ยึดหลักศีลธรรม-จริยธรรม-กฎหมาย เสริมสร้างคุณค่าคอนเทนต์

ความต้องการสื่อสารทำให้สังคม “ไร้สติ” จริงหรือไม่ นักวิชาการสะท้อนภาพสังคมย้อนแย้ง ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้คน แต่ยังพบปรากฎการณ์ลอกเลียนเพื่อความบันเทิง ห่วงหลังพยายามรื้อถอนความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม แต่กลับทำซ้ำ วนลูป กระตุ้นสังคมควรฉุกคิด ด้านนักวิชาชีพยอมรับแพลตฟอร์มเปลี่ยนเร็ว รายได้ไม่คงที่ แนะผลิตคอนเทนต์มีคุณค่า-คุณประโยชน์ ขณะที่พัฒนาการการใช้โซเชียลมีเดียดีขึ้น ด้านประธานจริยธรรม สภาการสื่อฯ แนะสื่อตระหนักความรู้ด้านกฎหมาย ย้ำหน้าที่สื่อประสานสังคม ยืนยันมาตรฐานสื่อหลักดีขึ้น เดินหน้าร่วม กสทช. กำกับดูแลด้านจริยธรรม

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง ความต้องการสื่อสาร ทำให้สังคม“ไร้สติ”จริงหรือ? ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี Associate Director Digital Media TNN 16 และที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธาน และประธานกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ด้วยตัวอย่าง 2-3 กรณี สตรีเปลือยเนื้อตัวเชิญชวนไปท่องเที่ยว ตัวตึงตีกลองระยอง และทำร้ายศรีสุวรรณ จรรยา สะท้อนถึงการสื่อสารในสังคมอย่างไรนั้น

ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล ชี้ว่า กรณีแรก มีการเปลือยเนื้อตัวชวนคนไปทำกิจกรรมทางการตลาด ทางธุรกิจ ขณะที่เรื่องของการสื่อสารก็มีหลายอย่างมาก กรณีนี้ พฤติกรรมก็คือชวนลูกค้าไปซื้อทัวร์ ซื้อทริป ไปร่วมกิจกรรมกับเค้า เป็นเรื่องการสื่อสารทางการตลาด แต่การตลาดรูปแบบไหนที่จะสร้างสรรค์ในเชิงธุรกิจและสังคม เนื่องจากปัจจุบันเวลาเราวัดผลเรื่องโปรเจ็คต่าง ๆ เราจะไม่ได้วัดเพียงแค่ ROI หรือ Return on Investment เราวัดผลเรื่องของ SROI – Social Return on Investment ด้วย ว่าที่เราทำไปมันส่งผลดีต่อสังคมอย่างไรบ้าง เราอาจจะต้องคิดเรื่องนี้ด้วย

อีกประเด็น ก็อาจจะมีคนมองว่า เป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคนที่จะทำคอนเทนต์ โชว์ร่างกายตัวเอง เค้าก็อาจจะมองประเด็นนั้นได้เช่นเดียวกัน แต่อย่าลืมว่า เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในสังคม เราต้องมีความเข้าอกเข้าใจว่า เวลาเราทำแบบนี้ คนที่มีบริบทที่แตกต่างจากเราก็สามารถมองเห็นต่างได้ ซึ่งการรู้เท่าทันสื่อ สำคัญมาก ก็คือเข้าถึง เข้าใจ เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าที่เราสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกไปมันเหมาะสมหรือไม่ มันมีเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม การตีความ ที่สำคัญยิ่งถ้าเราเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีคนติดตามเยอะ ก็จะมีคนที่ไม่ใช่ลูกค้าของเราเข้ามาดูด้วย รวมถึงเด็ก ซึ่งการลอกเลียนแบบในปัจจุบัน ไม่ได้มีเฉพาะเด็ก จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่บางครั้งก็จะลอกเลียนแบบเช่นเดียวกัน

ดังนั้น กรณีแรกก็อาจจะต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมด้วย หากจะไปโยนให้ผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างเดียวก็ไม่ได้ ตัวของผู้รับคอนเทนต์เอง เราก็สามารถมีบทบาทในการให้ฟีดแบค หรือบอกว่าคอนเทนต์แบบนี้เราโอเค หรือไม่โอเค พอ ๆ กับการที่เราพยายามจะบอกว่า ละครไทยทำไมมีแต่เรื่องตบตี และผู้ผลิตหรือผู้จัดก็อาจจะบอกว่าเป็นเพราะเรทติ้งดี ดังนั้นเราก็อาจจะไปเบลมฝั่งผู้ผลิต ผู้จัด ฝั่งเดียวไม่ได้ ผู้บริโภคเองก็ต้องแสดงพลัง และจุดยืนว่า เราไม่โอเคกับคอนเทนต์เหล่านี้ คอนเทนต์เหล่านี้ก็จะลดลง

ในเคสที่สอง กรณีตัวตึงตีกลอง เป็นการสะท้อน เรื่องสวัสดิการสังคมของประเทศในการดูแลคน สมาชิกในชุมชนของเรา ที่มีความแตกต่างหลากหลาย คนที่ต้องการความช่วยเหลือ การที่สังคมสื่อออนไลน์นำเสนอเรื่องของบุคคลนี้ ข้อดี ด้านดี คือเค้าได้เข้าสู่กระบวนการรักษา แต่การเกิดพฤติกรรมเลียนแบบเพื่อทำคอนเทนต์นี้ กลับมีหลายคนคัฟเวอร์ ซึ่งรู้สึกแปลก ขณะที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ถือเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ เราแอนตี้เรื่องของการบูลลี่ ผอมต่ำดำขาว แต่เราทำเรื่องแบบนี้ ถือเป็นการล้อเลียนหรือไม่ จึงน่าจะชวนกันคิดเหมือนกัน

แม้เขาอาจจะบกพร่องทางจิตใจ ต้องการการรักษา และการที่เค้าแสดงอะไรออกมา มันอาจเป็นการตั้งใจ รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม หรือไม่ปกติ แล้วมีการไปผลิตซ้ำ เรากำลังผลิตซ้ำความรุนแรงทางวัฒนธรรมหรือไม่ ซึ่งเมื่อก่อนเราบอกว่า เวลาเราล้อเลียนคนอื่น เค้าไม่แฮปปี้กับเรา ทั้งที่เราเห็นเป็นเรื่องตลก อันนี้เหมือนกันหรือเปล่า 

เตือนสติเรียกร้องสิทธิฯ แต่ทำย้อนแย้ง

มันย้อนแย้ง เวลาที่เรากำลังรณรงค์อะไรบางอย่าง รณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ การไม่บูลลี่กัน แล้วตัวเราก็กำลังผลิตซ้ำความรุนแรงในการล้อเลียนคนอื่น เพื่อที่ต้องการจะสื่อสารเพื่อให้มีคนมากดไลก์ ยอดวิวเยอะ ๆ อย่างนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมต้องฉุกคิด และตั้งคำถามกัน

เมื่อถามว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยต้องการทำคอนเทนต์ ควรสื่อสารอย่างไร ที่จะไม่ทำร้ายใคร หรือทำให้สังคมแย่ลง ผศ.ดร.ณภัทร กล่าวว่า หลักการรู้เท่าทันสื่อ ตามแนวคิดของ กสทช. ก็คือ เข้าถึง เข้าใจ เข้าไปมีส่วนร่วม แต่โดยทั่วไปหลักการของการรู้เท่าทันสื่อก็คือ ตอนนี้อาจจะเข้าถึงแล้วทุกแพลตฟอร์ม คนเข้าไปสร้างคอนเทนต์เอง สามารถใช้ได้ เข้าใจเรื่องของการใช้

