สงครามข้อมูลข่าวสาร รัสเซีย-ยูเครน

นักวิชาการแนะ เสพข่าว “รัสเซีย-ยูเครน” ขอให้นึกถึงกรณี “อาวุธทำลายล้างสูงในอิรัก” แล้วค่อยย้อนกลับมาดูสงครามครั้งนี้ ขณะที่ อนุกรรมการสภาการฯ เผย “Pornhub” ห้ามพี่หมีเข้าเว็บไซต์ เป็น Fake News แต่สื่อไทยหยิบมาแปลแล้วนำเสนอ พร้อมย้ำ META เปิด Facebook ให้ “บุลลี่” ได้ เฉพาะกับทหารมอสโกเท่านั้น ด้าน บีบีซีไทยสายตรงจากลอนดอน แนะ ผู้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ ต้องตรวจสอบข่าวหรือข้อมูลที่ไม่มั่นใจทั้ง 2 ด้าน

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 ซึ่งออก อากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5อสมท. ในประเด็น “สงครามข่าวสาร รัสเซีย-ยูเครน” โดยมี รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายธีรนัย จารุวัสตร์ อนุกรรมการ ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และนายนพพร วงศ์อนันต์ บรรณาธิการ บีบีซีไทย สำนักข่าวบีบีซี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ร่วมพูดคุยในรายการ กับนายวิชัย วรธานีวงศ์ และนายณรงค สุทธิรักษ์

ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์สู้รบในประเทศยูเครน การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทั้งฝ่ายยูเครน รัสเซียและจากสื่อตะวันตกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มาก และแม้จะเป็นประเด็นเดียวกัน แต่รายละเอียดของเนื้อหากลับมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เสมือนว่า ทั้ง 2 ฝ่ายรวมทั้งฝ่ายสนับสนุน กำลังทำสงครามข้อมูลข่าวสารกันอย่างดุเดือด กระทั่งผู้รับสารเกิดความสับสนและไม่สามารถรู้ได้ว่า ข่าวไหนคือข่าวจริง และข่าวไหนคือ Fake News

รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ ให้ความว่า แหล่งของข้อมูลข่าวสารการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่สื่อไทยนำมาใช้และนำเสนอในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มักมีที่มาจากสื่อตะวันตก เช่น จากสำนักข่าว CNN หรือสำนักข่าว BBC ขณะที่ข่าวสารจากทางรัสเซียที่ผู้รับสารจะได้เห็นจากสื่อไทย มักจะมีเฉพาะข่าวที่มาจากการแถลงของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารระหว่างคู่ขัดแย้งและผู้สนับสนุนที่เกิดขึ้น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อครั้งสหรัฐฯ และพันธมิตร กล่าวหาอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก (สาธารณรัฐอิรัก) ว่า สะสมอาวุธทำลายล้างสูงซึ่งเป็นภัยต่อขาวโลก จึงจำเป็นที่สหรัฐฯ และพันธมิตร ต้องเข้าไปกำจัดอาวุธเหล่านั้น แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครพบหรือเจออาวุธที่สหรัฐฯ กล่าวอ้าง

“ข้อมูลข่าวสารที่มีออกมา ณ เวลานี้ เราเห็นภาพฝ่ายเดียวคือ รัสเซีย เป็นผู้ก่อเหตุ แม้จะมีสื่อบางแห่งพยายามนำเสนอข้อเท็จจริง แต่การตอบรับข่าวสารในมุมนี้มีน้อย อาจจะเป็นเพราะสื่อเชื่อข่าวแบบนี้จริง ๆ  และไม่น่าจะเป็นเรื่องการทำไอโอ (IO : Information Operation) ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเข้าใจว่า อเมริกา เป็นเจ้าพ่อสื่อ และไม่ได้ผลิตข่าวอย่างเดียว แต่มีการผลิตภาพยนตร์ปลุกระดมชาตินิยม เช่น กัปตันอเมริกา หรือการสร้างภาพให้จีนเป็นผู้ร้าย และรัสเซียต้องถูกทำลาย สงครามข้อมูลข่าวสารครั้งนี้ จึงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว และเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว ผู้รับสารจึงต้องใช้วิจารณญาณในการเปิดรับและต้องหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วย”

