สภาการสื่อมวลชนฯ จัดเสวนาสัญจร ครบรอบ 25 ปี “สื่อท้องถิ่นต้องปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล”

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการเสวนาสัญจร เรื่อง “การปรับตัวของสื่อในยุคดิจิทัล : ความท้าทายของสื่อมวลชนท้องถิ่น” เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ “หนุ่ย แบไต๋” ผู้ผลิตสื่อชื่อดัง ที่ในวันนี้ เป็นไอที อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ได้บรรยายผ่านระบบซูมมายังห้องสัมมนา ได้อธิบายถึงการทำงานของตัวเองว่า ได้ผ่านการทำงานมานานกว่า 20 ปี และผ่านความล้มเหลวมา จากสถานการณ์ที่ระบบออนไลน์ทำให้ต้องปรับตัว หลายสื่อที่ถูกดิสรัป เพราะพฤติกรรมผู้เสพสื่อเปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์หายไป ตามด้วยสื่อโทรทัศน์ ทำให้วงการสื่อของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ขณะที่ การปรับเปลี่ยนมาเป็นสื่อออนไลน์นั้น จะต้องเข้าใจในบริบทของสื่อออนไลน์ที่แตกต่างจากสื่อเก่า พร้อมการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เข้ามาชม โดยไม่ต้องอารัมภบท โดยมีเทคนิคที่ทำให้น่าสนใจและน่าติดตามต่อ

แบบเปิดให้ปิ๊ง ใส่เนื้อหาไปเลย และเล่าเรื่องให้เป๊ะ มุกให้ ป๊อบ ฮุคให้เปรี้ยง และสุดท้ายจบให้ปัง เมื่อทำทั้งหมดแล้ว ใส่ไปให้เต็มก็จะประสบความสำเร็จ และมีผู้ติดตามมากขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าของสื่อของตัวเองและตัวตนของตัวเองได้นั่นเอง

หลังจากนั้นช่วงเสวนา “การปรับตัวของสื่อในยุคดิจิทัล : ความท้าทายของสื่อมวลชนท้องถิ่น” โดยมี นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวพัชรี เกิดพรม บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ส่องใต้ และนายกฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการ สำนักข่าวตราดออนไลน์ เป็นวิทยากร

นางสาวพัชรี เกิดพรม บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ส่องใต้ กล่าวว่าได้ทำสื่อมานานกว่า 20 ปี และยังทำงานเป็นสตริงเกอร์ของสื่อในส่วนกลางทั้งไทยพีบีเอส ช่อง 8 และมติชน เมื่อมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาทำให้ต้องปรับตัวด้วยการเข้ามาทำเพจข่าวและทำเว็บไซต์ส่องใต้ ซึ่งทำให้สามารถสร้างการรับรู้ได้มากขึ้น แต่ปัญหาคือเรื่องทักษะ และเทคนิคที่จะทำให้ผู้เข้ามาชมสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ยอมรับว่า มีคู่แข่งขันมากขึ้น แต่ด้วยความที่ได้รับการสนับสนุนและผลักดันของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทำให้ได้รับความรู้และสร้างความแตกต่างกับสื่อมวลชนอื่น ๆ ในพื้นที่ ซึ่งวันนี้ มั่นใจว่า คอนเทนส์ข่าวที่ดีและได้รับการยอมรับจะทำให้เอาตัวรอดได้ ซึ่งวันนี้โฆษณาได้เข้ามาบ้างแล้ว

นายกฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการ สำนักข่าวตราดออนไลน์ กล่าวว่า ครอบครัวทำข่าวมาตลอด เกิดมาก็เห็นพ่อและแม่ทำหนังสือพิมพ์แล้ว โดยทำต้นฉบับด้วยการตัดแปะ และมายกระดับด้วยการทำผ่านคอมพิวเตอร์ อีกทั้งครอบครัวยังทำเคเบิลทีวี และเป็นผู้สื่อข่าวในส่วนกลาง ซึ่งทั้งหมดมีรายได้แยกกัน ซึ่งเมื่อมีอินเทอร์เน็ตก็ได้เข้ามาทำสื่อในออนไลน์ เริ่มจากเฟซบุ๊กและเพจ แล้วมาทำเว็บไซต์ แต่ทำแล้วมีปัญหาทางเทคนิคและทักษะจนต้องล้มเลิก สุดท้ายกลับมาทำเพจตราดทีวี จนได้รับความนิยม และทำจนมีรายได้เข้ามาทั้งเพจเว็บไซต์ ซึ่งการปรับตัวในอนาคตจะต้องพัฒนายกระดับต่อไป เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ หากไม่พัฒนาหรือปรับตัวก็จะอยู่ไม่รอด

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส ชี้ให้เห็นว่า วันนี้ สื่อมวลชนท้องถิ่นไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่รอด โดยที่ตนเองเคยทำงานทั้งในสื่อส่วนกลาง คือ กรุงเทพธุรกิจ และเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ จ. ลำปาง ทำให้เข้าใจบริบทของสื่อท้องถิ่นดี ซึ่งสื่อท้องถิ่นต้องเข้าใจว่าการผลิตคอนเทนต์ในสื่อสิ่งพิมพ์แล้วจะนำมาลงในออนไลน์ทั้งหมด ต้องปรับเปลี่ยนและทำความเข้าใจ เพราะสื่อออนไลน์จะต้องสั้น กระชับ ตรงประเด็น เพราะผู้เสพข่าวไม่ยอมเสียเวลา

นอกจากนี้สื่อท้องถิ่นมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการภายใน ต้องทบทวนตำแหน่งทางการตลาด และการปรับแนวคิด รวมทั้งนโยบายภายในองค์กร นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้ในเรื่องการเขียนข่าวออนไลน์ ลักษณะหรือเนื้อหาของสื่อออนไลน์ สุดท้ายคุณลักษณะของข่าวออนไลน์ ที่ต้องชัด กระชับ ชัดเจนด้วย และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องจริยธรรมของสื่อด้วย

ด้าน รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ทำวิทยุของคณะการสื่อสารมวลชน มานานกว่า 44 ปี เพราะมีความชอบในสื่อเสียง ทำให้ต้องมีการลงทุนในเรื่องเครื่องส่ง และเสาอากาศที่ต้องลงทุนสูง แต่เมื่อมีการปรับตัวเพราะ กสทช. ยึดคลื่นคืน จึงหันมาผลิตสื่อโดยผ่านออนไลน์ และได้รับการสนับสนุนจากทุนในประเทศสวีเดน พร้อมทำการศึกษา อบรม โปรแกรมในเรื่องการออกอากาศ และยังมีผู้ฟังติดตามต่อเนื่อง