เทคโนโลยีศตวรรษที่ 21 กับความท้าทายในการกำกับดูแลสื่อ

          สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยและสังคมโลกในมิติที่หลากหลายทั้งในแนวกว้าง แนวลึก และทุกบริบท สะท้อนให้เห็นได้ผ่านปรากฏการณ์สื่อสารทางสังคมหลายรูปแบบ และสิ่งที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่งก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร และข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าทะลักทะลุทะลวง กลายเป็นกระแสการรับรู้ของสังคมไปโดยปริยาย คำถามคือ ข่าวสารที่มากมายล้นเหลือผ่านสื่อของสังคมเหล่านั้น อะไรคือข่าวสารที่จริงแท้ หรือข้อเท็จจริง (Fact) และอะไรที่เป็นข้อมูลปลอม หรือข่าวลวง (Fake news) ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญของสังคม และกลายเป็นปัญหาเชิงข่าวสารอย่างเลี่ยงไม่ได้

           ปกติวิสัยแล้ว ถ้าพิจารณาจากบทบาทหน้าที่ของสื่อ หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เสมือนเป็นนายประตูข่าวสาร ทำหน้าที่เลือกและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารโดยตรง หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่ถูกคัดกรองโดยสื่อมวลชนนั้น ผู้อ่าน ผู้ดู หรือผู้ฟังก็มักจะยอมรับกันว่ามีความน่าเชื่อถือ เมื่อข้อมูลข่าวสารใด ๆ ที่ปรากฏผ่านสื่อนั้นมีความน่าเชื่อถือ สังคม หรือผู้รับก็มักจะเชื่อว่าเรื่องราวข่าวสารเหล่านั้นเป็น “ความจริงที่กรองแล้ว” โดยสื่อ เหตุเพราะว่า องค์กรสื่อสารมวลชนเป็นองค์กรที่สังคมให้บทบาทและความคาดหวังในฐานะบทบาทการพัฒนาสังคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งเป็นความประสงค์ทางสังคมในเชิงอุดมการณ์ความเป็นจริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 บทบาทการทำหน้าที่เป็นผู้เลือก ผู้กลั่นกรอง ผู้นำเสนอ หรือผู้กำหนดประเด็นสาธารณะมิได้อยู่ในกำมือของสื่อมวลชนเพียงลำพัง แต่ทุกกลุ่มของสังคมมีบทบาทการทำหน้าที่เป็น “ผู้เสนอ” ร่วมกัน

           ดังนั้น เรื่องราวข่าวสารจากทุกหลืบแหล่งในสังคม ย่อมปรากฏให้เห็นผ่านระบบการข่าว การสื่อสารทุกเครือข่าย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ เหตุเพราะว่า การพัฒนาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคสังคมดิจิทัล หมายความว่า ผู้รับสารมีโอกาสจะเลือกทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอเรื่องราวข่าวสารตามความต้องการ

          การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการสื่อสารดังกล่าว ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทุกองค์ประกอบของการสื่อสาร ซึ่งนักสื่อสารย่อมมองเห็นชัดว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงทางสังคม หมายความว่า ทุกกลุ่มของสังคมมีโอกาสสรรค์สร้างเนื้อหาเรื่องราวตามความต้องการ ผ่านช่องทางกระจายข่าวสารของสังคมที่สะดวก และรวดเร็ว ขณะเดียวกันสังคมก็มีโอกาสเลือกสรรสาระที่ตรง หรือสอดคล้อง กับความต้องการได้เช่นกัน แต่ในทางกลับกันเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความละเอียดรอบคอบ หรือระมัดระวังในการกลั่นกรองข่าวสารอย่างที่สังคมคาดหวังนั้นย่อมลดน้อยลงไปด้วย

          หากมองในมุมของกิจการด้านข้อมูลข่าวสารย่อมมองเห็นความเกี่ยวข้องโดยตรง กับการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมอย่างหนักเข้าสู่ระบบข่าวสารของสังคมจนเห็นเป็นประจักษ์ในหลาย ๆกรณี กล่าวคือ ข่าวสารถูกหยิบยก ชูเป็นประเด็นนำเสนออย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัล โดยไม่ตระหนักถึงการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง จนกลับกลายเป็นข่าวสารไม่มีมูล ไร้ที่มาเป็นข่าวลวงข่าวปลอม (Fake News) ที่แพร่กระจายผ่านสื่อดิจิทัลสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว

          สถานการณ์ทางสังคมข่าวสารดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงโดยตรงต่อสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของนิเวศสื่อ (Media Ecology) หรือภาวะ “Disruptive Technology” ที่ส่งผลต่อกิจการสื่อสารมวลชนเช่นกันคำถามคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ที่เข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่สื่อสารสู่สาธารณะตระหนักรู้ ถึงการทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อในมือของตนรวมทั้งการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน โดยให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบอย่างผู้มีจรรยาบรรณทั้งในระดับบุคคลและสังคม

           นักวิชาการด้านการสื่อสารกล่าวอีกว่า การกำกับดูแลสื่อและการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนมีความเกี่ยวโยงกันโดยตรงกับความรับผิดชอบ ถือเป็นความต่อเนื่องจากจรรยาบรรณ และความรับผิดชอบของสื่อมวลชน (สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ, 2560) การกำกับ และการควบคุมจึงเป็นเหตุเป็นผลกับการมีสิทธิ์ และการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อย่อมสัมพันธ์กันโดยตรงกับสิทธิของสังคมหรือสิทธิของประชาชน

          การกำกับดูแลและการควบคุมสื่อนั้นมิใด้เริ่มปรากฏขึ้นแต่ได้ริเริ่มแนวคิดดังกล่าวมายาวนาน ซึ่งเป็นความพยายามเคลื่อนไหวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ความพยายามผลักดันดังกล่าวก็เพื่อสร้างมาตรการ และมาตรฐานเชิงจริยธรรมให้เกิดผลในเชิงพฤติกรรมของนักสื่อสารมวลชนนั้น จะเคลื่อนไหวสอดรับทั้งในระดับภาคประชาชน สื่อมวลชน และหน่วยงานภาครัฐ ที่สะท้อนถึงการมีส่วนแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ว่ามองจากมุมใด ผลจากความพยายามในเชิงพฤติกรรมที่ยอมรับได้ต่อการกำกับดูแล และการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน

           นักสื่อสารหลายฝ่ายมองว่า เป็นเสมือนภาพมายาที่เลือนลาง หรือเป็นเพียงเสือกระดาษที่เบาบาง และแม้จะปรากฏให้เห็นเป็นข้อปฏิบัติก็ตาม แต่ผลของการปฏิบัตินั้น อาจจะไม่สอดรับกับความคาดหวังในเชิงอุดมคติของสังคมสื่อว่าด้วยการกำกับดูแลสื่อ และการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน

          หากมองในมิติของการพัฒนาสังคม อาจเปรียบได้ว่า การผลักดันให้เกิดการกำกับ และการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนย่อมถือเป็นการพัฒนาทางสังคมด้านหนึ่ง ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวย่อมมีรูปแบบวิธีการหลากหลาย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสังคมสื่อสาร แต่ความจริงที่เราต้องยอมรับข้อหนึ่งก็คือ แม้จะกระตุ้นความตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบในเชิงจรรยาบรรณ หรือมุ่งอยู่ในวงถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปถึงความคาดหวังและความต้องการ หรือความเป็นไปในการกำกับและการควบคุมสื่อมากเพียงใดก็ตาม หรือเพียงรับรู้ร่วมกัน หรือยอมรับเพียงทัศนะแต่หากพฤติกรรมของนักสื่อสารมวลชนไม่เปลี่ยนแปลง สังคมแห่งการกำกับดูแลสื่อและการควบคุมกันเองก็ย่อมไม่เปลี่ยนแปลงหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนไม่เปลี่ยนสังคมก็ไม่เปลี่ยนเช่นกัน

           อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะมีบทบาทโดยตรงต่อการกำกับดูแลสื่อ และการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนแล้วก็ตาม และกระตุ้นเตือนในเชิงจรรยาบรรณ และความรับผิดชอบต่อการใช้สิทธิในฐานะสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งกำกับเชิงความประพฤติของนักสื่อสารมวลชนเท่านั้น ดังนั้น การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมกันกำกับดูแล ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รัฐบาล และประชาชน เพื่อสร้างความสมดุล และความเป็นธรรมในสังคม จึงเป็นกลไกสำคัญต่อความท้าทายในการกำกับดูแลสื่อ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมกันกำกับดูแล ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รัฐบาล และประชาชน เพื่อสร้างความสมดุลและความเป็นธรรมในสังคม

          การควบคุมกันเองของสื่อมวลชน และการส่งเสริมภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อนับเป็นกลไกที่สำคัญ การมีภูมิคุ้มกันเพื่อดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทันสามารถปรับตัว ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านต่าง ๆทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และการสื่อสาร และได้รับประโยชน์จากการอยู่ในสังคมประชาคมโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะผู้รับสารจำเป็นจะต้องกลั่นกรอง ทั้งอยู่ในท่ามกลางของความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21

ที่มา : จดหมายเหตุ ฉบับเดือน ก.ค. – ก.ย. 64