอดชีวิตมาได้ 2 คน ทำให้กระทรวง พม.ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

นิกร จำนง อธิบายถึงสาเหตุที่ พม. ยื่นมาเข้ามาช่วยเด็กที่รอดชีวิต ถือเป็นหน้าที่ตามกฏหมายคุ้มครองเด็กโดยตรง เมื่อทราบเรื่องก็เราก็ใช้ความระมัดระวังมากในการเข้าไปดูแลช่วยเหลือเด็ก ซึ่งอยู่ในบ้านพักเด็ก ทั้งด้านจิตใจ และสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ การพูดคุยกับเด็ก เราจะไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็ก 

เด็กทั้งสองคน วัย 12 ปี และอีกคนใกล้จะ 4 ขวบ เวลานี้เจ้าหน้าที่ดูแลได้ดี แต่ที่เรากังวลอยู่มาก คือหลังจากนี้ เด็กต่างแม่ทั้งสองคนจะไปอยู่กับใคร เพราะแม่ที่ถูกดำเนินคดี ก็เกี่ยวเนื่องกับอีกหลายกรณี ส่วนพ่อผู้กระทำความรุนแรงก็ถูกดำเนินคดี ฉะนั้นในหลักการก็ต้องหาครอบครัวอุปถัมภ์ ที่ต้องดูว่า ยังมีปู่ย่าตายายหรือไม่ หากไม่มีใครดูแล รัฐบาล โดยกระทรวง พม. ก็ต้องดูแลต่อไป หลักคือ ให้เขาได้อยู่ร่วมกันระหว่างพี่น้อง อย่างน้อยสองคนก็เป็นครอบครัว

ในมุมการเสนอข่าวของสื่อ นิกร เป็นห่วงว่า การไปติดตามชีวิตลูก ๆ ที่เหลืออยู่ของผู้ต้องหา อยู่ที่ไหน อย่างไร อาจสุ่มเสี่ยงละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นข้อตกลงสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมกันเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็ก) ที่กำหนดสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่ว่าชื่อ ถิ่นที่อยู่ของเด็กก็เปิดเผยไม่ได้ 

“หลักเกณฑ์ที่เป็นไปตามของ Convention ยูนิเซฟ มีรายละเอียดกำหนดว่า การนำเสนอข่าวเด็ก ทำได้แค่ไหน อย่างไร เพราะฉะนั้นแนวปฏิบัติในการสัมภาษณ์เด็ก สื่อควรให้ความสนใจกับสิทธิเด็กเป็นพิเศษ” นิกร กล่าว

พม. ห่วงฟุตปรินท์ในสื่อออนไลน์ผลกระทบเด็ก

นิกร ระบุด้วยว่า ปัจจุบันข่าวที่ถูกเสนอในโซเชียลมีเดียดิจิทัลฟุตปรินท์ที่จะอยู่ตลอดไป สำหรับเด็กๆ ที่เป็นลูก เขาไม่ได้เกี่ยวข้องในทางคดีด้วย สื่อพึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ต้องคิดด้วยสามัญสำนึกก่อน แล้วดูว่ากรอบกฎหมายในประเทศ ระหว่างประเทศที่เป็นสากล เราเป็นผู้ที่เจริญแล้วย่อมรู้ได้ว่า เรื่องนี้เราควรนำเสนอแค่ไหน ไม่ว่าสื่อ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องคิดถึงว่าหากเป็นลูกเรา ซึ่งจะช่วยได้มาก

ฉะนั้นในส่วนของ พม. ที่เข้าไปดูแลเด็ก จะไม่ให้สื่อติดตามเข้าไปทำข่าวในรายละเอียด 100% ซึ่งการให้ข่าวของ พม.เอง ก็มีข้อกำหนดเรื่องที่ทำได้ เช่น ใช้นำเสนอภาพวาดเป็นการ์ตูนแทนตัวเด็ก หรือให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย อนุญาตให้ผู้ปกครองเผยแพร่ข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้ 

การนำเสนอข่าวเด็ก เปิดเผยชื่อ ภาพได้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องมุมบวก เช่นการไปประกวดแข่งขันแล้วชนะ ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เป็นการแสดงความสามารถของเด็ก เป็นการยกย่องเด็ก  

ชี้การทำหน้าที่ของสื่อทำให้สังคมตื่นรู้

อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมของการติดตามนำเสนอข่าวคดีนี้ นิกร มองว่า สื่อได้ทำให้สังคมตื่นรู้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพบ แต่เป็นคนในสังคมกันเอง เป็นเพื่อนบ้าน ฉะนั้น จึงอยากให้คนในสังคมช่วยกัน แม้จะไม่ใช่คนในครอบครัว แต่เราต้องตื่นรู้เกี่ยวกับเรื่องเด็ก จำเป็นต้องช่วยกันดูแล และการนำเสนอข่าว หากไม่กระทบกระเทือนกับเด็ก สื่อสามารถทำได้ เพื่อเป็นการระงับยับยั้งเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง

จากการเฝ้าสังเกตการทำงานของสื่อ นิกร ระบุว่า เคสนี้สื่อทำหน้าที่ได้ดี เรื่องคดีอาญาเรื่องพ่อแม่ก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนกรณีเด็ก สื่อก็ให้ความร่วมมือ รับฟัง และเคารพกัน เคสนี้ทำได้ดี ต้องขอชม

สำหรับ พม. ก็มีช่องทางให้ความช่วยเหลือหากเกิดกรณี ลักษณะนี้ โดยมีช่องทางติดต่อที่หมายเลข 1300

ความท้าทายสื่อกับผลกระทบต่อเด็ก

ด้าน จิณห์นิภา บัวแสงใส ผู้สื่อข่าวที่เกาะติดคดีนี้ เล่าถึงที่ไปของคดีนี้ เริ่มในช่วงต้นเดือนกันยายน โดย “กัน จอมพลัง” ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนต่าง ๆ ในสังคม ออกมาเปิดเผยเรื่อง และมีการแจ้งความชายคนหนึ่ง ที่เป็นพ่อเด็ก เมื่อสืบสาวเบื้องหลังก็ได้พบพฤติกรรมฆาตกรรมลูกชายวัย 2 ขวบของตัวเอง สื่อจึงเริ่มติดตาม การทำคดีของของตำรวจที่สืบเชิงลึกลงไป ก็พบว่ามีกรณีร่วมมือกับภรรยาเก่า ฆาตกรรมลูกชายอีก 4 คนด้วย จึงสรุปว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นเด็กทั้งหมด 5 คน จึงกลายเป็นเรื่องที่สังคมสนใจ

สำหรับความท้าทายในการทำข่าวประเภทนี้ จิณห์นิภา มองว่าเป็นเรื่องความระมัดระวัง เพราะผู้เสียหายเป็นเด็ก อีกทั้งยังมีญาติที่ติดตามข่าว ดังนั้นการที่ต้องนำเสนอข่าวทุกวัน  ซึ่งจะมีภาพผู้ต้องหา ผู้เสียหายออกไป เราต้องระมัดระวังเรื่องเหล่านี้มาก 

เพราะเด็กซึ่งเป็นเยาวชน ก็มีกฎหมายคุ้มครอง ต้องเบลอภาพ รวมทั้งผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินก็ต้องถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ 

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ กรณีนี้เป็นเหตุที่สะเทือนขวัญ จึงต้องระมัดระวังการเผยแพร่ข่าวรายละเอียด เพราะอาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

“เป็นคดีที่สะเทือนใจ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ถือว่ารุนแรงสำหรับเด็ก ที่เชื่อว่าจะเป็นบาดแผลในใจเขา เพราะข่าวที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียล จะอยู่ไปตลอด ไม่ว่าเขาโตไป ก็ยังสามารถกลับมาค้นหาเรื่องราวได้ ดังนั้นวิธีการที่จะเสนอข่าว จึงต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีผลกระทบในอนาคต” 

สะท้อนสื่อออนไลน์กับการเลยเส้นเสนอข่าว

จิณห์นิภา ยังระบุถึงการทำข่าวภาคสนามด้วยว่า นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว ยังพบสื่อบุคคลที่ติดตามทำข่าว ไลฟ์สดอีกจำนวนมาก ซึ่งเมื่อได้รู้จักกันแล้ว ก็พูดคุยกันถึงการนำเสนอข้อมูลด้วยเช่นกัน “ได้ตักเตือนกัน เรื่องการปล่อยภาพต่างๆ ออกมา เพราะยังมีญาติของเด็ก ต้องเห็นอยู่ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ  เท่าที่เห็นก็มี การนำเสนอข้อมูลที่เป็นความลับของราชการ ขณะที่เราเองเป็นสื่อ ก็ยังพยายามเข้าไปตักเตือนถึงเรื่องการเผยแพร่ข้อมูล” 

