รายงานสถานการณ์ด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2567

รายงานสถานการณ์ด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2567

ปี 2567 สื่อมวลชนไทยเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง ยังถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือในสถานการณ์ต่างๆ อันเนื่องจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ : Artificial Intelligence หรือ AI เข้ามาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงนิเวศสื่อที่เปลี่ยนไป อำนาจและอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสูงขึ้น รวมถึงปัญหาความแพร่หลายของ Fake News หรือ Disinformation ที่ตามมา

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในฐานะองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสำหรับสื่อมวลชน ซึ่งยกระดับจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 มีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนทุกแขนงให้คงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของสังคม โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการที่ประกอบด้วยภาคส่วนสำคัญต่างๆ ทั้งนักวิชาชีพ นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนอย่างเข้มแข็ง ได้ติดตามสถานการณ์ด้านจริยธรรมสื่อมวลชนในประเทศไทย และผลักดันกิจกรรมที่จะช่วยให้สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถปรับตัว เติบโต เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยคงไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพ และเป็นที่พึ่งพิงของสังคมได้อย่างยั่งยืน

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2567 ดังนี้

แนวปฏิบัตินี้มีทั้งสิ้น 5 หมวด รวม 15 ข้อ หมวดที่ 1 บททั่วไป หมวดที่ 2 บทนิยาม หมวดที่ 3 การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขององค์กรสื่อมวลชน หมวดที่ 4 การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน/ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนงานข่าว และหมวดที่ 5 การสนับสนุนวิชาชีพและการพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2567  

เหตุผลในการจัดทำแนวปฏิบัตินี้ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน การผลิตข่าวและการพัฒนาบริบทข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าวสารต่าง ๆ ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ : Artificial Intelligence (AI) โดยนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเนื้อหาข่าว ตั้งแต่การแสวงหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเรียบเรียงและปรุงแต่งข้อมูล การสร้างสรรค์เนื้อหา การผลิตข่าวจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกหลากหลายรูปแบบ ไปจนถึงการเผยแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างสรรค์ผลงานข่าวสารเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ แต่การใช้ประโยชน์จาก AI ในงานสื่อสารมวลชนยังมีข้อจำกัดที่ต้องทำความเข้าใจ จึงเห็นสมควรให้มีแนวปฏิบัติในการใช้ AI ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการพัฒนาด้านงานสื่อมวลชนและการใช้เทคโนโลยี AI อย่างเหมาะสมภายใต้กระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ และเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

สาระสำคัญบางช่วงบางตอนของแนวปฏิบัตินี้ เช่น การใช้ประโยชน์จาก AI ในกระบวนการผลิตเพื่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ต้องยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอย่างเคร่งครัด องค์กรสื่อมวลชนต้องจัดระบบกระบวนการผลิต และวิเคราะห์เนื้อหา ตัวอักษร คลิปเสียง คลิปวิดีโอ ภาพดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันข้อมูล โดยตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากหลายแหล่งที่มา ก่อนนำไปสร้างสรรค์ประมวลผลด้วย AI จนถึงการเผยแพร่ ต้องมีมนุษย์เป็นผู้กำกับดูแล และรับผิดชอบในทุกกระบวนการ

ภาพข่าว ภาพประกอบข่าว ขององค์กรสื่อมวลชนที่ผลิตด้วย Generative AI ต้องระบุให้ทราบอย่างชัดเจน ด้วยข้อความ การใส่ลายน้ำ หรือตราสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งลงในภาพที่สื่อความหมายว่า “ผลิตด้วย AI” เพื่อให้ผู้อ่าน หรือผู้รับสารทราบ และเพื่อแสดงความโปร่งใส และความรับผิดชอบด้านมาตรฐานวิชาชีพขององค์กรสื่อมวลชน ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ต้องให้ความสำคัญกับข่าว เนื้อหาข่าว ในกระบวนการรายงานข่าว ที่ผลิตโดยมนุษย์

นอกจากนี้ แนวปฏิบัติฯ นี้ ต้องได้รับการตรวจทาน ปรับปรุง ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มี AI เป็นส่วนร่วม เพื่อให้การใช้ AI สอดรับต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พึงจัดให้มีคณะทำงาน หรือที่ปรึกษาส่วนกลาง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ AI ด้านความความปลอดภัยไซเบอร์ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นักวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ฯลฯ เพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ติดตามประเมินผล และการพัฒนาวิชาชีพ แก่องค์กรสมาชิก เพื่อให้การใช้ AI สอดรับต่อการปฏิบัติงาน และตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแล AI อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ไม่บ่อยครั้งนัก และต้องเป็นเรื่องใหญ่ อยู่ในความสนใจของประชาชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงจะออกแถลงการณ์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันดังกล่าว ความว่า

ตามที่ปรากฏเหตุการณ์บุคคลสูญหายตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นที่สนใจในสังคมอย่างกว้างขวาง และในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า บุคคลสูญหายดังกล่าวได้ถึงแก่ความตาย โดยผู้ต้องหาซึ่งเป็นสามีของผู้ตายได้รับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรมภรรยาของตนเอง จากเหตุการณ์ดังกล่าวสื่อมีการนำเสนอข่าวโดยใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดขณะที่สามีก่อเหตุใช้ความรุนแรงต่อภรรยาอย่างทารุณโหดร้าย อีกทั้งบุตรซึ่งเป็นเด็กเล็กอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ซึ่งมีลักษณะการนำเสนอข้อมูลและภาพที่กระทบต่อเด็ก และตัวบุคคลที่เป็นการเฉพาะตัวอันอาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และละเมิดต่อมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อมวลชน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั้น

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก ได้หารือร่วมกันแล้วเห็นว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว และยังมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือผู้ปกครองหรือบุคคลในครอบครัวของเด็ก จึงมีมติให้องค์กรสมาชิกนำเสนอข่าวดังกล่าวโดยยึดมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อมวลชน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ตกเป็นข่าวอย่างเคร่งครัด

ในปี 2567 คณะกรรมการจริยธรรมได้พิจารณาเรื่องร้องเรียน ทั้งร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยคณะกรรมการฯ ทั้งสิ้น 9 เรื่อง โดยคณะกรรมการจริยธรรมมีมติให้ยุติการพิจารณา 6 เรื่อง เนื่องจากผู้ร้องใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรม ผู้ร้องพอใจคำชี้แจงและการนำเสนอข่าวแก้ไขจากผู้ถูกร้อง หรือผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นองค์กรสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยได้ส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพที่ผู้ถูกร้องเป็นองค์กรสมาชิก เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการของสภาวิชาชีพดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีมติให้เตือนองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกให้ระมัดระวังการนำเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์ 1 เรื่อง คงเหลืออยู่ในกระบวนการพิจารณา 2 เรื่อง โดยมีเรื่องร้องเรียนสำคัญที่พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วดังนี้

รายละเอียดเอกสารร้องเรียนระบุว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้โฆษณาเชิญชวนให้ลงทะเบียนเสียเงินเข้าไปเรียนรู้ดูพระแท้กับปรมาจารย์วงการพระเครื่องเมืองไทย ในราคาหลักสูตรละ 2,500 บาท เมื่อจบหลักสูตรแล้วจะได้นำความรู้นั้นไปแยกแยะพระแท้ พระปลอมตามมาตรฐานสากลได้ด้วยตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ทางผู้จัดอบรมรู้อยู่แล้วว่าผู้ที่เชิญมาสอนนั้นไม่มีความรู้ที่จะสามารถยืนยันได้ว่าพระองค์ไหนเป็นพระแท้ และพระองค์ไหนเป็นพระปลอม และมาตรฐานสากลก็ไม่มีอยู่จริง หากทางผู้จัดงานอบรมได้ลงโฆษณาบอกความจริงทั้งหมดผู้คนคงไม่หลงเชื่อเสียเงินลงทะเบียนไปเรียนรู้อย่างแน่นอน เพราะไม่มีอะไรให้เรียนรู้ดูพระแท้ตามมาตรฐานสากลได้เลยตามวัตถุประสงค์ของทางผู้จัดงานที่ได้ลงโฆษณาไว้ ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์ในการโฆษณาเชิญชวนให้มาลงทะเบียนเรียนรู้ดูพระแท้ตามมาตรฐานสากลที่ทางผู้จัดอบรมลงโฆษณาไว้

กรณีนี้ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ชี้แจงว่า สืบเนื่องจาก นสพ.เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ได้จัดโครงการ “เรียนรู้ดูพระแท้กับเดลินิวส์” เกี่ยวกับพระเครื่องเบญจภาคีล้ำค่า โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ให้ยืมอุปกรณ์ ตู้พระเครื่องให้จัดโชว์และจัดส่งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ มีชื่อเสียงในวงการพระเครื่องมาบรรยายให้ความรู้จำนวนมาก โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี รายได้บางส่วนหลังหักค่าใช่จ่ายมอบให้ โรงพยาบาลสงฆ์ ตามวัตถุประสงค์

ส่วนกรณีผู้ร้องเรียนได้สมัครเข้าอบรมในครั้งที่ 1 (6 มกราคม 2567) ครั้งเดียวเกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆัง ตลอดการบรรยายได้ซักถามข้อสงสัยอย่างต่อเนื่อง พยายามถามย้ำพระแท้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ มีการเซ็นเอ็มโอยูหรือไม่ วิทยากรตอบย้ำไปหลายครั้งว่า มาตรฐานสากลไม่ได้ เพราะต่างชาติไม่ได้รับถือศาสนาพุทธ มีเพียงชนชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อถือศรัทธาและการบรรยายก็ยึดมาตรฐานนิยมของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยที่กลุ่มคนส่วนใหญ่เชื่อถือ จนจบการบรรยาย ผู้ร้องได้รับประกาศนียบัตรพร้อมผู้เข้าอบรมคนอื่นๆ

ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2567 ผู้ร้องไปร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เจรจาไกล่เกลี่ยจนผู้ร้องยอมยุติเรื่อง แต่ยังอ้างว่า พระสมเด็จวัดระฆังแท้ต้องเป็นไปตามความคิดของผู้ร้องคนเดียวเท่านั้น เพราะรับสืบทอดมาจากสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี มาโดยตรง ของคนอื่นแอบอ้างทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผู้ร้องได้แจ้งความดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่ สภ.เมือง สิงห์บุรี

คณะกรรมการจริยธรรมจึงมีมติให้ยุติการพิจารณา เนื่องจากผู้ร้องได้ใช้สิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินการตามกฎหมาย (แจ้งความดำเนินคดี) กับสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์) อันถือเป็นการใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรมแล้ว และให้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ร้องเพื่อทราบตามขั้นตอนต่อไป

ผู้ร้องเรียนมีหนังสือขอให้ช่วยตรวจสอบกรณีเว็บไซต์ เพจ Facebook , Youtube และ Tiktok ของ Thai PBS ได้นำข่าวที่สำนักงาน ป.ป.ท.ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบโครงการปรับปรุงปลูกหญ้าสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง โรงเรียนเทศบาลบ้านโตนด ของเทศบาลตำบลบ้านโตนดไปเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยมีรายละเอียด คือ คำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ในการตอบข้อคำถามต่อสำนักงาน ป.ป.ท. , คลิปเสียง อีกทั้งมีภาพประกอบโดยไม่ทำการเบลอหน้า และนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเทศบาลตำบลบ้านโตนดมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ปรากฎในเว็บไซต์ เพจ Facebook , Youtube และ Tiktok Thai PBS เกิดความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม อันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จึงอยากขอให้ท่านช่วยตรวจสอบว่ากรณีการลงข่าวดังกล่าว เป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2564 หรือไม่

กรณีนี้ ไทยพีบีเอสชี้แจงว่า การนำเสนอข่าวโรงเรียนบ้านโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย สร้างผิดแบบทั้งลู่วิ่ง เสาไฟ ซึ่งมีการที่ลงพื้นที่โดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่เทศบาลทราบ เพราะเห็นว่าหน่วยงานที่เชิญเป็นหน่วยงานภาครัฐคือ ปปท. และไทยพีบีเอส ก็ลงพื้นที่ไปกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำข่าวตามปกติ ข่าวนี้ก็ได้ตรวจสอบข้อมูลและไม่ได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายใด ได้แจ้งนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นผู้ร้องว่าไทยพีบีเอสได้ลงข่าวคำชี้แจงต่างๆ ของนายกเทศมนตรีไปแล้ว

ทั้งนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้แจ้งผู้ร้องให้ทราบถึงคำชี้แจงของไทยพีบีเอส ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่าไม่ติดใจ คณะกรรมการจริยธรรม จึงมีมติให้ยุติเรื่อง และทำหนังสือแจ้งผู้ร้องทราบ

คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาโดยมองว่าการนำเสนอข่าวของเพจหรือเว็บไซต์ต่างๆ ไม่มีการบ่งชี้ให้ชัดเจนว่าเป็นการโพสต์ในเพจเรื่องล้อเล่นซึ่งนำมาใส่ไว้ตรงท้าย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนที่เข้ามาอ่านข่าว

คณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อมูลแหล่งข่าวที่มาไม่ใช่เพจเป็นทางการของอิลอน มัสก์ แต่สื่อนำมาขยายว่าอิลอน มัสก์ จะซื้อหมูเด้ง ทำให้ประชาชนหรือสังคมรับรู้ว่าอิลอน มัสก์ จะซื้อหมูเด้ง เรื่องนี้ สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวได้แต่ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าเป็นการล้อเลียน ไม่ควรเสนอเสมือนเป็นเรื่องจริง เพื่อจงใจขายข่าว จึงมีมติให้แจ้งสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกระมัดระวังการนำเสนอข่าวจากสื่อออนไลน์ที่ไม่เป็นทางการ และเป็นข่าวล้อเลียน หากนำเสนอควรระบุในพาดหัวข่าวและข่าวให้ชัดเจนว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องล้อเลียน ไม่ใช่เรื่องจริง

สำหรับเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ การพาดหัวข่าวของสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมกรณีไฟไหม้รถบัสนักเรียน โดยใช้คำว่า “ย่างสด” การพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ และกรณีนักแบดมินตันทีมชาติไทย พลาดเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก

โดยสรุปแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังคงได้รับการร้องเรียนด้านจริยธรรมจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าว บางส่วนมาจากการร้องเรียนของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการนำเสนอข่าวสารหรือภาพข่าวต่างๆ ของสมาชิก และอีกบางส่วนเป็นการหยิบยกประเด็นปัญหาการละเมิดจริยธรรมผ่านคณะทำงาน คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สำหรับในปี 2568 แนวโน้มการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านจริยธรรมเพิ่มมากขึ้น เช่น การใช้ AI ในการนำเสนอข่าวอย่างไม่ระมัดระวัง รวมถึงการนำข้อมูลหรือเรื่องราวต่างๆ จากโซเชียลมีเดียมานำเสนอโดยไม่มีการกลั่นกรอง จนอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดและเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้สื่อมวลชนตรวจสอบข้อมูลด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงจริยธรรมวิชาชีพวิชาชีพเป็นหลักในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน.   

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

27 ธันวาคม 2567