กสทช.ฟองสบู่ : กระดานความคิดโดย”จอกอ”

กสทช.

กสทช.ฟองสบู่ : กระดานความคิดโดย”จอกอ”จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                การเปิดช่องทางหายใจให้กับวิทยุชุมชน เป็นสื่อชุดสุดท้ายที่ถูกปลดปล่อยจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นการก้าวเข้าสู่หล่มโคลนแห่งความวุ่นวายสับสน มากขึ้นท่ามกลางการจัดการของเจ้าหน้าที่ฟองสบู่แห่ง กสทช.

มหากาพย์วิทยุชุมชน ดำเนินมาจนเกือบถึงตอนจบ หลังจากที่ คสช.ประกาศฉบับที่ 79/2557 เรื่อง เงื่อนไขในการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557

โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ได้มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 66/2557 เรื่อง การออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการกำหนดให้สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการออกอากาศต่อไปได้ตามปกติ เมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คล้ายฟ้าหลังฝน บนผืนดินแตกระแหง จากวันนั้นชาววิทยุชุมชนต่างก็ตั้งตานับวันคอยเงื่อนไข จากข้อกำหนดอย่างเป็นทางการ

เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ หลังวันที่ 14 มิถุนายน จนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ได้มีประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง แนวทางการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ โดยในประกาศฉบับนั้น กสทช.ได้กำหนดกฎเกณฑ์ ประกอบด้วย เป็นสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงจากคณะกรรมการ กสทช. เท่านั้น ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ที่กำหนดกำลังส่งออกอากาศไม่เกิน 500 วัตต์ ความสูงของเสาไม่เกิน 60 เมตร รัศมีการให้บริการไม่เกิน 20 กม.

ครั้งนั้นประกาศ กสชท.ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ และผ่านทางเว็บไซต์ วันต่อมาเลขาธิการ กสทช. ระบุว่าจะมีสถานีวิทยุจำนวน 377 สถานี ที่อาจจะได้ออกอากาศก่อนเพราะได้ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ และผ่านการตรวจมาตรฐานเครื่องส่งแล้ว

แต่หลังจากวันนั้น เงียบกริบ ไม่มีแม้เสียงกระซิบจาก กสทช.

ไม่มีมนุษย์สักคนใน กสทช.จะตอบคำถามได้ว่า เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร

จนกระทั่ง กสทช.ได้ออกประกาศสำนักงาน เรื่อง แนวทางปฏิบัติของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ในการออกอากาศตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 79/2557 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ในการที่จะออกอากาศตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 79/2557 เรื่อง เงื่อนไขในการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ออกประกาศผ่านทางเว็บไซต์ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 และส่วนหนึ่งก็ได้มีการส่งผ่าน ทวิตเตอร์เลขาธิการ กสทช.

เขาบอกว่าจะมีการปล่อย เรือ 3 ลำ ที่มีโอกาสออกอากาศได้

เรือลำแรก คือ ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ใช้เครื่องส่งที่ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิค ให้ออกอากาศต่อไปได้ตามปกติ

เรือลำที่สอง เป็นของผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ใช้เครื่องส่งที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ ให้ออกอากาศได้เมื่อเครื่องส่งได้ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิค

และเรือลำที่สาม สำหรับผู้ที่ได้ยื่นคำขออนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงไว้ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2555 แล้ว และคำขออยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ออกอากาศได้เมื่อได้รับอนุญาตและเครื่องส่งได้ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศ

ส่วนสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกระงับการออกอากาศ เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ระงับการออกอากาศไว้จนกว่าเหตุแห่งการระงับนั้นจะสิ้นสุดลงหรือคดีถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

ผู้ที่นั่งอยู่ในเรือทั้ง 3 ลำจะออกอากาศได้ ก็ต้องเมื่อมาทำข้อตกลงและออกอากาศได้เมื่อ กสทช.ประกาศรายชื่อผ่านเว็บไซต์ กสทช.เท่านั้น และเมื่อได้อนุญาตให้ออกอากาศแล้ว สถานีวิทยุเหล่านั้นต้องดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ทำ นำเข้า มี ใช้ ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน มิฉะนั้น จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยต้องยุติการออกอากาศทันที

กสทช.ได้นัดหมายให้สถานีวิทยุที่มีความพร้อมที่จะทำเอ็มโอยู สามารถแสดงตัวและยื่นเอกสารได้ที่สำนักงาน กสทช.เขตต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เวลาบ่ายโมงเป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกอบการหลายคนไปที่สำนักงาน กสทช.เขต แต่พบว่าไม่พร้อมและยังไม่ได้เตรียมการจึงได้นัดหมายให้มาในวันที่ 11 กรกฎาคม เป็นต้นไปโดยให้บริการในช่วงวันหยุดยาว

การทำเอ็มโอยูนั้น สำหรับเรือลำแรก ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก มีเอกสารครบ ได้แก่ ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ใบแสดงผลการตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิค ใบอนุญาตให้ทำ นำเข้า มี ใช้ ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ต้องมีใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ใบแสดงผลการตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิค ซึ่งทั้งสองกลุ่มของเรือลำแรกนี้ ต้องแสดง “เอกสารตัวจริง”

กรณีนี้มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ เพราะความล่าช้าในการอนุมัติใบอนุญาต แม้จะเป็นการต่ออายุเป็นปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษายน เวลาผ่านมา 3-4 เดือน ก็ยังไม่ได้รับตัวจริง แม้เจ้าหน้าที่จะเช็กสถานะของใบอนุญาตว่าอนุมัติแล้ว ลงนามแล้ว แต่ยังอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ก็ทำให้ไม่สามารถทำเอ็มโอยู เพื่อขออนุญาตออกอากาศได้ เพราะต้องแสดงเอกสารตัวจริงเท่านั้น

เอกสารตัวจริงที่ต้องการ แต่ กสทช.ทำไม่เสร็จ แต่เจ้าหน้าที่ กสทช.เขตก็ยืนกรานว่า ต้องตัวจริง !

และจนถึงนาทีนี้ กสทช.ฟองสบู่ ก็ยังหาบทจบของมหากาพย์นี้ไม่ได้