ทั้งนี้ จิณห์นิภา มองว่า การรู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน ยังสามารถพูดคุยกันได้ บอกกันได้ เพื่อให้เพื่อนมีบทเรียน เพราะปัจจุบัน ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้แค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียว จะเปิดเพจอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใด และปัจจุบันมีค่อนข้างมาก และไม่ได้เรียนรู้เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ดังนั้นเวลาที่เผยแพร่ข้อมูลออกไป จึงไม่ได้กลั่นกรอง

หวังสังคมตระหนักถึงปัญหาส่วนรวม

ในมุมของสังคม จิณห์นิภา เห็นว่า คดีนี้อยากให้คนในสังคมตระหนักถึงการช่วยเหลือกัน ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องสามี-ภรรยา คนนอกไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือช่วยเหลือ อยากให้มองในมุมความเป็นมนุษย์ และส่วนใหญ่คนที่ใช้ความรุนแรง ก็มักจะได้รับความรุนแรงมาเช่นกัน จึงมาใช้ความรุนแรงต่อ ซึ่งในคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีแนวโน้มจะลดลง

ในมุมของสื่อเอง เธออยากให้การนำเสนอข่าวของสื่อ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ปัญหา ความรุนแรงในสังคมไทยเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่นเดียวกับการให้ความรู้ของนักวิชาการต่อสังคม โดยเฉพาะแนวทางแก้ปัญหา และทางออกต่าง ๆ

สถานการณ์รุนแรงต่อเด็กมากสุดจากครอบครัว

ขณะที่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ สะท้อนถึงสถานการณ์เกี่ยวกับเด็กในช่วง 10 ปี มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำกว่าก่อนหน้า เกือบ 5 แสนราย ซึ่งในเชิงปริมาณที่เกิดน้อยแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพจากการเลี้ยงดู เพราะสังคมปัจจุบันเข้าสู่สังคมสูงวัย มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ครอบครัวมีความกดดันสูง เรื่องการเลี้ยงลูกที่ขาดความใส่ใจดูแล ในยุคดิจิทัล 

ดังนั้น ประเด็นที่นักข่าวสะท้อนถึงเรื่องความไม่ใส่ใจของเพื่อนบ้าน ไม่สังเกตเด็ก เพราะคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของครอบครัวอื่นไม่ควรเข้าไปยุ่ง จึงทำให้สถานการณ์ความรุนแรงของเด็กที่ถูกกระทำทางด้านกายภาพ จนถึงเกิดคดีฆาตกรรมมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจุบันสถานการณ์เด็กทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก จึงถูกรายงานมากขึ้นเรื่อย ๆ 

จากรายงานครอบครัวของยูนิเซฟ ระบุว่าเด็กเผชิญความรุนแรงมากที่สุด นอกจากที่บ้าน ที่โรงเรียน ในสื่อ แต่ที่บ้านคือมากที่สุด ปัญหาปัจจุบันก็คือ เพื่อนบ้าน โดยชุมชน มีทักษะ หรือความไหวรู้หรือไม่ว่า เด็กบ้านไหนที่ถูกทารุณกรรม ทุกข์ทรมาน ทุบตีทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ อันนี้เป็นข้อที่อยากฝากนักข่าวว่า ถ้าเป็นไปได้เวลารายงานข่าว ควรเน้นวิธีการที่เพื่อนบ้าน จะมีความไหวรู้ หรือเซนซิทีฟ ว่าเด็กข้างบ้านในชุมชนถูกทารุณกรรมหรือไม่ 

ห่วงสื่อออนไลน์ก้าวก่ายกระบวนการ ยธ.

