เสวนาถอดบทเรียน เมจิกสกินฯ เสนอข่าวเชิงลึก เลิกค่านิยมเน้นดารา ขาว สวย รวย สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม 


วันนี้ (จันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561) คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดเสวนาถอดบทเรียน “จากกรณีเมจิกสกินถึงการบุกตลาดดอนเมือง สื่อทำหน้าที่อย่างไร และผู้บริโภคได้อะไร” ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นกรณีศึกษาบทบาทการทำงานของสื่อมวลชนและการเฝ้าระวังสำหรับผู้บริโภคในอนาคต

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ นอกจากจะเป็นองค์กรที่กำกับดูแลการทำงานของสื่อในส่วนที่ไม่ควรนำเสนอหรือต้องระมัดระวังการรายงานข่าวที่เหมาะสมแล้ว บทบาทอีกด้านคือการส่งเสริมให้สื่อมวลชนได้รายงานในประเด็นที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางด้วย การจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่อยากเห็นการทำงานเชิงลึกของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพิ่มขึ้น

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า สื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและสื่อออนไลน์ได้รายงานข่าวสถานการณ์และอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อยากให้นำเสนอข้อมูลในเชิงลึกเพิ่มขึ้น และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลสื่อน่าจะใช้เป็นโอกาสในการสร้างกติกาเพื่อกำกับดูแลการเสนอข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ

“กสทช. น่าจะเชิญเจ้าของ platform สื่อออนไลน์ต่างๆ ให้มาคุยกัน เช่น Facebook Instagram ฯลฯเพื่อให้ออกระเบียบหรือการดูแลจริยธรรมร่วมกัน เป็น Community Code of Conduct โดยใช้เมจิกสกินเป็นกรณีศึกษา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายเพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค”

เวทีเสวนา เริ่มต้นจากการสรุปสถานการณ์และลำดับเหตุการณ์โดย นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะนักวิชาการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องเริ่มขึ้นประมาณ เดือนมกราคม ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ที่ผู้บริโภครายหนึ่งส่งข้อมูลไปยังนักข่าวช่องหนึ่ง เมื่อนำเสนอแล้วสื่อมวลชนถูกขู่ฆ่าและยื่นข้อแลกเปลี่ยนเป็นเงินให้แลกกับการระงับเสนอข่าว หลังจากนั้นมีการบุกทลายแหล่งสินค้า แล้วในเดือนมีนาคมผู้เสียหายเริ่มทยอยแจ้งความกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขณะที่สื่อมวลชนก็เสนอข่าวต่อเนื่อง จนนำไปสู่การจับกุมครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน ขณะที่ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ และการตีความของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายก็ยังมีปัญหา

“มีคนไปร้อง สคบ. แต่ถูกตีความว่าเป็นลูกข่ายที่ได้รับความเสียหายไม่ใช่ผู้บริโภค ก็เลยไม่รับเรื่องร้องเรียน กรณีนี้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ อย. ต้องปรับปรุงระบบการทำงานครั้งใหญ่ ทั้งในแง่บทลงโทษที่เบาไป ขาดระบบการติดตามตรวจสอบที่ดีหลังให้ใบอนุญาต อย. ไปแล้ว ซึ่งออกได้ง่ายผ่านทางออนไลน์ และแม้จะมีการทลายแหล่งเมจิกสกินแล้วแต่ก็ยังมีบิลบอร์ดโฆษณา ผู้บริโภคยังคงสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายนั้นๆ ได้ในร้านค้าออนไลน์ เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ‘Idol Slim’ ที่ อย. ประกาศออกมาว่าผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันผู้บริโภคก็ยังหาข้อมูลได้ในระบบออนไลน์ถึง 36,500 รายการ แม้แต่ในร้านค้าออนไลน์ที่ผู้บริโภคนิยมใช้บริการ” ก็ยังสามารถหาซื้อได้

นางสาวสถาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง: คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในนามคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) พบว่าผู้ซื้อสินค้าเลือกซื้อทางออนไลน์มากเป็นลำดับแรกเพราะเชื่อถือโฆษณาที่จูงใจและมีผู้นำเสนอเป็นบุคคลมีชื่อเสียง คิดว่าน่าจะได้ผลเหมือนโฆษณา ลำดับ 2 คือการเห็นเครื่องหมาย อย. นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามยังต้องการให้มีแหล่งข้อมูลที่จะสามารถตรวจสอบโฆษณาได้

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา แสดงความชื่นชมการทำงานของสื่อมวลชนในภาพรวม แต่กรณีนี้มีตัวแปร 4 องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องคือ 1.เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจ 2.ประสิทธิภาพของกฎหมายและกลไกภาครัฐ 3.สื่อและการสื่อสารการตลาดที่ขาดจริยธรรม 4.ค่านิยมสวย รวย