ต่อมาคือเรื่องของการวิเคราะห์ อันนี้จะยากขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่เพียงแค่ว่า เราทำสื่อได้ แต่ทำแล้วกระทบใครหรือไม่ ในอนาคต Footprint หรือรอยเท้าทางดิจิทัล ที่เราสร้างภาพลักษณ์ของเรา หรือการที่เราทำคอนเทนต์โชว์เรือนร่าง หรือการไปล้อเลียนคนอื่นอีก 5 ปีเรากลับมามองตัวเอง เราจะยังแฮปปี้กับการกระทำของเราหรือไม่ แล้วผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนที่เค้าไม่ได้คิดแบบเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับการรู้เท่าทันสื่อ 

ข้อสุดท้าย การไปมีส่วนร่วม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราไปคัฟเวอร์ท่าเต้น หรือคอนเทนต์ที่อินเทรนด์ตอนนี้ แต่คือการมีส่วนร่วมในการทำสื่อที่ดี เพื่อให้สังคมดีขึ้นต่างหาก นี่คือสิ่งที่เราจะต้องคิด ซึ่งเป็นความท้าทายมากในยุคปัจจุบัน มากกว่าเมื่อก่อนเยอะ เพราะปัจจุบันใคร ๆ ก็เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) ได้ และเราสามารถสวยหรือดูดีได้ แค่การคลิกเอฟเฟกซ์บางอย่าง ดังนั้นมันก็ไปกระตุ้นอีโก้ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องของการได้รับการยอมรับอยากมีคนมากดไลก์เยอะ ๆ ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นก็คือเรื่องของการวิเคราะห์ตัวเราเองปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะเราอาจได้รับผลกระทบในอนาคต รวมถึงคนอื่น

สังคมควรกระตุ้นเตือนกันให้ฉุกคิด

ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่เห็นจะต้องแคร์สังคม จริง ๆ การแคร์บนพื้นฐาน ชุดความคิดที่ว่า เข้าอกเข้าใจคนอื่น น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ที่เราควรจะมี และการควบคุมตัวเองด้วย จึงเป็นความท้าทายที่เราควรจะต้องกระตุ้นเตือนกันให้ฉุกคิดว่า เรากำลังลื่นไหลไปกับเรื่องของความสะดวกสบายในการสร้างคอนเทนต์ และการเป็นที่ยอมรับในโลกออนไลน์ จนลืมความเป็นมนุษย์ไปหรือไม่ คิดว่าอันนี้สำคัญ

เมื่อถามถึง การที่มีข้ออ้างว่า ทำไปเพื่อสนุกแต่ผลความสนุกที่เกิดขึ้น มันจะเป็นดิจิทัลฟุตพริ้นท์ที่จะฝังอยู่ตลอดไป ไม่คิดอะไรก็ไม่ได้ ผศ.ดร.ณภัทร กล่าวว่า ก็จะกลับมาเรื่องของความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมี 3 อย่าง อย่างแรกคือความรุนแรงทางตรงที่เราเห็น ได้ด้วยตาได้ยินด้วยหู ตบตี ข่มขืน 

สอง ความรุนแรงทางโครงสร้าง ซึ่งเกิดจากผู้มีอำนาจในสังคม โครงสร้างทางสังคม

สาม ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือการที่เราเอ็นจอยกับความรุนแรง ซึ่งจะเกิดจากความคุ้นชิน จนเรารู้สึกว่าผิดนิดหน่อย หรือไม่ผิดมั้ง หรือไม่ผิดเลย เราก็จะชิน

เมื่อก่อนเราพยายามอย่างมาก ที่จะรื้อถอนความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมแบบนี้ในบ้านเรา เช่นคนที่ถูกข่มขืนคือผิด คนที่ถูกล่วงละเมิดจะต้องอับอาย ไม่กล้าบอกใคร หรือการที่เราล้อเลียนชื่อพ่อแม่ ความเป็นชาติิพันธ์ุ อ้วน ผิวดำ เราพยายามรื้อถอนสิ่งเหล่านี้ ว่าอย่าทำ การที่เราล้อคนอื่นอย่างนี้ เราสนุกก็จริง แล้วขำก็จริง แต่ก็ตัวเค้าไม่สนุกด้วย และเป็นการลดคุณค่าเพื่อนมนุษย์ เรากำลังต่อสู้แบบนี้ 

จนกระทั่งปัจจุบัน เราจะสังเกตได้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว แต่พอมาเป็นการทำคอนเทนต์ล้อเลียน เช่น กรณีตัวตึง สังคมก็อาจจะต้องกลับมาคิดว่า ที่เราอุตส่าห์รณรงค์เพื่อที่จะเปลี่ยนผ่านสังคมของเราให้เป็นสังคมของการเห็นคุณค่าของกันและกัน ไม่ล้อเลียนกัน เราพยามมาถึงจุดนี้แล้ว เราจะกลับไปจุดเดิมไหม โดยที่เราอ้างว่าก็มันสนุก ก็คนเค้าชอบ เราจะย้อนกลับไปจุดเดิมสุดท้ายเราจะวนลูปอยู่ในสังคมที่การล้อเลียนผู้อื่น หรือการกลั่นแกล้งทางอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น เป็นเรื่องปกติ หรือยอมรับได้ เราจะอยู่ในสังคมที่มีวังวนแบบนี้ไหม

3 ความท้าทายด้านการสื่อสาร

เมื่อถามว่า ความต้องการสื่อสารทำให้สังคมไร้สติจริงหรือไม่ ผศ.ดร.ณภัทร มองว่า เป็นความท้าทาย อันดับแรก คือตัวเราเองธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการการมีตัวตน ต้องการการยอมรับ หนุนเสริมอีโก้ของตนเอง ด้วยการทำอะไรที่มีคนยอมรับมาก ๆ โดยไม่แคร์อะไรมาก 

สอง ความท้าทายเรื่องธุรกิจและเศรษฐกิจ เวลามีคนมาดูเยอะ ๆ จะได้รับค่าตอบแทน มีคนมาติดตามเยอะ ก็มีสปอนเซอร์เข้า มีรายได้เพิ่ม แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่ออกมากระตุ้นเตือนสังคม และตั้งคำถามให้สังคมฉุกคิด ถ้าเรารับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ปี 2022 แล้วเราต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เข้าอกเข้าใจกัน ถ้ามีการเปิดใจรับฟัง รวมถึงผู้บริโภคสื่อ ที่ฟังรายการ อยากให้เป็นเรื่องปกติของสังคมบ้านเราในการที่จะท้วงติง ตักเตือน ดึงสติกันว่า อย่างนี้โอเคหรือไม่ อยากให้เป็นเรื่องปกติบนการเคารพพื้นฐานของกันและกันอยากให้สังคมมีอีโคซิสเต็มที่ดี รวมถึงคอนเทนต์แพลตฟอร์ม กฎหมาย ตัวผู้บริโภคเอง และสุดท้ายคือ การตั้งคำถามว่า สังคมแบบไหนที่เราจากจะให้เน็กซ์เจนเนอเรชั่นของเราอยู่ต่อ

เมื่อถามถึงการที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ เป็นงานผลิตคอนเทนต์แปลก ไม่ซ้ำกับใครเพื่อเรียกเรตติ้ง และรายได้จากตัวแพลตฟอร์มเอง แม้ทุกวันนี้จะลดลง แต่สุดท้ายสาเหตุ หรือต้นเหตุส่วนใหญ่ คนจะมองว่าเรทติ้งคือผู้ร้าย เราจึงต้องจับผู้ร้ายให้ได้ ต้องจัดการให้ได้ ก็ต้องถามว่าใครที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ร้ายก็กลายเป็นเอเจนซี่   

พลังผู้บริโภคกำหนดทิศทางคอนเทนต์

ผศ.ดร.ณภัทร ระบุว่า ต้นเหตุจริง ๆ ที่จะทำให้คอนเทนต์เหล่านี้อยู่ได้ หรือหายไป คือผู้บริโภค เพราะเรตติ้งจะดีได้ ต่อเมื่อผู้บริโภคเข้าไปดู เข้าไปเอ็นเกจเมนต์ ซึ่งในปัจจุบันถ้าจำนวนของผู้ที่เข้าถึงเอเจนซี่เอาไปขายลูกค้าไม่ได้ ที่เอาไปขายได้คือเอ็นเกจเมนต์ คือต้องเข้ามามีส่วนร่วม มาคอมเมนต์ มาแชร์ หรือการทำแคมเปญในแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เป็นไวรัลด้วย # ก็ต้องมีการทำซ้ำ 

ฉะนั้น จึงอยู่ที่ผู้บริโภคทั้งหมด ถ้าผู้บริโภคไม่เอา พลังผู้บริโภคมหาศาล คอนเทนต์แบบนี้เอเจนซี่จะไม่สามารถเสนอให้ลูกค้าได้ โดยเฉพาะอะไรที่กระทบกับแบรนด์ดิ้งของลูกค้า ที่จะเสนอคอนเทนต์แบบนี้ ลูกค้าก็ไม่ซื้อ ถ้ามันมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเค้า 

ตัวอย่างเช่นเคยมีโฆษณาครีม ซึ่งเป็นคอนเทนต์เหยียดสีผิว ใช้ประโยคว่า “แค่ขาวก็ชนะ” พอยิงสปอตออกมา ก็จบ ฟีดแบ็คจากผู้บริโภค สังคมโซเชียลแซงชั่น ต้องถอดออก หลังจากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ว่า อย่าเหยียดเพศ สีผิว ดังนั้นพลังของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งที่มีพลังมหาศาลมาก สามารถที่จะทำให้แพลตฟอร์ม หรือคอนเทนต์ในโลกใบนี้ ไปทางไหนก็ได้ ถ้าคุณไม่โอเค แล้วออกมาบอกว่าอย่าทำอีก เอเจนซี่ต่าง ๆ ก็ถอยเลย

นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี มีมุมมองทั้ง 2 ฝั่ง ระหว่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ กับฝั่งผู้บริโภค ซึ่งมี 3 มิติ คือ มิติคนสร้างคอนเทนต์ มิติของมีเดียซึ่งทุกวันนี้เป็นโซเชียลมีเดีย และมิติผู้บริโภคเอง ซึ่งแพลตฟอร์มตอนนี้เปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนไปเรื่อย เรื่องของคอนเทนต์ตามหัวข้อ มันก็มีเยอะขึ้น 

ทางฝั่งแพลตฟอร์มเอง ก็ค่อนข้างควบคุมบางเรื่องบางส่วนได้ แต่บางเรื่องก็ควบคุมไม่ได้ อย่างที่เราเห็น เช่นกรณี กราดยิง หลาย ๆ สื่อเองโดยเฉพาะสื่อแบบเดิม วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่เคยมีอยู่ เราก็ควบคุมกันได้ แต่ถ้าเป็นโซเชียลมีเดียก็มี AI ตรวจจับเรื่องภาพไม่เหมาะสม จริง ๆ ผู้รับสาร ต้องการเสพสิ่งนั้นจริง ๆ หรือไม่ เพราะตอนนี้ เป็นลักษณะทุกแพลตฟอร์ม เป็น AI ถ้าเราหยุดดู หยุดคอมเมนต์หยุดแชร์ คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เราชอบ หรือคิดว่าเราชอบ เราดูว่าดี อยากแชร์ AI ก็จะเลือกคอนเทนต์แบบนั้นกลับมาให้เรา โดยที่บางทีเราก็ไม่ได้เลือก แต่เราชอบ AI ก็จะเชื่อว่าเราชอบ แต่คอนเทนต์มันใช่ไหม มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันใช่เรื่องความถูกต้อง คอนเทนต์เหมาะสมกับผู้ชมไหม อย่างโซเชียลมีเดีย ไม่มีคอนเทนต์ที่ระบุ “ฉ” เด็ก 13+ ก็ถือว่าคุณรับคอนเทนต์ได้หมดทุกรูปแบบแล้ว