อ.ธาม ยังห่วงถึงทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ตอนนี้ สื่อออนไลน์ ที่ไม่ใช่สื่อแท้ รายงานข่าวเรื่องนี้ กระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจแบบเกาะติด ไลฟ์สด ต้องระมัดระวังการรายงานแบบเรียลลิตี้โชว์ ใน Facebook ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเรื่องเซนซิทีฟ เข้าข่ายขัดขวาง แทรกแซง ก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม  ตนสนับสนุนกรณีที่นักข่าวบอกว่า ได้ตักเตือนกัน เพราะเป็นเรื่องความลับราชการ มีผลต่อรูปคดี เรื่องแบบนี้สื่อที่ไม่ใช่สื่อมวลชนแท้ ต้องระมัดระวัง

อีกประเด็นที่ตนกังวลมากก็คือเรื่องการรายงานข่าวในเชิงดราม่า เร้าอารมณ์ แง่มุมชีวิตคู่สามีภรรยา ไปเพ่งความสัมพันธ์ นิสัยใจคอ ทำให้การก่ออาชญากรรมนั้น มีเหตุผลมากขึ้น แล้วคนที่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรม ก็จะเอาคนเหล่านี้เป็นไอดอล 

การที่สื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่องราว ขุดคุ้ยชีวิตประวัติ ความเป็นส่วนตัว ความรู้สึกนึกคิด แม้กระทั่งสิ่งของเครื่องใช้ มุมมองจากญาติพี่น้อง เพื่อประกอบร่างสร้างความเห็นอกเห็นใจผู้ต้องหา และสร้างเหตุผล และความชอบธรรม และนำเสนอซ้ำๆ อาชญากรถูกรายงานความเป็นส่วนตัว เบื้องลึกเบื้องหลัง เรื่องพวกนี้ไม่ได้ช่วยในทางคดีความ แต่ช่วยเพิ่มเรตติ้งและความน่าสนใจเท่านั้นเอง หรือแม้แต่บางราย ในอดีต มีการตั้งกลุ่มแฟนคลับของอาชญากร เพราะฉะนั้นเวลารายงานข่าวสื่อมวลชนต้องขีดเส้นเลยว่า เรื่องเหล่านี้ช่วยกระบวนการสืบสวนของตำรวจได้มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ การทำข่าวลักษณะมิติทางสุขภาพจิตส่วนตัวผู้ต้องหา เรื่องแบบนี้นักข่าวจะสรุปความเองไม่ได้ ถ้าผู้ต้องหาปัญหาสุขภาพคนที่จะให้ข้อมูลได้ ต้องเป็นแพทย์ เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น หากไปสืบเอาข้อมูลประวัติผู้ป่วย โดยสรุปเองว่ามีปัญหาสุขภาพจิต จะเหมือนไปชี้นำความคิดเห็นของสังคม

ระวังการสร้างความชอบธรรมให้คนทำผิด

“เมื่อปี 2557 มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่า โรคจิตฆ่าเด็ก 5 คน เหตุเพราะไม่ชอบเด็กร้องเสียงดังข้างบ้าน” คล้ายกับกรณีนี้  เวลาอ่านพาดหัวแบบนี้ เหมือนกับให้เหตุผลในการกระทำว่า เด็กร้องไห้ น่ารำคาญ ฆ่าให้ตาย เป็นโรคสุขภาพจิต การกระทำนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว คือคนโรคจิต สุขภาพจิตไม่ดี มีจิตหวาดระแวง ได้ยินเสียงเด็กร้องก็จะต้องฆ่าให้ตาย เหมือนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่มันเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะฉะนั้นเวลาพาดหัวข่าวแบบนี้ เหมือนกับสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ต้องหา แบบนี้ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง” อ.ธาม ระบุ 

สำหรับคดีนี้ อ.ธาม มีข้อสังเกตในแง่มุมการนำเสนอเป็นข่าวว่า ค่อนข้างน่ากลัว น่าสยดสยอง มีผลกระทบค่อนข้างสูง เพราะเกี่ยวกับเด็กโดยตรง ในเชิงปริมาณของข่าว ค่อนข้างมาก แต่ในเชิงการติดตามเนื้อหาคุณภาพ ยังสิ่งที่กังวลมากก็คือ การเปิดเผยรายละเอียดของวิธีการฆาตกรรม แม้จะเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม สายสืบสวนเวลาถ้าไปต่างประเทศ เคสพวกนี้ มีความเซนซิทีฟสูงมาก

การใช้สมมุติฐานว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องหรือไม่ หรือวิธีการที่บอกว่า จะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบในเชิงของการก่ออาชญากรรม เวลาที่รายงานข่าวคดีพวกนี้ อยากให้สื่อมวลชน ทั้งสื่อกระแสหลัก และไม่ใช่กระแสหลัก ระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยกระบวนการฆาตกรรมเช่น ขั้นตอน วิธีการ อาวุธ การลงมือ เหตุการณ์เหล่านี้มันเป็นองค์ประกอบของข่าวอาชญากรรม 

“เราสังเกตหรือไม่ว่า คำว่าฆ่าโบกปูนเป็นคำสำนวนของหนังสือพิมพ์สายอาชญากรรม เป็นพฤติกรรมปกปิดอำพราง คนที่ทำเขารู้โดยสัญชาตญาณ หรือรู้จากเคยอ่านข่าวจากสื่อมวลชน เผานั่งยาง กับถ่วงน้ำ หรืออะไรก็ตาม คือวิธีการที่ลงรายละเอียด มันไปกระตุ้นให้คนที่จะก่ออาชญากรรม มีความรู้เพียงพอที่จะทำนิติกรรมอำพรางได้ ซึ่งมี 3 เหตุ คือ แรงจูงใจ มีโอกาสจะกระทำได้ และมีความสามารถที่จะก่ออาชญากรรมได้” 

เตือนเปิดเผยวิธีฆ่ากระตุ้น-ให้ความรู้อาชญากร

อ.ธาม ระบุด้วยว่า การเปิดเผยกระบวนการสืบสวน  ขั้นตอนวิธีการ จะไปกระตุ้น หรือเป็นความรู้ให้อาชญากรในอีก 1-2 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ก็จะใช้วิธีการพวกนี้ในการทำนิติกรรมอำพราง ซึ่งจะทำให้ตำรวจทำงานยากมากขึ้น เพราะคดีสืบสวนบางอย่างก็เป็นความลับของชั้นสืบสวน ตำรวจมีวิธีการเทคนิค ที่จะหาร่องรอย เพื่อมาก่อร่างสร้างคดี ส่งให้อัยการส่งฟ้อง ถ้าผู้สื่อข่าวไปเปิดเผยขั้นตอนการทำงาน ของตำรวจหมด แบบนี้ต่อไปจะทำให้การทำงานข่าวการทำคดีของตำรวจยากมากขึ้น และยังไปกระตุ้นพฤติกรรมฆาตกรเลียนแบบฉะนั้นข่าวดัง ๆ ก็จะวนซ้ำอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ก็จะเหมือนดาบสองคม เพราะแม้จะทำให้คดีก้าวหน้า แต่คมที่เหลือจะสะท้อนกลับมาทำร้ายสังคม ฉะนั้นนักข่าวกับตำรวจทำงานข่าวเรื่องนี้ร่วมกัน จะต้องวางมาตรฐานตรงกลาง

แนะเสนอโทษความผิด-สอนชุมชนรู้ทัน

อ.ธาม มีข้อแนะนำในการรายงานข่าวเพื่อช่วยป้องกันเหตุร้าย เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์ เป็นบทเรียนสังคม โดย 1.รายงานข่าวให้เห็นถึงประเด็นทางกฎหมาย ที่ลงโทษผู้ต้องหา ผู้ก่ออาชญากรรม มีโทษกี่มาตรา จำคุกสูงสุดเท่าไหร่ บอกให้หมด 2.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและคุ้มครองเด็ก ซึ่งมีมา 20-30 ปีแล้ว ดังนั้นในการรายงานข่าว อยากให้กระตุ้น เพื่อให้เห็นว่ามีกฎหมายคุ้มครองเด็ก หรือทำเป็นอินโฟกราฟิก

3. ต้องสอนให้เพื่อนบ้าน ชุมชน มีความไหวรู้ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ชุมชนต้องสอดส่อง นักข่าวต้องรายงานถึงการสังเกตกรณีเด็กถูกทำร้าย สังเกตแบบไหน เติมความรู้ให้ประชาชนในข่าวแบบนี้ นั่นคือการรายงานข่าวที่จะให้เป็นบทเรียน หรืออุทาหรณ์แก่สังคมไทย ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น

สำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อในคดีนี้ อ.ธาม สรุปว่า ในเชิงเกาะติดถือว่าทำได้ดี สื่อมวลชนเล่นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจ และการทำหน้าที่ของสื่อหลักในคดีนี้ ค่อนข้างดี สื่อมวลชนเรียนรู้ และเป็นตัวแบบที่ดีมากในรอบนี้.

##########