ปฏิรูปแถวตรง! : ‘จอกอ’

jkbbc

ปฏิรูปแถวตรง!

ปฏิรูปแถวตรง! : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

               “คิดได้แต่อย่าแสดงออก ขอเวลา คสช. ลองร้องเพลงคืนความสุข ขอเวลา 1 ปี ซึ่งไม่นาน และหลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปฏิรูปสำเร็จ ก็เดินหน้าไปเลือกตั้งก็จบ ผมว่านักข่าวคิดมาก คุณน่ะกำลังจะทำลายบรรยากาศ” (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม)

ผมคงไม่แตกต่างจากหลายคนในประเทศนี้ ที่ถูกบังคับให้ต้องเชื่อว่า พวกเขากำลังทำงานให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข ให้คนไทยกลับมารักกัน เข้าใจกัน คล้ายจะล้างเรื่องบาดหมางในหนหลังให้หายไปในชั่วเวลาเพียง 1 ปี

และถ้าสังคมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ อันเกิดจากปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือปี 2540 ที่มีเจตนารมณ์ให้ระบบพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง จนกระทั่งปี 2550 ที่กลับต้องการลดทอนอำนาจนักการเมือง ไปเพิ่มอำนาจให้ตุลาการและทำให้ระบบราชการมีอำนาจทางการเมือง รัฐธรรมนูญปี 2558 ก็จะไปเพิ่มความเข้มข้นในการลดอำนาจนักการเมืองมากขึ้น เพราะความเชื่อที่ว่า นักการเมืองบางกลุ่มเป็นต้นตอปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด

เรียกกันว่า เป็นการปะผุตามสภาพ ไม่ได้มีความหมายและความสำคัญถึงขนาดจะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปได้เต็มคำ

ตอน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั้น เขาเรียกว่า ปฏิวัติเสียของ คือ แม้จะเป็นการปฏิวัติที่ได้รับการแซ่ซ้องยินดี มีการมอบดอกไม้ให้ทหาร ถ่ายรูปลงไลน์กันคึกคัก แม้แต่คู่รักยังใช้ภาพบรรยากาศรถถัง ทหารถือปืน เป็นฉากในมิวสิกวิดีโอ ไม่มีคนบาดเจ็บ ล้มตายสักคน นอกจากคนขับแท็กซี่คนหนึ่งที่มาผูกคอตายประท้วงการปฏิวัติในภายหลัง

แต่จากนั้นเป็นต้นมา คนไทยยิ่งขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์การฆ่ากันล้มตายเป็นจำนวนนับร้อยคน มองในแง่นี้ก็ควรเข้าใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า คงไม่ปรารถนาให้กงล้อประวัติศาสตร์นี้หมุนกลับมาอีก ดังนั้นจะต้องมั่นใจว่าสามารถกุมสภาพได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเมื่อปล่อยมือจากอำนาจแล้ว ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามเพลงคืนความสุข ที่เปิดให้ฟังทุกวัน

แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จากการใช้กำลังปิดกั้นเวทีสาธารณะหลายเวที การทำให้นิ้วทั้งสามที่ถูกชูขึ้นเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจ และท้าทายกฎอัยการศึก ผมเริ่มลังเลว่า เพลงคืนความสุข ที่ได้ยินทุกวัน จะช่วยเยียวยาแก้ไขโรคร้ายของความขัดแย้งที่เรื้อรังมายาวนานนี้ได้หรือไม่

โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่ในการเสนอความเห็นเรื่องปฏิรูป ถูกจำกัดวงไว้ และกันคนส่วนหนึ่งออกไป ถึงแม้ว่าในสภาปฏิรูปแห่งชาติจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะช่วยกันกำหนดกติกาใหม่ของบ้านเมืองโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ คสช.ก็ตาม

ว่าเฉพาะเรื่องสื่อสารมวลชน แทบจะไม่ต้องคิดอะไรใหม่ เพราะคงไม่มีใครโต้แย้งการรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ที่กำหนดไว้เป็นหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้อาจมีประเด็นใหม่อยู่บางเรื่อง อันเป็นผลมาจากบทบาทของสื่อก่อนหน้าที่จะมียึดอำนาจ หนึ่งคือความรับผิดชอบของสื่อมวลชนที่ถูกตั้งคำถามจากบทบาทของสื่อการเมือง สื่อบันเทิง รวมทั้งสื่อออนไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ สองมาตรการในการกำกับ ควบคุมดูแลสื่อ ที่มีคนเริ่มคิดถึงการให้ใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เช่นเดียวกับองค์กรกำกับวิชาชีพแพทย์ และทนายความ

เรื่องความรับผิดชอบของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า มีจริง แต่ก็ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ด้วยอำนาจทุน อำนาจการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องอธิบายให้เห็นภาพ และหากสื่อใดไม่ได้มีเป้าหมายในการทำงานสื่อสารมวลชน ซึ่งอาจแปลว่าจะไม่มีมาตรฐานการทำงานบนหลักการจริยธรรมเหมือนสื่ออาชีพทั้งหลาย ก็ต้องแสดงตัวตนให้ชัดเจน และไม่จำเป็นต้องไปเขียนจำกัดสิทธินักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เคยปฏิบัติได้

ถึงแม้จะไม่ใช่แก้วสารพัดนึก แต่ผมยังหวังว่า การปะผุรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อมวลชนครั้งนี้ จะเขียนออกมาบนเท้าที่ติดดิน ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้