ร่าง พ.ร.บ. จริยธรรมสื่อ ยุค “ลุงตู่” ไม่มี “คนของรัฐและโทษปรับ”

“ชวรงค์” ยืนยัน ร่าง พ.ร.บ. จริยธรรมฯ ไม่ใช่กฎหมายควบคุมสื่อ  ย้ำองค์กรวิชาชีพยื่นขอรับการสนับสนุนได้ ส่วนผู้ผลิตข่าวอิสระ-ยูทูปเบอร์ ได้ประโยชน์อย่างไร “20 ม.ค.นี้” ร่วมหาคำตอบได้จากเวทีสัมมนาสภาการฯ ด้านเจ้าของสื่อในส่วนภูมิภาคมั่นใจ “ได้มากกว่าเสีย” แต่ยังต้องการให้ “Press” ทั่วประเทศตีทะเบียน ขณะที่นักวิชาการชี้ เป็นเรื่องดี ต่อไปนี้ตัวจริงกับมือสมัครเล่น จะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ก็ต้องระวังการแทรกแซงจากรัฐผ่านช่องทางการให้เงินสนับสนุน    

15 มกราคม 2565 นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่11 มกราคม 2565 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ พ.ศ. …… ว่า  ความพยายามผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นกันอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2553 เมื่อครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในครั้งนั้น รัฐบาลพยายามดำเนินการ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับ ปี พ.ศ. 2550 มาตรา 46  (พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ ……) และได้มีการปรับปรุงแก้ไขตัวร่างมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. 

 ดังนั้น กฎหมายกำกับจริยธรรมสื่อ ที่ ครม. ชุดปัจจุบันมีมติเห็นชอบคือ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ฉบับนี้ จึงเป็นร่างที่ สปท. นำร่างเดิมสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2553) มาปรับปรุงแก้ไข โดยเน้นไปในเรื่องการกำกับดูแล ด้วยเหตุผลที่ว่า สื่อกำกับดูแลกันเองไม่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีองค์กรกำกับดูแล  ต้องมีคนของรัฐเข้าไปนั่งอยู่ในองค์กรที่ว่านี้ และต้องมีโทษปรับกรณีที่สื่อกระทำละเมิด จากนั้น สปท.  ก็ส่งร่างให้กับรัฐบาล 

“ผมและคนสื่อจึงขอเข้าพบ อ.วิษณุ (ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี) และบอกว่า ร่างของ สปท. ไม่น่าจะเหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างคณะกรรมการที่กำหนดให้มีข้าราชการมานั่งเป็นกรรมการ รวมทั้งการกำหนดโทษปรับ เนื่องจากอาจจะถูกฝ่ายการเมืองกลั่นแกล้งได้ และสื่อขนาดเล็กก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของเงินค่าปรับ อาจารย์วิษณุ จึงบอกว่า งั้นพวกคุณก็ไปยกร่างกันมา จากนั้นอาจารย์บวรศักดิ์ (ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน ได้ให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วยเป็นหน่วยธุรการ พวกเราก็ไปเชิญองค์กรวิชาชีพสื่อเข้ามาช่วยกัน ไปเชิญคุณมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส นสพ. ไทยรัฐ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์คนแรก มาเป็นประธานยกร่าง ก็ทำกันอยู่นาน กระทั่งได้ข้อสรุปว่า ต้องตัดกรรมการที่เป็นข้าราชการ และตัดโทษปรับออกไปจากร่าง จากนั้น เราก็นำกลับไปเสนอรัฐบาล กระทั่งก็นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบไป เมื่อ 11 มกราคม 2565”

ส่วนคำถามที่ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้สิทธิ์องค์กรวิชาชีพ ขอรับการส่งเสริมสนับสนุนจากสภาฯ ได้หรือไม่นั้น  มาตรา 11 เขียนไว้ชัดเจน รวมทั้งบรรดา สื่อบุคคล สื่ออิสระ ยูทูปเบอร์ จะมีฐานะเป็นสื่อฯ ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่ วันที่ 20 มกราคม 2565 จะมีคำตอบให้ทั้งหมด เพราะสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นในวันนั้น ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรชีพ สื่อมวลชน คนข่าว และบุคคทั่วไปทั่วประเทศ สามารถเข้าร่วมรับฟัง ร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมซักถามข้อสงสัยได้ โดยสามารถดูรายละเอียดการสัมมนาครั้งนี้ ได้ที่เว็บไซต์สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

ด้านนายจักรกฤษ แววคล้ายหงษ์ เจ้าของและบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ประชามติ จังหวัดตราด กล่าวว่า แม้จะเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ส่วนตัวก็ยังต้องการให้บรรจุเรื่อง การจดทะเบียนสื่อ รวมอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วย เนื่องจากสื่อ โดยเฉพาะสื่อต่างจังหวัดยังมีประเด็นในเรื่องจริยธรรมค่อนข้างมาก มีผู้คนหลากหลายเข้ามาผลิตสื่อออนไลน์ สื่อสังคม (Social Media) แล้วบอกว่า ตัวเองเป็นสื่อ โดยไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจการทำหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่น การถ่ายทอดสด (Live) จากที่เกิดเหตุนั้น มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก และไม่มีหน่วยงานใดควบคุม อีกทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องจริยธรรม ไม่ได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพของคนของตัวเอง ไม่มีการส่งเสริมในเรื่องจริยธรรมสื่อ ดังนั้นกรอบจริยธรรมของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มีการกำหนดไว้ จึงใช้ได้กับสื่อมวลชนท้องถิ่นเพียง  40-50% เท่านั้น 

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมดีใจที่มี ร่าง พ.ร.บ. นี้ออกมา เพราะออกมาแล้วครอบคลุมทั้งประเทศ  หากกฎหมายนี้บังคับใช้จริง ๆ ก็จะทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนท้องถิ่นได้รับผลดีมากกว่าผลเสีย หรืออย่างน้อยก็มีที่พึ่ง คือ มีองค์กรระดับชาติเข้ามาสนับสนุนเพื่อการพัฒนายกระดับความรู้ความสามารถและจริยธรรม ส่วนจุดเสียหรือข้อด้อยของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมคิดว่า มีน้อย”  

ขณะที่ รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วย อธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ พ.ศ. …… ที่ ครม. เพิ่งมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 นั้น ค่อนข้างครบถ้วน เพราะเป็นเรื่องที่มีการพิจารณาดำเนินการกันมานานแล้ว แต่ด้วยระบบนิเวศของการสื่อสารในปัจจุบันเปลี่ยนไป การจัดการปัญหาอาจจึงจะต้องมีหลายรูปแบบ ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เน้นหลักสำคัญ คือ การแยกสื่อมวลชนที่ประกอบอาชีพและธุรกิจทางด้านนี้จริง ออกจากบุคคลที่ทำสื่อผลิตสื่อกันโดยทั่วไป เพราะหากไม่แยกตรงนี้ออกจากกัน วิธีการบริหารจัดการก็จะสับสน  แต่เมื่อแยกได้แล้ว สื่อที่เป็นอิสระ รวมทั้งสื่อบุคคล ก็ควรได้รับการกำกับดูแลโดยกลไกอื่น โดยรวมแล้ว ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เน้นดูแลมาตรฐานวิชาชีพของคนทำงานและมีอาชีพอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนจริง ๆ แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่า ผู้ที่จะเป็นสื่อได้ จะต้องจบการศึกษาทางด้านสื่อสารมวลชน หรือ นิเทศศาสตร์โดยตรงเท่านั้น   

“ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ พื้นที่กลางสำหรับการกำกับดูแลร่วมกัน ไม่ได้ถอยหลังกลับไปกำกับโดยรัฐอีก แม้จะมีหน่วยงานรัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์รวมอยู่ด้วย แต่กรมประชาสัมพันธ์ก็เข้ามาทำหน้าที่อยู่ในกระบวนธุรการเท่านั้น ส่วนกรณีรายได้ที่สภา จะได้มาจากรัฐ ซึ่งหลายคนกังวลว่า อาจจะกลายเป็นช่องว่างเพื่อการแทรกแซงจากรัฐได้นั้น  ก็คงต้องระมัดระวังและต้องช่วยกันติดตาม โดยเฉพาะการแปรญัตติในสภาฯ (สภาผู้แทนราษฎร์) และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส รวมทั้งการสรรหาคณะกรรมการ ก็ต้องโปร่งใสด้วยเช่นกัน”