ปรากฏการณ์จากข่าวเลือกตั้ง อบต.

เลือกตั้ง อบต. ครั้งแรกรอบ 8 ปี คนข่าวทำงานแบบประคองตัว สื่อหลักไม่ให้น้ำหนัก เหตุต้องเน้นเนื้อหาที่มีเรตติ้ง ด้าน บก. ไทยพีฯ เผย แม้ข้อมูลซื้อเสียงเยอะ แต่การจะกล่าวหาใคร แค่คำบอกเล่าผ่านโทรศัพท์ “ไม่พอ” ขณะที่นักวิชาการชี้ ไม่วาจะยุคไหน สื่อก็ยังคงสถานะ “ผู้กำหนดวาระข่าวสาร” พร้อมเชิญชวนร่วมเวที “ถอดบทเรียนการทำงานฯ” พุธที่ 8 ธ.ค.นี้ 

4 พฤศจิกายน 2564 นายสมศักดิ์ ถนัดช่าง บรรณาธิการเพจหมากแข้ง จ. อุดรธานี และอดีต กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อุดรธานี กล่าวถึง “ปรากฏการณ์จากข่าวเลือกตั้ง อบต.” ในรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ผ่านสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ว่า ภาพรวมการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสมาชิก อบต. เมื่อ 28 พ.ย. 64  ผู้สื่อข่าวทำงานแบบประคองตัว ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเหมือนที่ผ่านมา  ขณะที่วิธีการได้มีซึ่งเสียงของบรรดาผู้สมัครก็ซับซ้อน กระทั่งสื่อส่วนใหญ่เข้าไปรับรู้ได้ยาก  ดังนั้นแม้จะมีการร้องเรียนเรื่องการแจกเงินซื้อเสียงด้วยวิธีการต่าง ๆ จึงกลายเป็นเพียงข้อมูลที่บอกต่อ ๆ กันมา และไม่สามารถหาหลักฐานเพื่อนำมาเสนอเป็นข่าว หรือรายงานข่าวได้ 

ส่วนบทบาทของสื่อท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต. ในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การนำเสนอข่าวมีน้อยมาก ขณะที่บางสื่อก็นำเสนอข่าวในลักษณะของการสนับสนุนผู้สมัครบางคนอย่างออกนอกหน้า นอกจากนี้ยังมีคนสื่อ ลงสมัครรับเลือกตั้งเองอีกด้วย นอกจากนี้การนำเสนอข่าวแบบเจาะลึกตัวบุคคลผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งก็มีไม่มาก แต่ประเด็นความเป็นกลางของสื่อสำหรับสื่อส่วนกลางนั้น ส่วนใหญ่รายงานตามน้ำไม่เอนเอียง ขณะที่สื่อท้องถิ่นก็คงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป 

ด้าน นายคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต. ครั้งนี้ มีการแข่งขันสูงเนื่องจากจำนวนสมาชิก อบต. ลดลง* โอกาสที่ผู้ลงสมัครจะได้รับเลือกจึงลดลงไปด้วย และแม้จะมีข้อมูลว่า มีการซื้อเสียงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลักฐานที่จะมีผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินถูกผิดได้นั้นไม่ชัดเจน  ซึ่งอาจเป็นเพราะวิธีการจ่ายเงินในปัจจุบันสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น โอนจ่ายผ่านระบบ E-Banking  หรือจ่ายผ่านคิวอาร์โค๊ด รวมทั้งการจ่ายผ่านช่องทางอื่น ๆ   ทำให้ยากต่อการตรวจสอบติดตาม  ต่างจากอดีตที่ผู้จ่ายต้องนำหมายเลขผู้สมัครแนบไปกับธนบัตร  หรือต้องไปจ่ายด้วยตัวเอง 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต. ในครั้งนี้  สื่อบุคคล สื่อพลเมือง มีบทบาทในการนำข้อมูลการทุจริตการเลือกตั้งนำเสนอให้สังคมได้รับรู้อย่างเด่นชัด ขณะที่สื่อหลักกลับไม่สามารถหาหลักฐานทุจริตการเลือกตั้งในครั้งนี้ มานำเสนอได้นั้น   

นายคนิศ กล่าวว่า การที่สื่อทุกสำนักจะนำเสนอข่าวในลักษณะกล่าวหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น จะอาศัยเพียงข้อมูลจากคำบอกเล่าจากบุคคล หรือจากสื่อบุคคลเพียงแหล่งเดียวไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน เช่น ภาพพร้อมเสียง หรือหลักฐานอื่น ๆ  ส่วนการทำข่าวสืบสวนสอบสวนในปัจจุบันนั้น  เขามั่นใจว่า สื่อทุกสำนักยังดำเนินการอยู่และสามารถทำได้กับทุกเรื่อง เพียงแต่ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน  สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้แน่นอน และเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ แต่ในบางประเด็นก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบ มิฉะนั้นสื่ออาจตกเป็นเครื่องมือของผู้ให้ข่าว หรือทำให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียแก่บางฝ่ายได้  

“ยอมรับว่า ครั้งนี้สื่อหลักเปิดพื้นที่ให้การเลือกตั้ง อบต. ค่อนข้างน้อย โดยมองเรื่องเรตติ้งเป็นหลัก ซึ่งก็แน่นอนว่า คงไม่ใช่ข่าวเลือกตั้ง อบต. แม้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี  และ อบต. คือหน่วยงานที่ต้องใช้งบประมาณของท้องถิ่นเป็นหลัก แต่หลายสำนักก็ตั้งคำถามกันว่า แล้วผู้ชมสนใจหรือไม่ ส่วนในเรื่องของความเป็นกลางนั้น  สื่อก็ยังเคารพบทบาทการทำงานของตัวเอง  และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตว่า เปิดพื้นที่ในการนำเสนอน้อยไป แต่ในพื้นที่ที่เปิดนั้น เป็นการเปิดให้กับทุกฝ่ายนั้น ซึ่งก็ต้องถือว่า ครั้งนี้ สื่อทำได้ดี”

ผศ. ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์  รองประธาน คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า การรายงานข่าวของสื่อหลักในปัจจุบัน มักจะให้ความสำคัญกับเรตติ้ง และให้น้ำหนักการเมืองท้องถิ่นน้อยเพราะมองว่า เป็นเรื่องไกลตัว เป็น “สเกล” เล็ก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว การเลือกตั้งนายก อบต. และสมาชิก อบต. คือ พัฒนาการของการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยฯ สำหรับสังคมไทยในระดับที่แม้จะเป็นระดับที่เล็กที่สุด แต่เป็นระดับที่ถือว่า เป็นฐานรากสำหรับระบอบประชาธิปไตยฯ ของประเทศไทย 

“การทำหน้าที่ของสื่อในครั้งนี้น้อยไป และควรมีการเสนอข่าวก่อนการเลือกตั้งให้มากกว่านี้ โดยทำแบบไม่ต้องส่งทีมข่าวลงพื้นที่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายก็ได้ เช่น สร้างสรรค์ประเด็นแล้วมอบหมายให้สตริงเกอร์ในท้องถิ่น ทำข่าว ทำรายงานพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นวิธีการหาเสียง หรือลีลา หรือสีสันการหาเสียงของผู้สมัคร หรือสัมภาษณ์ประชาชนทั่วๆ ไปว่า ตื่นเต้นมากน้อยแค่ไหนกับการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทำไมคนต่างจังหวัดจึงไม่กลับไปเลือกตั้ง ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น  การนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ จะช่วยกระตุ้นบรรยากาศการเลือกตั้งให้คึกคัก และเป็นช่วงเวลาการครองวาระข่าวสารที่สำคัญของสื่อ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  ที่สำคัญคือ คนสื่อต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะยุคไหน หรือเทคโนดลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  สื่อหลักก็ยังคงสถานะ ผู้กำหนดวาระข่าวสาร”

ผศ. ดร. เอื้อจิต ยังได้กล่าวอีกว่า จากปรากฏการณ์ของงานข่าวที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต. ในครั้งนี้  คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงกำหนดให้จัดเวทีเสวนา “ถอดบทเรียนการทำงานของสื่อ ต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น” ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564  โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์สภการสื่อมวลชนฯ  www.presscouncil.or.th และเชิญผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย


* พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562  ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจาก พ.ร.บ. ฉบับเดิมหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนของ สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่กำหนดให้ …

“… จำนวนสมาชิก อบต. เหลือเพียงหมู่บ้านละ 1 คน โดยให้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง หากหมู่บ้านใดมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน หาก อบต. ใด มีเพียง 1 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิก 6 คน หากมี 2 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน หากมี 3 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน หากมี 4 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และ 2 หมู่บ้านที่มีประชากรมากเพิ่มอีกหมู่บ้านละ 1 คน และหากมี 5 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และอีก 1 หมู่บ้านที่มีประชากรมากที่สุดเพิ่มอีก 1 คน …”