นายกสมาคมนักข่าวฯ นำองค์กรวิชาชีพสื่อ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือถึง คสช.

 

picture

 

นายกสมาคมนักข่าวฯ นำองค์กรวิชาชีพสื่อ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือถึง คสช. ขอให้ช่วยสนับสนุนออกกฎหมายควบคุมการพีอาร์หน่วยงานรัฐ ชี้ที่ผ่านมามีปัญหารั่วไหล แถมพรีเซนต์หน้านักการเมืองมากกว่าเนื้อหาสาระ แถมบีบสื่อหนุน รมต. และรัฐบาล ทำให้สื่อขาดอิสระ ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐได้ วันนี้ (15 ส.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 13.30 น. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เดินทางมายื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกเรื่องขอให้มีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนรับหนังสือทั้งนี้ นายประดิษฐ์ กล่าวว่า การมายื่นเรื่องครั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในทิศทางที่มีปัญหาและมีความรั่วไหล โดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในการรับรู้มาก ที่สำคัญมีการใช้งบประมาณเหล่านี้ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของคนที่เป็นนักการเมือง รัฐมนตรี ข้าราชการ ปลัดกระทรวง และอธิบดีต่างๆ มากกว่าเรื่องเนื้อหาสาระที่เป็นความรู้ จึงเห็นว่าควรมีกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา อีกทั้งที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณทุ่มซื้อสื่อและมีคำขู่ตลอดให้สื่อสนับสนุนรัฐมนตรีและรัฐบาล หากไม่สนับสนุนก็จะถูกถอนโฆษณา ทำให้สื่อขาดความเป็นอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองในการตรวจสอบโครงการต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะและประเทศชาติ จึงมีความจำเป็นต้องผลักดันกฎหมายนี้ให้ได้ จากนี้จะมีการเดินหน้ายกร่างกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ได้ขอให้หัวหน้า คสช. ประกาศเป็นแนวนโยบายของ คสช. ว่ารัฐมนตรีที่มีจาก คสช. ต้องไม่เน้นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตัวรัฐมนตรี หรือใช้งบประชาสัมพันธ์ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และขอให้เป็นแบบอย่างต่อไป

ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ตัวแทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า รูปแบบของกฎหมายประเภทนี้ไม่ได้ห้ามเรื่องการโฆษณา แต่จะต้องชัดเจนว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากโฆษณานั้นๆ รวมทั้งห้ามไม่ให้มีรูปภาพและชื่อเสียงที่เกี่ยวพันกับบุคคล และมีรายละเอียดระบุว่าหน่วยงานใดเป็นผู้จ่ายเงิน มีการประเมินผลหลังจากนั้นทุกสิ้นปี ต่อจากนี้ทางทีดีอาร์ไอและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมกับองค์กรสื่อมวลชน 4 องค์กรหลักจะช่วยกันจัดร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อไป