ความเห็นแย้งนายสมชัย : ‘จอกอ’

somchai

ความเห็นแย้งนายสมชัย

ความเห็นแย้งนายสมชัย : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ที่ทำให้ กกต.มีเรื่องเล่ามากมาย เสนอความเห็นเกี่ยวกับสื่อในบางประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อสัปดาห์ก่อน สิ่งที่เขาพูดและผมเห็นด้วย

“โดยส่วนตัวมองว่า หากไม่มีการปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปด้านอื่นๆ ก็อาจล้มเหลวทั้งหมด”

ถึงแม้ว่า หนทางในการเข้าถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะไม่ง่ายนัก แต่ไม่ว่าจะมีโอกาสนั้นหรือไม่ หน้าที่ของเราก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อ องค์กรสื่อได้ตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ 4 ปีมาแล้ว และเมื่อช่วงปลายปี 2556 ก่อนหน้า คสช. คณะทำงานฝ่ายวิชาการ นำโดย รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ รศ.ดร.จุมพล รอดคำดี รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ 3 อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้ทำงานศึกษาเรื่องการปฏิรูปสื่อยุคดิจิทัล โดยการมอบหมายของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางที่สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป คณะทำงานได้เชิญสื่อมวลชนอาวุโสหลายคนมาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา เช่น ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีต ส.ส.ร.ผู้เป็นต้นร่างปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีต ผอ.อสมท ก่อนที่จะสรุปเป็น 11 เรื่องที่จะต้องมีการปฏิรูป และในเค้าโครงการปฏิรูปนี้ ผมได้สรุปเป็นพิมพ์เขียวในการปฏิรูปสื่อยุคดิจิทัล ให้แก่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปของกระทรวงกลาโหม ตามคำร้องขอไปแล้วก่อนหน้านี้

ฉะนั้น ความเห็นของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในเรื่องความสำคัญของการปฏิรูปสื่อ จึงไม่แตกต่างกัน จะต่างก็เพียงการเอาจริงเอาจังเรื่องการปฏิรูปสื่อ ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการมีหรือไม่มีคสช. เพราะเป็นภาระหน้าที่ปกติ ที่เราทำอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นจะต้องเลือกมาพูดในจังหวะที่มีการสรรหา สปช. หรือพยายามแสดงราคาของผู้รู้แจ้งเรื่องการปฏิรูปสื่อ ทั้งที่ไม่มีความรู้

สิ่งสำคัญที่ผมเห็นว่า นายสมชัยอาจจะไม่มีความรู้มากพอในเรื่องสื่อ คือ ความเชื่อที่ว่า สื่อมวลชนมีเสรีภาพจนยอมตกเป็นเครื่องมือ หรือกลไกสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะหากตีความว่า สื่อมวลชนให้พื้นที่นักการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนกลายเป็นเครื่องมือให้แก่การเมืองฝ่ายนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพมากหรือน้อยไป แต่เป็นการเลือกจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งก็ยังต้องถกเถียงกันว่า เป็นอุดมการณ์หรือความอยู่รอดทางธุรกิจ แต่ที่ชัดเจนก็คือ เรื่องเสรีภาพเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับการเลือกข้างทางการเมือง ซึ่งการทำงานของสื่อมวลชนส่วนใหญ่คือ การยึดหลักเสรีภาพ บนความรับผิดชอบอยู่แล้ว ส่วนสื่อการเมืองที่เป็นส่วนน้อย ถึงแม้จะถูกเรียกขานว่าสื่อ แต่ก็ไม่ใช่สื่อในความหมายที่จะใช้หลักการทำงานปกติมาอธิบายได้

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัล ไม่เพียงเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งในหลายครั้งมีส่วนสำคัญในการละเมิดจริยธรรมเท่านั้น หากแต่เทคโนโลยีการสื่อสารยังกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ใช้เป็นสื่อที่สร้างความแตกแยก ร้าวฉาน ให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยอีกด้วย สื่อเหล่านี้ได้ใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญถ่ายทอดวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หรือ เฮทสปีช (Hate Speech) ประการสำคัญพวกเขาไม่ใช่สื่อ ตราบที่ไม่ได้มีมาตรฐานจริยธรรมกำกับการทำงาน

สมมุติฐานของนายสมชัยเรื่องสื่อการเมือง จึงเป็นเรื่องของสื่อที่ถ่ายทอดความคิด ความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง การสร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชังซ้ำๆ ที่ปรากฏในทีวีดาวเทียมหลายช่อง ก่อนหน้า คสช. ซึ่งไม่ใช่สื่อในความหมายที่นายสมชัย เข้าใจ

กระบวนการปฏิรูปสื่อในยุค คสช.กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ถ้าทุกคนตระหนักในหน้าที่ และทำในเรื่องที่ตัวเองมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประเทศไทยก็อาจขับเคลื่อนไปได้บ้าง แต่ถ้าตาบอดแล้วริคลำช้าง ก็เสียเวลาเปล่า