ภาคเหนือสานพลังพร้อมรับมือข่าวลวง-ด้านมืดออนไลน์

ภาคเหนือสานพลังพร้อมรับมือข่าวลวง-ด้านมืดออนไลน์

เชียงใหม่/สื่อภาคพลเมือง ภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐผสานพลังรับมือข่าวลวง/ภัยมืดจากดิจิทัล พร้อมรับมือ 4 ด้าน พัฒนานักสื่อสารภาคพลเมือง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย สร้างศูนย์ตรวจสอบข้อมูล-ข่าวลวง

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ChangeFusion Center for Humanitarian Dialogue (CHD) Friedrich Naumann Foundation (FNF) และมูลนิธิสื่อประชาธรรม จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ความเข้มแข็งภาคพลเมืองในการรับมือข้อมูลลวงและด้านมืดออนไลน์” ณ โรงแรมศิลป์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาวะ ให้เข้าใจผลกระทบจากสื่อดิจิทัลแพลทฟอร์ม ที่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อนโยบายสาธารณะ รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล และรวมตัวการขับเคลื่อนเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล บทบาทของดิจิทัลแพลทฟอร์มให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น รวมถึงการระดมสมอง เชียงใหม่โมเดลกับการรับมือด้านมืดออนไลน์

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลต่อการรับรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะทำให้ผู้ใช้สื่อมีภูมิคุ้มกัน และมีสื่อสารสร้างสรรค์ที่จะร่วมสร้างนิเวศสื่อที่ดี เพราะสื่อมีคุณอนันต์และโทษมหันต์ เช่น การกลั่นแกล้งออนไลน์ส่งผลความรุนแรง การใช้ประทุษวาจาทำให้เกิดปัญหาความแตกแยก บาดหมาง หรือนำไปสู่การทำร้ายระหว่างกันขึ้น

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. การรับมือข่าวลวงและด้านมืดออนไลน์ การเปิดรับของเราจะนำเอาการตีความเข้าไปผสมด้วย อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราสามารถตรวจสอบ รวมถึงตัวข้อมูลที่แนบไปกับภาพก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งการเพิ่มความสามารถในการเข้าใจตัวข้อมูลจะทำให้ประชาชนสามารถตัวสอบได้ในบางส่วน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและสื่อสารมวลชน

“โลกตอนนี้มีการปลอมที่ทำให้การจับการปลอม ยากขึ้นมีการผสมข้อมูลจริงกับข้อมูลเท็จ มีข้อมูลเท็จ นี่เป็นเรื่องท้าทายของประชาชนในการตรวจสอบ ซึ่งสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาก่อน คือ การตระหนักว่าต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่”

ด้าน ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า กลไกที่ทำให้คนหลงเชื่อข้อมูลแบบนี้ได้ คือ อคติของตนเองในการรับข้อมูล คนส่วนใหญ่จะไม่อ่านหรือรับสื่อนั้น ๆ ทั้งหมด จะอ่านแค่พาดหัว หรือคำโปรย ดูภาพ ซึ่งมักจะมีองค์ประกอบในการเล่นกับความรู้สึก นอกจากนี้พฤติกรรมการสื่อสารออนไลน์ยังมีวัฒนธรรมที่เราให้น้ำหนักกับแวดวง เพื่อนฝูง ทำให้เราไม่มีกระบวนการคิดตรวจสอบอีกรอบนอกจากนี้อัลกอรึทึมทำให้การค้นหาของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันไปตามผู้ใช้ นี่คือกลไกของสื่อออนไลน์

ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามกับการสู้กับข่าวลวง หนึ่ง เมื่อได้ข้อมูลมาให้ถามตัวเองก่อนว่ามีอารมณ์สุดโต่งทั้งโกรธ ดี ชอบมาก ถ้าเรารู้สึกแบบนั้นหมายความว่าเขากำลังเล่นกับความรู้สึกของเรา ปรากฏการณ์ทั่วโลกจะเหมือนกัน คือ ข่าวปลอมจะใช้อารมณ์นำการเสนอ แต่สิ่งที่แตกต่างของบริบทไทย คือ คนไทยจะใช้อารมณ์ความรู้สึกสูงโดยขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์”

ผศ.สกุลศรี เสนอว่า สิ่งสำคัญในการเพิ่มการรู้เท่าทันสื่อและการมีส่วนร่วม ใน 3 ด้าน หนึ่งใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ เช่น ในยุโรปมีการเกิด startup ขึ้นมาเพื่อใช้เทคโนโลยีในการจัดการข่าวลวง ตรวจสอบข้อเท็จจริง สอง ยกระดับการทำงานตรวจสอบของผู้สื่อข่าว สื่อวิชาชีพ และสาม การเพิ่มให้พลเมือง ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ประสานงานไอลอว์ (iLaw) ร่วมให้ความเห็นว่า วิธีคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันอันตราย แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้อันตรายแบบแตกต่างไปจากโลกทางกายภาพ และพฤติกรรมการสื่อสารและวัฒนธรรมทางการสื่อสารก็แตกต่างกันตามยุคสมัย การนำเสนอในทางอินเทอร์เน็ตเป็นปลายทาง แต่สังคมนี้เราสู้กับความไม่จริงด้วยความจริง ความจริงมันเหนื่อยในการค้นหา โลกออนไลน์จึงเป็นพื้นที่เสรีในการต่อสู้กันทางข้อมูล ดังนั้น การสู้กับข่าวปลอมคือการนำเสนอข้อเท็จจริงเข้าไป โดยติดเครื่องมือให้คนเข้าไปใช้ข้อเท็จจริง

“fake news เป็นกระแสขึ้นมาจากทรัมป์ที่ใช้กับสื่อที่รายงานข่าวสารวิพากษ์วิจารณ์ กรณีของไทยก็มีการใช้คำว่า fake news ในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเรื่อง fake news นั้นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สังคมเข้าใจคำว่า fake news คลาดเคลื่อน หากมีการกล่าวหาใครว่าเป็น fake news เราควรให้เขาอธิบายว่าข่าวจริงคืออะไร หรือคำอธิบายเพิ่มเติม”

สำหรับเนื้อหาของการเสวนา มุมมองพลเมืองยุคดิจิทัลกับการรับมือเฟคนิวส์และด้านมืดออนไลน์ และ“ข่าวลวง” โจทย์ใหม่การปฏิรูปสื่อยุคดิจิทัลกับบทเรียนสื่อภาคพลเมือง สามารถรับชมรับฟังได้ทางเพจ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ https://www.facebook.com/PressCouncilThailand/

ทั้งนี้ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้ มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือในระดับท้องถิ่นระหว่างภาคประชาสังคม สื่อมวลชน สื่อภาคพลเมือง ภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ โดยมีการประกาศ “ปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคเหนือ” รวมพลังกันเพื่อลดปัญหาข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ตามกำลังและศักยภาพดังนี้

  1. พัฒนานักสื่อสารภาคพลเมืองเพื่อรับมือ ติดตาม ตรวจสอบ รายงาน เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่าง ๆ
  2. สนับสนุน พัฒนาผู้นำและสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ของชุมชน ให้มี ทักษะการเฝ้าระวัง เท่าทันเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ รวมทั้งพัฒนากระบวนการทำงาน นวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่าย (Networking) ทั้งภาคชุมชน ประชาสังคม กลุ่มทางสังคม สื่อท้องถิ่น ภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อสร้างความตื่นตัว สนใจข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกันทำงานและรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม
  4. จัดให้มีศูนย์ตรวจสอบข้อมูล/ข่าวลวง (Fact Checking) พร้อมนำเสนอและสื่อสารข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะให้รับรู้อย่างกว้างขวางทุกช่องทางอย่างรวดเร็ว

 

 

อ่านปฏิญญาฉบับเต็ม

“ปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคเหนือ”

ข่าวลวงเป็นปรากฏการณ์ของสังคมยุคดิจิทัลที่ข้อมูลมีจำนวนมหาศาลผนวกกับรูปแบบการบริโภคข่าวสารของประชาชนที่มีช่องทางที่หลากหลายขึ้น

พวกเราสถาบันวิชาการในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อท้องถิ่น สื่อภาคประชาชน เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายสร้างสุขภาวะ องค์กรภาครัฐส่วนภูมิภาค ตระหนักดีว่าข่าวลวงซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ระดับประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นทุกคนด้วย

1. ข่าวลวงเป็นเครื่องมือใช้ทำลายความน่าเชื่อถือในผู้เห็นต่างทางการเมือง และอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อให้เกิดทัศนคติแบ่งแยกเหยียดหยาม นำไปสู่ความเข้าใจผิดและความแตกแยกต่อผู้เห็นต่างทางความคิด

2. ข่าวลวงสร้างความเข้าใจผิดในการดูแลสุขภาพ การใช้สินค้าและบริการ ส่งผลกระทบให้เสียทรัพย์สินเงินทอง เสียสุขภาพ จนถึงเสียชีวิต

3. ข่าวลวงทำให้เข้าใจข้อมูลผิด ส่งผลต่อการตัดสินใจด้านต่าง ๆ อย่างร้ายแรง โดยเฉพาะในยามที่เกิดเหตุภัยธรรมชาติ

4. แม้ข่าวลวง เป็นสิ่งที่มีมาช้านาน แต่การสื่อสารออนไลน์ สร้างความถี่ ความเร็ว และความกว้างขวางของการเผยแพร่ ผนวกกับการสื่อสารที่ปลุกเร้า สร้างอารมณ์ร่วม เพื่อสร้างอำนาจในข้อมูลและการสื่อสาร เพื่อความนิยม เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ของผู้ผลิตและเผยแพร่ข่าวลวง

ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว เรายังคงเชื่อมั่นในเสรีภาพการสื่อสาร การใช้พลังภาคพลเมืองร่วมกับข้อกำหนดเชิงจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าการควบคุมกำกับอย่างเข้มข้นจากภาครัฐ

ดังนั้นเพื่อลดปัญหาข่าวลวง พวกเราทุกคนจะรวมพลังกันเพื่อลดปัญหาข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ตามกำลังและศักยภาพดังนี้

1.พัฒนานักสื่อสารภาคพลเมืองเพื่อรับมือ ติดตาม ตรวจสอบรายงาน เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่าง ๆ

2. สนับสนุน พัฒนาผู้นำและสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ของชุมชน ให้มี ทักษะการเฝ้าระวัง เท่าทันเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ รวมทั้งพัฒนากระบวนการทำงาน นวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม

3.ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่าย (Networking) ทั้งภาคชุมชน ประชาสังคม กลุ่มต่างๆทางสังคม สื่อท้องถิ่น ภาครัฐ และภาค วิชาการ เพื่อสร้างความตื่นตัว สนใจข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกันทำงานและรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม

4. จัดให้มีศูนย์ตรวจสอบข้อมูล/ข่าวลวง (Fact Checking) พร้อมนำเสนอและสื่อสารข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะให้รับรู้อย่างกว้างขวางทุกช่องทางอย่างรวดเร็ว.