สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถกปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานต่างชาติ หัวข้อ “สื่อไทยกับสิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน” จี้เสนอแนวปฏิบัติสำหรับสื่อ

 44589

 

         เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ที่โรงแรมนิวแทรเวิลลอด์จ จ.จันทบุรี  สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเสวนา “สื่อไทยกับสิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน” โดยมีสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคตะวันออก องค์กรภาคประชาชน รวมทั้งนักวิชาการนิเทศน์ศาสตร์ในพื้นที่ร่วม

         นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนาว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ทำหน้าที่ในเรื่องการดูแลด้านจริยธรรมสื่อ ได้จัดเวทีในลักษณะนี้มาแล้ว 3 ภาคด้วย           ความร่วมมือจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากเล็งเห็นถึงการดูแลในเรื่องสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และผู้ต้องหา การจัดเวทีที่ จ.จันทบุรี ครั้งนี้ได้เล็งเห็นถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติและการละเมิด          ด้านเชื้อชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องจริยธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.จันทบุรี และตราด มีแรงงานกัมพูชาเดินทางมาทำงานจำนวนมาก และถูกละเมิดทั้งจากสื่อในท้องถิ่นและสื่อออนไลน์ ซึ่งเวทีนี้จะได้รับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้านเพื่อจะได้หาข้อสรุปในการออกเป็นแนวปฏิบัติต่อไป

         ขณะที่นายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ ถือว่าเป็นวันครบ 1 ปี ของกรรมการชุดนี้ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนมีบทบาทในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทั้งนี้ เรื่องสิทธิมนุษยชนมีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โดยที่การไม่เคารพซึ่งกันและกัน และเกิดการเบียดเบียนระหว่างชนชั้นและศาสนา จึงมีการริเริ่มในการมีปฏิญญาสากลด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นและหลายประเทศ เพื่อให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก กระทั่งปี 2540 ทั้งที่เรื่องสิทธิมนุษยชนมีมาแต่เกิดจนถึงตาย เราพยายามทำความเข้าใจในเรื่องไกลตัว และเมื่อเราเข้ามาสู่ประชาคมอาเซียน เราจึงต้องให้ความสำคัญและความตระหนัก และไม่ฉุดรั้ง ไม่แบ่งแยกชนชั้น และศาสนา เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างกระแสในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มีการเคลื่อนตัวมากขึ้น

44694

                 จากนั้น มีการเสวนาในหัวข้อ “สื่อไทยกับสิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชน นายอุลิช ดิษฐประณีต กรรมการสภาทนายความภาค 2 ,นายเทโฮยา เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์กลางพันธมิตรแรงงานและสิทธิมนุษยชน (เซ็นทรัล) ราชอาณาจักรกัมพูชา นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และนายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด ร่วมเวที โดยมีนางสาวสุวรรณา จิตประภัสสร์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายสุรพงษ์ กองจันทึก  ระบุว่า  สื่อมวลชนมีความหมายมากกว่าคนธรรมดา ได้รับการยกย่อง ว่าเป็นคนที่สามารถสร้างสรรงาน และต้องเป็นอิสระ  แต่สื่อก็ตีองมีจริยธรรม ซึ่งจะต้องมีการควบคุม ดังนั้นผู้เป็นสื่อต้องคำนึงถึงเรื่อง 3 ประการ คือ หนึ่ง ความเป็นธรรม : ไม่ใช่เรื่องของความเป็นกลาง เมื่อเป็นสื่อต้องแสวงหาเรื่องราวต่างๆให้สังคมทราบ และทำในสิ่งที่ถูกต้อง และประเด็นเหล่านี้ ในจริยธรรม เราจะไม่มีความเป็นกลาง แต่เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง และสื่อต้องไม่สร้างความแตกแยก เราต้องทำงานแบบสื่อเพื่อสันติภาพ เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบ

เรื่องที่สองความมีอคติ ความชอบ หรือความไม่ชอบคือ ความเป็นอคติ หากมองในเรื่องอคติจะทำให้ใส่อารมณ์ลงไป ทำให้ภาพของข่าวออกมาอย่างจงเกลียดจงชัง จะทำอย่างไรให้เสนอออกมาด้วยความเกลียดชัง แต่ต้องทำด้วยความรัก ให้สังคมเดินได้ และสุดท้าย เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกลุ่มที่ด้อยโอกาส ต้องดูแลมากกว่าอื่น เช่น เด็ก เยาวชน เราต้องคุ้มครอง

“สื่อเราเป็นหนังสือพิมพ์ โลกสื่อสารก้าวหน้าไปมากไม่ออนเพลท แต่ออนไลน์มากกว่าแล้ว โฆษณาน้อยคนดูน้อย  แต่ออนไลน์เร็วกว่า  กว้างกว่า จึงต้องมามองในเรื่องโลก และสื่อก็ไม่ควรจะใช้ภาษาที่ดูถูกเชื้อชาติอย่าง พม่าเหี้ยม กระเหรี่ยงโหด แรงงานเขมรเหี้ยม อย่างนี้”

ดร.อุลิช ดิษฐประณีต ชี้ให้เห็นว่า สื่อคือเสียงสะท้อน แต่ละประเทศมีกฎหมายสื่อที่แตกต่างกัน ที่เราพบอยู่ตลอดโดยเฉพาะ เรื่องการทำผิดเรื่องดูหมิ่นเชื้อชาติ หรือผู้ตาย, จะมีความผิดอาญา แต่หากติชมในเรื่องถูกต้องไม่ต้องรับโทษ ขณะนี้พระราชบัญัติคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม เพราะมีหลายมาตราที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งความผิดทางคอมพิวเตอร์ยอมความกันไม่ได้ ไม่เหมือนกฎหมายอาญาที่ยอมความได้ สื่อมวลชนจึงต้องระวัง นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องต่างๆ เช่น อนุสัญญาเกี่ยวกับเชื้อชาติ, อนุสัญญาการลงโทษ, สิทธิคนพิการ หรือสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องปรับปรุง

นายเทโฮญา กล่าวว่า จากการสำรวจจำนวนแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยพบว่า มีราว 1 ล้านคน และมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามาถูกกฎหมาย ถามว่า ทำไมไม่เข้ามาอย่างถูกต้อง ก็เพราะมีค่าใช้จ่ายที่แพง และชาวกัมพูชาไม่มีเงินมากพอ เนื่องจากทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าทำพาสปอร์ตที่สูงถึง 300-800 ดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ชาวกัมพูชามีรายได้เพียง 4-5,000 บาท/เดือน จึงต้องเข้ามาอย่างผิดกฎมาย และถูกกดขี่ และเมื่อถูกจับก็ถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่สื่อมวลชนก็จะลงข่าวแบบเข้าข้างผู้ประกอบการอย่างเดียว ซึ่งมองชาวกัมพูชาในสายตาที่ดูแคลน ที่ผ่านมาแรงงานชาวกัมพูชาถูกเอาเปรียบ บางทีไม่จ่ายค่าแรงนานหลายเดือนก็ไม่เป็นข่าว ทำให้แรงงานกัมพูชามีทัศนคติที่ไม่ดีกับสื่อไทยและผู้ประกอบการไทย ซึ่งทุกวันนี้ ชาวกัมพูชาต้องพึ่งพาจากประเทศไทยทั้งงานและวัฒนธรรมอย่างการดูละครไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความลำเอียง ความมีอคติต่อชาวกัมพูชาด้วย

ด้านนายชาติชาย  สุทธิกลม ระบุว่า อยากในสื่อมวลชนไทยมองในเรื่อง 1) เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2) การไม่เลือกปฏิบัติ และเลือกไม่ปฏิบัติต่อผู้ด้อยโอกาส 3) การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อย่างตำรวจ 4) เราต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งโลกยุคนี้เป็นยุคของความไร้พรมแดน อย่างคนไทยไปทำงานในประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกันเหมือนประเทศอื่นๆ เวลาคนไทยไปกระทำผิด และออกสื่อ ถูกกระทำจากคนต่างชาติ เรายังไม่พอใจ เรามองกลับกัน ประเทศเพื่อนบ้าน 10 ประเทศเคลื่อนย้ายคนเป็นเรื่องปกติ  และเรื่องของอาชีพ เกิดอะไรขึ้น นี่คือสิ่งที่อยากจะสะท้อน

ด้านนายจักรกฤชณ์  แววคล้ายหงษ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่เทโฮญากล่าว เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกันมานานและยังถูกเสี้ยมจากเหตุการณ์ทั้งในเรื่อง กบ สุวนันท์ คงยิ่ง หรือ เขาพระวิหาร รวมทั้งการอพยพหนีของคนกัมพูชากลับประเทศหลัง คสช.ยึดอำนาจ ซึ่งสื่อท้องถิ่น มีการรายงานข่าวเหล่านี้และใช้ภาษาที่ละเมิดจริง และก็มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนมีความเข้าใจผิดกัน ซึ่งยอมรับว่าสื่อท้องถิ่นอาจจะไม่รู้หรือไม่มีความเข้าใจ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม สื่อกัมพูชาเองก็มีการกระทำเช่นนี้กับคนไทยเช่นกัน โดยเฉพาะเป็นห่วงช่วงมีการเลือกตั้งในกัมพูชา ดั้งนั้น สื่อมวลชนทั้งสองประเทศจึงควรหารือกันในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้น

จากนั้นในช่วงบ่าย นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมระดมสมองกับผู้เข้าร่วมเสวนาเพื่อหาข้อเสนอแนะทางแก้ไข ซึ่งสรุปได้ว่า

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเกิดจากความไม่รู้ ความไม่ใส่ใจของสื่อมวลชนท้องถิ่นและส่วนกลางที่ใช้ความเคยชินในการพาดหัวข่าว หรือรายงานข่าว จึงน่าจะมีการให้การศึกษาโดยการให้กรรมการสิทธิมนุษยชน และสภาวิชาชีพ รวมทั้งสถาบันการศึกษา อบรมและให้ความรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง นั่นคือ ประการแรก และประการที่ 2 การเผยแพร่คำที่ใช้ หรือไม่ควรใช้ ในการพาดหัวข่าว เช่นคำที่มาต่อท้ายที่แสดงให้เห็นถึงการดูหมิ่นเชื้อชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน เช่น คำว่า เขมรโหด พม่าเหี้ยม หรือคำต่างๆ ที่เป็นการพิพากษาทั้งๆ ที่เขายังเป็นเพียงผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย เป็นต้น