จิตแพทย์แนะเสพข่าวสายมูผู้วิเศษให้น้อยลง เตือนสื่อไม่ควรไลฟ์สด

ปรากฎการณ์ข่าว “ผู้วิเศษ” จากสื่อหลัก สื่อโซเชียล แพทย์สะท้อนปัญหาสภาพสังคมส่งผลต่อจิตใจคนเปราะบางยิ่งขึ้น แนะเสพข่าวสายมู ผู้วิเศษให้น้อยลง เตือนสื่อไม่ควรรายงานแบบไลฟ์สดเรียลไทม์จนตกเป็นเครื่องมือ ไม่ฉายคลิปวนซ้ำที่ส่งผลพฤติกรรมเลียนแบบ ต้องสร้างความรู้เท่าทันให้สังคม ด้านนักวิชาการชี้หน่วยงานเกี่ยวข้องแอคชั่นล่าช้า ชำแหละกระทรวงที่ต้องรุกแก้ปัญหา ชี้กลุ่มคนงมงายลัทธิมีความรู้ แต่หวังใช้ทางลัด นักวิชาชีพเน้นย้ำ “เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ” ยึดหลักรอบด้าน และให้ความรู้ควบคู่ข่าวสายมู  

รายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง ข่าว “ผู้วิเศษ” นำเสนอแค่ไหน“ไม่มากเกินไป” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวดิจิทัลคอนเทนต์ ฐานเศษฐกิจ และอุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา

ปรากฎการณ์เรื่องผู้วิเศษต่างๆ ที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโซเชียลมีเดีย และสื่อหลัก สะท้อนภาพสังคมอย่างไร นพ.สุริยเดว ทรีปาตี มองปรากฎการณ์กรณีล่าสุด ข่าวเด็ก 8 ปีกับลัทธิเชื่อมจิตว่า กรณีของเด็ก ต้องอิงหลักจิตวิทยา พัฒนาการของเด็ก ที่มีศาสตร์องค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ เวลาจะวิเคราะห์ว่า (ผู้วิเศษ) ใช่หรือไม่ เขานำพาไปในทางไหน เพราะทำไปทำมา จะกลายเป็นรังแกตัวเอง และรังแกสังคมด้วย ซึ่งผู้บริโภคสื่อก็ต้องระมัดระวังลักษณะแบบนี้ ว่าทำอย่างไรจะเบรกตัวเอง ด้วยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ก่อนจะเชื่อ

เมื่อถามว่า สายมูบ้านเรามีมานาน แต่ไม่แรงเท่ายุคนี้ ดูเหมือนผู้คนจะขาดหลักยึด จนมีโค้ชต่าง ๆ สอนวิธีที่จะดำรงอยู่ในสังคมให้ได้มองอย่างไร นพ.สุริยเดว ระบุว่า มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่แน่ ๆ คือความเปราะบางของจิตใจของคนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังโควิดยิ่งมากขึ้น ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ ความเครียด ความคาดหวัง ขณะที่โลกก็เร่งรัด ชีวิตเร่งรีบไปหมด จึงนำมาสู่ความเปราะบางในชีวิตจิตใจ บวกกับปัจจัยเอื้อ

สมัยก่อนบ้าน และชุมชนเข้มแข็ง พูดคุยกันได้ แต่ปัจจัยนี้กลับกลายเป็นอ่อนแอ และมีโซเชียลมีเดียเข้ามาเร่งปฏิกริยา เมื่อปัจจัยเอื้อ อ่อนแอลง สภาวะความเข้มแข็งทางจิตใจเปราะบางมาก แล้วมาเจอปัจจัยเร่ง ที่พร้อมจะยั่วยุทุกอย่าง ก็เลยเป็นสภาพนี้

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น

ฉะนั้นหลักในการกลั่นกรองข่าวเรื่องราวเหล่านี้ ก่อนจะเชื่อถือ นพ.สุริยเดว แนะนำว่า หลักคิดคือ ต้องบริโภคสื่อในลักษณะนี้ให้น้อยลง สำหรับสื่อที่รายงานข่าว ก็ต้องรักษาระยะห่างในระดับหนึ่ง ในการรายงานข่าวต้องสร้างความรู้เท่าทันให้สังคมด้วย ต้องไม่เกาะติดกับเรื่องตลอดเวลา ทุกๆวัน ถี่เกินไป จนเป็นสภาวะแรงเสริมลบทางสังคม ซึ่งสื่อทำให้เป็นแบบนั้น เหมือนเราพยายามติดตาม เฝ้าบ้าน ไม่ให้เกิดเหตุ ให้คนรู้เท่าทัน แต่ด้วยความที่ไปสร้างราคาให้เขามากเกินไป จึงทำให้เกิดแรงเสริม ทำให้เกิดคนอื่นลุกขึ้นมาทำ บางคนยอมเจ็บตัว เพื่อให้ขอมีพื้นที่ในสังคมในยุคสมัยใหม่นี้ได้ 

นพ.สุริยเดว มีข้อเสนอต่อการรายงานข่าวผู้วิเศษของสื่อว่า การไลฟ์สด กับเรียลไทม์ ไม่ควรทำ แม้กระทั่งอีกฝ่าย (ที่แสดงตัวเป็นผู้วิเศษ) ต้องการจะทำ หรือขอให้สื่อไลฟ์สด ก็ควรแจ้งเลยว่า ขอยุติ ต้องถือว่าถ้าสื่อไม่ให้ความร่วมมือ ก็จบเลย เพราะแม้แต่หมอที่เก่งเชี่ยวชาญมากสักแค่ไหน เราก็ไม่เคยถ่ายทอด เพราะผิดหลักการ สื่อเองก็ต้องระมัดระวัง ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือ

เมื่อถามว่า การรายงานสดในลักษณะการเจาะลึกในบางลัทธิ จะมีส่วนช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้หรือไม่ว่า เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้หรือไม่ได้ นพ.สุริยเดว กล่าวว่า สื่อไม่ต้องไปพิสูจน์ต่อหน้าผู้ชม ไม่ต้องเอาประชาชนทุกคนมาเป็นพยาน ไม่เกิดประโยชน์ แต่อาจเป็นดาบสองคมได้ ในมุมหนึ่งสื่ออาจคิดว่าอยากให้ประชาชนรู้กันไปเลย แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจทำให้เขาแจ้งเกิดไปเลย

เมื่อถามถึงกรณีที่มักจะมีเหตผลอ้างว่า เป็นหน้าที่สื่อในการรายงานข่าวเหล่านี้ นพ.สุริยเดว มองว่า เหตุผลที่ว่า เป็นหน้าที่ของสื่อในการรายงานข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่ถูก แต่วิธีการผิด แม้การรายงานข่าวเพราะจำเป็นต้องสร้างระบบเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้มีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นแต่วิธีการไปไลฟ์สด หรือเรียลไทม์ อันนี้ผิด ขอยืนยันโดยหลักจิตวิทยาพัฒนาการว่า ไม่ได้ ไม่ควร นอกจากนั้นอาจสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ หรือก่อเหตุซ้ำ

เมื่อถามว่า บางรายการในสื่อ ใช้รูปแบบเชิญผู้คิดค้นลัทธิขึ้นมา แล้วนำผู้รู้ หรือผู้เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นทั้งสองด้าน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่ นพ.สุริยเดว มองว่า การถกกัน เป็นประเด็นที่ถกกันได้ หากสุดท้ายแล้วลงเอยด้วยเหตุและผล แต่ต้องไม่เอาภาพเคลื่อนไหว คลิป มาฉายซ้ำอยู่เรื่อย ๆ อันนี้ต้องระมัดระวัง ต้องทำอย่างกระชับ และสั้น ๆ ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร ไม่ว่าสายสายมู สายใดก็ตาม

สำหรับกรณีรายการหนึ่งที่ถูก กสทช. สั่งพักออกอากาศวันหนึ่ง แต่ปรากฎว่ามีการตั้งรายการใหม่ขึ้น แล้วพูดลักษณะท้าทายว่า รู้จักพวกเราน้อยไป มองอย่างไร นพ.สุริยเดว กล่าวว่า การนำเสนอต่าง ๆ การพูดยั่วยุทั้งหลายต้องระมัดระวัง เพราะอาจกลายเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่นต่อเนื่อง ขอแยกเป็น 2 ส่วน 

1. การเป็นต้นแบบที่ดีของแมสมีเดีย นิวมีเดีย ที่มีสภาวิชาชีพกำกับ ถ้าสามารถช่วยกันดูแล เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชน

2. ส่วนที่บิ้วกันเองได้ คงห้ามยาก ก็ต้องรับผิดชอบตามข้อกฎหมาย แต่ในส่วนที่เป็นสื่อมืออาชีพทั้งหลาย ถือเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าเราช่วยกันเคารพกฎเกณฑ์แล้วเดินไปตามกติกา เพราะเรากำลังกำลังดูแลสังคม ถ้าจะมีประเด็นที่พลาด การยอมรับผิด ก็ถือว่าเยียวยาทั้งสังคม การที่ฝ่ายกำกับดูแลให้งดออกอากาศ 1 วัน รายการนั้นควรจะขอบคุณด้วยซ้ำไปว่า กำลังสะท้อนเพื่อจะได้ระมัดระวังมากขึ้น

อย่าลืมว่าผู้ชมกำลังดู และคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่ขึ้นมาดังในสังคมทั้งหลาย มีหน้าที่ในการตอบแทนสังคม มากกว่ารังแกสังคมไม่ใช่เพียงเฝ้าระวังอย่างเดียว แต่จะต้องคืนกำไรให้สังคมด้วย

นพ.สุริยเดว ทิ้งท้ายว่า กรณีผู้วิเศษเด็ก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ควบคุม ตักเตือน ประชาชนก็คงเห็นแล้วว่า มีภาวะตอบสนองที่ช้ามาก มีวิธีการป้องกันที่ช้ามาก เราไม่เคยเอากรณีศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้มาสร้างไกด์ไลน์ที่ทำให้เกิดการป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุก่อนแล้วทำลักษณะวัวหายแล้วล้อมคอก หรือถอดบทเรียนกันตลอด ซึ่งกำลังสะท้อนระบบที่ค่อนข้างอ่อนแอ กฎหมายบ้านเรา ต้องยอมรับว่า การบังคับใช้ทุกเรื่อง มีปัญหา

ในมุมมององค์กรวิชาชีพ จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง มองปรากฎการณ์ข่าวผู้วิเศษว่า แม้จะเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละสื่อในการนำเสนอแต่ในสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ก็ได้หยิบยกประเด็นนี้ มาพูดคุยกันกรณีบุคคลที่เข้ามาทำเพจเฟซบุ๊ก ทำช่องยูทูบ ติ๊กต็อกฯ มากมาย ขณะเดียวกัน จะทำอย่างไร ที่จะทำให้สังคมที่เสพสื่อในออนไลน์ได้รับข่าวสารจากสื่อมวลชนที่เป็นสื่ออาชีพ 

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวดิจิทัลคอนเทนต์ ฐานเศษฐกิจ และอุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

การนำเสนอข่าวผู้วิเศษ มีทั้งในสื่อหลักให้เห็น มีทั้งในสื่อออนไลน์ ที่ใครก็ไม่รู้ เปิดขึ้นมาแล้ว ขยี้ ปั่นคอนเทนต์ เอาข่าวมาจากไหนก็ไม่มีใครทราบ 

