บทบาทสื่อไทยในปี 2564

บทบาทสื่อไทยในปี 2564

“สื่ออาวุโส” สรุปภาพรวมฐานันดร 4 ปีนี้ “เช้าชาม-เย็นชาม” ข่าวเจาะน้อยลง แนะทางรอดบนหลักจริยธรรม พร้อมให้ความเคารพแหล่งข่าว ด้าน กสทช. รับ “ออนไลน์” ควบคุมไม่ง่าย เน้นสร้างกติกาสากล ขณะที่นักวิชาการชี้ บางสำนักฯ จุดชนวนความขัดแย้ง สร้างความสับสน วอนยึดหลักการสื่อสาร หาทางออกให้สังคมรับฟังกันมากขึ้น   

18 ธ.ค. 2564 นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 1 กล่าวถึง “บทบาทสื่อไทยในปี 2564” ผ่านรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ว่า ปี 2564สื่อดั้งเดิม (หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์) ยังคงทำงานแบบเช้าชาม-เย็นชาม และทำข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative) น้อยลง โดยวัดได้จากจำนวนข่าวสืบสวนสอบสวนที่ส่งเข้าประกวดชิงรางวัลอิสราอมันตกุล ปีนี้มีไม่ถึง 10 ชิ้น เทียบกับปีที่ผ่าน ๆ  มา ซึ่งเคยมีการส่งเข้าประกวดมากกว่า 20 ชิ้น ขณะที่การทำงานข่าวโดยทั่วไปนั้น การรายงานข่าวก็เป็นข่าวที่เหมือนกัน ทั้งข่าวอาชญากรรม ข่าวการเมือง ฯลฯ  โดยไม่มีประเด็นที่แตกต่าง ไม่มีประเด็นใหม่ ๆ ให้กับผู้รับสาร ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้ความเสื่อมเข้าถึงสื่อดั้งเดิมได้เร็วขึ้น

ทางออกของสื่อดั้งเดิม ที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง และต้องสู้กับสื่อใหม่ (Online : Social Media) ก็คือ ต้องมีความลึก มีความละเอียด และมีความแตกต่างของข่าว รวมทั้งสื่อดั้งเดิมยังต้องพยายามหาช่องทางที่เข้าถึงมือผู้รับสาร หรือผู้เสพได้สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น และง่ายขึ้น  ซึ่งถ้าทำได้ก็จะทำให้สื่อดั้งเดิม “อยู่รอดไปได้อีกระยะหนึ่ง” เช่น “นสพ. วอชิงตัน โพสต์” ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหา แต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง โดยผันตัวไปเป็น ออนไลน์ และจำหน่ายเนื้อหาให้กับผู้สมัครเป็นสมาชิก (แบบจ่ายเงิน) กระทั่งมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 1 ล้าน เป็นต้น 

“แต่ก็คงต้องย้ำว่า ใครก็ตาม ที่เรียกตัวเองว่า สื่อ หรืออ้างว่า ตัวเองเป็นคนสื่อ ควรต้องคำนึงถึงเรื่อง จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เนื่องจากสื่อเป็นอาชีวะปฏิญาณ ที่ต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณ โดยไม่มีใครต้องบอกว่า ต้องทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อทุกคนเข้ามาเป็นสื่อแล้ว ต้องเรียนรู้สิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่า สื่อใหม่ หรือสื่อบุคคล” นายมานิจกล่าว

ทางด้าน นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภาพรวมของสื่อบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ  ในปี 2564 โจทย์ใหญ่ที่ทุกสื่อยังคงประสบอยู่ก็คือ การหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ  โทรทัศน์  รวมทั้งสื่อออนไลน์  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ มีกรอบ หรือมีข้อจำกัดที่มากกว่าสื่อออนไลน์ ทั้งยังเป็นการสื่อสารทางเดียว ขณะที่สื่อออนไลน์ สามารถทำเนื้อหาให้ดึงดูดได้มากกว่า และมีผลกระทบ (impact) มากกว่า อีกทั้งยังเป็นการสื่อสาร 2 ทาง รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของผู้เสพสื่อได้มากกว่า ผู้คนจึงให้ความสนใจสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อดั้งเดิม  

“แต่การผลิตสื่อที่ดีในยุคนี้ คงไม่ได้หมายความเฉพาะเพียงแค่ เนื้อหาที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องผลิตให้ตรงกับจริตของผู้รับสารด้วย เข้าใจว่า นักวารสารศาสตร์ และนักนิเทศศาสตร์ ได้รับการปลูกฝังในเรื่อง จริยธรรมและจรรยาบรรณ จึงมักจะให้ความสำคัญไปพร้อม ๆ กับการผลิตเนื้อหา แต่สื่อที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ไม่มีตรงนี้เลย  ทุกคนทำเพื่อเรตติ้ง ทำเงินได้ เกิดเป็นเศรษฐีใหม่ ทุกคนจึงมุ่งไปทางนั้น แม้แต่หมอ นักกฎหมาย และนักบวช ก็มาทำให้มีข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งจริง-ไม่จริง บิดเบือนกันก็มาก ซึ่ง กสทช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะไปควบคุม และการไล่ปิดเว็บไซต์ หรือปิดเพจเหล่านี้ ประโยชน์ที่ได้รับน้อยมาก และเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อชะลอการกระจายเนื้อหาเท่านั้น  เพราะปิดได้ เขาก็เปิดใหม่ได้ และเปิดใหม่ได้อย่างรวดเร็วด้วย ดังนั้นรัฐจึงต้องจับจุดให้ได้ว่า ควรปิดเว็บ หรือเพจ ของเครือข่ายไหน  ส่วนผู้ใช้รายย่อยก็ต้องการสร้างความรู้ ความเท่าทันสื่อเหล่านี้”   

นพ.ประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ออนไลน์เป็นโลกแห่งข้อมูลที่ไร้กติกา เนื่องจากเป็นโลกไร้พรมแดน จึงจำเป็นต้องมีกติกาสากลที่ทุกคนยอมรับ พร้อมยอมรับว่า การควบุคม-กำกับดูแลเป็นเรื่องยาก เช่น ก่อนหน้านี้ กสทช. บางคน ต้องการกำกับดูแลกลุ่ม OTT (Over The Top : เจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสารที่ไม่มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นของตัวเอง) แต่การควบคุมสื่อออนไลน์สำหรับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเพียงแค่รัฐบาลไทยประกาศว่า จะมีการกำกับดูแล  ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตฯ  ผู้แทนการค้าฯ  ก็เข้าพบรัฐบาลไทย กระทั่งต้องยุติการพูดถึงเรื่องนี้ไปในที่สุด

นายอภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ อาจารย์ประจำคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึง บทบาทของสื่อไทย ในปี 2564 ว่า  ยังมีลักษณะคล้ายเดิม เนื่องจากยังมีการระบาดของโควิด -19 และการเมืองที่ร้อนแรง แต่ในประเด็นโควิด-19 นั้น มีทั้งการให้ข้อมูลจากสื่อมืออาชีพ และจากบุคคลทั่วไปที่ต้องการใช้สื่อสร้างเนื้อหาและนำออกเผยแพร่ ซึ่งบ่อยครั้งที่ทำให้ความเข้าใจข้อมูลข่าวสารในกลุ่มนี้ เกิดความสับสน หรือเกิดการต่อต้าน

ขณะที่ประเด็นทางการเมืองนั้น สื่อก็เป็นตัวจุดไฟให้ร้อนแรงขึ้น ทั้งที่สื่อต้องทำหน้าที่เป็นตัวประสานให้กับสังคม ทำให้เย็นลง ทำให้ต้องฟังกันมากขึ้น แต่ในช่วงปีที่ผ่ามาสื่อไม่ได้เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่แทบจะควบคุมกันไม่ได้  Influencer  เองก็เข้าแย่งพื้นที่การนำเสนอโดยเน้นดราม่า และยิ่งดราม่ามากขึ้นเมื่อ เฟซบุ๊คปิดกั้นการมองเห็น เนื่องจากสื่อต้องการให้มีคนเห็นมากขึ้น  การกระพือความร้อนแรงทางอารมณ์ของผู้คน จึงต้องมีมากตามขึ้นไปด้วย 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้สื่อออนไลน์ในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้จริงๆ แต่สื่อที่ไม่ดรามา และสามารถมีรายได้ก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง คือ รวม ๆ แล้ว บทบาทของสื่อไทย ในปี 2564  คงจะให้คะแนน หรือตัดเกรดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากกกว่าการสอบ  แต่อยากให้ทุกสื่อมุ่งเสนอข้อมูลที่ให้คำอธิบายได้มากขึ้น ให้ทางออกกับสังคมมากขึ้น ทำให้สังคมฟังกันมากขึ้น ใช้เหตุผลกันมากขึ้น และอยากให้สื่อใจเย็นในการหาข้อมูล ไม่ใช่คนนั้น-คนนี้พูดแล้วนำมาเสนอเลย  แต่อยากให้ค่อย ๆ ฟัง แล้วหาคำตอบ แล้วค่อย ๆ สรุปรวมเพื่อเสนอทีเดียว ซึ่งจะทำให้สังคมสับสนน้อยลง  ผู้คนฟังกันมากขึ้น และคนไทยใช้เหตุผลกันมากขึ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว