ฟังเหตุผลสื่อต่างชาติย้อนมองไทย กำกับดูแลกันเองล้มเหลว-แก้ที่ใคร?

20Th_0103

“…การกำกับดูแลตนเองนั้นย่อมดีกว่าการกำกับดูแลโดยภาครัฐอย่างแน่นอน โดยชี้ว่าหากดูประเทศที่จัดอันดับตามความโปร่งใส (Transparency International) ของรัฐบาลแล้วจะพบว่าห้าสิบอันดับแรกแทบจะไม่มีการกำกับดูแลสื่อโดยรัฐบาล หากสื่อไม่ได้กำกับดูแลตนเองแต่ถูกรัฐบาลกำกับแล้วเสรีภาพของสื่อในฐานะผู้ตรวจสอบก็จะหายไปด้วยเช่นกัน…”

ในโอกาสครบรอบ 20 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา

ท่ามกลางประเด็นการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ที่กำลังถูกสังคมตั้งคำถามอย่างร้อนแรงว่า ตกลงแล้วสื่อสามารถดูแลกันเองได้ หรือว่าจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปร่วมสอดส่องด้วย ?

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไม่รอช้า เชิญผู้แทนสภาการหนังสือพิมพ์ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย สวีเดน อินโดนีเซีย เมียนมาร์ มาร่วมกันหารือผ่านงานสัมมนา “ประสบการณ์กำกับดูแลกันเองของสื่อจากนานาชาติ” ที่ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพ ฯ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

@สวีเดนเสรีภาพสื่อสูง ต้องมีการกำกับเพื่อลดละเมิดความเป็นส่วนตัว

นาย Ola Sigvardsson ผู้แทนจากคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนวิชาชีพหนังสือพิมพ์สวีเดน (Swedish Press Ombudsman) ซึ่งขึ้นตรงกับสภาการหนังสือพิมพ์สวีเดน หนึ่งในสภาการหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มต้นประเด็นนี้ว่า กฎหมายของสวีเดนที่เกี่ยวข้องกับสื่อนั้นมีความเก่าแก่มากและแม้จะมีการแก้ไขหลายครั้งด้วยกันแต่ก็ยังคงหลักการให้อำนาจต่อสื่ออย่างเสรีไว้เสมอ ความเสรีนั้นมีมากเสียขนาดที่ว่าหลายกรณีมีผู้รู้สึกว่าตนถูกสื่อละเมิดแต่ด้วยกฎหมายดังกล่าวศาลจึงมักตัดสินให้สื่อชนะคดี จึงมีแนวคิดการกำกับดูแลจึงเกิดขึ้นเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน มิให้ถูกสื่อละเมิดต่อชื่อเสียงอย่างไรก็ได้ ด้วยแนวคิดว่าเสรีภาพและการเคารพความเป็นส่วนตัวต้องดำเนินไปควบคู่กัน

ระบบการกำกับดูแลของประเทศสวีเดนเกิดขึ้นจากองค์กรสื่อต่าง ๆ ได้แก่ สมาคมผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์สวีเดน สมาคมผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยาสาร สหภาพนักข่าวสวีเดนและสโมสรผู้สื่อข่าวแห่งชาติร่วมกันจัดตั้งและให้ทุน โดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ สภาการหนังสือพิมพ์สวีเดนเป็นสมาคมวิชาชีพที่รับผิดชอบร่างหลักจรรยาบรรณที่ครอบคลุม และตรวจสอบดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงสื่อออนไลน์ที่ยินยอมพร้อมใจ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ออนไลน์เข้าร่วมกว่า 38แห่งและกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการแยกตนออกจากสื่อมือสมัครเล่นที่ปรากฎอยู่ทั่วไปตามอินเตอร์เน็ตที่มักจะไม่ใส่ใจจรรยาบรรณ

กรณีที่มีผู้ร้องเรียน คณะกรรมการรับเรื่องน้องเรียนจะพิจารณาว่ากรณีนั้นมีเหตุผลอันควรหรือไม่ หากพิจารณาแล้วว่าสื่อปฏิบัติผิดจรรยาบรรณจริงก็จะส่งคำวินิจฉันไปยังสภาการหนังสือพิมพ์ เพื่อขอความร่วมมือให้สื่อดังกล่าวตีพิมพ์มติของสภาการหนังสือพิมพ์

ในแต่ละปีคณะกรรมการ ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนสูงถึง 500 เรื่อง การร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาชญากรรมและละเมิดความเป็นส่วนตัวทั้งนี้ผู้ไม่เกี่ยวข้องไม่สามารถร้องเรียนแทนผู้เสียหายได้และสภาจะไม่พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความถูกต้อง (correctness) ของข่าว เนื่องจากการตัดสินใจกำหนดความจริงนั้นซับซ้อนเกินไป แต่จะพิจารณาความเสียหายที่เกิดจากการรายงานข่าวนั้นแทน

นาย Ola ยกตัวอย่างการสองกรณีซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวทั้งคู่ โดยคณะกรรมการชี้ว่าการที่หนังสือพิมพ์เปิดเผยชื่อผู้แสดงความคิดเห็นที่สร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์โดยปกปิดตัวตนเป็นเรื่องที่ไม่ผิดจริยธรรม เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ถือเป็นพื้นที่สาธารณะตั้งแต่ต้น ในขณะที่การที่สื่อเปิดเผยชื่อจริงของนักแสดงที่ใช้สารเสพติดถือเป็นเรื่องผิดจริยธรรม เนื่องจากแม้นักแสดงจะเป็นบุคคลสาธารณะก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะในแง่เดียวกันกับนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมแต่อย่างใด การเปิดเผยชีวิตส่วนตัวนอกเหนือจากหน้าที่ของนักแสดงคือให้ความบันเทิงจึงถือเป็นการละเมิดจรรยาบรรณ

@ออสเตรเลียเน้นดำเนินการเชิงรุก ออกข้อควรปฏิบัติกรณีต่าง ๆ และส่งเสริมเสรีภาพสื่อ

ศาสตราจารย์ David Weisbrot ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย (Australian Press Council: APC) แนะนำโครงสร้างองค์กรว่า มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ นอกเหนือจากบุคคลในแวดวงการสื่อ โดยประธานสภา ฯ มักเป็นผู้พิพากษาหรือนักวิชาการและกำลังมุ่งหน้าสร้างความหลากหลายให้สภาการหนังสือพิมพ์ ฯ เป็นพื้นที่ของความหลากหลายทางชาติพันธุ์

อำนาจหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียคล้ายกับสวีเดน กล่าวคือรับข้อร้องเรียนด้านจริยธรรมสื่อ เมื่อพิจารณาแล้วว่าสื่อทำผิดจริยธรรมตามข้อร้องเรียนจริง จะส่งเรื่องให้สื่อนั้นตีพิมพ์คำวินิจฉัยให้ปรากฎเด่นชัดบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ ในแต่ละปีมีข้อร้องเรียนถึง 500 – 700 เรื่อง เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากแรงขับทางสังคมออนไลน์ จำนวนหนึ่งในสามของเรื่องร้องเรียนทั้งหมดได้รับการแก้ไขหรือคำขอโทษรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียยังทำหน้าที่ในทางเผยแพร่แนวทางปฏิบัติของสื่อในกรณีต่าง ๆ เช่น การรายงานข่าวช่วงใกล้เลือกตั้ง การรายงานข่าวครอบครัวและความรุนแรงในบ้าน การรายงานข่าวอัตวินิบาตกรรม เป็นต้น และยังส่งเสริมเสรีภาพของสื่อด้วยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการต่าง ๆ เมื่อภาครัฐร้องขอ และมีการมอบรางวัลแก่ผู้อุทิศตนเพื่อเสรีภาพสื่อด้วย

@สภา นสพ. อาเซียนเพิ่งปลดแอก ลดการถูกแทรกแซง เพิ่มการกำกับดูแลกันเอง

นาย Ahmad DjauharTasan รองประธานสภาสื่อมวลชนอินโดนีเซีย (Press Council of Indonesia) เผยว่า แม้จะก่อตั้งมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 1968 ในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน แต่ในอดีต สภาฯ ก็มีหน้าที่เพียงเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลเท่านั้น เนื่องจากตามโครงสร้างแล้วประธานสภา ฯ ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร โดยสภาสื่อมวลชนได้รับอิสระในการกำกับดูแลตนเองในปี 1999 ที่การปฏิรูปครั้งใหญ่ของประเทศทำให้สภาสื่อมวลชนไม่มีตัวแทนจากภาครัฐอีกต่อไป

หน้าที่ของสภาสื่อมวลชนอินโดนีเซีย คือ ปกป้องเสรีภาพสื่อให้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง กำกับดูแลด้านจริยธรรมวิชาชีพ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนและสนับสนุนกฎข้อบังคับทางจริยธรรมของสื่อ

ส่วนนาย Aung HlaTun รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์จากเมียนมาร์ กล่าวว่า เมียนมาร์มีเสรีภาพสื่อมานานแล้ว แต่ก็ถูกพรากไปด้วยการรัฐประหารในปี 1962 เป็นผลให้สื่อจำนวนมากต้องปิดตัวลงและสื่อมวลชนต้องโทษจำคุก ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเสรีภาพสื่อถูกพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างประชาธิปไตย โดยรัฐบาลทหารได้ริเริ่มให้มีสภาสื่อหลักที่มีอดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อ สภาสื่อมวลชนที่เป็นอิสระก่อตั้งเมื่อสองปีที่ผ่านมา เป็นองค์กรอิสระจากความร่วมมือขององค์กรสื่อต่าง ๆ ในประเทศ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับด้านจริยธรรม อย่างไรก็ดี สื่อในเมียนมาร์ยังถูกกำกับอย่างเข้มข้นด้วยกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายเรื่องความลับทางราชการที่ตกทอดมาจากยุคอาณานิคม และมาตรา 66 ของกฎหมายควบคุมสื่อที่เปิดโอกาสให้มีการละเมิดเสรีภาพสื่ออย่างกว้างขวาง

@ความล้มเหลวในไทย นำมาสู่คำถามใครควรเป็นผู้กำกับ? สื่อหรือรัฐบาล

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติระบุว่าที่ผ่านมาการกำกับดูแลกันเองของไทยไม่ประสบผลสำเร็จนัก เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกอย่างเพียงพอ ประกอบกับเมื่อมีความไม่พอใจในการปฏิบัติงานเกิดขึ้นสมาชิกก็เลือกที่จะลาออก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ได้มีการปฏิรูปสภาการหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง

จากที่มีข้อกังขาว่าการกำกับดูแลกันเองของสื่อจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ประกอบกับกระแสร้องเรียนให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้กำกับดูแลสื่อ นาย Ola ยืนยันว่า เรามาพูดในวันนี้เพื่อพิสูจน์ว่าการกำกับดูแลตนเองของสื่อสามารถมีประสิทธิภาพได้ ประเทศสวีเดนมีกลไกนี้มานานแล้ว

“การกำกับดูแลตัวเองยังมีพลังมากในการสร้างสำนึกทางจริยธรรมต่อสังคมอีกด้วย”

ปิดท้ายด้วยนาย David ตัวแทนจากออสเตรเลีย ยืนยันว่า การกำกับดูแลตนเองนั้นย่อมดีกว่าการกำกับดูแลโดยภาครัฐอย่างแน่นอน โดยชี้ว่าหากดูประเทศที่จัดอันดับตามความโปร่งใส (Transparency International) ของรัฐบาลแล้วจะพบว่าห้าสิบอันดับแรกแทบจะไม่มีการกำกับดูแลสื่อโดยรัฐบาล หากสื่อไม่ได้กำกับดูแลตนเองแต่ถูกรัฐบาลกำกับแล้วเสรีภาพของสื่อในฐานะผู้ตรวจสอบก็จะหายไปด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดคือสารพัดความเห็นจากตัวแทนสภาการหนังสือพิมพ์นานาชาติ ในเรื่องเสรีภาพสื่อ และความจำเป็นถึงการกำกับดูแลสื่อ

ย้อนกลับมามองไทยถึงความพยายามในการเข้ามาแทรกแซงให้เจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทกำกับดูแลสื่อมากขึ้น แต่สื่อเองที่มักอ้างว่า ขอกำกับดูแลตัวเองเพื่อเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่มีหลายแห่งไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการเสนอข่าวทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเด็ก หรือละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้อื่น ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

คำถามจึงถูกโยนกลับมาที่สมาคมวิชาชีพสื่อ และสื่อมวลชนไทยเองว่า ควรแก้ที่ใคร ?

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา