‘ทูตอิสราเอล’ เปิดครัวต้อนรับคณะสื่อมวลชน

‘ทูตอิสราเอล’ เปิดครัวต้อนรับคณะสื่อมวลชน-ผู้แทนสมาคมนักข่าวฯ ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศอิสราเอลผ่านวัฒนธรรมอาหาร คิกออฟความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสถานทูตอิสราเอลและสมาคมฯ

วันศุกร์ที่ 9 ก.ย. 2565 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรม “เรียนรู้อิสราเอล ผ่านวัฒนธรรมอาหารอิสราเอล” หรือ “Israel’s Diversity: Stories Behind the Dishes” ณ ร้านอาหาร Helena ซอยสุขุมวิท 49 มีคณะสื่อมวลชน, ผู้แทนสมาคมนักข่าวฯ และคณะทำงานจากสถานทูตอิสราเอล เข้าร่วมกว่า 40 คน

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมฯ กล่าวแนะนำโครงการดังกล่าวว่า ประเทศอิสราเอลอาจจะอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยก็จริง แต่วัฒนธรรมอาหารอิสราเอลได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในประเทศไทย และทั้งสองประเทศก็มีความคล้ายกันที่ได้รับอิทธิพลทางด้านอาหารมาจากหลายชาติ หลายวัฒนธรรม ทางสมาคมนักข่าวฯและสถานทูตอิสราเอล จึงเห็นตรงกันว่า ควรมีกิจกรรมส่งเสริมความเข้าใจประเทศอิสราเอลด้วยการเริ่มต้นที่ “อาหาร” เพราะอาหารอิสราเอลก็สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเรื่องราวต่างๆของชาวอิสราเอลได้เป็นอย่างดี

ด้านนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอล กล่าวบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารอิสราเอลว่า เมื่อพูดถึงอาหารอิสราเอล คนไทยหลายคนคงมีภาพความเข้าใจว่าอาหารอิสราเอลมีแต่อาหารตะวันออกกลางอย่างเดียว อย่าง “ฮัมมัส” (hummus) หรือสลัด “ตาบูเล่” (tabbouleh) แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารอิสราเอลเต็มไปด้วยองค์ประกอบจากภูมิภาคอื่นๆจากทั่วโลก เช่น ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน ตุรกี โมร็อกโก ฯลฯ เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศเกิดใหม่ ชาวยิวที่กระจัดกระจายในหลายประเทศต่างอพยพมาตั้งรกรากในอิสราเอล และได้นำเอาวัฒนธรรมอาหารของตนเองมาประยุกต์กับการใช้ชีวิตในประเทศอิสราเอลด้วย จึงกลายเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย
นางซากิฟกล่าวด้วยว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารเช่นนี้ ทำให้เชฟจากประเทศอิสราเอลจำนวนมากประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เพราะสามารถคิดค้นสูตรอาหารที่ “ฟิวชั่น” ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆได้อย่างกลมกลืน

หลังจบการบรรยาย เป็นกิจกรรมร่วมกันลงมือทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศอิสราเอล อาทิเช่น “ฟาลาเฟล” (Falafel), “ชักชูกา” (Shakshuka) และขนมปัง “ฮาลาห์” (Challah) โดยมีทีมเชฟจากร้านอาหาร Helena เป็นผู้สาธิตวิธีการประกอบอาหารอย่างใกล้ชิด ตามด้วยกิจกรรมรับประทานอาหารอิสราเอลร่วมกันอย่างเป็นกันเองระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมและเจ้าหน้าที่การทูตจากอิสราเอล ซึ่งเป็นมื้ออาหารที่สถานทูตอิสราเอลคัดเลือกเป็นพิเศษเพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น “Kneidlach” ซุปไก่และขนมปังจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งใช้แป้งแบบยิวดั้งเดิมแต่ใช้วิธีการทำแบบยุโรปตะวันออก, ปลาย่างสไตล์โมร็อกโก, “Sabich” ขนมปังไส้ไข่และสลัดผักจากประเทศอิรัก, “Bourekas” พายหลากหลายไส้จากภูมิภาคแอฟริกาเหนือ, ข้าวสไตล์เปอร์เซีย, “Labneh” ครีมชีสและโยเกิร์ตจากประเทศเลบานอน, “Schug” ซอสเครื่องเทศจากประเทศเยเมน และ “Ptitim” อาหารทำจากข้าวสาลีที่ชาวอิสราเอลคิดค้นขึ้นในสมัยก่อตั้งประเทศใหม่ๆ เนื่องจากยังไม่สามารถปลูกข้าวเองได้ ฯลฯ

นอกจากนี้ในตอนท้าย สถานทูตอิสราเอลยังมอบคู่มือแนะนำอาหารอิสราเอลและสูตรอาหารให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน พร้อมด้วยขนมปัง “ฮาลาห์” ซึ่งเป็นอาหารที่ชาวอิสราเอลมักจะรับประทานในทุกวันศุกร์กับครอบครัวของตน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้าตามธรรมเนียมชาวยิวโบราณ

ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวฯ กล่าวปิดกิจกรรมและขอบคุณสถานทูตอิสราเอลสำหรับโครงการในวันนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างสมาคมนักข่าวฯกับสถานทูตอิสราเอล นับว่าเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศอิสราเอลในหลายมิติ และตนเชื่อว่าจะมีกิจกรรมความร่วมมือครั้งต่อๆไปในอนาคตระหว่างสองหน่วยงานอย่างแน่นอน