สภาการสื่อฯ ประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก (Media Ombudsman)

คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ มีมติรับรองข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก พร้อมเดินหน้าโครงการระดมสมองค้นคว้าเชิงลึก (Hackathon) เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ในการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (Infodemic)

การประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีวาระสำคัญคือ การรับรองร่างข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก ตามที่คณะกรรมการจริยธรรมเสนอ โดยที่ประชุมมีมติรับรอง พร้อมกับเห็นชอบให้ประกาศใช้ทันที เพื่อเป็นกรอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรของสมาชิก (Media Ombudsman) ในการพิจารณาเรื่องที่ถูกร้องเรียน ตามแนวทางการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมของสมาชิก (อ่านรายละเอียดทาง http://www.presscouncil.or.th/archives/6277)

โดยสาระสำคัญของข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก คือ ให้สมาชิกสภาการสื่อมวลชนฯ จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิก เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนอันเกี่ยวด้วยข่าว เนื้อหาข่าว และการแสดงความคิดเห็น ที่ปรากฏในสื่อของสมาชิก และเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่อยู่ในสังกัดองค์กรสมาชิก ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าสร้างความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว และการแสดงความคิดเห็น ที่ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ทั้งในกรณีของการรับเรื่องร้องเรียนโดยตรง หรือได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

ที่ประชุมยังรับทราบการอนุมัติให้มูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ โดยคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เสนอจัดทำโครงการระดมสมองค้นคว้าเชิงลึก (Hackathon) เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ในการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงความร่วมมือกันขององค์กรสื่อในส่วนภูมิภาคอาเซียน ถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเฝ้าระวัง และการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งแนวทางความร่วมมือให้เกิดความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชนในการดำเนินงานร่วมกันแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลก