วงเสวนาชี้เทคโนโลยีล้ำหน้าคนยิ่งต้องรู้เท่าทันข้อมูลจริง-ลวง

วงเสวนาชี้เทคโนโลยีล้ำหน้าคนยิ่งต้องรู้เท่าทันข้อมูลจริง-ลวง

24 พ.ย. 2564 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และมูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ จัดเวทีเสวนานักคิดดิจิทัลส่งท้ายปลายปี 2564 ครั้งที่ 19 “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม” ณ รร. โนโวเทล สยาม กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย  Centre for Humanitarian Dialogue (HD)  โคแฟค (ประเทศไทย) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น  

ภายในงานมีพิธีมอบรางวัลให้กับ 5 ทีมที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดมสมองเชิงลึก “FACTkathon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” โดย รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ทีม “บอท” ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลที่สอง เงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ทีม “TU Validator” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลที่สาม เงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ ทีม “New Gen Next FACTkathon” มหาวิทยาลัยพายัพ รางวัลชมเชย มี 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท ได้แก่ ทีม “ออนซอน Online” จากมหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด และทีม “Friends for Facts” จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นอกจากนี้ มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย ยังมอบเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสำหรับทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันคือ ทีม “บอท” อีกจำนวน 60,000 บาท 

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานครั้งนี้ ว่า ทั้ง 5 ทีมได้เข้าร่วมระดมสมองเพื่อสืบค้นข้อมูล หาแนวคิดและพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบข่าวและข้อมูลสุขภาพต่างๆ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 8-10 ต.ค. ที่ผ่านมา  โดยเป็นการแข่งขันโดยทางออนไลน์ โดยความประทับใจ คือเห็นการทำงานข้ามมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่ข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาวิชา  นำมาบูรณาการได้อย่างลงตัว   จากการเข้าร่วมติดตามการแข่งขันพบว่าทั้ง 5 ทีมล้วนมีความเป็นเลิศ และมั่นใจว่าทั้ง 5 ทีม จะต่อยอดและพัฒนาแนวคิดที่ระดมสมองออกมาให้เป็นจริงในทางปฏิบัติได้

นายเฟรเดอริค สปอร์ (Mr.Frederic Spohr) หัวหน้าสำนักงานประจำประเทศไทยและเมียนมา มูลนิธิฟรีดริชเนามัน กล่าวว่า ความจริงร่วมเกิดจากการที่แต่ละคนมีมุมมองความคิดที่แตกต่างกัน  แล้วเราจะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้หรือไม่ว่า ที่ทุกคนยอมรับกันได้ในแต่ละเรื่องมีประเด็นอะไรบ้าง เพราะความจริงร่วมนั้นมีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และสร้างสังคมร่วมกัน

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมการแข่งขันระดมสมองเชิงลึก “FACTkathon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” เป็นโครงการแรกที่มีการแข่งขัน Hackathon ทางออนไลน์เพื่อค้นหานวัตกรรมการแก้ปัญหาข่าวลวง  เป็นความท้าทายทั้งผู้ร่วมแข่งขัน ผู้จัดการแข่งขันและคณะกรรมการตัดสิน อีกทั้งยังต้องประชุมทางออนไลน์เนื่องด้วยข้อจำกัดในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และกว่าจะประกาศผลรางวัลต่างๆ คณะกรรมการต้องลงมติกันหลายรอบ เนื่องจากผลงานของทั้ง 5 ทีมอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน  และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราได้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้  

จากนั้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “อ่อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง By เจษฎ์” และอาจารย์ยังได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปี 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม” ว่า สังคมไทยเคยชินกับการเชื่อตามๆ กันมา เชื่อตามวัยวุฒิ  คุณวุฒิ  เมื่ออยู่ในโลกที่ความจริงไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่เพื่อความสนุกสนาน เช่น จดหมายลูกโซ่หรือฟอร์เวิร์ดเมล ไปจนถึงบิดเบือนเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น กรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ที่มีเพียงกระป๋องเปล่ากับเสาอากาศ แต่กลับเชื่อว่าใช้งานได้จริง  เป็นต้น

การเชื่อตามกันแบบไม่ตั้งคำถามยังเกิดขึ้นแม้กระทั่งในแวดวงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ทั้งที่หัวใจสำคัญของวิทยาศาสตร์คือการพิสูจน์ความเชื่อดั้งเดิมที่ดำรงอยู่มาก่อนหน้าว่าจริงหรือเท็จ อีกทั้งวิทยาศาสตร์พร้อมจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อได้เสมอ เช่น วันนี้เชื่อว่าผีไม่มีจริงเพราะไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่ามี แต่หากในอนาคตมีผู้พิสูจน์ได้ว่าผีมีจริงวันนั้นวิทยาศาสตร์ก็พร้อมจะเชื่อว่ามีจริง ดังนั้นต้องระบบการศึกษาต้องถูกรื้อ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแม้จะรู้ว่าเด็กควรเป็นอย่างไรแต่คนเป็นครูบาอาจารย์ก็ถูกสอนมาอีกอย่าง

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบข่าวปลอมจำนวนมากนั้น มีได้ตั้งแต่ทฤษฎีสมคบคิดซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อดั้งเดิม เช่น ความไม่ไว้ใจรัฐ ประเทศหรือการแพทย์ จนถึงความพยายามส่งต่อข้อมูลเพื่อช่วยเหลือกัน เช่น ช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีข่าวโรคระบาดแล้วยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ ก็มีการส่งต่อว่าให้ลองกลั้นหายใจ 10 วินาที หากใครทำไม่ได้แสดงว่าติดเชื้อแล้ว ซึ่งข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง เป็นต้น โดยข่าวปลอมนั้นกระจายไปได้พราะตรงกับใจของผู้รับสารที่ต้องการความรวดเร็วแต่ให้ไม่ทัน แต่เมื่อรัฐจะมีมาตรการบางอย่างก็จะไปมองว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด

รศ.ดร.เจษฎา กล่าวต่อไปถึง “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” พื้นที่ออนไลน์แห่งอนาคตที่สามารถจำลองโลกเสมือนอีกใบหนึ่งแล้วให้ผู้คนเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ว่า ในอีกมุมหนึ่งก็มีประเด็นน่าห่วง คือ ในโลกนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าคนอื่นๆ ที่อยู่ด้วยจะเป็นตัวจริงหรือมีการปลอมแปลงหน้าตาเป็นบุคคลอื่น ซึ่งก่อนหน้านี้คนเราเชื่อสิ่งที่เห็นด้วยตา ต่อมาก็เชื่อสิ่งที่เห็นในภาพ และต่อมาอีกก็เชื่อสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์

กระทั่งล่าสุดเมื่อเข้าสู่ยุคของเมตาเวิร์ส คนเข้าไปอยู่ในโลกนั้นไม่ต้องออกจากบ้าน และเราก็จะเชื่อสิ่งที่อยู่ในนั้น คำถามคือเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าข้อมูลหรือเนื้อหาที่เราเชื่อไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ขณะเดียวกันระบบการเงินในอนาคตก็จะไม่ใช่เงินที่ประเทศรับรอง เช่น เงินบาท แต่เป็น “เงินคริปโต (Cryptocurrency)” ซึ่งก็มีหลายสกุลเงินอีก และเมื่อหันไปมองผู้ให้บริการนั้นก็อยากให้เราเชื่อในสิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้นอนาคตเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะถูกควบคุม (Manipulate) มากเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ลำพังสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก (Facebook)” โครงสร้างที่เป็นอยู่ก็ทำให้เราติดอยู่กับภาวะ “ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber)” เช่น เมื่อผู้ใช้งานเลือกเป็นเพื่อนกับบุคคลที่มีมุมมองแบบใด หรือเลือกกดดูเนื้อหาแบบใด หลังจากนั้นอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กก็จะทำให้ผู้ใช้งานมองเห็นแต่บุคคลหรือเนื้อหาในทำนองเดียวกัน และกรองบุคคลหรือเนื้อหาที่มีมุมมองแตกต่างออกไปจากการรับรู้ ปรากฏการณ์นี้ทำให้แต่ละคนเชื่อในมุมใดมุมหนึ่งอย่างจริงจัง

ปิดท้ายด้วยวงเสวนา “จากข่าวลวงสู่ความฉลาดยุคดิจิทัล : มุมมองจากเยาวรุ่นถึงบูมเมอร์” โดยมีผู้ร่วมเสวนาหลายท่าน อาทิ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีผู้ใช้งานสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารจึงเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่อยากมองว่าเป็นสถานการณ์เลวร้าย โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ โคแฟคไม่ใช่แพลตฟอร์มสำเร็จรูปในการตรวจสอบข่าว   แต่เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้สังคมสนใจ สร้างการมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงกับภาคีต่างๆ

โดยนอกจากโคแฟคแล้ว ยังมีอีก 2 กลไกที่ทำงานเรื่องข่าวปลอม คือศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักงานข่าวไทย อสมท. และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ซึ่งทั้ง 3 กลไกแม้จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายแหมือนกันคือสร้างความรับรู้แก่สังคม ในการสนใจพินิจพิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมา และไม่ส่งต่อข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ยังไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่

น.ส.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความฉลาดในยุคดิจิทัล หมายถึงการที่เราจะรู้เท่าทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลมากน้อยเพียงใด ซึ่งนอกจากการรู้จักว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นคืออะไรแล้ว ต้องรู้ถึงนัยเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย แต่หากไม่มีการตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะไม่สามารถนำไปสู่ความรู้ได้ 

นายธนภณ เรามานะชัย Trainer Google News Intiative (GNI) กล่าวว่า ในฐานะที่เคยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวมาก่อน ยืนยัน “การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)” เป็นทักษะที่สำคัญ เพราะเราไม่สามารถพึ่งบริษัทเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวได้ บริษัทก็ต้องดำเนินการให้มีผลกำไร แม้จะสนใจจริยธรรมแต่ก็คงไม่ใช่เป้าประสงค์สูงสุด ดังนั้นคนเราจำเป็นต้องแยกให้ออกว่าอะไรจริง-ไม่จริง ใช่-ไม่ใช่

และการได้ความรู้มานั้นก็ต้องรู้ให้จริงไม่ใช่เพียงรู้เพราะเชื่อตามกันมา  จึงต้องมีกระบวนการศึกษาและการตั้งคำถามตั้งแต่วัยเด็ก  นอกจากเข้าใจการทำงานของแพลตฟอร์ม เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางนำเสนอแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มด้วย เพราะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มกับผู้ผลิตเนื้อหาเผยแพร่ผ่านแพลคฟอร์มอาจเป็นคนละส่วนกัน

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเมตาเวิร์ส ความพร้อมก็มี 2 ด้าน คือระบบพร้อมหรือไม่ โดยหากวันหนึ่งสามารถทำให้เทคโนโลยีซูเปอร์คอมพิวเตอร์อยู่ในมือคนทั่วไปได้ และคนพร้อมจะเข้าไปหรือเปล่า แต่ประเด็นนี้ยังไม่สามารถบอกได้เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอ ว่าผู้ให้บริการเมตาเวิร์สจะมีกฎหรือข้อกำหนดต่างๆ อย่างไร ถึงกระนั้น ก็มีความพยายามสร้างการรู้เท่าทันมากขึ้น หากสามารถทำได้เร็วพอ ในวันที่เทคโนโลยีมาถึงคนก็อาจจะพร้อมก็ได้

ในวงเสวนายังมีตัวแทนจาก 2 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันระดมสมองเชิงลึก “FACTkathon: Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” คือ น.ส.สุธิดา บัวคอม จากทีม“บอท” เล่าถึงผลงานของทีมที่คิดค้นให้มีเครื่องมือส่วนขยาย (Extension) ในเว็บเบราเซอร์ ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขององค์กรต่างๆ ที่ตรวจสอบข่าวปลอม  โดยกล่าวว่าทีมไม่ต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะมีของที่ทำอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องคิดคือจะทำให้กลไกตรวจสอบข่าวปลอมมาถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายได้อย่างไร

การทำงานของเครื่องมือนี้ เมื่อดาวน์โหลดมาติดตั้ง เมื่อผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตพบข้อความที่สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ สามารถใช้งานได้เพียง “คลุมดำ” กดลากทับข้อความนั้นและ “คลิกขวา” ระบบก็จะเชื่อมไปยังฐานข้อมูลขององค์กรตรวจสอบข่าวปลอม โดยจะต้องมีการทำบันทึกความตกลงร่วม (MOU) กับองค์กรเหล่านั้นด้วย อีกทั้งย้ำว่า “ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็อาจตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้” ผู้สูงวัยอาจตกเป็นเหยื่อในรูปแบบหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่ก็อาจพลาดในอีกรูปแบบเช่นกัน และการรับมือของคนแต่ละรุ่นก็ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน

ด้าน น.ส.ไอริณ ประสานแสง จากทีม “New Gen Next FACTkathon” ที่เลือกใช้ “การ์ตูน” เป็นสื่อในการสร้างความตระหนักถึงการรู้เท่าทันสื่อและไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมโดยสร้างระบบให้ผู้อ่านมีส่วนรวม เพราะเห็นว่าวัยรุ่นนั้นโตมากับการ์ตูนอยู่แล้ว ให้ความเห็นว่า ข่าวปลอมเองก็มีการพัฒนารูปแบบให้ดูแนบเนียนขึ้น หากวันหนึ่งเทคโนโลยีตรวจสอบข่าวปลอมตามไม่ทันจะทำอย่างไร ท้ายที่สุดก็ต้องกลับไปที่คนที่ต้องประมวลผลให้ได้ว่าอะไรคือข่าวจริง-ข่าวปลอม แม้อาจต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะปลูกฝังก็ตาม

ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้ร่วมเสวนายังมีความเห็นตรงกันในประเด็นการแสวงหาความจริงร่วม ว่าต้องมีพื้นที่ให้คนแต่ละรุ่น-แต่ละฝ่ายได้พูดคุยกันโดยไม่มีช่องว่างทางอำนาจไม่ว่าแบบใดมากดทับ และแต่ละฝ่ายควรเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งอาจไม่มีถูก-ผิด ขณะเดียวกัน ต้องแยกแยะระหว่างข้อมูล ความรู้และความเห็น อีกทั้งมองว่าการเปลี่ยนแปลงความคิด-ความเชื่อตามข้อเท็จจริงนั้นสามารถทำได้ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด