รู้ทันการสื่อสาร ข่าวหมูแพง

            คนสื่อยอมรับ “หมูแพงจากเหตุ ASF”  แพ้ประเด็น “ชาบู-หมูกระทะ ขึ้นราคา” รวมทั้ง “ดราม่า” บนโลกออนไลน์ ย้ำทุกที่ต้องมีนักข่าว “All in One” คือ “จับประเด็นเก่ง เขียนข่าวดี รายงานเป็น ถ่ายคลิป-ตัดต่อฯ ได้” พร้อมเร่งสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้ทันรุ่นเก๋า ด้านนักวิชาการแนะ “เลิกเหวี่ยงแห หาเรตติ้ง” แล้วกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัด ที่สำคัญคือ ถึงเวลาที่ต้องมี “นักการตลาด” ทำงานใน กองบก. แบบใกล้ชิด แต่ต้องไม่ก้าวล่วง “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์”

            29 มกราคม 2564 นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวดิจิทัล นสพ. ฐานเศรษฐกิจ และเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ กล่าวถึงประเด็น “รู้ทันการสื่อสาร ข่าวหมูแพง” ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ว่า การทำหน้าที่ของสื่อโดยเฉพาะการรายงาน ข่าวอหิวาต์ในหมู (ASF : African swine fever virus) นั้น “สื่อสายเศรษฐกิจ” ได้เริ่มรายงานตั้งแต่ปี 2562  ซึ่งรวมถึงข่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือ ASF ในสุกร เป็น “วาระแห่งชาติ” (มติ ครม. 9 เม.ย.2562 อนุมติงบประมาณเพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเร่งด่วน จำนวน 53,604,900 บาท) 

            แต่การให้ความสนใจในประเด็นนี้ของสังคมในขณะนั้น อยู่ในระดับที่ไม่มากนัก กระทั่งต้นเดือนมกราคม 2565 ที่เริ่มมีข้อมูลว่า ASF ส่งผลกระทบต่อปริมาณสุกรมีชีวิตในประเทศอย่างรุนแรง และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ “ราคาหมูแพง” ขึ้น สังคมจึงเริ่มมีคำถามถึงการทำหน้าที่ของสื่อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ว่า สื่อมีการรายงานหรือไม่ รายงานอย่างไร และรายงานมากน้อยแค่ไหน การรับรู้ของสังคมจึงไม่แพร่หลายอย่างที่ควรจะเป็น

            นายจีรพงษ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า สืบเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ ไม่นิยมอ่านเนื้อหาที่ยาว ๆ แต่กลับให้ความสนใจในการติดตามคลิปวิดีโอ และพื้นที่การสื่อสารส่วนใหญ่ได้ย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ นักข่าวรุ่นเก่าที่แม้จะมีประสบการณ์และมีฝีมือทางด้านงานข่าว แต่ถูกมองว่าไม่มี “Skill” ทางด้านออนไลน์ การเลิกจ้างหรือการปลดออกจากงาน เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่องออนไลน์ แต่ยังขาดประสบการณ์ทางด้านงานข่าวเข้าทำหน้าที่แทน ดังนั้นเนื้อหา หรือ คอนเท้นต์ในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นไปในประเด็น ดราม่าและสีสัน ตามความถนัดของนักข่าวรุ่นใหม่ แต่เนื้อหาจำนวนไม่น้อย ขาดการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรสื่อที่มีวิธีคิดในลักษณะนี้ ต้องระมัดระวัง

“ข่าวที่มีการนำเสนอแบบรอบด้านและเป็นการนำเสนอในเชิงลึก ถูกต้นสังกัดมองว่า ประชาชนไม่สนใจ เช่น สำนักข่าว A  นำเสนอข่าว ASF ในสุกรและพร้อมบทวิเคราะถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียดรอบด้าน ขณะที่สำนักข่าว B นำเสนอข่าวชาบู-หมูกระทะขึ้นราคา ซึ่งแน่นอนว่า เรตติ้ง สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย ก็จะเทไปที่สำนักข่าว B เป็นต้น  การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักข่าวทั้ง สำนักข่าว A และสำนักข่าว B คือ ต้องเพิ่ม Skill ออนไลน์ให้กับนักข่าวรุ่นเก่า และสร้างความรู้ความเข้าใจงานข่าวเชิงลึกให้นักข่าวรุ่นใหม่ แทนที่จะใช้วิธีปลดนักข่าวรุ่นเก่าที่ยังมีความสามารถ และยังทำงานได้” 

            ด้าน นายชาคร หนูคงใหม่ บรรณาธิการบริหาร รายการเศรษฐกิจ TNN 16  อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมการเสพข้อมูลข่าวสารจากความเร็ว ทำให้โลกเต็มไปด้วยข่าวลวง (Fake News) และหากผู้เสพไม่รู้ข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารที่เสพแล้วเกิดการส่งต่อ ก็จะเป็นการส่งต่อแบบผิด ๆ เช่นเรื่อง “หมูแพง” ประชาชนบางกลุ่ม “มโน” ไปว่า เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้ ดังนั้นประชาชนในกลุ่มนี้ จึงควรศึกษาและตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการให้ความเห็น และ/หรือ เผยแพร่ต่อ    

“โรค ASF อุบัติขึ้นตั้งแต่ปี 2560 และ TNN16 ก็ติดตามมาโดยตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่า สื่อหลักสายเศรษฐกิจ ให้ข้อมูลหรือรายงานไม่ทันโซเชียลมีเดีย แม้แต่ TNN16 ที่มีช่องทางสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็มีกระบวนการตรวจสอบก่อนเผยแพร่ จึงทำให้การนำเสนอช้ากว่าสื่อบุคคล ที่นำเสนอโดยไม่มีการตรวจสอบ แต่ตรงนี้ก็ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะผู้ที่เป็นสื่อจำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทัน คือ ต้องสรุปเนื้อหาให้ครอบคลุม-รอบด้าน แล้วต้องเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียให้ได้ ภายในเวลา 1-2 นาที หรือภายในระยะเวลาที่แต่ละแพลตฟอร์มกำหนดไว้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันองค์กรข่าว ไม่ได้มีคนข่าวที่ทำงานในลักษณะนี้ในคน ๆ เดียว คือ จับประเด็นได้ เขียนข่าวได้ รายงานได้ ถ่ายคลิป-ตัดต่อฯ ได้ และมีความเข้าใจธรรมชาติของแพลตฟอร์มสื่อสารต่าง ๆ ซึ่งแม้จะไม่มี หรือหายาก แต่ทุกส่วนงานก็ต้องช่วยกันสร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และสมประโยชน์ขององค์กรต้นสังกัด”  

            ขณะที่ นางสาวปาจารีย์ ปุรินทวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อดีตผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ นสพ. ฐานเศรษฐกิจ กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการที่ได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการอีกหลายท่าน ในการศึกษาเรื่อง “หมูแพง” ด้วยวิธีการมอนิเตอร์ 2 แบบคือ ติดตามอย่างเจาะจงในเว็บไซต์ข่าวหลัก และติดตาม “ฟีดข่าว” (News Feed) อัตโนมัติ ซึ่งพบว่า ข้อมูลข่าวสารจาก ฟีดข่าวนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวชาวบ้าน ซึ่งเป็นข่าวที่อาจจะไม่ได้ให้คุณค่ามากนัก แต่กลับสามารถสร้างกระแสได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะสรุปว่า คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเนื้อหาข่าวในกลุ่มข่าวหนัก (Hard News) คงไม่ได้ เพราะจากการสังเกตผู้บริโภคข่าวที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ใกล้ตัว คือ นิสิต คณะนิเทศฯ ม.บูรพา มีความสนใจข่าวที่แตกต่างกัน โดยมีทั้งนิสิตในกลุ่มที่สนใจข่าวการเมือง สนใจเฉพาะซีรีย์ และสนใจข่าวบันเทิง ฯลฯ  คือ คนรุ่นใหม่โดยไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่สนใจเฉพาะข่าวบันเทิง  หรือผู้ที่ไม่สนใจข่าวสารบ้านเมืองแบบ Hard News

            “ข่าวหมูแพงที่นำเสนอกันอยู่ในขณะนี้  นักข่าวเล่นใหญ่ไปด้วยซ้ำ ดังนั้นผู้บริโภคต้องได้ประโยชน์บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจจะแพ้ข่าวเนื้อจระเข้  ซึ่งเป็นเพราะวิธีการนำเสนอ อย่างที่คุณจีรพงษ์บอกคือ ข่าวชาบู-หมูกระทะขึ้นราคา ได้รับความนิยมมากกว่าข่าว ASF ระบาดจึงทำให้หมูตาย หมูขาดแคลน และหมูแพง ซึ่งตรงนี้เป็นอีกหนึ่งเทคนิคในการเริ่มต้นทำให้คนสนใจข่าวของเรา จากนั้นจึงค่อย ๆ เล่าในจุดอื่น ๆ ต่อไป  และจากการที่เคยเป็นนักข่าวมาก่อน จึงเข้าใจดีว่า เรื่องนี้ไม่ง่าย เหมือนหลาย ๆ เรื่อง คือ กว่าจะหาข้อมูลได้ หรือการให้แหล่งข่าวบางคนพูดบางเรื่องในบางสถานการณ์นั้น ๆ เป็นเรื่องยากมาก  และเข้าใจคนทำงานข่าว”

            นางสาวปาจารีย์ ยังได้กล่าวอีกว่า การที่สังคมตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของนักข่าว ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่สื่อจะได้สื่อสารมากขึ้น เพียงแต่อาจจะต้องเปลี่ยนมุมองในการทำงานข่าวว่า แทนที่จะบอกว่า สื่อสารไปยังสังคม ก็เปลี่ยนเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า เป็นใคร และสร้างเนื้อหารวมทั้งสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมายแทนที่จะเหวี่ยงแหไปทุกกลุ่มเพื่อหาเรตติ้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดแรงกดดันแล้ว ก็จะยังเป็นโอกาสในการนำเสนอข่าวดี ๆ ได้ต่อไป นอกจากนี้ควรพิจารณาจัดหาทีม “สื่อสารการตลาด” เข้าทำงานร่วมกับกองบรรณาธิการข่าว เพื่อแนะนำทิศทางการนำเสนอ และการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของแต่ละข่าวให้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ทีมการตลาดก้าวล่วงเข้าไปในงานของกองบรรณาธิการข่าว ซึ่งถือว่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสื่อ 

            “หน้าที่ของนักข่าวคือ นำเสนอข่าวให้รอบด้าน ส่วนหน้าที่ในการตัดสินใจเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคว่า จะเชื่อใคร หรือจะเสพอะไร และเป็นไปไม่ได้ที่สื่อนำเสนอข่าวไป 10 ชิ้น แล้วผู้คนจะตามอ่านทั้งหมด ดังนั้นการมียอดอ่านน้อย ก็ไม่ได้เป็นความผิดของนักข่าว เพราะแม้แต่ข่าวหลาย ๆ ชิ้นในหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ ก็ไม่ใครรู้ว่า จะมีคนอ่านหรือไม่ หรือมีคนอ่านมากน้อยแค่ไหน มีคุณค่าหรือเปล่า จะรู้ก็ต่อเมื่อมีการหยิบไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ(ในสภาฯ) ถึงจะบอกได้ว่า การทำข่าวได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว”