เมื่อกิจกรรมในที่ลับ ถูกนำออกเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล

นักวิชาการชี้กรณี “น้องไข่เน่า” ฮ็อตฮิต เพราะสื่อโป๊คือความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ พร้อมยกกรณีศึกษาเม็ดเงินของอุตสาหกรรม “หนังเอวี ญี่ปุ่น” มีสัดส่วนมากถึง 10% ของจีดีพี ขณะที่คนสื่อเผย ตัวเลขบริการทางเพศในไทย มีมากกว่า 1.5 แสนราย  ด้าน บก. โต๊ะบันเทิง เตือน SEX Creator คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจผลิต – เผยแพร่ โดยเฉพาะการที่จะอยู่ร่วมกับสังคมในอนาคต

25 ก.ย. 2564 ดร. ปิยะพงษ์ อิงไธสง อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาโฆษณา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “หนังโป๊เกย์ญี่ปุ่น: การประกอบสร้างความเป็น เควียร์ และการอ่านความหมายของผู้ชม” ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “เมื่อกิจกรรมในที่ลับ ถูกนำออกเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล” กรณีเยาวชนไทยถ่ายคลิปวิดีโอระหว่างมีเพศสัมพันธ์ แล้วเผยแพร่ผ่านกลุ่มลับเฉพาะบนสื่อออนไลน์ ว่า

สื่อโป๊อยู่คู่สังคมไทยมานานแล้ว เพราะเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ แต่เนื่องจากสังคมไทยขีดเส้นใต้สื่อในกลุ่มนี้ไว้หนามาก โดยใช้ประเด็นทางศีลธรรมเป็นการตีกรอบการกระทำของสังคม สื่อโป๊ในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องผิดศีลธรรม และศีลธรรมก็ได้ถูกนำมาแปลงเป็นกฎหมายทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้นไปอีก ผู้ที่จะพูดเรื่องเพศสัมพันธ์ต่อสาธารณะสำหรับประเทศไทย จึงต้องเป็นบุคคลที่สังคมให้อำนาจ เช่น แพทย์พูดในรายการโทรทัศน์  หรือครูอาจารย์สื่อสารเรื่องสุขภาวะทางเพศกับนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเน้นถึงข้อห้ามต่าง ๆ  จึงทำให้ผู้ฟังที่อยู่ในวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่านอยากรู้อยากลอง  เนื่องจากสารที่ได้รับจากแพทย์ หรือ ครูอาจารย์ไม่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น  จึงไม่แปลกใจที่ “Only Fan” จึงได้รับการตอบรับที่ดี

“กรณีน้องไข่เน่า กับ Only Fan นั้น  แม้จะมีการจับกุมไปแล้ว แต่ก็ยังมี SEX Creator อื่นๆ ที่ผลิตเนื้อหาแบบนี้อยู่  ซึ่งในความหวังลึก ๆ ผมอยากให้เรื่องนี้ถูกกฎหมาย ประเทศไทยจะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง รวมทั้งสามารถปกป้องคนทำงานทางด้านนี้ ภายใต้ข้อกำหนด และกฎระเบียบที่ชัดเจน เช่นเดียวกับที่หลายประเทศทำ  รวมทั้งญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีรายได้จากอุตสาหกรรมสื่อโป๊ในสัดส่วนที่มากถึง 10% ของ จีดีพี  ขณะที่ประเทศไทยยังเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของการค้ามนุษย์  ซึ่งผมว่า ถ้าเราปล่อยให้เรื่องนี้หมกอยู่ใต้พรมนาน ๆ  เมื่อเวลาเปิดออกมาจะน่ากลัวมาก ดังนั้นหากยอมรับและพยายามจัดการให้เป็นไปในทางที่ดี ก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้เป็นไปอย่างทุกวันนี้”

ด้าน นายวัฒนะชัย ยะนินทร Content Editor & Webmaster ผู้จัดการออนไลน์ ให้ความเห็นว่า กรณีน้องไข่เน่าสร้างเนื้อหาการมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก และเรียกตัวเองว่า เป็น SEX Creator นั้น  มองได้ 2 มุมคือ  1) เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และเซ็กส์ยังไม่ได้เปิดเสรีเหมือนในอีกหลายประเทศ  2)เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ใครก็สามารถทำได้ และเรื่องนี้ในยุคนี้สำหรับความคิดของคนรุ่นใหม่ ประเทศไทยควรเปิดได้แล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องอาชญากรรม

“จริง ๆ เรื่องแบบนี้ในบ้านเรามีมานานมากแล้ว โลกใต้สะดืออยู่ใต้พรมในสังคมไทยมาตลอด ทุกวันนี้ คำบางคำถ้า Search บน Google ก็จะพบเรื่องราวและสถานที่ที่เกี่ยวข้องเต็มไปหมด ซึ่งชาวต่างชาติรู้ดีว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้ แต่คนไทยรุ่นเก่าอาจจะมองว่าไม่สมควร โดยมองว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ควรปิดไว้  ประเทศไทยจึงยังไม่มีกฎหมายรองรับ ใครที่ทำเนื้อหาเช่นนี้ออกมาก็ถือว่าผิด ดังนั้นการที่น้องไข่เน่าพยายามผลักดันเรื่อง SEX Creator ให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย  ผมมองว่าเป็นเรื่องยาก ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตจริงเรื่องราวเหล่านี้อยู่รอบตัวเรามานานมากแล้ว เช่น การขายบริการเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ข้อมูลปี 2563 ระบุว่า มีหญิงขายบริการในบ้านเรามากกว่า 1.5 แสนรายมีเงินหมุนเวียนมหาศาล ตรงนี้ถ้าทำให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย รัฐบาลก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ แทนที่จะปล่อยให้เป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้”  

ขณะที่นายจักริน อดิเรก หรือ “แจ็คเกอรีน” บรรณาธิการโต๊ะบันเทิงไทยรัฐ ไทยรัฐทีวี กล่าวเสริมว่า กรณี “น้องไข่เน่า-Only Fan” กับเนื้อหาที่ผลิตและมีการนำออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเนื้อหาที่มีอยู่คู่กับสังคมไทยมานานแล้ว และแม้จะไม่มี Only Fan คนไทยก็สามารถค้นพบและติดตามเนื้อหาแบบนี้ได้ไม่ยาก  ส่วน SEX Creator ที่ใครคิดจะทำเป็นอาชีพ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดและเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถทำได้ หากไม่เลยเถิดไปถึงขั้นเข้าข่ายอาชญากรรม หรือก่อให้เกิดโรคติดต่อ กระทั่งเป็นคลัสเตอร์ เนื่องจากโลกเข้าสู่ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง (อีกครั้ง) แต่สังคมไทยยังมีความหลากหลาย ผู้คนในสังคมมีความคิดที่หลากหลาย ยังมีกำแพงศีลธรรมกางกั้นไว้   ดังนั้นกิจกรรมในทางลับที่หวังว่าจะทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อนำออกเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ จึงไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะยอมรับได้

“สังคมไทยยังมีกรอบของศีลธรรม และคำว่า เมืองไทยเมืองพุทธ วงเล็บนะคะว่า มือถือสาก-ปากถือศีล หรือจะอะไรก็ตาม จึงอยากให้คนที่คิดจะเป็น SEX Creator พิจารณาให้ถ้วนถี่ อยากให้คิดถึงอนาคต  คิดถึงครอบครัว คิดถึงคนข้าง ๆ เพราะเนื้อหนังมังสาของเรามีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 10 ปี จากนั้นคุณก็ต้องออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง โลกที่ผู้คนใส่เสื้อผ้า โลกที่ผู้คนไม่ได้เดินโชว์อวัยวะ ถ้าเราต้องไปสมัครงานแล้วฝ่ายบุคคลเขารู้ เขาจะรับเราหรือไม่ สังคมรอบตัวเราจะยอมรับเราหรือไม่ เราจะถูกตรีตราในทางเสื่อมเสียหรือไม่ ถ้าเรามีลูก เราจะตอบคำถามลูกเราอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างมาแล้ว คือ เอมมี่ แม็กซิม เคยให้สัมภาษณ์กับเราว่า  เธอกำลังกังวลว่าลูกชายของเธอจะถูกเพื่อน ๆ ล้อ เรื่องของการทำงานในอดีตของเธอ  เช่นเดียวกับที่สังคมไทยกำลังพยายามจะบอกว่า ยอมรับกระเทยมากขึ้นนั้น ในความเป็นจริงก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก เพราะประเทศไทยมีกรอบและมีข้อห้ามต่าง ๆ มากมาย ทั้ง ๆ ที่เกือบทุกเรื่องที่อยู่ในกรอบหรือถูกห้ามนั้นได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยมานานนับสิบ ๆ ปีแล้ว  ดังนั้นการที่คิดจะผลิตสื่อในลักษณะของ SEX Creator จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขอให้คิดให้รอบคอบ”