‘ฟังและ’สั่ง’ : ‘จอกอ’

googlehangout

 

‘ฟังและ’สั่ง’

‘ฟังและ’สั่ง’ : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

               ชีวิตทหาร เมื่อเป็นชั้นผู้น้อยมีหน้าที่แค่ฟังผู้บังคับบัญชา เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็มีหน้าที่สั่ง คนเป็นทหารจึงคุ้นเคยกับการ “สั่ง” และ “ฟัง” มากกว่าโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผล นี่เป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม เมื่อต้องมาเกี่ยวข้องกับคนข้างนอก ในสังคมที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน สังคมที่เห็นการแสดงความเห็นแย้งเป็นเรื่องปกติ ก็จะเกิดอาการทนไม่ได้ และจะต้องพยายามรักษาพื้นที่ที่ตัวเองมีอำนาจสั่งไว้อย่างเต็มที่

หากจะบอกว่าทหารที่เข้ามามีอำนาจขณะนี้ ผิดที่พกพาเอาวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของตนเองมาบังคับคนที่อยู่ต่างวัฒนธรรม ก็คงพูดไม่ได้เต็มคำ เพราะก็ต้องยอมรับว่า ความเด็ดขาดและคำสั่งนี่เอง ที่สามารถหยุดคนไทยที่กำลังลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันเพื่อยืนยันความเชื่อของแต่ละฝ่ายได้อย่างฉับพลัน

ในฐานะที่เกิดมาในครอบครัวทหาร ผมไม่ได้รู้สึกแปลกแยกแตกต่างกับบรรยากาศแบบฟังและสั่งเท่าใดนัก เพียงแต่มีโอกาสฟังมากกว่า แต่ก็ต้องสงสัยว่า การใช้อำนาจสั่งโดยไม่ใส่ใจความเห็นที่มีเหตุผล เอาตัวเองเป็นที่ตั้งนั้น เหมาะสมกับโลกภายนอกที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวไกลจนไม่มีใครอาจปิดหู ปิดปาก ปิดตาใครได้ต่อไปหรือไม่

ทั้งหมดนี้ ต้องยกเว้นความเห็นแบบจัดตั้ง ความเห็นที่สะท้อนจากกลุ่มอำนาจหรือผลประโยชน์ที่มุ่งร้าย ความเห็นทีไม่มีความรับผิดชอบ และสร้างความเกลียดชังให้เกิดกับสังคม ถ้าเรานิยามการแสดงความเห็นของผู้คนได้ชัด เราก็จะไม่รู้สึกหวาดระแวงกับความเห็นที่สุจริต ความเห็นของคนเล็กคนน้อย ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับกลุ่ม หรือพรรคการเมืองใด

ในขณะเดียวกันหากกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่สามารถแยกแยะและมุ่งแต่จะเก็บเสียงเหล่านี้อยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ กลับจะไปเพิ่มน้ำหนักให้แก่ฝ่ายตรงข้ามที่จะตอกย้ำความเป็นเผด็จการของอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น

การเปิดพื้นที่สำหรับ “เสียงสาธารณะ” ย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่าการกดให้เสียงเหล่านี้ลงไปอยู่ใต้ดิน หรือมุมมืด รอเวลาที่เขาจะมีโอกาสพูดอีกครั้ง และวันนั้นจะได้รู้ว่าความพยายามที่จะให้คนไทยรักกันในแบบพิธี หรือเปิดเพลงคืนความสุข สัญญาจะอยู่ไม่นาน ซ้ำๆ นั้น ไม่ได้มีความหมายอย่างใดเลย หากไม่สามารถสร้างใจที่จะเข้าใจ และรักเพื่อนร่วมชาติได้อย่างแท้จริง

บนโต๊ะประชุมคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ผมได้เสนอแนวทางการปฏิรูปสำคัญหลายเรื่อง ที่คาดว่าจะทำให้เสร็จสิ้นได้ภายในเวลาอีกราว 1 ปีจากนี้ นอกจากการปฏิรูปองค์กรกำกับดูแลสื่อ ปฏิรูป กสทช. ปฏิรูปกฎหมายสื่อและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว การปฏิรูปเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งก็คือเสรีภาพของประชาชน คือหัวใจสำคัญที่จะพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลทหาร และความมุ่งมั่น เข้าใจของสมาชิกสภาปฏิรูปสายสื่อมวลชน ที่จะผลักดันให้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยกลับมาสู่บ้านเมืองไทยอีกครั้ง

และแน่นอน เมื่อเราเรียกร้องเสรีภาพ ที่ต้องมีความรับผิดชอบแล้ว ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบ และเคารพกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันด้วย

ผมมีความเห็นเช่นเดียวกับเพื่อนพ้องสื่อส่วนใหญ่ในคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปว่า จะต้องแสวงหาทางออกด้วยการเจรจา ขอความร่วมมือและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน หาใช่การสร้างความเข้าใจโดยให้เข้าใจแต่ฝ่ายเดียว และใช้อำนาจที่มีอยู่บังคับให้จำยอมเชื่อโดยต้องไม่มีข้อโต้แย้ง

ผมเห็นว่าควรต้องมีการจัดการสื่อแบบแยกแยะ และหากสื่อใดล้ำเส้น ทำผิดกฎหมาย สร้างความแตกแยก ก็ใช้กฎหมายปกติจัดการ กสทช.ที่เคยอ้างว่า ในยามที่บ้านเมืองวุ่นวาย ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ตำรวจก็พึ่งพาไม่ได้ กลุ่มมวลชนก็จะบุกมากดดันหากจัดการสื่อในฝ่ายเขา ก็น่าจะไม่มีข้ออ้างอีกต่อไป

อย่างน้อยสองครั้งที่ท่านผู้นำ และรองโฆษกรัฐบาลอ้างถ้อยคำของผมที่ว่า “เราจะต้องไม่กลัวอย่างลนลาน และไม่กล้าอย่างบ้าบิ่น” นั่นหมายถึงการเดินสายกลางโดยยึดหลักการอย่างเคร่งครัด ซึ่งผมไม่เคยพูดถึงเลยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ครั้งนี้ขอยืนยันอีกครั้งว่ายังไม่เปลี่ยนความคิดนี้ แต่ก็ต้องสะกิดเตือนกันว่า หากมุ่งแต่ใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงใคร และเชื่อว่าการควบคุมเสียงต่างอย่างเบ็ดเสร็จนั้น คือหนทางแห่งการสร้างความปรองดองให้คนในชาติ นั่นผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว