‘กัญชา’ สื่อทำหน้าที่ไม่ดีพอ หรือ Audience ไม่สนใจ

นักวิชาการเด็ก สะกิดสื่อยึดถือ “Objective” ขณะที่เหยี่ยวข่าวสาวสายเขียว เผย กัญชา ทางการแพทย์เริ่มใช้กับผู้ป่วยใกล้ตายและแพทย์แผนปัจจุบันเอาไม่อยู่ แต่ทุกวันนี้ใครก็เข้าถึงได้ ย้ำ ยากที่ “อนุทิน” จะเลี่ยงประเด็นการเมือง ด้าน ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ชี้ สื่อไทยสุดโต่งแบบ 2 ขั้ว พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยใน “เมกา” การนำเสนอของ “ฐานันดรสี่” ส่งผลต่ออัตราการเพิ่ม-ลดของจำนวนผู้เข้าถึงสารเสพติดอย่างมีนัยสำคัญ

หลังจากประเทศไทยประกาศปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 บุคลากรทางการแพทย์กลุ่มหนึ่งได้ออกมาให้ข้อมูลทางด้านพิษภัยของกัญชา รวมทั้งคนไทยจำนวนไม่น้อย ออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อสังคม (Social Media) ถึงมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล และป้องกันไม่ให้เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เข้าถึงกัญชา/กัญชงได้ง่ายดายดังเช่นที่เป็นอยู่ ขณะที่บุคลากรทางแพทย์รวมทั้งประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง กลับให้การสนับสนุนการเปิดเสรีกัญชา/กัญชง และนำเสนอประโยชน์ของกัญชามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงแบบรอบ จึงต้องเป็นของ “สื่อ”

หากแต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ กัญชา/กัญชง นั้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่า สื่อได้ทำหน้าที่อย่างเพียงพอหรือไม่ และทำไมประชาชนจึงมองเห็นแต่ประโยชน์ของกัญชา/กัญชง มากกว่าที่จะตระหนักถึงพิษภัย

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz. อสมท. เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 จึงได้นำเสนอประเด็น “กัญชา สื่อทำหน้าที่ไม่ดีพอ หรือ Audience ไม่สนใจ” ขึ้นพูดคุย เพื่อหาแนวทางการทำหน้าที่ของสื่อฯ โดยมีวิทยากรรับเชิญ ได้แก่ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวณิชกานติ์ แววคล้ายหงส์ ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล PPTV ช่อง 36 และ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมพูดคุยกับนายวิชัย วรธานีวงศ์ และนายณรงค สุทธิรักษ์

โดยนายธาม เริ่มต้นว่า ก่อนหน้าที่มีการประกาศปลดกัญชาออกจากยาเสพติด สื่อหลายสำนัก มีการนำเสนอข่าวกัญชาในแง่มุมที่หลากหลาย กระทั่งหลังจากกัญชาได้รับการปลดออกจากบัญชียาเสพติด ข่าวในลักษณะวิวาทะจึงเริ่มมีการนำสเนอมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นพิษภัยของกัญชาที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ซึ่งต้องถือว่า การปลดล็อกกัญชาเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้สังคมไทย ได้ย้อนกลับไปพูดถึงข้อเท็จจริงของกัญชาว่า กัญชา ถูกกำหนดให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้ใช้สำหรับสันทนาการ

ส่วนปริมาณและประเด็นข่าวกัญชาที่สื่อนำเสนอนั้น มักจะเป็นข่าวเชิงบวกมากกว่าที่จะนำเสนอถึงเรื่องพิษภัย ซึ่งเข้าใจว่า ก่อนหน้านี้ กัญชาคือยาเสพติด สื่อจึงไม่มีวาระที่จะต้องรายงานในเชิงบวก แต่ภายหลังจากกัญชาได้รับการปลดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ประเด็นข่าวเกือบทั้งหมดจึงมุ่งเน้นไปในเรื่องของนโยบาย และผลกำไรทางการผสมในอาหาร ในเครื่องดื่ม และในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย รวมทั้งการใช้ทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม นายธาม ยอมรับว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การนำเสนอข่าวกัญชาของสื่อนั้น มักไม่ค่อยให้ข้อมูลในเรื่อง ข้อจำกัดของกัญชาที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งไม่มีคำเตือนหรือข้อควรระมัดระวังในการใช้กัญชา กระทั่งเป็นประเด็นที่หายไปจากพื้นที่ข่าวของสื่อต่าง ๆ

“เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่มหาศาลของประเทศ เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า การทำธุรกิจ ส่วนผลกระทบในทางลบก็เพิ่งจะตามมา แต่ที่น่าสนใจคือ คำเตือนจากสื่อถึงพิษภัยของกัญชา รวมทั้งการทำหน้าที่กระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ กำหนดมาตรการในการกำกับควบคุมดูแล กลับมีไม่มากพอ กระทั่งกัญชาสามารถแพร่ระบาดเข้าไปยังสถานศึกษา ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามกันว่า สื่อได้คำนึงถึงผลกระทบตรงนี้มากน้อยแค่ไหน”

นายธาม กล่าวต่อไปว่า จากปรากฏการณ์กัญชา สื่อจำเป็นต้องทบทวนเรื่องการทำหน้าที่ (Objectivity) โดยเฉพาะหลักของการ Balance หรือ การรายงานแบบ 2 มุม 2 ฝั่ง ตัวอย่างเช่น ในต่างประเทศ มีงานวิจัยที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ปัญหาหลักของการรายงานข่าวเรื่องกัญชานั้น สื่อมักนำเสนอเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ สรรพคุณ และประเด็นทางด้านการตลาดที่จะนำไปสู่การผลิต ขณะที่กลุ่มผู้เสพอย่างน้อยเกือบ 10% มีพฤติกรรมที่ติดกัญชานั้น กลับถูกละเลยเพิกเฉย คือ ไม่มีการนำเสนอ

นอกจากนี้ สื่อไทย ยังต้องพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมายาคติในการรายงานข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ของกัญชา และต้องระมัดระวังประเด็นทางการตลาด หรือผลประโยชน์ หรือการโฆษณา ที่อาจรุกล้ำเข้าไปยังกลุ่มเด็กเยาวชน รวมทั้งมายาคติอื่น ๆ เช่น ความเข้าใจผิดที่ว่า กัญชาไม่ใช่สารเสพติด ไม่มีพฤติกรรมเสพติด หรือใคร ๆ ก็ใช้กัญชาได้ ซึ่งการนำเสนอเฉพาะประเด็นเหล่านี้ถือว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ทางด้านนางสาวณิชกานติ์ หนึ่งในผู้สื่อข่าว ที่ติดตามความเคลื่อนไหวและพัฒนการของกัญชาในประเทศไทย กล่าวว่า ข่าวที่เกี่ยวข้องกับกัญชามีพัฒนาการในตัวเองมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ประเด็นกัญชาสามารถใช้รักษาโรคได้ จากนั้นก็เป็นการเรียกร้องให้ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ จนถึงการปลดล็อกให้วิสาหกิจชุมชนปลูกได้ ให้เอกชนเข้าร่วมกับวิสาหกิจชุมชนได้

จากนั้น ประเด็นก็พัฒนาไปถึงช่วงที่ต้องเตรียมการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด จนทำให้เกิดช่องว่างขึ้น มีการเรียกร้องให้นำกัญชาไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น สันทนาการ ผสมอาหาร ผสมเครื่องดื่ม และผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ความเคลื่อนไหวในการขออนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) จึงเริ่มคึกคัก มีโครงการก่อสร้างโรงเรือนปลูกกัญชา มีเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการวากฎระเบียบต่าง ๆ กระทั่งมาถึงการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ความยุ่งยาและความวุ่นวายจึงคลี่คลาย แต่ความไม่ชัดเจนกลับเข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ คือ ช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังรอกฎหมายกัญชา ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า ประเทศไทยเปิดเสรีกัญชาแบบ 100% แล้ว

“ในช่วงแรก กัญชา จะถูกกำหนดให้ใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก ทีมข่าวก็ลงพื้นที่เพื่อไปดูว่า ทางการแพทย์ที่ว่านั้น มีประโยชน์อย่างไรบ้าง จะเข้าถึงได้อย่างไร ใครจะเข้าถึงได้บ้าง ผู้ป่วยที่ต้องการใช้กัญชา จะเข้าถึงได้อย่างไร ซึ่งเราก็ไปเจอว่า การให้กัญชากับผู้ป่วยนั้น จะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับแพทย์ เช่น กรณีผู้ป่วยที่การรักษาแผนปัจจุบันไม่สามารถไปต่อได้แล้ว หรือผู้ป่วยในกลุ่มที่ต้องการการรักษาแบบประคับประคองสำหรับช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต แพทย์ก็จะยอมให้ใช้กัญชา เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวาระสุดท้าย แต่ทุกวันนี้การใช้และการเข้าถึงกัญชา แตกต่างจากการเริ่มต้นอย่างชัดเจน”

