กฎอัยการศึกปฏิวัติซ่อนรูป

ayakarn

กฎอัยการศึกปฏิวัติซ่อนรูป : กระดานความคิด โดย”จอกอ”จักร์กฤษ เพิ่มพูล

              การประกาศกฎอัยการศึก ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แม้ไม่เรียกว่าการปฏิวัติ แต่ก็มีส่วนคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง และแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมิใช่หัวหน้าคณะปฏิวัติ แต่การให้อำนาจฝ่ายทหารเหนือพลเรือนอย่างเบ็ดเสร็จ ในสถานการณ์ที่ไร้รัฐบาลที่ชอบธรรม พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมมีอำนาจสูงสุดในประเทศยามนี้ มากไปเสียกว่าอำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร มากกว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเสียอีก

นั่นคือ อำนาจครอบจักรวาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) มีคำสั่งฉบับหนึ่ง ห้ามการเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ในวันเดียวกับวันที่ประกาศกฎอัยการศึก โดยมีเนื้อหาสำคัญ ห้ามนำเสนอข่าวสาร ทั้งในรูปแบบของเอกสาร ภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ การออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิล สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุชุมชน ตลอดจนการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีเจตนาบิดเบือน ปลุกระดมให้สร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย แตกแยก หรือมีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว การเข้าใจผิด จากนั้นได้สั่งห้ามการเผยแพร่ออกอากาศทั้งหมดของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง และวิทยุชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย

คำสั่งนี้ไม่แตกต่างจากคำสั่งคณะปฏิวัติที่ต้องประกาศเป็นลำดับต้นๆ หลังยึดอำนาจ คือ ให้หัวหน้าส่วนราชการรายงานตัว สั่งห้ามสื่อเผยแพร่ข่าวหรือข้อความอันอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง ยกเว้นยังไม่มีคำสั่งยกเลิกบังคับใช้รัฐธรรมนูญ การยึดหรืออายัดทรัพย์สินนักการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชั่น

ปฏิบัติการประกาศกฎอัยการศึก ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองใกล้จะถึงจุดสงครามกลางเมืองครั้งนี้ เป็นการ “โยนหินถามทาง” และป้องปรามเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อปรากฏข่าวการพบอาวุธสงครามจำนวนมากที่คาดว่าจะเดินทางมายังใจกลางมหานคร ดังนั้นในห้วงระยะเวลาสั้นๆ นี้ จึงนับว่าเป็นความยินดีของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกกดดันอยู่ภายใต้ภาวะความไม่แน่นอน และสังคมที่ไร้ระเบียบมายาวนาน ให้พอมีช่องหายใจ ได้คลายความวิตกจริตลงบ้าง

เป้าหมายระยะสั้นของผู้ก่อการประกาศกฎอัยการศึก คือ ความพยายาม “กุมสภาพ” ให้ได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการตรวจสอบกำลังรบ ตรวจแถวทหาร ประเมินกำลังข้าศึก ก่อนที่จะก้าวข้ามไปขั้นตอนต่อไป นั่นคือจัดการให้รัฐบาลรักษาการขาดๆ วิ่นๆ นี้ออกไป หาวิธีการที่จะให้มีรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลโดยผ่านวุฒิสภา โดยในระหว่างดำเนินการทั้งหมดนี้ จะต้องให้ปรากฏภาพความเป็นร่างเงา กปปส.ให้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลย แน่นอนนี่ย่อมเป็นเรื่องเข้าใจได้

แต่ประเด็นสำคัญที่ผมและเพื่อนพ้องในองค์กรวิชาชีพทั้งหลาย ยืนยันว่าจะไม่ไปรายงาน หรือแม้ปรากฏตัวในที่ทำการของคณะผู้ประกาศกฎอัยการศึก คือ เราไม่ยอมรับการละเมิดหลักการพื้นฐานเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน แม้จะอ้างเรื่องความมั่นคง หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ประการหนึ่งหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือตำรวจ มีอำนาจจัดการได้ตามกฎหมายที่มีอยู่ ประการหนึ่ง บริบททางสังคมหรือภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะปิดกั้นอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะทำได้อยู่แล้ว ตรงกันข้าม ยิ่งปิดกั้นก็จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงมากขึ้น

รัฐธรรมนูญมาตรา 45 ตราไว้ชัดเจนว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพ จะกระทำมิได้ การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้

ผมไม่เห็นว่า การปิดกั้น หรือลิดรอนเสรีภาพของสื่อครั้งนี้ จะมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร เพราะกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่แบ่งเป็นสองฝ่ายนั้น คือกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มที่มีความเชื่อและมีความภักดีอย่างเหนียวแน่นกับผู้นำของเขาอยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุด นี่เป็นการละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานของประเทศประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพก็ไม่มีประชาธิปไตย