กรณีก่อนหน้านี้ ที่สื่อทำข่าวบางเรื่องเยอะ แล้วสังคมรู้สึกว่า สื่อนำเสนอเยอะเกินไป ก็กำลังจะคล้าย ๆ อารมณ์นั้น เช่น บางเคส บางหมู่บ้าน จากคดีหนึ่ง ตอนท้ายกลายเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเรากำลังจะมีบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อีกแล้ว เรายังคงต้องหาทางตรวจสอบกันเอง ในการทำหน้าที่ของเรา ว่ามากไป น้อยไป พอดี หรือถ้ามีสื่อไหนที่เสนอข่าวพวกผู้มีอภินิหารทั้งหลายแล้วบาลานซ์ เช่นในมุมของการบาลานซ์ข่าว ก็จะมีนักจิตวิทยา หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ การให้ความรู้ การไปสัมภาษณ์ กสทช. กระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าจะจัดการอย่างไร

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่มีหน้าที่กำกับดูแลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบได้ รายการทีวีบางรายการโดนร้องเรียนเยอะมาก โดน กสทช. ระงับออกอากาศไปเมื่อเร็ว ๆ นี้  และถ้าประชาชนเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ มองว่าทำไมสื่อนำเสนอมากในเรื่องผู้มีอภินิหาร ก็สามารถร้องเรียนไปได้ทั้ง 3 ส่วน กสทช. สภาวิชาชีพสื่อ หรือสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งจะช่วยบาลานซ์ และตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อด้วย

เมื่อถามว่าการนำเสนอข่าวประเภทนี้มาก ๆ ของสื่อ มีผลไปเพิ่มความเชื่อของคนในสังคมบางส่วนได้หรือไม่ จีรพงษ์ มองว่า อาจเป็นการขยายผล ทำให้สังคมรู้ว่า ประเทศเรา สังคมเรามีลัทธิแบบนี้ มีมุมมองแบบนี้ มีความเชื่อแบบนี้อยู่ ก็อาจทำให้คนตื่นรู้ ซึ่งความตื่นรู้นั้นๆ ก็ต้องบาลานซ์ความรู้ให้กับสังคมด้วย เช่น การทำข่าวดราม่าเรื่องหนึ่ง ก็ต้องมีความรู้ให้กับสังคมควบคู่กันไปด้วย หรืออาจจะเป็นคนละข่าวก็ได้ ทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องเดินคู่กันไป

การนำเสนอข่าวผู้วิเศษ จีรพงษ์ ระบุว่าอาจจะเป็นลัทธิ หรือความเชื่อที่เราไม่รู้มาก่อน ที่อาจจะอยู่ในตัวบุคคลมากมาย ในพื้นที่ต่าง ๆ วันหนึ่งที่สื่อไปเจอ อาจจะเห็นเป็นของแปลก แล้วลากมาสู่สังคม ซึ่งมันไปไวมาก แค่ทำคลิปหนึ่ง แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ตามมา คือในเชิงออนไลน์ เอนเกจเมนต์ มียอดเข้าชม ยอดแชร์ดี นำมาซึ่งรายได้ของเขา และต่อมาก็จะขยี้ต่ออย่างไร อาจจะไปละเมิดลิขสิทธิ์สื่ออื่น เอามาขยี้ในมุมของตัวเอง ก็จะวนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ 

กรณีผู้วิเศษอื่น ๆ ยังมีอีกมากมายที่สื่อเข้าไม่ถึง ซึ่งตนพบในช่องยูทูบช่องหนึ่งเป็นการนำคนที่ถูกผีเข้ามาออกในรายการ ซึ่งเรื่องอย่างนี้มีมานาน แต่เราไม่ได้สนใจ ปล่อยผ่านไป และเดี๋ยวนี้มามากในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ฉะนั้นการกำกับดูแลกันเองในบริบทแบบนี้ ที่เคยเป็นมา แทบจะทำไม่ได้แล้ว จึงอยากชวนคิด ทั้งสื่อ ทั้งผู้คนในสังคม ว่าจะเดินกันอย่างไรในการกำกับดูแลกันเอง เราจะขีดเส้นแบ่งกันอย่างไร 

ระหว่างสื่อวิชาชีพ กับวาทะกรรมที่บอกว่าใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ เส้นแบ่งตรงนี้จะแบ่งอย่างไร ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ สำหรับสมาคมผู้ผลิตข่าออนไลน์กำลังมีแนวคิด เรื่องการทำให้ชัดระหว่างอินฟลูเอนเซอร์ นักข่าวออนไลน์ ที่ไปทำข่าว แล้วสุดท้ายโดนอินฟลูฯ ใครก็ไม่รู้ เอาเนื้อหาไปใช้ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เส้นนี้ชัด

สำหรับความพอดีในการนำเสนอข่าวเรื่องผู้วิเศษของสื่อ จีรพงษ์ มองว่า ความพอดีอยู่ที่ 1. การตัดสินใจของบรรณาธิการ 2.โมเดลธุรกิจของสื่อนั้น ๆ เป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละสื่อก็มีธุรกิจไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องรู้จักความพอดี สิ่งสำคัญคือ เราต้องบาลานซ์ในสิ่งที่เรานำเสนอหากมากเกินไป ก็ต้องดึงสติกลับมา ด้วยความระมัดระวังว่า จะทำอย่างไร ถ้าเจอคนอย่างนี้ จะไปสัมภาษณ์ฝ่ายใดบ้าง เพื่อให้ความรู้กับสังคม 

ต้องไม่ลืมว่า สื่อก็เป็นผู้ชี้นำสังคม เพราะบางทีคนทั่วไปอาจคิดว่า อยากเป็นแบบนี้(ผู้วิเศษ)ดีกว่า เพราะได้ออกสื่อ ได้ออกทีวีเยอะ จึงอยากชวนคิด ทั้งสื่อหลัก และสื่อใหม่ว่า เราถอยกลับมาใช้คำว่า “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” ซึ่งต้องคิดเสมอว่า เวลาเรานำเสนอคลิปหนึ่งข่าวหนึ่งออกไป แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมมีอะไรบ้าง ผลกระทบที่จะเกิดการลอกเลียนแบบ ถ้าคน ๆ นี้ หรือญาติของเขา ไปฟ้องร้องหมิ่นประมาทสื่อบ้าง ว่าสื่อนำเสนอข่าวเขามากเกินไป ทำให้เขารู้สึกว่า อยู่บ้านไม่ได้ อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ต้องย้ายบ้าน เพราะมีปัญหาในชีวิตมากขึ้น อันนี้ต้องระมัดระวัง ต้องถอยกลับมาให้ได้ ต้องตั้งหลักในการใช้เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ

ทางด้านนักวิชาการ จตุรงค์ จงอาษา ระบุว่าปรากฏการณ์ข่าว ผู้วิเศษมีทั่วโลก จนเป็นเรื่องปกติของโลก แต่ประเทศที่จัดการได้ดี ต้องยอมรับว่า คือประเทศจีน ที่เขามีบทเรียนจากลัทธิฝ่าหลุนกง จึงต้องมีใบอนุญาต ต้องมีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ขั้นพื้นฐาน และไม่มีประวัติอาชญากรรม คนผู้วิเศษเหล่านี้จะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ละเมิดกฎหมาย เช่นใช้ความวิเศษไปล่วงละเมิดทางเพศ แสดงตนเป็นหมอดู ร่างทรง ไปชวนลงทุน ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์เป็นต้น 

รัฐบาลจีนได้มองตรงนี้ จึงใช้หลักดังกล่าว ในเรื่องคุณวุฒิทางด้านวิชาการ ถึงจะออกใบอนุญาตให้ไปเป็นหมอดู หรือผู้วิเศษ

ก็ต้องมาดูไทยว่า ร่างทรงที่อยู่ตามมูลนิธิต่าง ๆ หมอดูที่จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ แม้กระทั่งนักบวชในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หน่วยงานภาครัฐ รองรับอยู่ทั้งนั้น แต่เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ให้ความใส่ใจพอ ในการกำกับดูแลหรือไม่ เช่น พศ.สังกัดสำนักนายกฯ ก็ดูว่า พระใบ้หวย เข้าทรง 

