ระวัง… ! เด็กไม่ใช่ “Content” สำหรับสื่อ

เตือนคอนเทนต์เด็กเสี่ยงละเมิดสิทธิ ผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล แพทย์ชี้ผู้ปกครอง-ครู ควรตระหนักความรู้สึกเด็ก ฟังเสียงจากเด็ก แนะหาสมดุล เด็ก-พ่อแม่-ครู เรียนรู้ร่วมกัน ชี้หน้าที่สื่อพิทักษ์-ดูแลสิทธิเด็ก ทำความเข้าใจสังคม ขณะที่สภาการสื่อฯ เผยแนวปฏิบัติทำข่าวเด็กเข้มข้น เพิ่มมาตรการเยียวยา-ลบข้อมูล ด้านนักวิชาการสื่อ เสนอห้ามครูถ่ายคลิปเด็ก เสนอองค์กรสื่อมีข้อแนะนำสถานศึกษา

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ระวัง…! เด็กไม่ใช่ Content สำหรับสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร อาจารย์แพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายวีรศักดิ์ โชติวานิช ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

จากปรากฎการณ์ในโซเชียลมีเดีย ที่มีคลิปสั้นเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กเยาวชน ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งถูกถ่ายโดยครู หรือผู้ปกครอง ขณะที่อีกด้านหนึ่งสังคมอาจไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิของเด็กและเยาวชนในเรื่องนี้

ผศ.พญ.จิราภรณ์ มองว่า การสร้างคอนเทนต์ของครูที่เห็นเยอะมากขณะนี้คือ เอาคอนเทนต์ของเด็กนักเรียน นำมาเรียกยอดไลก์ ให้คนติดตาม เป็นสิ่งที่ต้องคุยให้ชัดว่า เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก บางคลิปเป็นเรื่องน่าอาย ล้อเลียนเด็ก บางทีเด็กไม่ได้ให้ความยินยอมจะออกสื่อ จึงอยากตั้งคำถามหลักกับครู และสถาบันการศึกษา หากเป็นผู้ปกครอง ก็ไม่อยากให้นำลูกหลานไปทำคอนเทนต์แบบนี้ เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์กับเด็ก แต่เป็นประโยชน์กับครู ที่เรียกยอดไลก์ได้ หรือเพิ่มคนติดตามได้ แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่ของครู และอยากให้พ่อแม่เข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นสิทธิของเด็กที่ต้องช่วยกันปกป้อง

ความจริงแล้วครูก็มีหน้าที่ปกป้องสิทธิเด็กตามกฎหมาย แต่หลายครั้งกลับพบว่า คอนเทนต์เหล่านี้ละเมิดสิทธิเด็กเสียเอง พอครูทำคอนเทนต์เด็ก แล้วได้รับความนิยม สื่อก็ไปหยิบประเด็นเหล่านี้ ขึ้นมาพูดคุยผ่านหน้าจอ เพราะเห็นเป็นเรื่องตลก น่ารัก ซึ่งก็เป็นเรื่องของจริยธรรมของสื่อเองด้วย เราเคยย้อนกลับไปถามหรือไม่ว่า ความสนุกอยู่บนความไม่พอใจของเด็ก ความไม่ยินยอมของเด็ก ที่ไม่ได้รู้สึกเห็นดีเห็นงาม กับการที่ตัวเองจะมีภาพปรากฏบนสื่อเหล่านี้

ผศ.พญ.จิราภรณ์ ชี้ว่า ภาพคลิปเด็กในโซเชียลมีเดียถูกนำเสนอ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม แม้ว่ายุคนี้อาจจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นเรื่องใหม่ในโลกโซเชียล เป็นรูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ ซึ่งเราอาจไม่รู้ว่า ความพอดี ความสมดุล อยู่ตรงไหน ทุกคนไม่รู้ว่า การที่เอาเด็กออกสื่อไป จะมีผลต่อเขาอย่างไรในระยะยาว ทุกคนต่างลองผิดลองถูก ฉะนั้น แนวทางนี้ในต่างประเทศเค้าจะห้าม เพราะถือเป็นสิทธิเด็กจึงระวังมาก พ่อแม่ไม่โพสต์รูปลูกลงโซเชียล เพราะปกป้องเรื่องส่วนตัวของเด็ก ระวังความปลอดภัยของเด็ก ในบางประเทศจึงไม่โพสต์เรื่องของเด็กลงในโซเชียลให้ปรากฏต่อสาธารณะมากมาย

