เมื่อสื่อไทยอยู่ในภวังค์ข่าว “ดาราสาวแตงโม”

นักวิชาการชม “สื่อหลัก” ทำหน้าที่ได้ดีภายใต้กรอบและจริยธรรม กรณีนำเสนอข่าวดาราสาวแตงโม ขณะที่ “คนทำงาน” ย้ำ ไม่สนใจยอดวิวจากภาพที่ไม่เหมาะสมและคนไทยรู้ทันสื่อมากขึ้น ส่วนผู้ผลิต Fake News กำลังจะสูญพันธุ์  ขณะที่จิตแพทย์ถามหาเส้นแห่งความพอดีในการนำเสนอ พร้อมแนะ ทุกสำนักควรยึดหลัก 2 ไม่ 1 เตือน  

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2565 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “เมื่อสื่อไทยอยู่ในภวังค์ข่าว “ดาราสาวแตงโม” โดยมี นายธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นายพรภวิษย์ พูนพันธุ์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวคมชัดลึก และ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมพูดคุยในรายการ กับนายสืบพงษ์ อุณรัตน์ และนายณรงค สุทธิรักษ์

ทั้งนี้เนื่องจากการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ เมื่อคืนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ส่งผลทำให้ สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อบุคคล สนใจติดตามรายงานข่าวสาเหตุการเสียชีวิตของเธอมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการตั้งข้อสังเกตุกันว่า การนำเสนอของสื่อมากเกินไปหรือไม่ ละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ และการนำเสนอฯ อยู่ในกรอบจริยธรรม ตลอดจนเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่สมาคมวิชาชีกำหนดไว้หรือไม่ สังคมได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนกับการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวดาราสาวแตงโมของสื่อไทย มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 4-5 ประเด็นคือ 1)ประเด็นเชิงคุณค่าความเป็นข่าว 2)ประเด็นพื้นที่ข่าวบนสื่อ (สื่อ/สื่อสังคมออนไลน์) รวมทั้งความมากหลาย กับ ความหลากหลาย (Multiplicity vs Diversity)  3)ประเด็นทางจริยธรรม (ภาพหลุด / ดราม่า / ทำให้น่าดูหลงใหล)  4) บทบาทของสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมออนไลน์ และ 5)การสืบค้นความจริงที่ไม่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว และกระบวนการยุติธรรม

โดยประเด็นเชิงคุณค่าความเป็นข่าวนั้น ต้องถือว่า ครบถ้วนเพราะข่าวนี้เป็นข่าวที่ตอบสนอความต้องการของผู้คน เป็นข่าวที่ค่อนข้างมีเงื่อนงำและกำลังรอการพิสูจน์ว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโมนั้น เกิดจากความประมาท หรืออุบัติเหตุ รวมทั้งผู้เป็นข่าวคือ คุณแตงโมเป็นบุคคลสาธารณะ  

ประการต่อมาคือ พื้นที่การนำเสนอ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า หากไม่มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ การนำเสนอข่าวนี้คงไม่แพร่หลายอย่างที่เป็นอยู่ และควรจะใช้คำว่า “สึนามิ” มากกว่า การใช้คำว่า “ภวังค์” เนื่องจากข่าวนี้ มีการนำเสนอจากทั้งสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ และผู้สื่อข่าวพลเมือง แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง 

นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปที่มีอุปกรณ์สื่อสาร ยังทำหน้าที่เป็น “นักสืบออนไลน์” โดยพยายามหาหลักฐานจากทั้งภาพและจากคลิปวิดีโอต่าง ๆ ที่เผยแพร่จากแหล่งต่าง ๆ กระทั่งทำให้ข่าวการสู้รบในยูเครน และข่าวน้ำท่วมภาคใต้ของประเทศไทย ปรากฏอยู่บนพื้นที่สื่อน้อยลง และ “อัลกอริธึม” ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ก็ทำหน้าที่ ส่งข่าวสารของคุณแตงโมออกไปอย่างมากมาย

ส่วนประเด็น “ความมากหลาย” หรือ “ความหลากหลาย” (Multiplicity vs Diversity) นั้น พบว่า ตลอดระยะเวลาของการนำเสนอข่าวนี้  “ความมากมาย” มีมากกว่า “ความหลากหลาย” ดังจะเห็นได้จากการแชร์ภาพข่าวและเนื้อหาข่าวจากรายการทีวีที่ออกอากาศไปแล้ว โดยสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เนื่องจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์พบว่า มีความต้องการข่าวชิ้นนี้มาก แต่เนื้อหาข่าวหรือประเด็นที่นำเสนอส่วนใหญ่ จะเป็นประเด็นซ้ำเดิม เหมือนกันทุกเพจ ขณะที่ผู้รับสารต้องการประเด็นใหม่ แต่ไม่สามารถหาได้ ข่าวชิ้นนี้ความมากหลายจึงอยู่เหนือความหลากหลาย 

“องค์ประกอบของข่าวนี้ ครบถ้วนตามหลักของการทำละคร และตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้สื่อสังคมออนไลน์คือ ใช้สืบหาข้อเท็จจริง ใข้ตั้งข้อสังเหตุ ใช้ตั้งประเด็นโดยเฉพาะจากนักสืบออนไลน์ ใช้ตั้งข้อพิรุธ แต่ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกยุคดิจิทัล และข้อมูลดิจิทัลสามารถดัดแปลงได้  หมายความว่า ข้อมูลที่มีการนำเสนอออกมา จะมีทั้งจริง และอาจจะไม่จริง ดังนั้นหากผู้รับสารรู้ไม่เท่าทันสื่อ ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้”

นายธาม ยังได้กล่าวถึงประเด็นทางจริยธรรมของสื่อในครั้งนี้ว่า การทำงาน (Live สด) ของสื่อมวลชน ในวันที่มีการตามการหาร่างของดาราสาวแตงโมนั้น จะเห็นได้ว่า สื่อหลัก “ทุกสำนัก” พยายามหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพร่างของคุณแตงโม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนได้เรียนรู้ในเรื่องกรอบการทำงาน และจริยธรรมของสื่อได้มากขึ้น  

“ผมมั่นใจว่า ภาพที่ไม่เหมาะสมที่หลุดออกไปตามสื่อสังคมออนไลน์นั้น ไม่น่าจะเป็นภาพหลุดจากสื่อมวลชน แต่น่าจะหลุดจากบรรดา “ไทยมุง” หรือกลุ่มประชาชนที่เดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อสังเกตุการทำหน้าของเจ้าหน้าที่”

นายพรภวิษย์ พูนพันธุ์ หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปทำข่าวในพื้นที่ และทำหน้าที่ถ่ายทอดสด (Live Facebook) กล่าวว่า ทีมข่าว “คมชัดลึก” ได้ถ่ายทอดสดในพื้นที่รวม 38 ชั่วโมง โดยก่อนหน้าที่จะออกไปทำหน้าที่ในครั้งนี้ กองบรรณาธิการ ได้มีการพูดคุยกันและมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าจะพบคุณแตงโมในลักษณะไหน ตรงไหน ก็จะไม่มีการ “ถ่ายภาพ” หรือนำเสนอภาพดังกล่าว เนื่องจากไม่สนใจที่จะหาประโยชน์จากภาพร่างของคุณแตงโม และเมื่อมีการพบร่างดาราสาวแตงโมเป็นที่ชัดเจนแล้ว ทีมข่าว “คมชัดลึก” ก็สื่อสารกันทันทีว่า จะหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพร่างของดาราสาวแตงโมโดยเด็ดขาด

“ทีแรกเรามี viewer  จากการ Live สดของทีม “คมชัดลึก” อยู่กว่า 1.5 แสนราย แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงเหลือเพียง 9 หมื่นราย ในทันทีที่พบร่างคุณแตงโม แต่เราไม่แพร่ภาพออกไป คนก็หันไปหาเพจอื่น ด้วยหวังว่า จะได้เห็นภาพนี้ และผมมั่นใจว่า สื่อหลักสำนักอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกับที่ทีมผมทำ คือ ไม่มีการเผยแพร่ภาพร่างคุณแตงโม ส่วนการรู้เท่าทันสื่อของคนไทยในยุคนี้ ผมว่า คนไทย  รู้เท่าทันสื่อมากขึ้น ใช้สื่อเป็นมากขึ้น แม้ว่า จะมีการ Set Agenda หรือ กำหนดวาระข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ แต่ผู้รับสาร หรือผู้เสพสื่อ ก็รู้เท่าทันสื่อมากขึ้นคือ มีการนำข้อมูลที่ได้รับมา ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ไม่ได้เสพ หรือไม่ได้รับสารจากสื่อสำนักใด สำนักหนึ่ง แม้จะยังมีกลุ่มที่พยามผลิตข่าวปลอมออกมาบ้าง แต่ก็อยู่ในปริมาณที่ไม่มากเหมือนที่ผ่าน ๆ มา” 

ทางด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ กล่าถึงประเด็น “สื่อไทยในภวังค์ข่าวดาราสาวแตงโม” ว่า การเสพข่าวในลักษณะนี้ แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ 1)การเสพในลักษณะที่รู้ตัวว่า กำลังเสพข่าวอะไรอยู่  2)เสพแบบตามไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้สนใจหรือใส่ใจมากนัก 3)เสพแบบเสพติดคือ ไม่ได้เสพไม่ได้  และ 4)การเสพข่าวนี้ของกลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มคนที่มีอาการทางจิตอยู่แล้ว        

ทั้งนี้บรรยากาศการเสพข่าวของคนไทยในครั้งนี้มีลักษณะพิเศษที่เกิดจากสื่อ เนื่องจากสื่อหลักจำนวนมาก ทำให้ข่าวคุณแตงโม กลายเป็น ดราม่า คือ ใส่ความขัดแย้ง ใส่อารมณ์ แล้วสื่อสังคมออนไลน์ ก็เข้ามาร่วมวงด้วย ข่าวคุณแตงโมจึงมีการต่อยอดไปเรื่อยๆ มีการเพิ่มประเด็นไปเรื่อยๆ  และเพิ่มอารมณ์ไปเรื่อยๆ  กระทั่งมีการตัดสินว่า ฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด และสร้างความเครียดให้กับผู้เสพข่าวนี้โดยไม่รู้ตัว รวมทั้งเกิดอาการเสพติดข่าวนี้ โดยไม่รู้ตัว

“พฤติกรรมการเสพข่าวในลักษณะนี้คือ มากเกินไป ทำให้เกิดเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ผมจึงนำเสนอบทความผ่านสื่อเพื่อให้สังคมทบทวนว่า ควรเสพข่าวในลักษณะนี้มั้ย และการเสพข่าวที่มากขึ้นที่แม้จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แต่หลายคนก็มองว่า เป็นเพราะสื่อทำหน้าที่ไม่เหมาะสม กระทั่งกลุ่มคนที่เปราะบางอยู่แล้ว เสพข่าวนี้ในลักษณะที่มากเกินไป ก็จะยิ่งทำให้ซ้ำเติมความเปราะบางของเขาเข้าไปอีก”

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า การนำเสนอข่าวของสื่อควรยึดถือเส้นแบ่งแห่งความพอดี คือ นำเสนอแล้วไม่ทำร้ายสังคม และต้องมีลิมิต (กรอบ) เช่น ต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เป็นข่าว หรือ เจาะลึกจนมากเดินไป เช่น การรายงานว่า ปัสสาวะ หรือไม่ปัสสาวะท้ายเรือ ร่างที่พบเป็นอย่างไร

“อันนี้เป็นลิมิตที่หนึ่ง ส่วนอีกประเด็นคือ การที่เราเข้าไปตั้งข้อสมมติฐาน ทำให้สังคมเริ่มเกิดการเกลียดชัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสื่อสาร โดยจะเริ่มจากอารมณ์ไปสู่ความรุนแรง แม้ในที่สุด สื่อจะประสบความสำเร็จ จากการที่มีผู้ติดตามมาก แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า คดีนี้ สื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ สื่อต้องถามตัวเองว่า ลิมิต ที่พอดีสำหรับตัวเองอยู่ตรงไหน ซึ่งเรากำลังพูดถึงขอบเขตที่เหมาะสม คือ การขายข่าวโดยไม่รู้ตัว เหมาะสมหรือไม่ เมื่อเทียบกับการทำหน้าที่ 1)ไม่ผลิตอย่างไม่สร้างสรรรค์  2)ไม่ส่งต่อ และหนึ่งเตือนคือ ต้องเตือนสติกัน แต่ในช่วงวันสองวันนี้ สื่อก็เริ่มระวังตัวมากขึ้น เนื่องจากหลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตและให้ความรู้กับสื่อมากขึ้น” 

————————————