ส่วนศาสนาอื่น ความเชื่ออื่น ก็ให้กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมศาสนาดูแลไป สุดท้ายพวกร่างทรง ที่ไม่ได้มีศาสนาใดเลยพวกร่างทรงเหล่านี้ จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ สังกัดกระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้วิเศษรักษาโรค กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องดูว่า เป็นแพทย์แผนไทย แผนจีน หรือไม่ ก็ต้องมาดูกัน ขอพูดรวมๆ เพราะมีหลายเคส ยังไม่รวมผู้วิเศษที่ไปเคลมงานศาสนาอื่นกรมศาสนา สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักพุทธ ก็ควรเข้ามาดูแล เหล่านี้ต้องให้ 3-4 กระทรวงเข้าไปจัดการดูแล ต้องไม่ปล่อยให้เกิดความวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงทางจริยธรรม 

“จริงๆ มันไม่ใช่เพิ่งเกิด ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีทั้งล่วงละเมิดทางเพศ เอาเซ็กส์คอนเทนต์ครีเอเตอร์มารวมกันกับการทรงเจ้าเข้าผี ผู้วิเศษรักษาโรค เราก็เจอมาหลายแบบ บางคนก็ติดคุกรับโทษตามกฎหมาย” 

จตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา

จตุรงค์ ชี้ด้วยว่า ที่สำคัญต้องดูเส้นทางทางการเงินว่า ที่รับเงินกันอยู่ ถือเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ การอ้างว่าเป็นนั่นนี่ ได้มาสู่การซื้อที่ดิน ได้เงินทอง เหล่านี้จะสังคมจะเอาอย่างไร หลายๆ เรื่อง เราไม่ควรจะทิ้งงานให้เป็นภาระศาล ปัญหาคือหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ได้ทำอะไร หวยก็มักจะไปออกที่พนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ก็กลายเป็นเรื่องรกศาล แทนที่จะได้ไปทำงานอย่างอื่นให้ชาติ ต้องมาทะเลาะกันเรื่องผีสาง ผู้วิเศษ

“ประเทศเรามีบทเรียนของความเสียหายจากผู้วิเศษ มีคนตาย (กรณีพระตัดหัวตัวเอง หรือถูกใครตัดหัว) แต่บ้านเราก็เฉย ๆ ดูสบายเกินไป ไม่ได้ดูเดือดร้อนเหมือนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ที่เขาผ่านบทเรียนประหลาดกันมาเยอะ” 

เมื่อถามว่า หลักการเบื้องต้น ที่ประชาชนเสพข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ควรมีหลักในการพิจารณาเรื่องลัทธิต่าง ๆ ความน่าเชื่อถือ จตุรงค์ ให้ตั้งข้อสังเกตว่า

“เขาเอาเงินเราหรือไม่ เอาเงินไปซื้อที่ซื้อทาง ละเมิดร่างกายเราหรือไม่ ถ้าเอาเงิน ล่วงละเมิด ก็ต้องมาดูระยะยาวเป็นอย่างไรอาจจะบริจาคได้ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าอยู่ ๆ มาขอเป็นก้อนใหญ่ เอาไปทำอะไร ก็ต้องดูเป็นกรณี สำคัญเราต้องรู้จักสังเกต ไม่ใช่นึกอยากจะทำก็ทำ ต้องดูผลงานปลายทาง หน่วยงานที่เราไปบริจาคนำไปทำจริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่เราเอาเงินไปโยนแล้วจบ บางทีเราก็มักง่ายเกินไป อยากศรัทธา ก็เอาเงินไปโยน พอถึงเวลาก็เฉย” 

เมื่อถามว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ จากความเชื่อเรื่องสายมู ผู้วิเศษ สังคมจะรับรู้ไม่ได้ ถ้าสื่อไม่นำเสนอ มองประเด็นนี้อย่างไร จตุรงค์ มองว่าสภาวิชาชีพควรกำกับดูแลสมาชิกให้ได้ แต่ยอมรับว่าแต่ละสื่อมีทาร์เก็ตต่างกัน รูปแบบคอนเทนต์ต่าง ๆ กัน ทำให้เรตติ้งต่างกัน 

“บางสื่อที่ทำข่าวชาวบ้านตลาดล่างหน่อย เรื่องความเชื่อ ก็กลายเป็นว่าขายดิบขายดี เรตติ้งเทน้ำเทท่า สปอนเซอร์เข้า ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก บางทีเราฝากความหวังไว้กับสื่อได้ แต่วิจารณญาณอันใด ต้องไปฝากผู้เสพให้ใช้พอสมควร ก็เป็นรสนิยมพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนหนึ่ง แต่ไม่อยากให้จบลงแบบข่าวลุงพล แล้วสรุปได้อะไร ช่องได้สตางค์แล้วจบ แต่คนไม่ได้อะไร แล้วเราจะอยู่กันจุดไหน” 

เมื่อถามว่า ผู้ที่บอกว่านับถือศาสนาพุทธที่อาจจะออกนอกกรอบ โดยไม่สนใจพระธรรมคำสอน จะสอดแทรกเรื่องคำสอนให้เข้าถึงได้โดยง่ายอย่างไรดี จตุรงค์ ระบุว่ากลุ่มคนพวกนี้ สอดแทรกอะไรไป ก็อาจเปล่าประโยชน์ พวกที่นับถือลัทธิพวกนี้ ไม่ใช่คนที่ไม่มีความรู้ ทางศาสนา บางทีรู้มากด้วยซ้ำ แต่กลับมองหาทางลัด เข้าใจว่าระบบสังคมไทยถูกหล่อหลอมมาด้วยทางลัดตลอด เราชิน ติดอยู่กับทางลัดมาตลอด พอมาถึงเรื่องศาสนา ก็ไม่เปลี่ยน ต่อให้ศึกษาธรรมะแค่ไหน ก็ไม่คิดจะลงมือปฏิบัติเอง ก็จะหาทางลัด ให้คนนั้นเชื่อมจิตให้ 

สังเกตคนที่ไปศรัทธาอะไรแบบนี้ ตนเรียกว่าเป็นพวกขยะศาสนา เพราะมีความรู้ แต่ไม่ใช้ความรู้ในการทำให้ศาสนาเจริญขึ้น แต่ใช้ความรู้เพื่อไปงมงาย ทำให้ศาสนาแย่ลง เพียงเพราะหวังว่าจะไปสู่ทางลัด เร็วกว่า คนที่ไปเชื่อมจิตเชื่อมใจ ก็เพื่อหวังจะได้นั่นได้นี่ กลายเป็นว่าหวังทางลัด ทำให้ศาสนาดูแย่ เพราะจะไปแต่ทางลัด 

ศาสนาพุทธต้องปฏิบัติเอง ถ้าใครศึกษาก็จะเห็นประวัติพระพุทธเจ้า และพระที่เป็นอรหันต์ ล้วนปฏิบัติเองทั้งนั้น ไม่เคยมีใครเชื่อมจิตเชื่อมใจให้ ทุกคนต้องมีความเพียร ขวนขวาย ลงมือทำเอง แต่กลายเป็นว่าลัทธิใหม่ ๆ ความเชื่อใหม่ ๆ จะเอาเร็ว จะต่อยอด ไม่รู้ว่าเอามาจากไหน แต่ละอย่าง

จตุรงค์ เชื่อว่า แรงจูงใจของคนที่ทำตัวเป็นผู้วิเศษ ส่วนใหญ่เพื่อให้ได้เงิน โดยพยายามดูว่า ตลาดต้องการอะไร ก็จะสร้างโจทย์ในจุดนั้น และเมื่อรู้ตัวส่วนหนึ่งก็แจ้งความดำเนินคดี ขณะที่อีกส่วนแม้รู้ตัว แต่ไม่คิดจะดำเนินคดี กลับปล่อยให้คนอื่นถูกหลอกต่อไป จนกลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง.