แนวปฏิบัติ “การทำข่าวฆ่าตัวตาย” ของสภาการฯ

สภาการฯ เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น “แนวปฏิบัติการเสนอข่าวฆ่าตัวตาย” ก่อนประกาศใช้ หวังให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและช่วยสังคมแก้ปัญหา  ขณะที่ “แพทยสภาฯ” ประกาศหนุน พร้อมหารือวิธีป้องกันผู้รับสาร “ทุกข์ซ้ำซาก” จากเนื้อหาเดิมที่วนเวียนอยู่บนเครือข่ายออนไลน์ ย้ำ “ควรลบออกบ้าง” เหตุไม่เกิดประโยชน์ ด้านคนข่าวรุ่นเก๋ามั่นใจ ไม่มีใครตั้งใจให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ แต่ผู้ที่อยากเป็นสื่อต้องรู้จักคำว่า “รับผิดชอบ” 

2 ต.ค. 2564 นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ในประเด็น “แนวปฏิบัติการทำข่าวฆ่าตัวตายของสภาการฯ” ว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ทำการยกร่างแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าว ในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 จากนั้นจะนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป  

ร่างแนวปฏิบัติฯ ดังกล่าว เบื้องต้นมีอยู่ด้วยกัน 10 ข้อ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนพื้นที่สีแดง ซึ่งจะระบุข้อห้ามรวม 3 ข้อ คือ 1) ต้องไม่นำเสนอในลักษณะเน้นย้ำถึงสาเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย และ/หรือ สัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวอย่างเจาะลึก อันจะกระทบกับความรู้สึกเศร้าเสียใจของบุคคลเหล่านี้  2) ต้องไม่ด่วนสรุป หรือลดทอนความซับซ้อนของสาเหตุการตาย ทำให้การฆ่าตัวตายว่า มาจากสาเหตุ หรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง และ 3) ต้องไม่นำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายในลักกษณะที่เป็นเรื่องปกติ หรือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เมื่อเผชิญความยากลำบากของชีวิต (สอดคล้องกับหลักศาสนาพุทธที่ระบุไว้ว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาป)  และต้องไม่นำเสนอการฆ่าตัวตายว่า เป็นทางออกของปัญหา   

2. ส่วนพื้นที่สีชมพู จะระบุถึงวิธีหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายเช่น  1) ไม่นำเสนออย่างโดดเด่น หรือนำเสนอเป็นข่าวหลัก  2) ระมัดระวังพิเศษในการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของบุคคลผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารา ศิลปิน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีผู้ติดตามและอาจเกิดการเลียนแบบจากผู้ที่มีจิตใตอ่อนไหวได้ง่าย ฯลฯ  โดยในส่วนสีชมพูนี้จะค่อนข้างยืดหยุ่น คือ ให้เป็นวิจารณญาณของกองบรรณาธิการ (บก.) 

“การที่ต้องยกร่างระเบียบปฏิบัติเรื่องนี้ขึ้นมา ก็สืบเนื่องมาจากการไลฟ์สดการฆ่าตัวตายของนักวิชาการท่านหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งทำให้สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และแม้ว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในขณะนั้น จะมีแนวปฏิบัติเรื่อง การรายงานข่าวที่ต้องไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือต้องไม่นำเสนอข่าวหวาดเสียวรุนแรงมาเทียบเคียง แต่ก็มีสื่อบางสำนักเท่านั้นที่ปฏิบัติและมีแนวปฏิบัติของตัวเองอย่างเคร่งครัด ดังนั้นการออกแนวปฏิบัติโดยตรงและเป็นหลักสากล จึงเป็นการกำหนดการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชนในบ้านเรา และช่วยสังคมไปพร้อมๆ กัน” 

ทางด้าน พล.อ.ต. นพ. อิทธพร คณะเจริญ  เลขาธิการ แพทยสภา กล่าวว่า สื่อมีบทบาทสำคัญต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะในภาวะวิกฤต โดยสังคมจะหยุดคิดและมองทางออกของปัญหาต่างๆ จากสื่อว่า ควรจะเป็นไปในทิศทางใด และจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร นอกจากนี้สิ่งที่สื่อนำเสนอจะถูกฝังเข้าไปในจิตของคนไข้ที่กำลังอยู่ในความทุกข์ ต้องการการพึ่งพาและต้องการความช่วยเหลืออย่างสูง ซึ่งเข้าใจดีว่า ทุกคนมีเจตนาที่ดีที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง แต่อาจจะไม่รู้หลักการ จรรยาบรรณที่เป็นของวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้นการเพิ่มความรู้ จริยธรรม กระบวนการทำงาน และกระบวนการคัดกรองข่าวสารของผู้ที่เป็นสื่อจริงๆ เป็นมืออาชีพจริงๆ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้นำเสนอข้อแนะนำสำหรับสื่อมวลชน ในประเด็นที่เกี่ยวกับกับการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย และได้ส่งต่อให้กับสภาการสื่อมวลชนฯ นำไปพิจารณาประกอบการยกร่างแนวปฏิบัติการรายงานข่าวฆ่าตัวตาย ตั้งแต่เมื่อ 8 มิถุนายน 2564

ข้อแนะนำดังกล่าว มี 5 ประการ คือ 1. การเสนอข่าวควรระมัดระวัง ไม่ทำเป็นข่าวพาดหัว ไม่เขียนข่าวในลักษณะที่อ่านแล้วมีสีสัน หรือก่อความรู้สึกสะเทือนใจ  2. หลีกเลี่ยงการเขียนข่าวบรรยายวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด การลงภาพการกระทำ หรือฉายคลิปซ้ำ ๆ 3. หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำถึงสาเหตุ หรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งผู้ที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาอาจรู้สึกว่าผู้ฆ่าตัวตายมีปัญหาคล้ายกับตน มองว่าการฆ่าตัวตายคือทางออกของปัญหา  4. ระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเสนอข่าวผู้ฆ่าตัวตายที่เป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งสะเทือนใจ ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้สูง  5. คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือผลกระทบในทางลบต่อญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ฆ่าตัวตาย

“ข้อมูลปี 2561 คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,137 คน ปี 2562  มี 6,147 คน แปลว่าในทุกๆ วัน จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จตั้งแต่ 11 ถึง 16 คน หรือชั่วโมงละ 1 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้คนตกงาน ขาดรายได้  มีปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายขยับขึ้นอย่างน่ากลัว ขณะที่ข่าวการฆ่าตัวตายในปัจจุบัน รวมทั้งข่าวที่สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจ จะวนเวียนอยู่บนสื่อโซเชียลฯ ทำให้คนเกิดความทุกข์ซ้ำๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สภาการสื่อมวลชนฯ อาจจะต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เช่น กำหนดช่วงระยะเวลาในการเผยแพร่ และเมื่อครบกำหนดแล้วก็ต้องนำเนื้อหาประเภทนี้ออกจากระบบ รวมทั้งควรพิจารณาว่า จะต้องมีเนื้อหาที่ได้จากการสัมภาษณ์จิตแพทย์ถึงมุมมองและข้อแนะนำในการฆ่าตัวตายก่อนที่จะมีการนำเสนอข่าวแต่ละครั้ง เพื่อเป็นทางออกให้กับสังคม โดยรวม”

ขณะที่ นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล บรรณาธิการ (บก.) ข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใหญ่ของทุกสังคม และมั่นใจว่า การรายงานของสื่อก็ไม่ได้จงใจที่จะลงรายละเอียดกระทั่งจะนำไปสู่การลอกเลียนแบบ เพียงแต่เป็นการนำเสนอเพื่อมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข เช่น กรณีเด็กฆ่าตัวตาย ก็จะนำเสนอถึงปัญหา และไม่สัมภาษณ์เชิงลึกจากพ่อ-แม่เด็ก หรือในครอบครัวที่มีความทุกข์ยากเช่น เด็กอดอาหาร สื่อก็นำเสนอเพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าไปสอดส่องดูแลและช่วยแก้ไขปัญหา 

“สื่อจำเป็นต้องนำเสนอให้เห็นปัญหา เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าไปดูแลแก้ไข อย่างไรก็ตามการเสนอข่าวฆ่าตัวตายต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่า แค่ไหนถึงจะเหมาะสม ซึ่งทุกคนระวังอยู่แล้ว บ่อยครั้งที่นำเสนอเพราะมองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ นำเสนอเพื่อให้มีการป้องกัน เฝ้าระวังและแก้ปัญหา แต่บางครั้งนำเสนอไปแล้ว กลับถูกมองว่าตั้งใจนำเสนอข่าว ปั่นข่าว สร้างกระแส ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะทุกคนมีสิทธิ์มองได้ในอีกมุมหนึ่ง ส่วนอาการหลุด คือ เปิดเผยชื่อ หรือรายละเอียดนั้น ยอมรับว่า บางครั้งก็เกิดจากความเร่งรีบในการปิดต้นฉบับ และถือเป็นข้อผิดพลาดที่ต้องระวัง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เราจะระวังมากเพราะถ้าพลาดก็จะมีคนโทรศัพท์เข้ามาตำหนิเยอะ ตรงนี้ก็สะท้อนว่า สังคมยังคงมีความคาดหวังกับสื่อหนังสือพิมพ์ข้างสูง แต่ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่น หรือใครก็ตามที่อยากเป็นสื่อ ก็สามารถเป็นได้เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเปิดกว้าง เพียงแต่ต้องรู้จักรับผิดชอบให้ได้เท่านั้น” 

ดูรายการวิทยุ รู้ทันสื่อ เสาร์ที่ 2 ต.ค. 2564

https://youtu.be/52h_XEt8D9c