เครือข่ายสื่อท้องถิ่นภาคใต้ตื่นตัวทำปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม

เครือข่ายสื่อท้องถิ่นภาคใต้ตื่นตัวทำปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 62 องค์กรวิชาชีพสื่อ-วิชาการ-ภาคประชาสังคม  ได้แก่  คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  Change Fusion  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้   ร่วมจัดเวทีเสวนาสัญจรภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต เรื่อง “สื่อท้องถิ่นกับการรับมือข่าวลวงและด้านมืดยุคดิจิทัล” โดยมีสื่อท้องถิ่นจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้มาร่วมแลกเปลี่ยน  ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการรับมือกับข่าวลวงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะทำให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เสียทรัพย์สินเงิน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการ เพื่อให้เกิดความตื่นตัว สนใจ ในข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกันทำงานเพื่อรับมือ ติดตามตรวจสอบ  รายงาน   เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ  และรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม
  2. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร สื่อสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง อย่างมุ่งพัฒนาประชาชนในประเทศไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)
  3. ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ด้านการต่อต้านข่าวลวง รวมทั้งหาแนวปฏิบัติต้นแบบเพื่อให้เกิดฐานความรู้และแนวทางปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพลังความรู้ของสังคม
  4. พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงานและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้ง โดยภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ
  5. สนับสนุนการรวมพลังเพื่อผลักดันให้แพลทฟอร์มต่างๆ มีมาตรการในการลดการเกิดขึ้นของข่าวลวง ร่วมสกัดกั้นการแพร่กระจายของข่าวลวงอย่างรวดเร็ว

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์อดีต กสทช. กล่าวว่า  การจัดการข่าวลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดต้องอาศัยพลังของการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เกิดจากการสั่งการโดยหน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียว

“ต้องอาศัยพหุภาคีและการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายไม่ใช่การควบคุมหรือรวมศูนย์โดยอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันประเด็นเรื่องข่าวลวงมักจะถูกยึดเป็นประเด็นทางการเมืองหรืออำนาจรัฐเพียงอย่างเดียวทำให้ประชาชนรู้สึกไกลตัว ทั้งที่จริงแล้วประชาชนทั่วไปเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบ หากรัฐบาลจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติโดยเอาผลประโยชน์และการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง”

ก่อนหน้านี้มีความเห็นจากตัวแทนสื่อภาคใต้ที่สอดคล้องประเด็นเดียวกัน  นายเสริฐ ทองดี นายกสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าข่าวลวงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เกิดผลกระทบแก่คนทั่วไป มีกรณีตัวอย่างเช่นข่าวลวงพาดหัวเรื่องแท็กซี่เอาเปรียบนักท่องเที่ยวในภูเก็ตแล้วใช้ภาพที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างมาก จนทำให้ต้องมีการแก้ไขข้อเท็จจริงจากเครือข่ายสื่อในพื้นที่แล้วแชร์ข้อมูลแก้ไขย้อนกลับไปยังกลุ่มต่าง ๆ

ด้านนายภูวสิษฎ์ สุขใส  บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัสจากจังหวัดสงขลา เห็นว่า เครือข่ายในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะตรวจสอบข่าวลวงในเบื้องต้นและช่วยกระจายข่าวสารให้แพร่หลายอย่างทั่วถึง สิ่งที่น่าห่วงใยคือข่าวลวงที่เผยแพร่ส่วนใหญ่จะไม่ได้มาจากสื่อกระแสหลักแต่มาจากสื่อออนไลน์และสื่อใหม่ต่าง ๆ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อและแชร์ต่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์คือผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสาร

ส่วนนายอานนท์ มีศรี เครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ยืนยันว่า สื่อกระแสหลักทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นที่พึ่งเพื่อเสนอข่าวสารที่ถูกต้องเป็นความจริงและช่วยตรวจสอบแก้ไขข้อมูลหลอกลวงต่าง ๆ แต่ก็ย้ำบทบาทของเครือข่ายภาคประชาชนที่จะช่วยติดตามกลั่นกรองข้อมูล

ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ยกตัวอย่างการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนว่าการฝึกฝนทักษะให้เท่าทันสื่อและรู้จักวิธีเลือกรับและเชื่อข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกๆที่ต้องเร่งทำ พร้อมกับการเร่งสร้างเครือข่ายผู้บริโภคให้เกิดขึ้นมาก ๆเพื่อช่วยสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวลวง

นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว เครือข่ายสื่อมวลชน จังหวัดภูเก็ต แสดงความห่วงใยเรื่องข่าวลวงที่มักจะเชื่อมโยงเรื่องการเมืองและศาสนาโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  และต้องการผลักดันให้มีกระบวนการกลั่นกรองข่าวจากเจ้าของ platform สื่อออนไลน์เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