สภาการสื่อฯ ประกาศใช้แนวปฏิบัติทำข่าวไสยศาสตร์หวย แนะสื่อเจาะลึกข่าว “แตงโม” แต่ต้องไม่ละเมิด

         สภาการสื่อมวลชนฯ ประกาศใช้แนวปฏิบัติ การเสนอข่าว ภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน พร้อมหยิบยกการทำหน้าที่สื่อกับเหตุการณ์เสียชีวิตของดาราสาว “แตงโม” หารือ พบสื่อแข่งขันสูง เจาะลึกข้อมูลใหม่นำเสนอล้ำหน้าเจ้าหน้าที่ แต่ต้องไม่ล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจนทำให้กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

         น.ส. นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาเสร็จแล้ว 1 เรื่อง ได้แก่ ร่างแนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าว และภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน โดยที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป (แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าว และภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน พ.ศ. ๒๕๖๕)

         น.ส. นิภาวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบการจัดกิจกรรมเนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2 เมษายน 2565  โดย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ได้ขอให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นองค์กรร่วมจัด ร่วมกับเครือข่ายโคแฟค สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สสส. มูลนิธิฟรีดริชเนามัน สภาองค์กรของผู้บริโภค ไทยพีบีเอส โดยจะมีกิจกรรมทั้งเวทีเสวนา งานอบรมให้ความรู้ในการตรวจสอบข่าวลวงข่าวปลอม ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. – 2 เม.ย. 2565 โดยในวันที่ 30 มี.ค. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และไทยพีบีเอส จัดเวทีเสวนาออนไลน์ มีเดียฟอร์รั่ม ครั้งที่ 14 เรื่อง “บทบาทของอัลกอริทึม กับการเข้าถึงข้อเท็จจริงในยุคดิจิทัล”

         นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยกประเด็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ต่อกรณีการเสียชีวิตของดาราสาว “แตงโม” ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ (นิดา พัชรวีระพงษ์) เพื่อขอความเห็นจากกรรมการ โดยเห็นว่า การทำหน้าที่สื่อทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ ต่างแข่งขันกันเจาะลึกหาประเด็นใหม่ ๆ เพื่อนำมาเสนอให้ประชาชนทราบ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สื่อวันนี้ทำตัวเป็นพนักงานสอบสวนเสียเอง จนบางครั้งพบว่ามีการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียชีวิตมากเกินไป

         อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า แม้สื่อวันนี้จะทำหน้าที่เจาะลึกข่าวมานำเสนอทุกแง่มุม แต่ก็ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อนการนำเสนอด้วย มิใช่การคาดเดาเหตุการณ์ หรือนำข้อมูลที่มีการโพสต์กันทางโซเชียลมีเดีย มานำเสนอต่อโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ สื่อควรนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียชีวิต ญาติและผู้เกี่ยวข้องอีกด้วย