นางสาวณิชกานติ์ ยังได้ตอบคำถามในประเด็นกัญชากับการเมืองด้วยว่า พรรคภูมิใจไทย คงไม่สามารถปฏิเสธได้ โดยเฉพาะประเด็นที่นายอนุทิน ชาญวีระกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศมาโดยตลอดว่า จะต้องปลดล็อกกัญชาเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ แต่การปลดล็อกอาจจะเร็วไป และไม่มีกฎหมายควบคุม จึงได้กลายเป็นช่องโหว่ กระทั่งมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า เร่งรีบเกินไปหรือไม่ ประเด็นนี้จึงไม่สามารถห้ามไม่ให้มองข้ามประเด็นทางการเมืองไปได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนข่าว ขอยืนยันว่า การทำข่าวกัญชาตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น สื่อหลายสำนักได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างครบถ้วน โดยมีการนำเสนอในทุกมิติ ทุกแง่มุม ทั้งมิติทางสังคม แง่มุมทางเศรษฐกิจ และมิติทางด้านการแพทย์ รวมทั้งยังได้นำเสนอผลกระทบจากกัญชาที่จะเกิดกับกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มเด็กเยาวชนอีกด้วย

ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ได้ทำงานวิจัยโดยมีอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ ช่วยรวมรวมและสืบค้นข้อมูลการนำเสนอข่าวของสื่อ และพบว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกัญชาของสื่อไทยนั้น มีทั้งการนำเสนอในมุมบวกและลบ โดยสื่อที่นำเสนอในมุมบวก ก็จะมีแต่มุมบวกเพียงมุมเดียว โดยเฉพาะในรายที่เป็นมุมบวกมาก ๆ ก็จะมีวาทกรรมประมาณว่า กัญชารักษาได้แทบทุกโรค ขณะที่สื่อในกลุ่มที่นำเสนอกัญชาในมุมลบ ก็จะมีวาทกรรมที่เน้นย้ำว่า กัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าว ชี้ว่า กัญชา สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยเฉพาะบางอาการเท่านั้น แต่ผลสรุปโดยภาพรวมที่ออกมาในขณะนั้น กลับทำให้คณะผู้วิจัยมีความกังวลว่า กัญชา สำหรับประเทศไทย อาจจะไปไกลมากกว่าการใช้ทางการแพทย์แล้ว

รศ.พญ.รัศมน กล่าวต่อไปว่า การที่จะช่วยไม่ให้ประชาชนเสพติด จำเป็นต้องมีการบาลานซ์ในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสาร เช่น เมื่อใดที่เห็นว่า มีการนำเสนอข่าวกัญชาในมุมบวกจนมากเกินไป ก็ต้องมีใครเข้าไปช่วยให้เกิดบาลานซ์ในอีกมุมหนึ่ง เช่น อาจจะต้องมีการจัดสัมมนา หรือเสวนา หรือจัดเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของกัญชา หรือหากมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในมุมลบของกัญชาในปริมาณที่มาก ก็อาจจะต้องมีหน่วยงาน หรือองค์กรรับผิดชอบ ออกมาให้ข้อมูลในมุมบวก ฯลฯ เป็นต้น

ส่วนคำถามที่ว่า การนำเสนอของสื่อมีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการเข้าถึงกัญชา หรือไม่นั้น มีการศึกษาในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการศึกษาพฤติกรรมในกลุ่มเด็กมัธยมติดต่อกันนับ 10 ปี และพบว่า ในปีที่เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อกัญชา ก็จะแสดงให้เห็นว่า ในปีนนั้นจะมีผู้ใช้กัญชาเพิ่มตามขึ้นไปด้วย แต่หากปีไหนเด็กมัธยมในกลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัญชา อัตราการใช้กัญชาในปีนั้นก็จะลดลง

“ผลการศึกษาที่ยกเป็นตัวอย่างนี้ จึงค่อนข้างชัดเจนว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร¬ของสื่อมวลชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับทัศนคติของเด็กและประชาชนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ และการที่สังคมได้รับแต่ข้อมูลในด้านบวก ก็จะส่งผลให้ผู้คนไม่กลัวสารเสพติด และมองว่าสารเสพติดเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ ความกล้าที่จะใช้ก็จะมีมากขึ้น นอกจากนี้การเข้าถึงสารต่าง ๆ โดยขาดมาตรการควบคุมที่ดี ปริมาณการใช้สารเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการทำหน้าที่ของสื่อจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์นี้”