อย่างไรก็ตาม ผศ.พญ.จิราภรณ์ มองว่า ในอีกด้านก็อาจเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กได้เหมือนกัน ซึ่งพบว่าเด็กหลาย ๆ คนที่ลุกขึ้นมาทำคลิปวิดีโอ ก็อาจเป็นพื้นที่ให้เขาได้ฝึกฝนทักษะบางอย่าง ดังนั้น สำคัญคือ ต้องเป็นการตัดสินใจของแต่ละคน ว่ามีความรอบคอบ ในการคิดเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

“เด็กหลายคนที่ถูกพ่อแม่เอามาออกสื่อ เค้าอาจจะไม่ได้ยินยอม ไม่มีความสุข ไม่ได้อยากเป็นที่รู้จัก ไม่ชอบไปไหนแล้วคนเข้ามาละเมิดพื้นที่ส่วนตัว ฉะนั้น เป็นสิ่งที่เราในฐานะพ่อแม่ต้องชั่งใจว่า สิ่งที่กำลังทำ เกิดประโยชน์อะไร หรือโทษอะไรกับลูกของเรา ตรงนี้เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องหาจุดสมดุล ว่าอะไรพอเหมาะ”

กรณีที่พ่อแม่ทำคลิปเกี่ยวกับลูก ขณะที่สังคมก็มีกฎหมายสิทธิเด็ก กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผศ.พญ.จิราภรณ์ ระบุว่า แม้ว่าสื่อโซเชียลเข้ามาเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับทุกคน ฉะนั้นการที่จะลงเรื่องเกี่ยวกับคนในครอบครัว โดยใช้พื้นที่โซเชียล อาจเป็นพื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำ การแชร์ภาพความสุขให้กับคนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิด หรือญาติที่อยู่ต่างประเทศได้เห็นชีวิตของลูกหลาน ก็เป็นพื้นที่การสื่อสารรูปแบบหนึ่ง แต่บางทีก็กลายไปเป็นสิ่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการใช้ประโยชน์กลายไปเป็นเรื่องการทำธุรกิจ

 “ถ้าถามถึงเรื่องว่าผิดถูกอย่างไร ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน สำคัญก็คือ เราบาลานซ์ สิ่งเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ฟังเสียงเด็กมากน้อยแค่ไหน เพราะบางคนเอาลูกมาเป็นคอนเทนต์ โดยที่ไม่เคยฟังเลยว่า เค้าต้องการจะอยู่บนพื้นที่ตรงนั้นหรือไม่หรือเค้าอยากเติบโตในรูปแบบที่มีคนรู้จักเขาเต็มไปหมดหรือไม่ เด็กบางคนเป็นคนมีโลกส่วนตัว ไม่ชอบให้คนมาวุ่นวายเยอะ พ่อแม่เอาเขาไปเป็นที่รู้จัก พอเขาออกไปเจอโลกภายนอก ก็ไม่สนุกกับการที่ถูกคนเข้ามารุมล้อม จับจ้อง ขอถ่ายรูป เราอาจจะต้องกลับมาสำรวจความเป็นไป อาจจะต้องลองแล้วเรียนรู้ ถ้าตัดสินใจทำไปแล้ว มันไม่เวิร์ค ไม่ดีกับลูก ไปไหนก็ดูกลัวคนไปหมด ไม่กล้าออกไปไหน ไม่อยากออกไปเจอใคร จึงต้องดูว่ามันส่งผลกระทบหรือไม่ ในฐานะพ่อแม่จึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของลูก”ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว

ต้องหาสมดุล-อีกด้านเด็กได้เรียนรู้

ในขณะเดียวกันก็อาจมีเด็กหลายคน ที่ใช้พื้นที่สื่อ และอาจเกิดการต่อยอดการเรียนรู้ เค้าอาจจะทำงานได้ ตอนอายุน้อย ๆ เพราะโลกเปลี่ยน แบบที่คาดเดาไม่ได้ ต่อไปทุกคนอาจจะมีพื้นที่อยู่บนพื้นที่สื่อ เสมือนโลกจริงอีกโลกหนึ่ง ที่เราทุกคนจะเจอกัน

“ฉะนั้นในอีกมุมหนึ่ง เราอาจจะพลาดประสบการณ์ พื้นที่ในการฝึกทักษะบางอย่างของเด็กบางคนทุกวันนี้จึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า เราไม่ควรเอาเด็กลงพื้นที่สื่อเลย ขณะเดียวกันเด็ก ก็อาจจะขาดโอกาสบางอย่างที่เขาจะได้ฝึกฝน ซึ่งเด็กบางคนเราก็เห็นได้ว่า เค้าทำอาชีพได้แต่อายุน้อย ฉะนั้นพ่อแม่แต่ละคน หรือครูก็ต้องมองว่าสิ่งเหล่านี้จริง ๆ มันเกิดประโยชน์อะไรกับเด็ก เพราะคำถามสำคัญที่เราไม่ค่อยถามกันคือมันเกิดประโยชน์อะไรกับเด็ก ตรงนี้ไม่เคยถูกตั้งคำถาม มันมีแต่การใช้ประโยชน์จากเค้า มันกำลังเป็นค่านิยมสังคมไทยหรือไม่ ที่มีกิจกรรมแล้วถ่ายรูป ทำคลิปโดยไม่ได้คิดอะไร”

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือพีดีพีเอแล้ว สื่อนำไปทำซ้ำ โพสต์ต่อ ในแง่ลบกับเด็ก ผศ.พญ.จิราภรณ์ มองว่าอาจจะไม่ใช่ทุกรูปแบบของคลิป ที่จะมีผลในเชิงลบกับเด็ก ถ้าเป็นภาพที่ไม่สร้างความเสียหาย ไม่อันตรายกับตัวเด็ก ไม่ได้มีข้อมูลส่วนตัว ก็ไม่ได้ส่งผลที่รุนแรงอะไร

ต้องตระหนักผลกระทบถูกบูลลี่

แต่หากคลิปเป็นการบูลลี่ คือโซเชียลบูลลี่ ไซเบอร์บูลลี่ หลายครั้งเราไม่ได้ตระหนัก แต่คิดว่าเป็นเรื่องการแกล้งกันธรรมดา แต่จริง ๆ แล้ว มันคือการแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ล้อกัน ทำโดยครู หลายครั้งก็อาจส่งผลกับเด็ก เขาก็จะรู้สึกอับอาย ซึ่งอะไรที่อยู่บนโลกออนไลน์ มันจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นการผลิตซ้ำ จากสื่อนี้ไปออกสื่อโน้น เปิดมาในรูปออนไลน์เมื่อไหร่ ก็ได้เจอดิจิทัลฟุตพริ้นท์ (Digital Footprint) อะไรที่อยู่ในโลกออนไลน์ก็จะอยู่ที่นั่นตลอดไป ซึ่งมันกำจัดออกไปไม่ได้ ลบหายไปไม่ได้ ไม่อยากเห็นก็ยังต้องเห็น

“ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความอับอาย ความรู้สึกแย่กับตัวเอง เหมือนถูกตอกย้ำกับความผิดพลาด น่าอับอายต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อจิตใจหลายด้าน วิตกกังวล ซึมเศร้า เสียเซลล์ รู้สึกเราไม่ดีพอ ไม่ได้เรื่อง ที่แย่กว่านั้นคือ เกิดเป็นความธรรมดาของสังคมที่แกล้งกันบนโลกออนไลน์ ครูยังทำกับเราได้ ทำไมเราจะทำกับเพื่อนไม่ได้ ใคร ๆ ก็มองเป็นเรื่องตลก จะซีเรียสเดือดร้อนคนเดียวทำไม” ผศ.พญ.จิราภรณ์ ชี้ให้เห็นผลกระทบจาก จากการถูกละเมิดสิทธิ การบูลลี่ที่กระทำโดยผู้ใหญ่เสียเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

จากปัญหาที่พบ เด็กที่ถูกบูลลี่บนโลกออนไลน์ มีทั้งเด็กไม่อยากไปโรงเรียน หลายคนก็ปลีกตัวจากเพื่อน ที่สำคัญเค้ารู้สึกว่าถูกใช้อำนาจ โดยที่เขาก็ต่อกรอะไรไม่ได้ เพราะผู้ปกครองหลายคนก็ไม่กล้าเข้าไปจัดการครู เพราะรู้สึกว่าครูมีอำนาจเหนือเรา

เด็ก-พ่อแม่-ครู ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

เรื่องของกฎหมายพีดีพีเอ ควรทำให้เด็กได้รู้ว่า เค้ามีสิทธิตามกฎหมายนี้ สามารถส่งเสียงให้ครูรู้ว่า ไม่อยากให้ถ่ายภาพ มันผิดกฎหมาย หรือไม่ยินยอมที่จะให้ครู อาจารย์ ลงคลิปเหล่านี้ หรือเมื่อทำไปแล้ว ถ้าเด็กไม่กล้าพูด คนที่ต้องลุกขึ้นมาปกป้องเด็ก ก็คือพ่อแม่ อย่าไปกลัวอำนาจของครู ครูจะไม่ชอบลูกเรา เพราะครูก็มีหน้าที่ต้องเรียนรู้เหมือนกันว่า ไม่ควรละเมิดสิทธิของเด็ก ควรจะต้องพัฒนา และปรับปรุงตัวเองในเรื่องนี้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อพ่อแม่ส่งเสียงของตัวเองออกไป

หน้าที่สื่อพิทักษ์-ดูแลสิทธิเด็ก

ในมุมมองต่อสื่อ ผศ.พญ.จิราภรณ์ ระบุว่าสำหรับสื่อซึ่งมีหน้าที่อย่าคิดว่าสังคมชื่นชอบ คลิปนี้สนุก ก็เอามาขยายต่อนำมาสร้างกระแสต่อ บางทีต้องกลับมามองถึงสิ่งที่เป็นหน้าที่สำคัญของสื่อ คือดูแล และพิทักษ์สิทธิเด็กทุกคน ซึ่งในหลักจรรยาบรรณของสื่อ น่าจะมีกำหนดเรื่องนี้อยู่แล้ว

บทบาทของสื่อกรณีที่เด็กถูกละเมิด ควรจะใช้หน้าที่ตัวเองให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะนำคลิปมาขยายต่อ กลายเป็นว่าเราไปมองผลเชิงบวก ให้ครูเข้าใจว่า การทำคลิปเด็กทำให้ได้รับความสนใจ มียอดคนตามเยอะ เพราะมีคอนเทนต์ตลกของเด็กสื่อควรนำเสนอว่า สิ่งเหล่านี้คือการละเมิดสิทธิ พ่อแม่สามารถแจ้งกลับไปที่ครูและโรงเรียนได้ว่า แบบนี้คือการละเมิดสิทธิลูกเรา และไม่ปลอดภัยกับลูก เพราะมันบอกข้อมูลส่วนว่า เรียนอยู่ที่ไหน ชั้นอะไร ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของสื่อ แทนที่จะไปสนับสนุน แต่ควรจะทำให้เกิดการเรียนรู้ของสังคม และเสียงของสังคมที่ดังพอ จะทำให้เกิดการปรับตัวของครูหรือผู้กระทำ

“หลายครั้ง ทำให้ครูไม่ได้ทำหน้าที่ของครู เวลาที่เด็กร้องไห้ แทนที่ครูจะปลอบใจ กลับหยิบกล้องขึ้นมาเพื่อจะเรคคอร์ดโมเมนต์ เพื่อเอาไปขายได้ เพื่อจะอยู่บน TikTok ทำให้เสียจรรยาบรรณที่ควรจะมี ครูกลับกลายเป็นนักขายคอนเทนต์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ มีรายได้จากการหากินบนสิทธิเสรีภาพของตัวเด็ก คิดว่าสังคมควรต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของเด็กทุกคนซึ่งเป็นหน้าที่ของเราทุกคนไม่เฉพาะพ่อแม่เท่านั้น”

ทำความเข้าใจสังคม-เปลี่ยนสังคมได้

เมื่อถามถึง พฤติกรรมของเด็กทุกวันนี้ ต่างไปจากคนรุ่นเก่า สื่อต้องทำความเข้าใจสังคมอย่างไร ผศ.พญ.จิราภรณ์ มองว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเติบโตในสังคมที่โลกหมุนทุกวัน ฉะนั้นไม่มีมนุษย์ยุคไหนเหมือนกัน ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อ คือทำให้เกิดความเข้าใจว่า ทำไมวัยรุ่นยุคใหม่คิดอะไรทำอะไรไม่เหมือนเดิม พวกเขาเรียนรู้เรื่องโลกกว้างขึ้น มีความเข้าใจเรื่องบางอย่าง ให้คุณค่ากับเรื่องบางเรื่อง แตกต่างกับคนสมัยก่อน ตรงนี้ก็จะทำให้พื้นที่สื่อสามารถทำให้มนุษย์ทุกรุ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น

“สื่อมีอิทธิพลมาก ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม โดยเฉพาะเรื่องของการทำให้สังคมเข้าใจว่า เด็ก ๆ เขามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง เพราะเติบโตมากับวัฒนธรรมเชิงอำนาจ ที่ทำให้รู้สึกว่าเด็กเป็นสมบัติของพ่อแม่ เด็กก็มีหน้าที่เป็นสมบัติของโรงเรียน แต่จริง ๆ แล้วเด็กก็เป็นสมบัติของตัวเอง เค้ามีบทบาทหน้าที่ในการดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง ฉะนั้นการที่สื่อลุกขึ้นมาให้ความสนใจ กับการปกป้อง ทำให้เด็กไม่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และสื่อมีบทบาทอย่างมาก ที่จะเปลี่ยนสังคมให้เดินไปทางไหน” ผศ.พญ.จิราภรณ์ ระบุ

แนวปฏิบัติทำข่าวเด็กเข้มข้น

ด้าน นายวีรศักดิ์ โชติวานิช ได้หยิบยกแนวปฏิบัติ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2564 ที่เป็นกรอบจริยธรรม การทำงานของสื่อ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง เหมาะสมในการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อฯ ระบุว่า การทำข่าวเกี่ยวกับเด็ก เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันเกือบ 20 ปี ในมาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สาหรับตนเองหรือ ผู้อื่นโดยมิชอบทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืน มีโทษทางอาญา ทั้งจำคุก หรือปรับ แม้ว่าอัตราโทษจะไม่มาก แต่โทษจำคุกเดือนเดียว ก็เป็นโทษทางอาญาจากตัวกฎหมาย

สมัยเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เราได้ตระหนักเรื่องนี้ ยิ่งมาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ยิ่งเห็นความสำคัญจึงได้ออกแนวปฏิบัติเรื่องการเสนอข่าวความคิดเห็นและภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ในแนวปฏิบัตินี้มี 4 ข้อ แต่เนื้อหาเข้มข้น

ใน 4 ข้อ สามารถแบ่งเป็น 3 ส่วน 1 และ 2 เป็นวิธีการนำเสนอข่าว หรือแนวปฏิบัติ ส่วนข้อ 3 เป็นนิยาม ข่าว เนื้อหาข่าวการแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามแนวปฏิบัตินี้ หมายถึงข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ส่วนข้อ 4 เป็นการเพิ่มมาตรการเยียวยา คือแนวปฏิบัติเดิมสมัยสภาการหนังสือพิมพ์ เราไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการเยียวยา แต่ปัจจุบันการเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก ไม่ได้เสนอในสิ่งพิมพ์อย่างเดียว แต่ปรากฏในออนไลน์เยอะมาก ฉะนั้นจึงเล็งเห็นถึงมาตรการในการเยียวยา

ปัจจุบันปัญหาที่เราคุยกันอยู่ มันอยู่ในแนวปฏิบัตินี้ทั้งสิ้น ฉะนั้นเราจึงเขียนไว้ชัดว่า “การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ” อันนี้เป็นหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่สื่อมวลชน

ส่วนข้อ 2 มีข้อย่อยทั้งหมด 8 ข้อ จะระบุถึงรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

2.1 ต้องไม่เปิดเผยชื่อ ชื่อสกุล ภูมิลำเนาที่อยู่ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุล และภูมิลำเนาที่อยู่ของบิดา มารดา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ถึงตัวเด็กและเยาวชนได้ เช่น ข้อมูลสถานศึกษาหรือที่ทำงาน โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กและเยาวชน หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เว้นแต่การเผยแพร่ข้อมูลนั้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ต่อการติดตามตัวเด็กและเยาวชน ในกรณีที่เด็กและเยาวชนนั้นสูญหายไป และไม่ส่งผลกระทบในทางลบแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะไปสอดรับกับข้อ 25 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

2.2  ต้องไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือชีวิตครอบครัวของเด็กและเยาวชน แม้ว่าจะได้รับความยินยอมจากเด็ก เยาวชน หรือผู้ปกครองก็ตาม

2.3 ต้องไม่นำเสนอภาพลามก อนาจาร โป๊เปลือย อุจาด ของเด็กและเยาวชน

2.4 พึงระมัดระวังการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าการนำเสนอดังกล่าวจะมีเจตนาดีต่อเด็กและเยาวชน หรือไม่ก็ตาม อันนี้จะใกล้เคียงกับปัญหาที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในวันนี้

2.5 พึงระมัดระวังการถ่ายภาพ และนำเสนอภาพเด็กและเยาวชน ในพื้นที่สาธารณะ ควรขออนุญาตผู้ที่อยู่ในภาพหรือผู้ปกครองทุกครั้ง รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอภาพประกอบข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ที่เป็นเชิงลบ โดยที่ผู้ปรากฏในภาพนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือหากต้องนำเสนอภาพควรใส่ข้อความหรือคำชี้แจงให้เห็นว่า บุคคลในภาพไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าว

2.6 พึงระมัดระวังการนำเสนอ ผลิต หรือเผยแพร่ซ้ำ ซึ่งภาพ หรือภาพเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนในลักษณะขบขัน ทำให้เป็นตัวตลก น่าสงสาร สมเพช ที่มีการส่งต่อกันทางสื่อดิจิทัล

2.7 พึงระมัดระวังการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไปที่เกี่ยวกับกิจกรรมการกุศล หรือสาธารณประโยชน์ ที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์ของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ หรือสถานสงเคราะห์

2.8 พึงระมัดระวังการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ของเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ภัยพิบัติ วินาศกรรม ความรุนแรง ภัยสงคราม-ก่อการร้าย หรือพื้นที่ค่ายอพยพลี้ภัย ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของเด็กและเยาวชนคนใดคนหนึ่งอย่างชัดเจน

เพิ่มมาตรการเยียวยา-ลบข้อมูล

สำหรับข้อ 4 เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายจากการนำเสนอของสื่อในช่องทางออนไลน์ได้รับผลกระทบอย่างถาวร สื่ออิเล็กทรอนิกที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าว เนื้อหาข่าว ความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ที่สร้างผลกระทบทางลบแก่เด็กและเยาวชน ต้องรับผิดชอบด้วยการนำออกจากช่องทางออนไลน์ หรือชี้แจงเพื่อเยียวยาผู้เสียหาย แล้วแต่วิธีการใดที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชนผู้นั้น

ในประเด็นที่เราพูดกันในวันนี้ชัดเจน เพราะมันไปปรากฏอยู่ในสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ สื่อดิจิทัล มันจะคงทนถาวรเวลาเด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ มันก็ยังปรากฏในสื่ออยู่ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นความสำคัญจึงกำหนดในข้อ 4 คือมาจาก มาตรการเยียวยา

เนื่องจากวิธีการต่าง ๆ เราไม่สามารถกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องทำอะไรอย่างไร เพราะฉะนั้นก็จึงเขียนเอาไว้กว้าง ๆ ว่าแล้วแต่วิธีการใด ที่จะเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เสียหาย ที่เป็นเด็กและเยาวชน คือจะต้องหาทางใดทางหนึ่ง ที่จะนำออกจากระบบในเนื้อหาข่าวนั้น เพราะฉะนั้นแนวปฏิบัติที่ออกมาทันกับยุคดิจิทัล

ชี้ปัญหา 3 กลุ่ม สภาการสื่อฯ ไม่เพิกเฉย

นายวีรศักดิ์ ชี้ว่า อีกปัญหาที่เกิดขึ้นมา ในการนำเสนอข่าวในช่องทางดิจิทัลและคอนเทนต์ที่ผลิตออกมา พบว่ามีทั้งประเภทที่เป็นสื่อมวลชน กับประเภทที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชน หรือสื่อภาคประชาชน ซึ่งสามารถแยกได้ 3 ส่วน

1. กลุ่มเป็นสื่อมวลชน แต่ไม่ได้เป็นองค์กรสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ถ้าเขาละเมิด เราไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้โดยตรง ไม่สามารถไปจัดการในระบบ หรือพิจารณาลงโทษทางจริยธรรม แต่เราก็ไม่ได้เพิกเฉย

2. กลุ่มเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพอื่น ซึ่งปัจจุบันสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เราก็ทำเอ็มโอยูในการแลกเปลี่ยนปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งการพิจารณาเรื่องจริยธรรม เราก็ส่งต่อไปให้องค์กรวิชาชีพที่เขาสังกัดให้ดำเนินการ

หากไม่สังกัดองค์กรวิชาชีพใดเลยแต่เราเห็นว่าเป็นการละเมิดแนวปฏิบัติของสภาการฯ และเป็นผู้ร่วมประกอบวิชาชีพชีพเดียวกับเรา เราก็ทำหนังสือขอความร่วมมือ แจ้งให้เขาทราบว่า เรามีแนวปฏิบัติอย่างนี้ เราได้รับการรับรอง และคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอ ซึ่งเป็นอาญาแผ่นดิน ตำรวจสามารถดำเนินคดีได้ถ้าพบผู้ละเมิด แต่อาจเป็นเพราะกฎหมายนี้ค่อนข้างใหม่ เพราะฉะนั้นก็อาจจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะสื่อ

3. กลุ่มที่เป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็พยายามทำความเข้าใจกับองค์กรสมาชิกของเรา ในเมื่อมาสังกัดในสภาการสื่อมวลชนฯ ก็ได้รับความคุ้มครอง แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ในกรอบจริยธรรม

พบแพลตฟอร์มปัดความรับผิดชอบ

ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการสื่อ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ระบุว่า คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือคลิปสั้น ๆ ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ งานวิจัยเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย พบว่าที่เด็กไทยนิยมมาก ปัจจุบันมีหลายค่าย ทั้ง Facebook LINE TikTok YouTube ส่วนใหญ่เป็นของอเมริกา ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

ขณะที่บางแพลตฟอร์ม ถูกแบนในหลายประเทศ เหตุผล คือเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย แม้จะมีคนใช้ทั่วโลก แต่พบข้อมูลว่า เงื่อนไขการใช้ ไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ต่อผู้ใช้ ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง เช่นหากเกิดกรณีฟ้องร้องมีมูลค่าความเสียหาย ถือเป็นความผิดของผู้ใช้ แพลตฟอร์มมีสิทธิ์ลบออก และถ้ามีการฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ผู้ใช้ ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด หากมีกรณีฟ้องร้องมาถึงแฟลตฟอร์ม จากวิดีโอของผู้ใช้ ผู้ใช้ต้องจ่ายค่าความเสียหายให้ทางแพลตฟอร์มด้วย เงื่อนไขเหล่านี้เขียนไว้ค่อนข้างปกป้องแพลตฟอร์ม เวลาเกิดการฟ้องร้อง

บางแพลตฟอร์มเขียนชัดเจน มาตรฐานตรงกัน ไม่อนุญาตให้เปิดบัญชีหากอายุไม่ถึง 13 ปี เช่นเดียวกับที่เราเข้าใจเรื่องกฎหมายพีดีพีเอ บางแพลตฟอร์มจะเขียนว่า วิดีโอที่ถ่ายจะต้องไม่ปรากฏคอนเทนต์ที่เด็กเป็นผู้แสดง เดี๋ยวนี้บางแพลตฟอร์มเริ่มซีเรียสจริงจัง YouTube เขียนชัดเจนว่า เด็กไม่ควรปรากฏบนแพลตฟอร์มในลักษณะเนื้อหาโป๊เปลือยลามกอนาจาร เสี่ยงภัยอันตราย นี่เป็นหลักการทั่วไป มีการเอามาตรฐาน YouTube มาใช้แต่มีบางค่ายไม่ได้เขียนเรื่องพวกนี้

โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ส่วนใหญ่ที่เราเห็นเป็นดราม่า เรื่องเด็ก จะเป็นบุคลากร เช่น ครู ถ่ายลงโซเชียล เหตุเกิดในโรงเรียน ถ่ายนักเรียนเป็นคอนเทนต์ เรื่องนี้ต้องเป็นวิจารณญาณของผู้ใช้ เพราะแพลตฟอร์มไม่ได้เขียนเงื่อนไขบังคับเอาไว้ เราต้องพิจารณาว่า ถ้าครูถ่ายคอนเทนต์อย่างนี้เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะในสถานศึกษา เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่มีความเซฟตี้ ซิเคียวริตี้ และไพรเวทซี่ของเด็ก ความปลอดภัย ความมั่นคง และเป็นส่วนตัว หากครูถ่ายคลิปเอาเนื้อหาไปลง ก็เท่ากับครูละเมิดหลักการความเป็นส่วนตัวของเด็กแล้ว

อาจารย์ธาม ยังได้อ้างอิงจากงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีวิดีโอสั้น มักจะมีปัญหาเรื่องว่าเด็กตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ หรือที่เรียกว่าพวกนักล่าเหยื่อ ดังนั้นเวลาที่เด็กปรากฏในภาพเหล่านี้ เราต้องแยกอีกประเด็นว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนถ่าย ผู้ใหญ่อาจปกป้องเด็กได้ แต่คอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียพวกนี้ ไม่ได้ตั้งใจให้เราแชท แต่ให้ดูวิดีโออย่างเดียว แต่มันกระตุ้นให้เราอยากถ่ายบ้าง

จะพบว่ามีเด็ก ๆ วัยประถมศึกษา ป.1 – 6 ไปถ่ายวิดีโอประเภทชาเลนจ์ หรือเป็น “มีม” วิดีโอ เพลงฮิต ท่าฮิต ๆ เป็นการกระทำเลียนแบบกัน ซึ่งมักมีเนื้อหากระตุ้น หรือสื่อสารไปในทางเพศ ซึ่งก็อันตรายสำหรับเด็กอีกเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องวิดีโอพวกนี้ ถ้าในต่างประเทศ คือยึดหลักเกณฑ์ คือไม่ควรเข้าไปดู แต่เงื่อนไขแพลตฟอร์มเค้าบอกว่า หากคนใช้เป็นคนโกงอายุเอง เค้าจะไม่รู้ ฉะนั้นจึงต้องกระตุ้น พ่อแม่ว่า ให้แจ้ง ร้องเรียนแพลตฟอร์มว่าเป็น Account ลูก ขอให้ลบ ให้ปิดบัญชีเพื่อเป็นการสกัด

เตือนระวังเปิดเผยทุกอย่างในบ้าน

อาจารย์ธาม มองว่า พื้นที่ที่ควรจะปลอดภัยจริง ๆ สำหรับเด็ก คือ 1. ที่บ้าน ต้องเข้าใจว่าเวลาเด็กอยู่ที่บ้านมีความปลอดภัยเวลาถ่ายวิดีโอที่บ้าน เห็นทุกอย่างในบ้าน พื้นที่ในบริเวณบ้าน กิจวัตร บางทีเป็นช่องทางให้อาชญากรออนไลน์ สังเกตพฤติกรรม ก็จะรู้ว่าบ้านนี้อยู่กี่คน ทางเข้า ประตูเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องระวังไม่ให้เห็นลักษณะภายในบ้าน นั่นคือความปลอดภัยของบุตรหลาน แนะนำให้ใช้สถานที่นอกบ้าน ที่ไม่เห็นความเป็นส่วนตัว จะเป็นการปกป้องเด็กเยาวชนลูกหลาน

ห้ามบุคลากรทางการศึกษาถ่ายเด็ก

2. ที่โรงเรียน ถ้าเป็นสังกัด กทม. หรือ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ควรออกคำสั่งว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ห้ามบุคลากรทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะครูถ่ายนักเรียนในห้องเรียนโพสต์ลงโซเชียล ควรทำเลย ต้องเข้าใจด้วยในฐานะครู ถึงแม้เมืองไทยยังไม่มีกฎหมาย แต่การปกป้องสิทธิเด็ก เป็นเรื่องสากล ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ลงนามในสนธิสัญญา ฉะนั้นมันผิดหลักอยู่แล้ว การถ่ายเพื่อลงช่องของตัวเองให้คนติดตาม ครูต้องงดเว้น ละเว้น ไม่ควรเอาเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการตลาด หรือเป็นสินค้าให้คนดู

3. บนพื้นที่สาธารณะ เวลาที่เด็กและเยาวชน ไปปรากฏไปทำคอนเทนต์ การทำข่าว การถ่ายกวาด ๆ กว้าง ๆ ไกล ๆ แล้วเด็ก ๆ เดินผ่าน ไม่เป็นไร แต่ไปถ่ายเจาะ โดยเด็กเป็นตัวคีย์หลักในวิดีโอ ในพื้นที่สาธารณะ ต้องระวังเพราะกฎหมายพีดีพีเอวัดที่เจตนา ว่าเอาไปใช้เพื่ออะไร เพื่อส่วนตัว พาณิชย์ การตลาด จะเป็นย้อนความทีหลัง

อาจารย์ธาม เน้นย้ำว่า ครูต้องเข้าใจหน้าที่ ในการเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องระวังเรื่องการถ่ายในโรงเรียน พ่อแม่อาจจะกังวลเพราะตอนครูถ่ายวิดีโอมีภาพเด็กๆ ร่วมทำกิจกรรม เพราะกฎหมายพีดีพีเอต้องขอความยินยอมก่อนจากเด็ก พ่อแม่ต้องรู้ก่อน เพราะสิ่งที่กำลังทำ ถือว่าผิดกฎหมาย แต่การยินยอมหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น แต่หลักสำคัญ คือเข้าใจสิทธิพื้นฐานในการปกป้องสิทธิ ความเป็นส่วนตัวของเด็กหรือไม่ จึงต้องมี Media Literacy และ Digital Literacy ด้วย

องค์กรสื่อควรแนะนำสถาบันการศึกษา

อาจารย์ธาม ยังสนับสนุนให้ สภาการสื่อมวลชนฯ ควรทำข้อเสนอ แนะแนวนโยบาย ข้อกังวลใจในฐานะองค์กรวิชาชีพไปยังสำนักงานสพฐ. หรือโรงเรียน กทม. อาจรวมถึงโรงเรียนเอกชน ว่าเรามีแนวปฏิบัติเรื่องเกี่ยวกับการทำข่าวเด็ก การถ่ายภาพเด็ก การนำเสนอเรื่องเกี่ยวข้องกับเด็ก เพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องกังวล หากท่านในฐานะผู้บริหาร นำแนวปฏิบัติ เป็นกรอบของโรงเรียน เรื่องพวกนี้ในต่างประเทศซีเรียสมาก จึงต้องตระหนักเรื่องนี้

อีกทั้งอยากให้สื่อสารมวลชน เวลารายงานข่าว ควรเพิ่มเติมข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติต่าง ๆ หลักการทั่ว ๆ ไป เติมท้ายข่าวซัก 30 วินาที 1 นาที จะเป็นประโยชน์มาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว

++++++++++++++++++++++++++++++