รศ.ดร.นรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี (ด้านการสื่อสาร) มีการพัฒนาขึ้นมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้ผู้รับสารสามารถเปิดรับข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น แต่เทคโนโลยีก็มาพร้อมกับข่าวปลอม (Fake News) ในปริมาณที่มาก และบ่อยครั้งที่สื่อหลักนำข่าวปลอมเหล่านี้มานำเสนอ ขณะที่ปัญหาของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยเฉพาะข่าวปลอมก็ยังมีอยู่ ผู้รับสารในยุคนี้จึงอยู่ในอาการที่ “เหนื่อย” ต่อการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ขณะที่ต่างชาติก็รู้จุดอ่อนของคนไทยดี ดังนั้นเรื่องของรัสเซีย-ยูเครน จึงถูกนำมาผูกโยงเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองไทย  

“ผู้รับสารจึงต้องรู้ตัวว่า สถานการณ์ยูเครน-รัสเซียกำลังอยู่ตรงไหน และตัวเองกำลังทำอะไร ซึ่งต้องชั่ง-ตวง-วัด มุมของผู้นำเสนอ กับทั้งยังต้องหาแหล่งข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะในกรณีนี้ต้องทำความเข้าใจว่า สื่อตะวันตกร่วมเป็นคู่กรณีในสถานการณ์นี้ด้วย” 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมาตรฐานการแปลข่าวจากสำนักข่าวในประเทศไทยดีขึ้นมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการนำเสนอมากนักคือ สงครามยูเครน กำลังจะทำให้โลกต้องจัดระเบียบใหม่หรือไม่ และสหรัฐอเมริกา จะยังคงสถานะการเป็รศูนย์กลางของโลกได้อีกต่อไปหรือไม่

ทางด้านนายธีรนัย จารุวัสตร์  แสดงความเห็นในฐานะที่เคยศึกษาวิชา War and Society ในระดับปริญญาโทจากประเทศอังกฤษว่า นึกไม่ถึงว่า จะสามารถนำวิชาความรู้มาปรับเข้ากับเรื่องของสงครามได้จริง นอกจากนี้ยังมองว่า การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมีความพิเศษในยุคข้อมูลข่าวสาร คือ เป็น “สงครามแรก” ที่เกิดในยุคสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) แม้ว่าจะเคยมี “สงครามอิรัก” เมื่อปี ค.ศ. 2003 แต่ขณะนั้นโลกยังไม่มี Facebook และ Twitter  

สงครามครั้งนี้ ผู้รับสารจึงได้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ในปริมาณมาก แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ว่า เป็นข่าวจริงหรือ Fake News ขณะที่ผู้แชร์จำนวนไม่น้อย ก็แชร์ข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีการตรวจสอบ กระทั่งกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารบางอย่าง เช่น  ภาพทหารกระโดดร่มที่มีการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์แห่งหนึ่ง ที่ระบุว่า เป็นทหารรัสเซียนั้น เป็นเรื่องไม่จริง รวมทั้งภาพที่มีความคล้ายกับรถหุ้มเกราะหรือรถถังยูเครน ที่อาจจะต้องการแสดงให้เห็นว่า ยูเครนใช้วิธีสกปรกในการสู้รบครั้งนี้ด้วยการนำรถถังไปจอดซุ่มอยู่ข้าง ๆ อพาร์ทเม้นต์แห่งหนึ่ง หรืออยู่ในบ้านคนเพื่อล่อให้หารรัสเซียยิงจรวดใส่บ้านเรือนประชาชน  ทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ถ่ายดังกล่าวถ่ายขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นเมื่อใด  

“หรืออีกเรื่องที่ผมเห็นก็คือ มีการโพสต์ใน Twitter แล้วสื่อไทยบางแห่งก็นำมาแปลกัน คือ พอร์นฮับ (Pornhub.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์โป๊ ห้ามไม่ให้คนรัสเซียเข้าไปใช้ อันนี้สรุปแล้วคือ เป็นข่าวปลอม แล้วข้อความที่โพสต์ ก็มีแค่ประโยคนี้ประโยคเดียว แต่ก็มีคนแชร์กันเป็นหมื่น และคนโพสต์คนแรกก็ไม่ใช่นักข่าว เป็นใครก็ไม่รู้” 

นายธีรนัย กล่าวต่อไปว่า มีคำพูดของนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า ไม่มีปรากฏการณ์สังคมใดในชีวิตของเรา หรือในโลกของเรา ที่ทำให้เราต้องมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงเท่ากับสงคราม สิ่งที่เคยเป็นปัญหามาก่อนแต่เรากลับไม่มองเห็น สิ่งเราคิดว่าไม่เป็นปัญหา หรือสิ่งที่เราคิดว่ามีแผนการพร้อมรองรับไว้ทั้งหมดแล้วนั้น ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทันทีที่มีสงคราม เช่นเดียวกับสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า แม้ในช่วงที่โลกมีสันติภาพ การกำกับดูแลสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเกิดสงคราม ปัญหาของสื่อสังคมออนไลน์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ 

ส่วนกรณีที่ META ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook ออกมาประกาศว่า จะไม่ปิดกั้นข้อความที่ผู้ใช้ต้องการแสดงความเห็นในเชิงตำหนิรัสเซียนั้น นายธีรนัย กล่าวว่า  Facebook ไม่ปิดกั้น เฉพาะข้อความที่สื่อไปถึง “ทหารรัสเซีย” เท่านั้น แต่แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องการแสดงความเห็นของ Facebook ในกรณีนี้ ยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) ก็ออกมาแสดงความกังวลว่า จะแก้ปัญหาอย่างไรกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นนอกกรอบที่กำหนดไว้ หรือจะกำหนดเส้นแบ่งในเรื่องนี้ได้อย่างไร ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วนายธีรนัยเห็นด้วยกับยูเอ็น เพราะการปล่อยให้ใช้ถ้อยคำในลักษณะที่แสดงความเกลียดชัง (Heat speech) นั้น ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

 ขณะที่นายนพพร วงศ์อนันต์ กล่าวว่า การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในครั้งนี้ ต้องถือว่า เป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวคนยุโรปมาก เนื่องจากเกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียง และยุโรปก็มีความใกล้ชิดกับยูเครนเป็นอย่างมาก มีการค้าขายระหว่างกัน อังกฤษจึงกังวลใจอยู่พอสมควรต่อกรณีที่รัสเซียเข้าไปแทรกแซง ขณะที่รัสเซียก็มีการลงทุนในอังกฤษ และคนรัสเซียจำนวนไม่น้อยก็ทำธุรกิจอยู่ในอังกฤษ เช่น เสี่ยหมี (มร.โรมัน อาคาเดียวิช อับราโมวิช) กำลังถูกบอยคอต ก็เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซี

“ข่าวการสู้รบในยูเครนเป็นที่สนใจของคนอังกฤษเพราะใกล้ตัว และอังกฤษเองก็เป็นประเทศโอบอ้อมอารีย์ ต้องการช่วยเหลือผู้คนทั่วโลก ประชาชนอังกฤษจึงต้องการให้รัฐบาลทำเร็ว (เรื่องผู้อพยพ) แต่รัฐบาลก็บอกว่า ต้องมีกระบวนการมีขั้นตอน คนอังกฤษบางกลุ่มจึงรู้สึกว่ารัฐบาลอังกฤษ ทำน้อยไป ช้าไป ขณะที่ตัวเลขผู้อพยพในขณะนี้ พุ่งขึ้นเกินกว่า 2 ล้านคนแล้ว”

ส่วนการนำเสนอข่าวการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนของบีบีซีไทยนั้น ปัจจุบัน บีบีซี มีการเผยแพร่ออกอากาศมากถึง 42 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษารัสเซีย และภาษายูเครน มีทีมข่าวที่อยู่ในพื้นที่ และอยู่ในลอนดอน มีทีมตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ เช่น ทีม “Reality Check”และ “BBC Monitoring” ทำหน้าที่ตรวจสอบ-ติดตามสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ของ จีน รัสเซีย และที่อื่น ๆ ว่าคุยอะไรกันบ้าง

“กระบวนการทำข่าวของ บีบีซี ได้รับการยอมรับและได้รับความเชื่อถือมานานมากแล้ว ซึ่งบีบีซีไทย ก็จะนำข่าวจากข่าวภาษาอังกฤษเหล่านี้ มานำเสนอให้กับคนไทยแบบทันสถานการณ์ ผ่านช่องทางที่ได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะช่องทาง Social Media”

นายนพพร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลข่าวสารจำนวนไม่น้อย ผู้เสพไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ และหากข้อมูลเท็จถูกกระจายออกไปก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้นผู้รับข้อมูลข่าวสารจึงจำเป็นต้องตรวจสอบข่าว หรือตรวจสอบข้อมูลที่ไม่มั่นใจทั้ง 2 ด้าน รวมทั้งจากสื่อไทยที่ปัจจุบันมีการนำเสนอได้อย่างตรงไปตรงมา ครบถ้วน และครอบคลุมได้พอสมควร

——————————————-