นักวิชาชีพสะท้อนยุคดิจิทัล สื่อไม่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง

นักวิชาชีพสะท้อนยุคดิจิทัล

สื่อไม่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง

นักวิชาชีพสะท้อนยุคดิจิทัล สื่อไม่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เน้นดราม่ามากกว่าเนื้อหาข่าว ชี้จุดอ่อนการแข่งขันเชิงธุรกิจสื่อ รูปแบบการทำงาน ประสบการณ์นักข่าว-บก.-คนหน้าจอในการต่อยอดประเด็น ส่งผลคุณภาพข่าวเชิงลึกลดลง ด้านกก.จริยธรรมองค์กรวิชาชีพ ยกคดีอาชญากรรมใน จ.สระแก้ว สะท้อนทักษะคนสื่อ คุณค่าข่าวนำไปสู่ประโยชน์ของสังคม หวังทุกฝ่ายสนับสนุนการทำข่าวเชิงสืบสวนฯให้มากขึ้น

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “การทำข่าวสืบสวนสอบสวนในยุคดิจิทัล” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์  ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย นพรัฐ พรวนสุข บรรณาธิการข่าวการเมือง และยุติธรรม สำนักข่าวผู้จัดการ และกองบรรณาธิการ สถานีข่าวนิวส์วัน (NEWS1) ศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

การทำข่าวสืบสวนสอบสวนในยุคดิจิทัล ในมุมนักวิชาชีพ นพรัฐ พรวนสุข มองว่า นักข่าวยุคนี้ไม่ได้สนใจการทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง ไม่เฉพาะแนวอาชาญากรรม แต่รวมถึงข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ใช้ข่าวเชิงประชาสัมพันธ์ ข่าวแจก 

การทำงานข่าวในยุคดิจิทัล ขาดความทุ่มเทจริงจังแบบสมัยก่อน ที่เช้ามาหนังสือพิมพ์ก็จะพิสูจน์กันแบบ เจอกันบนแผง ถ้าตกข่าวก็เสียหน้าทั้งวันโดน บก.ตำหนิ จึงทำให้นักข่าวขยันทำข่าวเหตุการณ์ในสายตัวเอง ต่างจากสมัยนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็รีบโพสต์ในเพจ ออกอากาศทางทีวีทันที และก็ถูกโซเชียลลอกข่าวไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่นักข่าวเองหากตกข่าว ก็ยังสามารถแก้ตัวได้ทันทีบทพิสูจน์การทำงานของยุคสมัยจึงแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตามในอีกมุม เขามองว่า จากภาวะการแข่งขันของสื่อในเชิงธุรกิจ ทำให้งานข่าวมีคุณภาพลดลง ทั้งที่คนดูต้องการความจริงที่สุด ไม่ใช่ปั้นแต่งดราม่าคดีต่างๆ ที่ในระยะแรกอาจมีผลในแง่เรตติ้ง หาโฆษณาเข้าช่องได้ แต่พอนานไปจะมีเสียงด่ามาแทนเรตติ้ง

กรณี ข่าวลุงพล เป็นตัวอย่างชัดเจน แม้จะมีนักข่าวลงพื้นที่จริง แต่การขาดประสบการณ์ จึงหาประเด็นดราม่ามาเล่นขยายประเด็น จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นข่าว อะไรเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นละครผ่านการนำเสนอข่าว

เมื่อถามถึงข้อสังเกตที่ว่า เป็นเพราะสังคมเครียด ทำให้การนำเสนอข่าว พยายามทำให้เบาลง จนกลายเป็นดราม่าหรือไม่ นพรัฐ ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เขามองว่าคนต้องการรับรู้ข่าวสารที่เป็นประเด็นถูกต้องมากกว่าฟังเรื่องดราม่า แต่ปัญหาอาจอยู่ตรงที่ประสบการณ์ของนักข่าวที่ลงไปทำข่าวในพื้นที่ รวมถึงบก.ข่าว ผู้ดำเนินรายการ ที่ไม่สามารถหาประเด็นใหม่มานำเสนอวันต่อวันประเด็นจึงไม่คืบหน้า

นพรัฐ ระบุว่า ข่าวลักษณะนี้ เป็นการสะท้อนการทำข่าวเชิงสืบสวน เมื่อได้รับบทเรียนจากผลคดีที่ออกมา และมีเสียงด่ามากกว่าเรตติ้ง จึงเริ่มปรับตัว ฉะนั้นการทำข่าวสืบสวนฯ สื่อจะต้องจริงจัง และคิดอ่านอย่างแหลมคมต่อเหตุการณ์คดีนั้นๆ ส่วนเรื่องการแข่งขันเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะสื่อทีวี จะทำให้มีการค้นหาข้อเท็จจริง เป็นผลดีต่อวงการสื่อ ที่จะได้เรียนรู้ และหาประสบการณ์การทำข่าวที่ถูกต้องตามหลักการ

นพรัฐ ยังชี้ให้เห็นถึงการได้ข่าวเชิงลึกจากแหล่งข่าวที่น้อยลง โดยยกตัวอย่างสายอาชญากรรม ที่ยุคนี้ความสัมพันธ์นักข่าว-แหล่งข่าวไม่เหมือนในอดีตซึ่งทำงานเกาะติดข้อมูลใกล้ชิด จนมีแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลลึกได้ หรือได้ข่าวซีฟ แต่ปัจจุบันต่างออกไปเพราะรูปแบบการทำงานของนักข่าวตามเวลาราชการ ดังนั้นโอกาสจะได้ข้อมูล แม้จะโดยบังเอิญจากแหล่งข่าวก็น้อยลง

อย่างไรก็ตามในยุคดิจิทัล ก็มีแหล่งข้อมูล แหล่งข่าว ทดแทนจากด้านอื่นๆ อาทิ จากในโซเชียล หากค้นหาดีๆ ก็จะมีคอมเมนต์ ข้อมูล เพราะบางคนที่รู้เรื่อง รับรู้ อยู่ในวงของเรื่อง ก็เป็นแหล่งสืบค้นคดีได้อีกมุมหนึ่งในยุคดิจิทัล สมัยนี้จะมีข้อมูลแฝงมาในคอมเมนต์ ส่งสัญญาณให้นักข่าวนำไปขยายผลต่อ หรือให้ติดต่อ เพราะช่องทางผ่านโซเชียลเข้าถึงได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม วิธีการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนไม่ว่ายุคแอนาล็อก หรือดิจิทัล ความต่างกัน คือการทุ่มเทของนักข่าว การสนับสนุนของสำนักข่าว การหาแหล่งข้อมูล ไม่ว่าจากตัวบุคคล หรือโซเชียลมีเดียที่จะมีเรื่องราวเกี่ยวข้อง สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้ แต่นักข่าวเองก็ต้องแยกแยะให้ได้ว่า ระหว่างข้อมูล ข้อเท็จจริง เช่น การบอกสถานที่ พฤติกรรม ที่เป็นข้อมูล กับความคิดเห็น ต้องแยกแยะให้ได้ และต้องฝึกฝนเรื่องนี้

นพรัฐ ยังมีข้อเสนอต่อการให้คุณค่านักข่าวอย่างเท่าเทียม โดยระบุว่า นักข่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนกลาง คือในกทม. ปริมณฑล มีค่าตอบแทน หรือเงินเดือน ที่ต่างกับนักข่าวในภูมิภาค ต่างจังหวัด ที่มีความรับผิดชอบในแง่พื้นที่ที่กว้างกว่า แต่กลับให้คุณค่าน้อยกว่า ในการแข่งขันของสื่อ ที่จะดำรงต่อไปได้ 1.ต้องทุ่มสรรพกำลังในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ได้เรตติ้งเช่นกัน  2.ในแง่บุคลากร ควรให้คุณค่า ส่งเสริมการฝึกอบรมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างคุณค่าใหันักข่าวภูมิภาค ในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน เศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยว 

3.ต้องส่งเสริมค่านิยม เปลี่ยนค่านิยม ที่ข่าวต่างจังหวัดเป็นส่วนประกอบ แต่ต้องเป็นตัวหลักในพื้นที่รับผิดชอบ และ 4.ให้ความสำคัญกับค่าตอบแทน ที่นักข่าวต่างจังหวัดไม่ควรต่างกันมากกับส่วนกลาง จากที่จ่ายเป็นชิ้น ควรจ่ายเป็นเดือนเหมือนส่วนกลาง เช่น ในจังหวัดที่มีข่าวมาก

นพรัฐ ย้ำว่า การพัฒนาบุคคล ให้มีคุณค่า และให้ค่านิยม ให้ค่าตอบแทนสูงขึ้น เชื่อว่าคุณภาพข่าวสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะคดีอาชญากรรม ข่าวจะได้เข้มข้น ตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การสร้างดราม่า จึงอยากฝากว่า การส่งเสริมนักข่าวทำงานให้มีคุณภาพ ทำข่าวจริงๆ เจ้าของสื่อ และ บก.ข่าวต้องให้คุณค่า และสนับสนุน

ในมุมขององค์กรวิชาชีพ ศิโรจน์ มิ่งขวัญ ระบุว่า สมัยก่อนข่าวสืบสวนฯ เรียกว่าเป็นข่าวชั้นสูง คนทำจะมีทักษะสูง มีแหล่งข่าวมากมาย การใช้เวลาติดตามทำข่าวต้องใช้เวลา เฝ้ารอยาวนาน และยาก จึงทำให้คนไม่อยากทำ และหากกองบก.ไม่รับลูก เล่นด้วย ต่อให้เป็นข่าวดีๆ ก็ถูกเบรก

“สมัยก่อนข่าวสืบสวนสอบสวน ก็เป็นความใฝ่ฝันของนักข่าว อยากทำข่าวสืบสวนฯ สักชิ้น จะได้ดูเป็นคนเก่ง เป็นผู้มีทักษะ มักจะเป็นฉบับเดียวที่ไปเฝ้า ไปเก็บข้อมูล แต่ระยะหลังจะเป็นลักษณะเรามี เขาก็มี ถ้าทำข่าวสืบสวนสอบสวนคนเดียวก็ว้าเหว่ ถ้าไปหลายๆ คนก็สามารถกดดันตำรวจ ให้ข้อมูลได้บ้าง ซึ่งในอดีตทีมสืบสวนฯ มักจะให้ข้อมูลนักข่าวมาบางส่วน เพราะถ้าตำรวจไม่ให้ข้อมูลอะไร ก็จบ จะคิดเอง เขียนเองไม่ได้ แต่ปัจจุบันสื่อก็จะได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ประสบเหตุ ญาติ คนใกล้ตัว”  

ศิโรจน์ มองว่า ในยุคออนไลน์ เป็นสื่อดิจิทัล การทำข่าวสืบสวนสอบสวนง่ายกว่า สนุกกว่า เช่น สืบจากเฟซ จากคลิป ตัวอย่างกรณี ผกก.โจ้ ป้าบัวผัน ที่สื่อออนไลน์มีข้อมูลถาโถม เสนอได้ตลอดเวลา ทั้งเนื้อหาสั้น หรือยาว ทั้งคลิป แต่ข้อมูลใดจริงหรือเท็จ ต้องอาศัยประสบการณ์ช่วยกันตรวจสอบ ไม่กลายเป็นเหยื่อถูกดักเสียเอง

เมื่อถามถึงปรากฎการณ์ที่พัฒนาขึ้น โดยนักข่าวหาข้อมูลแข่งกับตำรวจ เก็บพยานหลักฐานไว้เพื่อรายงานข่าวเอ็กคลูซีฟ โดยสื่อเดียว มองอย่างไร 

ศิโรจน์ ระบุว่า เคยผ่านประสบการณ์ การเก็บข้อมูลข่าว ไว้เป็นข่าวเดี่ยว กั๊กกันเองในสื่อ แต่นั่นก็เป็นความสุ่มเสี่ยง ที่หากเป็นคดีที่ถูกฟ้องร้อง ในอีกแง่มุม หากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อน ช่วยกันรีเช็ค ถือเป็นการทำงานร่วมกัน ย่อมทำให้มีพลัง 

อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อมูลมาคนเดียว มีคลิปเด็ด อาจเล่นก่อนได้ ถือเป็นผลงาน แต่สมัยนี้ก็ยังต้องตามขยี้ต่อ ในแง่ความแหลมคม ในการแตกประเด็น การไปหาแหล่งข่าวใหม่ ต้องช่วงชิงกันตรงนั้น

ตัวอย่าง ไทยพีบีเอส ที่นักข่าวติดตามขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์รอบเพื่อนบ้าน ส่งภาคสนามลงพื้นที่จริง ทำให้นักข่าวได้สร้างผลงานของตัวเอง และยังมีอินโฟกราฟิก ทำเป็นภาพแผนภูมิ อธิบายข้อมูลพื้นที่ ทำให้คนดูเข้าใจง่าย การนำเสนอแบบนี้ทำให้น่าสนใจ แม้อีกด้านจะสุ่มเสี่ยงอันตราย แต่ก็เป็นความกล้าหาญ ที่ทำงานออกมาได้อย่างลึกซึ้งมาก

ศิโรจน์ ย้ำว่า วิธีการทำข่าวแบบนี้ อยากให้มีอยู่ต่อๆ ไป อยากให้ต้นสังกัดสนับสนุน เพราะการทำข่าวทะลุทะลวงแบบนี้ เหลือไม่กี่สื่อ 

ขณะที่ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ในฐานะกำกับดูแลจริยธรรมสื่อ มองถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ตอนเป็นแอนาล็อกว่า เป็นการทำข่าวที่ยากมาก เพราะฟุตปรินต์ไม่มี และเอกสารหลักฐานทางราชการที่กว่าจะได้มา ที่สำคัญ โดยเฉพาะการลงพื้นที่ ค้นคว้า พูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงทางอ้อม จึงทำให้ข่าวแต่ละชิ้น ต้องใช้เวลามาก 

เมื่อมาเป็นยุคดิจิทัล ข้อมูลเบื้องต้นในการสืบค้น ได้จากฟุตปรินต์ เป็นข้อมูลในการค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อยันกับข้อมูลหลายๆ แหล่ง ทำให้สามารถเข้าไปหาแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้จากทางราชการ และอีกฟุตปรินต์ที่ดีมาก ที่ปรากฎเป็นภาพนิ่ง เคลื่ีอนไหว ที่เห็นได้ชัด 

บรรยงค์ ยกกรณี ล่าสุด เหตุฆาตกรรมนางบัวผัน ในพื้นที่ จ.สระแก้ว เป็นการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ที่น่าสนใจมาก เพราะจากที่มา ชาวบ้านพบศพในพื้นที่รับผิดชอบ สภ.อ.อรัญประเทศ วันเดียวกันตำรวจในพื้นที่จับกุมผู้ต้องสงสัย เป็นสามีคนตาย และอ้างว่าเจ้าตัวรับสารภาพว่าเป็นคนฆ่า และทำร้าย ก่อนนำร่างไปทิ้ง ข้อมูลตรงนี้ เมื่อตำรวจนำไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีนักข่าวที่เข้าไปทำข่าวในวันแรกๆ มีข้อสงสัยหลายจุด หลายประเด็น ว่าทำได้อย่างไร

จะเห็นได้ว่า ลักษณะคนทำข่าว 1. ช่างสังเกต 2. เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ต้องสงสัย ก็ทำให้เกิดความสงสัยเพิ่ม พบพิรุธ หลังจากติดตามตำรวจไปทำแผนฯ ก็ได้เริ่มหาข้อเท็จจริง วิธีเชิงสอบสวน เริ่มต้นจากตรวจสอบกล้องวงจรปิด ตรงที่บอกว่า นำเสื้อผ้าผู้ตายไปทิ้งขยะ แต่ในกล้องไม่เห็น จึงไล่เวลาย้อนหลังในกล้อง ก็ไม่เห็นผู้ต้องสงสัยที่รับสารภาพ จึงไปตรวจสอบจากกล้องตัวอื่นๆ อีก ก็ไม่พบ ในที่สุด นักข่าวก็กลับไปจุดเกิดเหตุที่ผู้ต้องสงสัยให้การครั้งแรก ก็ไม่พบทั้งผู้เสียชีวิต และผู้ต้องสงสัย แต่ไปพบวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งทำร้าย

หลังจากนักข่าวตามตำรวจไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มันขัดแย้งไปหมด เขาก็เก็บข้อมูล จนนำมาวิเคราะห์ฟุตปรินต์ เชื่อว่าสามีเป็นแพะรับบาป จึงนำเสนอข่าวนี้ จากคลิปกล้องวงจรปิด

เมื่อกลายเป็นข่าว ตำรวจที่ทำคดี ได้ตั้งคำถามต่อสื่อว่า นำภาพวงจรปิดมาจากที่ใด ใครอนุญาต เหมือนกำลังบอกว่าสื่อทำผิดกฏหมาย ผิดจริยธรรมวิชาชีพ กระทั่งต่อมาจึงได้แก้เกี้ยวว่า ตำรวจได้เทปวงจรปิดแล้ว แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบ จนรู้ตัวผู้ต้องสงสัย จึงไปจับกุมวัยรุ่นและเยาวชนในพื้นที่

ผลจากการทำข่าวได้พิสูจน์ว่าสามีผู้ตายเป็นแพะจนนำไปสู่การปล่อยตัวในเวลาต่อมา และมีการย้ายตำรวจที่รับผิดชอบ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

เมื่อมาพิจารณาถึงประเด็นที่พูดกันว่า วิธีการทำข่าวขัดจริยธรรมวิชาชีพหรือไม่ ก็ต้องถามกลับไปว่า กรณีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ในที่รโหฐานหรือไม่ หรืออยู่ในสถานที่หน่วยงานราชการ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่

ขณะที่กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ถนนสาธารณะหลายแห่ง ก็เคยมีประชาชนผู้เสียหายจากอุบัติเหตุ รถชนแล้วหนี หลายรายนำมาใช้ได้ ฉะนั้น นอกจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเอามาใช้ประโยชน์ในการสืบสวนฯ คดีนับไม่ถ้วนแล้ว ประการสำคัญ ยังไม่พบว่า มีกฏหมายใด ห้ามประชาชนใช้กล้องจากที่สาธารณะ ในพื้นที่เมื่อเกิดเหตุ

ส่วนกรณีตำรวจยกเรื่องจริยธรรมวิชาชีพขึ้นมา ก็มีคำถามว่า การทำข่าวนี้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือประโยชน์สาธารณะ และผลจากการทำข่าวนี้ ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ต้องติดคุกหรือไม่ ทั้งหมดนี้ สามารถตอบคำถามตำรวจที่ตั้งคำถามได้เพียงพอ และทำให้คนที่สงสัยต่อผู้สื่อข่าว ที่ใช้วิธีในเชิงสืบสวนในการทำข่าว และเกิดผลชัดเจน กรณีศึกษานี้ เห็นผลชัด ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่เป็นเรื่องของวิชาชีพ

บรรยงค์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มข่าวเชิงสืบสวนฯ ที่หายไป จากที่เป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลอิศราฯ มา 16 ปีติดต่อกัน ก็พบว่าข่าวเชิงสืบสวนฯ หายไป มีสื่อส่งเข้ามาประกวดน้อยมาก จึงอยากให้ผู้สื่อข่าว กอง บก. รวมถึงองค์กรต่างๆ สนับสนุนมากขึ้น 

แม้จะเข้าใจผู้ประกอบการ ผู้บริหารสื่อ แต่ขณะเดียวกัน สื่อมวลชน สื่อกระแสหลัก ก็ไม่ได้มีแต่พวกเราเท่านั้น แต่ยังมีสื่อดิจิทัลอื่นๆ และเวลานี้การเกิดขึ้นของสำนักข่าวออนไลน์ที่ทำเป็นเรื่องราวมากมาย เขาจะสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้น เมื่อใดก็ตาม ถ้าสังคมให้ความเชื่อถือสื่อหลักลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ อนาคตเราจะมีปัญหา.