เอไอมาเร็วเกินคาด แนะสื่อเปิดรับ  ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานข่าว

นักวิชาชีพ-นักวิชาการ ประเมินเทคโนโลยีเอไอมาเร็วเกินคาด ชี้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานข่าว ต่อยอดงานข่าวได้หลากหลายมิติ แต่ไม่สามารถทดแทนนักข่าวที่ต้องใช้ทักษะวิชาชีพได้ แนะทั้งสื่อเปิดรับ เพื่อนำมาใช้เป็นผู้ช่วยในการทำงาน โดยรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์กับความเสี่ยง หนุนวางมาตรฐานขององค์กร ขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานกลางออกมากำกับดูแล

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ออกอากาศทาง FM 100.5 ประจำวันเสาร์ที่ 22 มิ.ย. 2567 พูดคุยเรื่อง “Technology AI ช่วยผลิตงานสื่อได้มากแค่ไหน” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล Thai PBS  นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ดร.เอกพล เธียรถาวร คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

AI ถูกนำมาใช้ในงานสื่อกว้างขวางยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องข้อมูลที่อาจเป็นเฟกนิวส์ รวมทั้งเรื่องลิขสิทธิ์ ขณะที่คนข่าวก็ต้องปรับตัวในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น ในมุมมองของ Technology AI เข้ามาช่วยผลิตงานสื่อได้มากแค่ไหน กนกพร ประสิทธิ์ผล อัพเดตสถานการณ์นี้ว่า เอไอเป็นผู้ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ในการที่ทำให้เรากวาดข้อมูลได้เร็วขึ้น ทำให้เราเห็นมุม มิติที่มากขึ้น โดยบางทีเราอาจจะนึกว่า มิติคำถามอาจจะไม่รอบด้านก็ได้ 

บางทีผู้สื่อข่าวจะไปสัมภาษณ์ประเด็นข่าวสักอย่าง อาจจะลองโยนคำถามไปว่า เราควรจะมีมิติคำถามอะไรได้บ้าง ซึ่งมิติที่เราตั้งอยู่ในใจอาจจะใช่ แต่ก็อาจจะทำให้เราได้มิติที่มากขึ้นด้วย คิดว่าตอนนี้คนสื่อนำมาใช้เป็นผู้ช่วยในการต่อยอดความคิดของตัวเอง แต่ยังไม่น่าใช้ถึงขั้น 100% 

สำหรับคนข่าวจะต้องปรับตัวอย่างไรกับเอไอที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ กนกพร ระบุว่า ตั้งแต่เรื่องดิจิทัลที่เข้ามา บรรดาผู้สื่อข่าว หรือคนที่ทำคอนเทนต์ ก็ได้ปรับตัวมานานแล้ว คือเรื่องมายเซ็ทของการเปิดรับ ไม่แอนตี้เรื่องเทคโนโลยี 

สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ เราไม่สามารถหยุดพัฒนาการเติบโตของเทคโนโลยีได้ ดังนั้นเราจะปิด โดยไม่รับอะไรที่พัฒนาเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นเรื่องมายเซ็ท ไม่ว่าวิชาชีพใด ก็ต้องเปิดรับก่อน 

ผู้สื่อข่าวเองก็จะต้องมีทักษะเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพราะมีภาระอีกอย่างคือทักษะในการปรูฟหรือตรวจสอบสิ่งที่เอไอป้อนมาให้อันนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิชาจริยธรรมที่หนักพอสมควร

ขณะที่การอบรมเรียนรู้ที่องค์กรให้ ก็จะเริ่มเปลี่ยนไป จะมีวิชาที่มีทักษะเหล่านี้เพิ่มขึ้น ฉะนั้นมายเซ็ทราจะต้องเปิดที่จะรับก่อน ส่วนเรียนรู้ได้มากน้อย ยากง่าย แค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถัดมาก็คือ ถ้าองค์กรใด หรือสมาคมสื่อใด ที่มีอุปกรณ์ ให้โอกาส พื้นที่ ในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา อย่างหลายสื่อตอนนี้ ก็ได้ยินว่า เริ่มขยับตัว คือไม่ปิดกั้น ดังนั้นนักข่าวก็ยิ่งต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ และต้องทดลองใช้ ยืนยันว่าเอไอเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ทดลอง

ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมาเป็นระยะว่า ในอนาคตเอไอจะมาทดแทนการทำหน้าที่ของนักข่าวได้หรือไม่ กนกพร มองว่า คงยาก แต่อาจมีผลกระทบ ซึ่งเห็นได้จากข่าวสารที่เกิดกับวงการอุตสาหกรรมสื่อ ปัจจัยจากเทคโนโลยีได้เข้ามามีผลต่อคน 2 กลุ่ม ที่ทำให้ช่องว่างระหว่างการพัฒนาการของคนห่างกันมากขึ้น สำหรับคนที่จะไม่มีผลกระทบเลย ก็คือคนที่ยอมเปิดใจเรียนรู้ และพัฒนาทักษะให้มากขึ้น และอีกส่วนคือ เมื่อนำเอไอมาใช้แล้วงานยังอยู่เท่าเดิม จะเป็นกลุ่มที่น่ากังวลและจะมีผลกระทบแน่นอน

ประโยชน์จากเอไอต่อยอดงานสื่อ

กนกพรชี้ด้วยว่า เทคโนโลยีเอไอ ทำให้องค์กรสื่อต้องคิดต่อยอดว่า จะเป็นบริการแบบไหนดี หรืองานแบบไหนที่ควรจะเพิ่มมูลค่าให้กับงานเดิม ต้องคิดในเชิงเอามาใช้ในการเพิ่มมูลค่ากับทักษะของตัวเอง ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม ขณะที่เอไอทำได้ดีกว่า ก็ไม่รู้ว่ามันจะมาทดแทนเราเมื่อไหร่

ในมุมของลิขสิทธิ์ที่สุ่มเสี่ยงปัญหาจากข้อมูลที่เอไอรวบรวมมา กนกพร มองว่า ในมุมของประโยชน์เอไอเราคงพูดได้อีกมากมาย แต่มุมที่เป็นปัญหาอุปสรรค ทั้งในเรื่องจริยธรรม มีอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคน หลายวงการพูดก็คือ เรื่องลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือการแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องลิขสิทธิ์บทความที่เราเขียนขึ้นมา แต่เป็นเรื่องของภาพวิดีโอ ซึ่งเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างระมัดระวังมาก สื่อที่ยังไม่ได้เข้าไปใช้อย่างจริงจัง ก็เพราะเรื่องนี้ด้วยส่วนหนึ่ง

“ไทยพีบีเอสใช้เอไอในการผลิตข้อความ ภาพวิดีโอ แต่เราก็ต้องดูวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้ และจะไม่ใช้แบบ 100% จะต้องผสมประสานกับไอเดีย การ Edit ให้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อไม่ให้เป็นการก็อปปี้จากเอไอ 100% เป็นการนำมาต่อยอด หรือการนำมาผลิตใหม่รีไรท์ใหม่ ปรับปรุงใหม่ นั่นคือใช้ไอเดียความคิดของเราผสมเข้าไป เราก็จะไม่สุ่มเสี่ยง

 ในส่วนที่เป็นลิขสิทธิ์ เชื่อว่าหลายองค์กรสื่อกำลังตื่นตัว เพราะถ้าเรานำมาใช้ในนามขององค์กรของสื่อที่เป็นทางการ ต้องระมัดระวังมากๆ หากสังเกตดู ผู้คนที่ใช้ ที่เราเห็นในโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่จะใช้ในนามบุคคล ซึ่งอาจจะไม่ซีเรียสเท่ากับแบรนด์สื่อ เพราะถ้าผิด ก็เสียหายมากมาย    

เอไอช่วยงานสื่อได้หลายรูปแบบ

ในมุมขององค์กรวิชาชีพสื่อ นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา มองว่า เอไอช่วยงานสื่อได้หลายรูปแบบ โดยหลายองค์กรสื่อนำมาทดลองใช้ ทั้งการรวบรวมข้อมูลมาให้สำหรับการเขียนข่าว โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ต้องใช้ฐานข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในออนไลน์ เอไอจะไปกวาดข้อมูลมาได้ เช่นสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปี 

เอไอจึงเป็นเครื่องมือชุดหนึ่งที่เข้ามาช่วยงานสื่อได้ แต่คนสื่อเองก็ต้องพัฒนา เรียนรู้ ปรับตัวด้วย ขณะเดียวกันแม้เอไอจะไปเก็บข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อนำมาช่วยในการทำงานด้านสื่อ แต่ก็ยังต้องมีกระบวนการของกองบรรณาธิการอยู่ดี ในการกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี หรือออนไลน์  

เขามองว่า อย่างไรก็ตามแม้เอไอจะเข้ามามีบทบาทในแง่การช่วยงาน แต่ก็ไม่สามารถทำงานแทนที่คนสื่อได้ การรายงานสด ที่ไปอยู่ในพื้นที่ หรือไปตั้งประเด็นคำถามได้ โดยเฉพาะการนำมาใช้กับพิธีกร(เอไอ)อ่านข่าว ก็ยังไม่สามารถไปถึงงานวิเคราะห์ข่าวได้  

ประเด็นลิขสิทธิ์สื่อหลักไม่น่าห่วง

สำหรับความสุ่มเสี่ยงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ข้อมูล ที่ได้จากเอไอ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้เตรียมรับมือปัญหานี้อย่างไรบ้าง นันทสิทธิ์ ระบุว่า ปัญหานี้ ทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้พูดคุย และให้ความสำคัญมาตั้งแต่ก่อนจะมีการใช้เอไอ และที่สำคัญเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ 

“เรามองว่า ลิขสิทธิ์ซึ่งเกิดจากการออกไปทำงานของคนข่าว ทั้งข้อมูล ทั้งภาพ เป็นลิขสิทธิ์ขององค์กร เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแข่งขันทางด้านธุรกิจสื่อเช่นกัน ต้นทุนของคนที่ออกไปทำงาน แล้วมีสื่ออื่นมาก็อปปี้ แล้วนำไปหารายได้โดยไม่มีต้นทุน เราจึงให้ความสำคัญในส่วนนี้” 

สำหรับสื่อหลัก เขายืนยันว่า ไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเพจต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย เพราะการใช้เอไออาจได้มาทั้งเฟกนิวส์ และดีฟเฟกส์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ก็ต้องเรียนรู้เหมือนกัน จากสมัยก่อนที่มีการใช้ออนไลน์ แรกๆ ทุุกอย่างฟรีหมด ทั้งภาพ ทั้งข้อมูล แต่ตอนนี้แค่โพสต์ภาพโพสต์คลิปไปบนแพลตฟอร์มก็มีการเตือนขึ้นมาแล้วว่า อันนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ แม้กระทั่งเสียงประกอบ เพราะมันเกิดการแข่งขันทางธุรกิจ

ฉะนั้น แต่ละส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเริ่มเห็นถึงความสำคัญในเรื่องลิขสิทธิ์ คนก็เริ่มเรียนรู้ขึ้น รวมทั้งผู้บริหารสื่อ และสื่อเอง ทำให้องค์กรเกิดการเรียนรู้ เพราะแพลตฟอร์มต่างๆ มีระบบเข้ามาจัดการ

นันทสิทธิ์ เน้นย้ำถึงปัญหาที่มากับยุคเอไอคือ เฟกนิวส์ โดยยกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดว่า ต่อไปคนจะเริ่มเชื่อเอไอมากขึ้น จึงมีข้อกังวลเรื่องเฟกนิวส์ตามมา ซึ่งที่ผ่านมาออนไลน์ก็มีปัญหาเรื่องนี้พอสมควร และยังมีเรื่องดีฟเฟกส์ ที่เนียนจนคนเชื่อว่าคือเรื่องจริงอีก 

“คิดว่าหลายสื่อให้ความสำคัญ และตระหนัก ซึ่งทั้งคนทำสื่อ และผู้บริโภค ก็ตั้งคำถามว่า คอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ฉะนั้นในการหน้าที่สื่อ ความสำคัญคือ การกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ที่หวังพึ่งเอไอคงไม่ได้ เพราะช่วยได้เพียงในการทำงานบางส่วนเท่านั้น” 

ทดแทนคนสื่อมืออาชีพไม่ได้ 

สำหรับผลกระทบกับบุคลากรในวงการสื่อจะมีมากน้อยแค่ไหน หากองค์กรนำเอไอเข้ามาใช้มากขึ้น นันทสิทธิ์ มองว่า ตนอาจไม่ได้มองในเรื่องจำนวนคนสื่อจะถูกลดลง แต่มองว่ารูปแบบของคนทำงาน และตำแหน่งงานต่างๆ ในสื่อ จะปรับเปลี่ยนไป เช่น คนตรวจปรูฟ จะถูกแทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่ด้าน SEO ในการค้นหาเทรนด์ที่คนสนใจ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงาน ว่าทำอย่างไรเพื่อให้คอนเทนต์เข้าถึงคนมากขึ้น และก็จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น คือการวิเคราะห์ข้อมูล พฤติกรรมผู้ชม ว่าเราจะผลิตคอนเทนต์อย่างไร เพื่อให้เหมาะสม ตรงโจทย์กับผู้ชม 

สำหรับในด้านของกระบวนการทำข่าว ยืนยันว่า คนทำข่าว นักข่าว ก็ยังคงอยู่ แม้ทุกวันนี้จะเกิดสื่อออนไลน์มากขึ้น ก็ยังไม่เห็นว่า นักข่าวจะลดหรือหายไป แต่นักข่าวกลับมีความเป็นมัลติมีเดียมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มดั้งเดิม อย่างหนังสือพิมพ์ ทีวี ก็มาอยู่บนออนไลน์หมดแล้ว ฉะนั้นการจะทำคลิปขึ้นบนออนไลน์ ก็ต้องอาศัยทักษะการเล่าเรื่อง ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว รวมถึงกระบวนการเขียนข่าว ก็ยังมีอยู่บนเว็บไซต์ เพราะคนก็ยังอ่านข่าวอยู่ดี เพียงแต่เปลี่ยนที่อ่านมาอยู่บนออนไลน์ ซึ่งไม่มีข้อจำกัดในแง่พื้นที่

“ผมมองว่าความเป็นนักข่าวในด้านต่างๆ รวมถึงช่างภาพ ไม่มีทางหายไป ทุกวันนี้ ทุกสื่อออนไลน์มีช่างภาพเป็นของตัวเอง แม้ในอดีตจะเคยมีการพูดว่า ช่างภาพจะหายไป แต่สื่อกลับยังใช้ภาพบนออนไลน์ เพราะมันช่วยกระจายข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล และยังสามารถรายงานในรูปแบบภาพได้ก่อนที่จะรอเนื้อหาข่าวด้วย” นันทสิทธิ์ กล่าว

นันทสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า แม้เอไอจะเข้ามาช่วยงานสื่อได้พอสมควร แต่ผู้ที่นำมาใช้ ก็ต้องระมัดระวัง เพราะตราบใดที่คนอยากรู้ข้อมูลมากขึ้น กระบวนการผลิต ก็ต้องมากขึ้นตาม โดยเฉพาะบนออนไลน์ ที่แต่ละวัน คนอยากรู้ประเด็น ตามต่อประเด็นต่างๆ มากขึ้น เอไอจึงอาจถูกนำมาช่วย แต่ก็ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมดเพราะที่สุด คนสื่อก็ต้องเข้าไปกำกับดูแลอยู่ดี

เทียบเอไอเสมือนน้องฝึกงาน กองบก.

ในมุมนักวิชาการด้านสื่อ ดร.เอกพล เธียรถาวร มองว่า เอไอเป็นอุปกรณ์ที่ทรงพลังสำหรับสื่อสำหรับการช่วยงานได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรวบรวม การวิเคราะห์ หรือการนำเสนอ เท่าที่ตนได้ทดลอง มันทำให้การทำงาน ประหยัดเวลาได้มาก โดยเฉพาะในการทำงานที่มันซ้ำๆ 

“เอไอ ณ ตอนนี้ มันไม่ได้เป็นเหมือนสิ่งที่มาแทนมนุษย์ได้ มันเป็นเหมือนผู้ช่วย หรือน้องฝึกงาน ที่จะมาช่วยทำงานในเรื่องข่าว แน่นอนว่า เราคงให้น้องฝึกงานเขียนข่าวให้เรา หรือให้น้องทำทุกอย่าง เขาก็ช่วยงานได้บางอย่าง และช่วยในทุกขั้นตอนได้” ดร.เอกพล เปรียบเทียบ

ส่วนโครงสร้างการทำงานของสื่อต้องเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน เมื่อเอไอถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ดร.เอกพล ระบุว่า

“แม้จะสามารถเอามาช่วยงานได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเอไอมาแล้ว มนุษย์ไม่ต้องทำอะไรคิดว่าเป็นเครื่องมือ ที่จะนำมาช่วย เช่นการรวบรวมข้อมูล แทนที่เราจะมานั่งค้นหาด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมง ให้เอไอมันรวบรวมมาแล้วเราเป็นคนตรวจสอบแฟกซ์เช็ก ก็จะประหยัดเวลาไปได้มาก หรือการวิเคราะห์ข้อมูล แทนที่เราใช้เอ็กซ์เซลวิเคราะห์ซึ่งนานมาก อันนี้ผมก็ได้ทดลองเอง มันสามารถทำได้ แต่ก็อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องมีมนุษย์ทำงานอยู่ในทุกขั้นตอน” 

“มันไม่ใช่สิ่งที่จะมาทดแทนนักข่าวที่เป็นมนุษย์แต่มันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งมากกว่า จะมีเรื่องข้อจำกัดของเอไอที่ทำไม่ได้เมื่อเทียบกับมนุษย์ งานบางอย่างที่เอไอจะทำได้ดีกว่ามนุษย์ สิ่งที่ทำไม่ได้เหมือนมนุษย์ก็คือการลงพื้นที่การสร้างคอนเน็กชั่นกับแหล่งข่าว แต่สิ่งที่เอไอทำได้ และทำได้ดีกว่ามนุษย์แล้ว ณ ตอนนี้ คือสร้างทางเลือกในการสร้างคอนเทนต์แบบสร้างสรรค์ เช่น เราจะเขียนบทความ มันสามารถสร้างตัวเลือก เป็นร่างให้เราเอามาเป็นตัวเลือกได้ ในการเขียน” ดร.เอกพล ระบุ

แจงปมลิขสิทธิ์ ฝึกฝนเอไอแต่ต้น

ส่วนประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ ในแง่มุมนักวิชาการมองว่าจะมีปัญหาในอนาคตอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคที่ใช้เอไอ ดร.เอกพล ระบุว่า เรื่องลิขสิทธิ์ เป็นเหมือนกับเรื่องกลไกเบื้องหลังในการสร้างตัวเอไอขึ้นมา การที่จะจับลิขสิทธิ์กับเอไอ ณ ปัจจุบันที่เขาใช้เป็นแนวทางกันอยู่ ก็คือใช้เอไอในการจับลิขสิทธิ์จากเอไออีกทีหนึ่ง ดังนั้นในวงการต่างๆ ก็คุยเรื่องนี้้กัน ในการสร้างเอไอต้องพยายามไม่ใช้ฐานข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์เอามาเป็นตัวฝึกฝนเอไอในการสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา มันจึงเป็นรากฐานตั้งแต่การสร้างระบบเบื้องหลัง

เมื่อถามว่า ข้อมูลที่เป็นงานของบุคคลที่โพสต์ขึ้นไปถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ทุกชิ้นหรือไม่ ดร.เอกพล อธิบายว่า เอไอที่เริ่มทำในระบบหลังบ้าน จะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะจะใช้ข้อมูลที่ไม่มีลิขสิทธิ์มาฝึกฝน ก็จะมีภาพบางชุด เอไอก็ใช้ฐานข้อมูลคล้ายๆ กระดานสนทนา หรือพันทิปบ้านเรา แต่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการสนทนาขนาดใหญ่ ที่สามารถเอามาใช้ในการฝึกฝนตัวเอไอได้ โดยไม่ติดลิขสิทธิ์ เช่นเรื่องของภาพ ก็จะมีฐานข้อมูลที่ไม่มีลิขสิทธิ์ เพื่อใช้ในการฝึกฝน เขาก็คุยกันว่า ต้องพยายามไม่ใช้ข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ในเบื้องหลัง

กม.ยุโรปซีเรียสเรื่องละเมิดสิทธิบุคคล

ขณะที่กฎหมายฉบับแรกของสหภาพยุโรป ที่ออกมาควบคุมกำกับดูแลเอไอ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และให้เวลา 3 ปี เพื่อเคลียร์ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ คิดว่าเพียงพอหรือไม่ สุดท้ายจะเป็นไปทางไหน ดร.เอกพล กล่าวว่า เรื่องกฎหมายตัวใหม่ ก็จะเกี่ยวโยงกับประเด็นที่เขาพยายามแก้ปัญหาเบื้องหลัง คือจะทำอย่างไรไม่ให้ติดเรื่องลิขสิทธิ์ 

เนื้อหาของกฎหมายจริงๆ อาจจะไม่ได้เข้มข้นกับเรื่องคอนเทนต์ขนาดนั้น แต่พูดถึงเรื่องของการเอาเอไอมาเฝ้าระวัง หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เอามาจับเรื่องที่เขาห้ามเลย ก็คือการจับรีแอ็คของคนตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท เอามาใช้ประเมินบุคคล อันนี้เป็นสิ่งที่เขาซีเรียสมากกว่า และก็จะมีสิ่งที่คาบเกี่ยวกันคือ ฐานข้อมูลที่จะใช้นำมาฝึกฝนเอไอ ต้องไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ห้ามใช้

แนะสื่อทดลองใช้-วางมาตรฐานองค์กร

อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วของเทคโนโลยีเอไอ ดร.เอกพล ระบุว่า เท่าที่ได้คุยกับนักวิชาการด้านเอไอถือว่าเกินคาดอยู่พอสมควร มันเร็วกว่าที่คิด แม้ว่าคนที่อยู่ในวงการเอไอก็ยังรู้สึกว่ามันเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เดิมสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันของเรา ตามการคาดการณ์ของวงวิชาการต่างๆ เขาคาดว่าจะเกิดขึ้นในประมาณปี 2030 แต่มันเกิดขึ้นแล้ว ณ วันนี้ เพราะฉะนั้นอนาคตอาจจะใกล้กว่าที่เราคิด 

จึงมีข้อแนะนำสำหรับวงการสื่อว่า ควรจะรีบเอามาลองใช้ และต้องรักษาสมดุลย์ระหว่างเรื่องที่ประโยชน์มหาศาล กับความเสี่ยงที่อาจจะตามมา 

“วงการสื่อทุกวันนี้หลายๆที่ ก็ทดลองใช้กัน สิ่งที่่สำคัญคือ เรื่องการปรับกฎเกณฑ์ แต่ละที่ซึ่งจะต้องวางมาตรฐานของตัวเอง เพราะยังไม่มีมาตรฐานกลางออกมา อย่างน้อยเราก็ต้องรู้ตัวเราเองก่อนว่า เราควรจะใช้แค่ไหน และต้องคุยกันในกองบรรณาธิการก่อนว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ความยืดหยุ่นของแต่ละที่ อาจจะแตกต่างกันได้ ตามบริบทของตัวเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องยึดไว้คือมาตรฐานเบื้องต้นของงานวารสารศาสตร์ ก็คือการรายงานข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์สาธารณะ อันนี้ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่เสมอ” ดร.เอกพล ทิ้งท้าย. 

+++++++++++++++++++++++