พลังงานของเหตุผล : กระดานความคิด โดย’จอกอ’

 

เหตุผล

พลังงานของเหตุผล

พลังงานของเหตุผล : กระดานความคิด โดย’จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

               ผม คุณประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คุณวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และคุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชวนกันไปนั่งคุยกับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และทีมงาน ตามคำเชิญของ คสช.เมื่อบ่ายวันจันทร์ (21 กรกฎาคม 2557)

เรื่องสำคัญ ที่ต้องทำความเข้าใจและขอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิก ทบทวน แก้ไข คือประกาศฉบับที่ 97 อันมีเนื้อหาเป็นการลิดรอนสื่อ อีกทั้งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเบ็ดเสร็จ ในการปิดหนังสือพิมพ์ ระงับการออกอากาศในทันที โดยไม่มีกระบวนการแก้ไข ตักเตือน เช่นเดียวกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับก่อนๆ

คุณประดิษฐ์ อธิบายรายละเอียดของเนื้อหา ที่เขาเรียกว่า “บาดใจ” สื่อมวลชน และย้ำให้ คสช.ใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่ในการจัดการสื่ออย่างเคร่งครัด ในขณะที่คุณวิสุทธิ์ คุณก่อเขต ได้ช่วยกันให้ภาพที่ชัดขึ้นของประกาศฉบับนี้ ที่อาจส่งผลให้กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับให้แก่ฝ่ายตรงข้าม

ผมให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบให้เห็นว่าระหว่างประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97 ประกาศฉบับที่ 97 เป็นประกาศที่สะท้อนความเป็นอำนาจนิยมมากที่สุด คือไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีกระบวนการให้แก้ไข ตักเตือนก่อน ถึงแม้ คสช.จะมีเจตนาดีอย่างไร แต่ถ้าอ่านเนื้อความทั้งหมดโดยเฉพาะข้อ 2 (3) แปลว่า จะเป็นใครก็ได้ มีสิทธิที่จะปิดหนังสือพิมพ์ และระงับรายการได้ทันที นี่เป็นปัญหาที่จะต้อน คสช.เข้ามุมอับ

“…ตั้งแต่ที่ คสช.เข้ามา สื่อส่วนใหญ่ก็มีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวอยู่แล้ว บรรยากาศดีขึ้น ถ้าสื่อไหนทำผิดจริยธรรม เราก็มีองค์กรที่กำกับดูแลกันอยู่แล้ว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ของคุณก่อเขต ผมรับรองว่าเราจะไม่ปกป้องกันแน่ ถ้าทำผิด เรากำลังจะไปได้ดี อย่าให้มาสะดุดกับเรื่องเล็กน้อยนี้เลย”

ผมอธิบาย ในขณะที่ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งจดทุกถ้อยคำที่หัวโต๊ะ ฝั่งตรงข้าม นายทหาร 4-5 คน นำโดยรองปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งฟังอย่างตั้งใจ

หลังจากตัวแทนสื่อได้แสดงความเห็นแล้ว พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้คำตอบว่า ในฐานะที่เคยรับผิดชอบงานในกิจการพลเรือนมาตลอด เขาจึงเข้าใจในทุกเรื่องที่สื่อมวลชนเสนอ และว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ไม่สบายใจมากในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงกลาโหมก็มีหน้าที่เพียงรับฟัง และจะเสนอข้อมูลที่ได้รับต่อ คสช.ในทันที

ค่ำวันเดียวกัน คสช.มีประกาศฉบับที่ 103/2557 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97/2557 ยกเลิกความที่เคยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือข้อกำหนดที่ห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์ การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็น “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ” ความที่กำหนดขึ้นใหม่ อธิบายชัดขึ้นว่า ต้องมีเจตนาไม่สุจริต ประกอบกับข้อมูลอันเป็นเท็จ แปลว่า ยังต้องมีภาระการพิสูจน์ มากกว่าการกล่าวอ้างเพียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างลอยๆ

ที่สำคัญ คือ การยกเลิกความในข้อ 5 ที่เดิมกำหนดให้ คสช.สั่งปิดหนังสือพิมพ์ ระงับการออกอากาศรายการได้ทันที มาเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ซึ่งหมายถึงภาระกลับมาอยู่ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มองอีกมุมหนึ่งคือ ผมเข้าไปกระทรวงกลาโหมด้วยตัวเบาหวิว ขากลับแบกหินออกมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสังเกตว่า ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มีบางอย่างซุกซ่อนอยู่ เช่น ความผิดตามกฎหมาย คสช.ก็อาจส่งให้ องค์กรสื่อรับผิดชอบด้วย ซึ่งก็ต้องอธิบาย ทำความเข้าใจกันต่อไป

แต่อย่างน้อย วันนี้เราได้พิสูจน์แล้วว่า ความกลัวทำให้เสื่อมจริงๆ

เพราะเมื่อเราไม่กลัว ความเท็จก็หายไป