ถกเวทีเสวนา “ถอดบทเรียนบทบาทสื่อกับการเลือกตั้งท้องถิ่น” คนใช้สิทธิเยอะแต่กลับไม่คึกคัก

เวทีเสวนาถอดบทเรียนบทบาทสื่อกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เผยเลือกตั้ง อบต. ที่ผ่านมา สื่อส่วนกลางให้ความสนใจน้อย ขณะที่สื่อท้องถิ่น สื่อชุมชนยังเกาะติด ชี้คนใช้สิทธิมากขึ้น แต่ความคึกคักกลับน้อยลง ไร้ป้าย รถแห่ แม้เวทีหาเสียงก็ไม่มี หันใช้โซเชียลมีเดียเข้าถึงประชาชน พบการเมืองระดับชาติเข้าแทรกการเมืองท้องถิ่น หวังสร้างฐานสู่สนามเลือกตั้งใหญ่ 

          สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายโคแฟคไทยแลนด์ มูลนิธิฟรีดริช เนามันต์ จัดเวทีเสวนาออนไลน์ มีเดียฟอรั่ม ครั้งที่ 13 “ถอดบทเรียนบทบาทสื่อกับการเลือกตั้งท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายเฌอศานต์ ศรีสัจจัง ผู้ประกาศข่าว ไทยพีบีเอส น.ส.วริษฐา ภักดี บรรณาธิการ ลานนาโพสต์ จ.ลำปาง นายสมศักดิ์ ถนัดช่าง บรรณาธิการ เพจหมากแข้ง จ.อุดรธานี นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการ ประชามติ จ.ตราด นายภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการ ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา นายกมล หอมกลิ่น ผอ.มูลนิธิสื่อสร้างสุข ทีมอีสานโคแฟค นายชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการพะเยาทีวี ทีมโคแฟค ภาคเหนือ และนายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.ภูเก็ต ผู้ประสานงานเครือข่ายอันดามันโคแฟค ดำเนินรายการ โดย  น.ส.โสภิต หวังวิวัฒนา คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

          นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าววัตถุประสงค์ในการจัดเสวนาและเปิดงานว่า การให้ความสำคัญในการเลือกตั้ง อบต. ที่ผ่านมา มีการให้ความสนใจต่างกัน โดยสื่อส่วนกลางก็มักจะเชื่อมโยงการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ ว่ามีพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใด ส่งผู้สมัครในสังกัดลงสมัครรับเลือกตั้งบ้าง

          แต่การนำเสนอข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ต้องนำเสนอข่าวการเมืองท้องถิ่นในภาพรวมด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่า สื่อส่วนกลางที่ลงไปทำข่าวก็จะโฟกัสได้ในส่วนที่เป็นจังหวัดใหญ่ ๆ หรือเทศบาลใหญ่ ๆ เพราะฉะนั้นข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่น กับข่าวการเมืองท้องถิ่นนั้น คงจะแยกกันไม่ได้

          ดังนั้นหากจะนำเสนอความเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองท้องถิ่น ก็ต้องพึ่งสื่อท้องถิ่น ซึ่งความสนใจในการเมืองท้องถิ่นนี้ เริ่มตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการกระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่น เพราะการตัดสินใจในการพัฒนาท้องถิ่น ถูกโอนถ่ายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น สามารถดำเนินการเองได้ ดังนั้นสื่อท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นต้องติดตามสำหรับผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ และการใช้อำนาจ อย่างต่อเนื่อง

          ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาจัดเสวนากัน ก็เพราะประเทศไทยได้ว่างเว้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับตำบล มาเป็นเวลานาน 8 ปี และการเมืองท้องถิ่นมีความสำคัญและใกล้ชิดประชาชน ดังนั้นจึงจะมาพูดคุยกันว่า สื่อหลักได้ทำอะไร สื่อท้องถิ่นได้รายงานข่าวอย่างไรกันบ้าง และจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตยในท้องถิ่นได้อย่างไร

          “เข้าใจข้อจำกัดของสื่อ การเลือกตั้ง อบต. เป็นระดับตำบล ซึ่งอาจเล็กเกินไป แต่ก็อยากจะฝากไว้ว่า เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับท้องถิ่น สื่อใหญ่นั้นบางทีก็ใหญ่เกินไปที่จะลงไปเห็นภาพเล็ก ๆ ที่อยู่ในระดับตำบลได้ทั่วถึง ในขณะที่เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องเล็กสำหรับสื่อใหญ่ แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับท้องถิ่น ถึงเวลาแล้วที่สื่อท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสื่อชุมชน หรือสื่อระดับอำเภอ หรือจังหวัดที่จะทำหน้าที่ส่วนนี้ และการเมืองท้องถิ่นไม่ได้อยู่เฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น” 

          นายเฌอศานต์ จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เมื่อหลายเดือนก่อนมีการคุยกันว่า ไทยพีบีเอสจะนำเสนอข่าวการเลือกตั้ง อบต. อย่างไรให้คนสนใจ ซึ่งข้อสรุปที่ได้คือ การส่งนักข่าวเข้าไปฟังเสียงของคนในชุมชน ว่าประชาชนมีความต้องการอะไรบ้าง พร้อมกับการชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณของท้องถิ่นที่ใช้ไปในแต่โครงการว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่

          ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่ามีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าช่วงอายุอื่น ซึ่งผู้สูงอายุก็จะมองว่า อยากได้ถนนดี ไฟดี ซึ่งในส่วนลึกคือ การคาดหวังว่าถ้าสาธารณูปโภคดี ก็จะทำให้ลูกหลานที่อยู่ในเมืองใหญ่ได้กลับมาอยู่ในท้องถิ่น มีความสบายมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอยากให้น้ำไหล ไฟสว่าง แต่เป็นความคาดหวังถึงอนาคต ดังนั้นไทยพีบีเอสจึงมีการตั้งวงเสวนากับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ต่างถิ่นว่า อยากกลับบ้านจริงหรือไม่ ซึ่งก็ได้คำตอบว่า ถ้าหากว่ามีงานทำ มีสิ่งที่จะทำให้สามารถอยู่รอดได้ ก็อยากกลับบ้าน เพื่อกลับไปดูแลคุณพ่อ คุณแม่     

          น.ส.วริษฐา จากลานนาโพสต์ จ.ลำปาง กล่าวว่า ลานนาโพสต์ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นค่อนข้างมาก แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ค่อนข้างเงียบเหงา แม้ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิมากขึ้นกว่าเดิมคือ 70% แต่บรรยากาศการนำเสนอข่าว กลับดูไม่คึกคัก การทำป้ายโฆษณาก็น้อยลง แต่กลับไปใช้วิธีการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

          เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลือกตั้ง อบต. แม้จะเป็นหน่วยที่เล็ก เงินเดือนก็น้อย แต่ทำไมถึงแย่งชิงกันเพื่อจะเข้ามา ซึ่งส่วนหนึ่ง อบต. มีการเชื่อมโยงกับระดับชาติ และมีการพูดคุยกันอยู่ว่ามีการจ่ายเงินซื้อเสียง แต่ก็ไม่ได้ยืนยันชัดเจน แต่สื่อก็ยังพยายามที่จะหาข้อมูลของแต่ละคนที่ลงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ต้องขอจากทาง ป.ป.ช. ซึ่งก็จะต้องมีขั้นตอนการขอมากมาย 

          นายชัยวัฒน์ จากพะเยาทีวี จ.พะเยา กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตลอด ถ้าท้องถิ่นไม่มีบทบาทในการจัดการตัวเอง ก็จะเป็นปัญหา บทบาททั่วไปของพะเยาทีวีก็จะเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ การพัฒนาท้องถิ่น ข่าวร้องทุกข์ อีกส่วนหนึ่งของพะเยาทีวี คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนในท้องถิ่น การอบรม จัดกิจกรรมเสวนา

          สื่อพะเยาทีวี ก็จะให้ความรู้ในการเลือกตั้ง กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสร้างพื้นที่ให้กับผู้สมัครโดยจัดเวทีร่วมกับ กกต. โดยเชิญให้มาแสดงวิสัยทัศน์ แต่กลับเป็นว่า ผู้สมัครไม่เข้ามาร่วมอาจเป็นเพราะกลัวความผิดในเรื่อง พ.ร.บ.เลือกตั้ง นอกจากนี้ก็มีข้อจำกัดการทำงาน คือเรื่องโควิด เพราะบางพื้นที่ยังมีการระบาดอยู่ 

          “ตอนนี้เราเห็น อบต. แค่ทางผ่านของงบประมาณ ซึ่งการสร้างโรงเรียน ถนน สะพาน ก็เป็นงบจากส่วนกลาง โดยผ่านมาทาง อบต. เท่านั้น ทำให้ประชาชนคิดว่า เลือก อบต. มาก็ไม่มีประโยชน์อะไร บาง อบต. มีงบประมาณแค่ 3-4 ล้านบาท แค่บริหารสำนักงานก็หมดแล้ว จึงทำให้มีการถามหาว่า เมื่อไรจะได้เลือกตั้งผู้ว่า” นายชัยวัฒน์ กล่าว

          นายจักรกฤชณ์ จากประชามติ จ.ตราด กล่าวว่า เราทำงานเรื่องท้องถิ่นมาทุกระดับ โดยการให้ข้อมูลผู้สมัครว่าเป็นใคร ปูมหลังมาจากไหนเกี่ยวโยงกับใคร มีการเมืองส่วนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ รวมถึงข้อมูลการเลือกตั้งต่าง ๆ ซึ่งมีคนสนใจติดตามค่อนข้างมาก มีการเพิ่มหน้าหนังสือพิมพ์ประชามติเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน  

          ขณะที่ผู้สมัครก็จะใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น มีการแนะนำตัวเอง หรือหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้

          นายภูวสิษฏ์ จากภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากถูกทิ้งห่างมานาน ทำให้ประชาชนตื่นตัว ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง สื่อภาคใต้โฟกัสก็จะรายงานสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร นอกจากนี้ได้มีการจัดเสวนาก่อนการเลือกตั้ง โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นมาให้ความรู้ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นว่า อบต. จะมีความใกล้ชิดกับประชาชน จึงทำให้ประชาชนมีความสนใจในการเลือกตั้งทุกครั้ง

          ในช่วงการรับสมัคร ภาคใต้โฟกัสก็จะรายงานสถานการณ์ความตื่นตัวของผู้สมัคร การเชื่อมโยงของนักการเมืองระดับชาติกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการให้ความรู้กับประชาชน ส่วนช่วงการเลือกตั้ง ก็จะรายงานการใช้สิทธิของประชาชน แม้ว่าจะมีฝนตก ก็จะยังออกมาใช้สิทธิกันมาก รวมทั้งเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ไปเรียนเนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงกลับมาอยู่ภูมิลำเนา ทำให้ได้มีโอกาสออกไปเลือกตั้ง

          นอกจากนี้ จะเห็นว่า การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ จะเห็นความเชื่อมโยงของการเมืองระดับชาติลงมาสร้างฐาน สร้างเครือข่ายทางการเมืองระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติ ซึ่งจะส่งผลถึงการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไป 

          นายเจริญ จากเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.ภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์ของสื่อในภูเก็ตวันนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ มี 4 ฉบับ ราย 15 วัน 2 ฉบับ รายเดือน  2 ฉบับ นอกนั้นเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์ทั้งหมด ดังนั้นการรายงานข่าว อบต. จึงค่อนข้างจะเบาบาง แต่จะมุ่งเน้นไปในเรื่อง Sand Box การท่องเที่ยว เรื่องโควิด กันมากกว่า ดังนั้นสื่อก็จะแค่รายงานว่า ใครสมัครเบอร์อะไร พื้นที่ไหนเท่านั้น ซึ่ง อบต. มีแค่ 6 พื้นที่ ซึ่งไม่มีคู่แข่ง 2 พื้นที่ ก็จะได้คนเดิม ส่วนอีก 4 แห่งจะเป็น อบต. หน้าใหม่

          เกือบทุกพื้นที่ของภูเก็ต อบต. จะอยู่มานานทำให้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ชาวภูเก็ตมองเห็น ก็มักจะได้รับเลือกตั้ง ส่วนความรุนแรงในบางพื้นที่ก็มีการซื้อเสียง แต่เป็นเพียงการพูดคุยกัน ไม่มีหลักฐานชัดเจน  ส่วนมายาคติ ที่ว่าการมืองใหญ่ลงมาเล่นด้วย ในภูเก็ตก็เห็นได้ชัด มีการส่งคนจากพรรคการเมืองใหญ่มาลง อบต. ในบทบาทสื่อก็คงต้องติดตามการทำงานของกลุ่มคนหน้าใหม่ที่ลงมาใท้องถิ่น

          จำนวนผู้มาใช้สิทธิที่เพิ่มขึ้นคือ มาจากวัยรุ่นที่เพิ่งได้รับสิทธิเลือกตั้ง ได้ออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก ส่วนผู้สูงอายุก็จะน้อยลง

          นายสมศักดิ์ จากเพจหมากแข้ง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ ปรากฎว่า ไม่มีการหาเสียง หรือการตั้งเวทีหาเสียงของผู้สมัครเลย ทั้ง ๆ ที่มีถึง 109 แห่งที่มีการเลือกตั้งนายก อบต. ดังนั้นสื่อก็จะรายงานเฉพาะว่าที่ไหนมีการทุจริต การเดินหาเสียงของผู้สมัครไปที่ไหนบ้าง แค่นั้น

          นอกจากนั้นก็พบว่ามีการล่ารายชื่อ เก็บบัตรประชาชนกัน แต่เป็นแค่ข่าวลือ ซึ่งไม่มีการยืนยันกันออกมา ในอดีตพบว่ามีการแจกเงิน 20-30 บาทก็อาจได้คะแนนแล้ว แต่ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบต. มีจำนวนน้อยลง ดังนั้นการแข่งขันก็จะสูงขึ้น จึงทำให้ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้ง แต่สิ่งที่พบเห็นได้ชัดเจนที่สุดในการเลือกตั้งท้องถิ่น คือ การวางทายาททางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายใน อบต.  แทนการใช้หัวคะแนนในอดีต

          ในการทำหน้าที่ของสื่อหลังจากนี้ ก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจาก การเลือกตั้ง อบต. อุดรธานี มีทั้งหมด 109 แห่ง มีผู้มาใช้สิทธิ 68% บางแห่งมีผู้สมัครคนเดียว ส่วนใหญ่ผู้ได้รับเลือกตั้งจะเป็นคนหน้าใหม่  ดังนั้นสื่อจะต้องติดตามดูว่า คนใหม่จะสร้างผลงานอย่างไรเพื่อจะได้รับเลือกตั้งในครั้งถัดไป ขณะที่คนเก่าที่ได้รับเลือกตั้งก็จะต้องไปดูว่า เคยมีผลงานอะไรบ้าง คนถึงเลือกกลับมา

          นายกมล หอมกลิ่น ผอ.มูลนิธิสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี ทีมอีสานโคแฟค กล่าวว่า การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ สื่อมีบทบาทน้อยมาก ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากแพลทฟอร์มสื่อที่เปลี่ยนไป และการเมืองระดับชาติไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเมืองระดับท้องถิ่น รวมถึงเรื่องของนโยบาย และงบประมาณ ซึ่งงบประมาณจากส่วนกลางไม่ค่อยลงมาที่ อบต. แต่ส่วนใหญ่จะมาที่จังหวัด อำเภอ 

          มูลนิธิสื่อสร้างสุข ทำงานอยู่อุบลราชธานี เมื่อมีการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็จะทำงานร่วมกับสื่อจังหวัด อำเภอ ในพื้นที่ในการรายงานการเลือกตั้ง ส.ส. สจ. หรือนายกเทศบาล แต่พอถึงการเลือกตั้ง อบต. พบว่า สื่อไปไม่เป็นเลย เนื่องจากสื่อจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่เข้าใจในเรื่องบทบาทหน้าที่ของ อบต. ว่ามีความทับซ้อนกับเทศบาลอย่างไร จึงทำให้มีการรายงานแค่ผู้สมัครเป็นใคร มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่าไร มีคนกลับบ้านเท่าไร

          “ในวันนี้ต้องยอมรับว่าบทบาทสื่อท้องถิ่นมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องเปลี่ยนจากสื่อท้องถิ่นเป็นสื่อชุมชน  เพราะสิ่งที่เด่นชัดมากคือโซเชียลมีเดียมีพลังอย่างมาก ซึ่งโซเชียลมีเดียแบ่งเป็นสองส่วน คือ โซเชียลมีเดียสำหรับผู้สมัครเป็นนายกอบต. หรือสมาชิก อบต. ซึ่งจะมีการทำมีป้ายน้อยลง ทำรถแห่งน้อยลง เปิดเวทีหาเสียงแทบไม่มีเลย แต่จะไปโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียแทน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ผู้สมัครใช้สื่อโซเชียลในการเสริมภาพลักษณ์ตัวเองให้เด่นขึ้น”  นายกมล กล่าว  

          ดังนั้น สื่อในระดับชาติ หรือท้องถิ่นในระดับจังหวัด รวมถึงสื่อในระดับตำบลก็แทบจะไม่มี แต่ทุกคนจะมีมือถือ ก็จะโพสต์ลงทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทำให้เกิดความคึกคักในสื่อออนไลน์ และที่สำคัญการรายงานเรื่องทุจริต เพราะทุกคนคือเครือญาติ รู้จักกันหมด

          นายกมล กล่าวด้วยว่า เราควรพัฒนาการเมืองให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาการสื่อสาร วันนี้ทุกคนเป็นสื่อมวลชน ที่เรียกว่าสื่อชุมชน ดังนั้นเราต้องเสริมทักษะการทำสื่อ เพิ่มจรรยาบรรณสื่อเข้าไป เพื่อให้นักสื่อสารชุมชนเหล่านี้เข้าใจว่า ความเป็นกลางคืออะไร ความซื่อตรงคืออะไร ความเป็นธรรมคืออะไร และ แฟค ความจริง ความจริงร่วม หรือโคแฟค คืออะไร นี่คือสิ่งที่จะขอฝากไว้

          น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวปิดการเสวนาว่า ขอบคุณวิทยากรทุกท่าน ที่ทำให้ได้เห็นความเป็นไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหวังว่าบทบาทสื่อท้องถิ่น และสื่อภาคพลเมืองจะช่วยกันตรวจสอบการเมืองท้องถิ่นได้เช่นเดียวกับสื่อระดับชาติ

          อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ผศ.ดร.เอื้อจิต ที่บอกว่า ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยเหลือกันสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ พื้นที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด มาเป็นระดับชาติ คน กทม. ก็รออยู่ว่าเมื่อไรจะได้เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ไม่ใช่แค่หลายจังหวัดที่กำลังรอ ซึ่งประชาธิปไตยไม่เคยได้มาด้วยการร้องขออย่างที่พูดกัน แต่เราก็ไม่อยากให้ต้องเสียเลือดและน้ำตา เพราะฉะนั้น ในยุคจักรวาลนฤมิตร ก็หวังว่า เราจะมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันบ้าง และถ้าทุกคนมีส่วนร่วม และมีการตรวจสอบ ก็น่าจะทำให้เกิดสมดุลย์ได้