“เมจิกสกิน ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น คำถามคือสื่อได้ทำหน้าที่สะท้อนกรณีนี้ไปสู่สังคมอย่างไร อยากให้สื่อช่วยทำหน้าที่แทนสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะยังมีสินค้าแบบเดียวกันอีกมากในตลาดที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ ค่านิยมที่คลาดเคลื่อน โฆษณากระตุ้นให้อยากขาว สวย ผอม เหมือน Influencer ศิลปินดาราที่เป็นคนนำเสนอสินค้า เป็นเรื่องที่ต้องการสร้างความเข้าใจใหม่ในสังคม

ถ้าสื่อได้ช่วยขยายเรื่องนี้ก็จะดีขึ้น โดยเฉพาะการตั้งประเด็นแล้วไปหาแหล่งข่าวเพิ่มเติมเชิงลึก ไม่ทำแค่เพียงรายงานข่าวตามแหล่งข่าวที่มีอยู่หรือรายงานตามเหตุการณ์เท่านั้น”

ส่วน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กรณีนี้สะท้อนได้หลายปัญหาคือ หน่วยงานที่กำกับมีความอ่อนแอ ผู้บริโภคยังอ่อนแอ และสื่อยังไม่เข้มแข็งมากเพียงพอ นอกจากนี้ระบบฐานข้อมูลที่จะทำให้คนเข้าถึงรับรู้ได้ก็ยังไม่เพียงพอ

“อย.รับรองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริม เป็นแค่ Pre Marketing แต่กระบวนการตรวจสอบตามหลังทำไม่ทัน ก่อนหน้านี้ เครื่องสำอางมีการจดแจ้งอัตโนมัติ ซึ่งมีช่องโหว่ดังนั้นตรา อย.ที่อนุญาตไปไม่ได้รับประกันอะไรเลย น่าเป็นห่วงมาก ทำให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระบบทั้งองค์กร ยังมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการควบคุมให้เข้มงวดมากขึ้น

เราอยากทำงานกับสื่อ สร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เป็นระบบมากขึ้น กองทุนสื่อฯ ก็กำลังพิจารณาเรื่องการสนับสนุนงบประมาณทำให้คนเท่าทันสื่อเพิ่มขึ้น”

ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่สื่อทำอย่างไรจะให้คนได้เกิดการเรียนรู้จากข่าวนี้เพราะอยู่ในความสนใจของผู้คน นอกเหนือจากเรื่องการฉ้อโกงทุจริต บทบาทของศิลปินดาราที่มีอิทธิพลต่อผู้ชม

“อยากเห็นการเสนอข่าวที่ใช้ฐานข้อมูล สถิติ การใช้ความรู้ data ด้านต่างๆมากขึ้น รายงานตามสถานการณ์มีมากแล้ว ก็ควรให้ความรู้สังคมว่าเราจะไม่เข้าไปตกเป็นเหยื่อของธุรกิจนี้ได้อย่างไร ไม่เป็นผู้บริโภคสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาตอนนี้คือมีข้อมูลกระจัดกระจาย สื่ออาจเป็นตัวเชื่อมข้อมูลของแต่ละส่วนมาเป็น จิ๊กซอว์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ให้ข้อมูลเพื่อตัดตอนไม่ให้เกิดกระบวนการแบบนี้อีกในอนาคต สื่อแต่ละแขนงใช้ความชำนาญของตัวเองเจาะลงลึกในเรื่องนี้เป็นการรวมพลังของสื่อที่ต้องช่วยกัน”

ผศ. สกุลศรี เสนอเพิ่มเติมว่าถึงเวลาแล้วไหมที่จะต้องมีการจัดระเบียบ Influencers ศิลปินดาราผู้มีชื่อเสียง หากจะรีวิวสินค้าต้องมีหลักเกณฑ์ กฎระเบียบอย่างไร ยกตัวอย่างในสหรัฐ มีคณะกรรมการ Federal Trade Commission (FTC) พิจารณาเรื่องนี้และเคยมีการส่งหนังสือตรงไปถึงผู้รีวิวแล้ว เช่น กำหนดว่าต้องมีการใช้สินค้าจริง ในระยะเวลาที่นานแค่ไหนเพื่อให้คนตรวจสอบได้เชื่อถือข้อมูลได้จริง

อยากให้สื่อได้ช่วยเอาข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ มาย่อยให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น อาจมีการทดลองใช้สินค้าชนิดต่างๆ เพื่อพิสูจน์แล้วนำเสนอเป็นรายงานพิเศษ เป็นต้น

ท้ายการเสวนา มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมรับฟังและตัวแทนสื่อมวลชน มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น ตัวแทนสื่อมวลชนกล่าวว่า ยังมีข้อจำกัดการเสนอข่าว ซึ่งไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่เป็นด้านลบต่อหน่วยงาน และมีคำถามถึงความน่าเชื่อถือของใบอนุญาต อย. พร้อมกับอยากให้เพิ่มเรื่องการกำกับดูแลตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการ รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ อย.บังคับใช้กฎหมายและระเบียบต่างๆ อย่างจริงจัง