ถามเรื่องการแชร์โพสต์ บางครั้งคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ก็เห็นว่าเป็นแค่ความสนุก สำราญ เห็นอะไรก็โพสต์ ก็แชร์ อยากให้เพื่อนคลายเครียด จนขาดความระมัดระวัง AI ก็นึกว่าใช่ เราจะมี Gate Keeper กลั่นกรองอย่างไรดี ก้าวโรจน์ มองว่า 

หลัก ๆ เลยคือต้องให้คนโพสต์เอง รู้เท่าทันสื่อ เราก็จะเห็นว่า มีอยู่หลายเคสที่แม้กระทั่งคนเชี่ยวชาญในวงการสื่อเอง บางทีก็คิดว่าตัวเองคิดถี่ถ้วนแล้ว คิดดีแล้ว บางทีต้องมาตาม ลบโพสต์ทีหลัง อันนี้ก็เกิดขึ้นได้ เราเห็นกันบ่อย อารมณ์ชั่ววูบ มันก็มีเยอะ 

จริง ๆ อยู่ที่เรื่องของการให้ความรู้เด็ก และผู้ใหญ่ รวมถึงโรงเรียนก็ต้องให้ความรู้เรื่องนี้ด้วย เพราะเรื่องมีเดียแลนด์สเคปมันไปไกลแล้ว ไม่ใช่ตื่นเช้ามาดูทีวีช่องเดียวกัน อ่านหนังสือพิมพ์เล่มเดียวกัน วิทยุช่องเดียวกัน มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ยึดหลักศีลธรรมในการโพสต์

 เมื่อถามว่า มีการพูดถึง Self – Regulation คนไทยจะต้องทำตัวเป็น Gate Keeper ให้กับตัวเอง คนไทยจะต้องเป็นภาระถึงขนาดนั้นเลยหรือ นายก้าวโรจน์ กล่าวว่า Self -Regulator ถ้าคนไทย ก็เรื่องของศีลธรรม ในการโพสต์ การเขียน ตนอยู่ในช่วงมีเดียดิสรัปชั่นมาหลายเวฟ ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี เห็นมาเยอะ ถามว่าเราต้องทำไหม เราต้องทำ เหมือนเราจะพูดอะไร เราต้องคิดก่อน อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะโพสต์อะไรก็ต้องคิดก่อน แต่อารมณ์จังหวะที่ไม่ได้คิด หรือแค่สูงต่ำดำขาวอ้วนไม่อ้วน ลึก ๆ ก็เป็นการบูลลี่คนอื่น 

หลัง ๆ คนที่เล่น Facebook มานาน หลายคนไม่โพสต์ มีแต่แชร์ เพราะคนก็เริ่มกลัวเหมือนกัน โพสต์เรื่องส่วนตัวน้อยลง โพสต์เรื่องการให้ความรู้มากขึ้น สังคมเริ่มเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ก็ไม่เล่น Facebook ไปเล่น TikTok ซึ่งในการที่จะให้ความรู้เด็ก ก็ต้องบอกด้วยว่าคนที่สวยหล่อ โพสต์คำคม บางทีเบื้องหน้าเบื้องหลังก็ไม่ใช่อย่างนั้น มันคล้าย ๆ กัน เฟกนิวส์ ก็เป็นเหมือนเฟกคอนเทนต์ เดี๋ยวนี้เราแยกกันไม่ออก ระหว่างนิวส์กับคอนเทนต์ กับข่าวที่ประชาชนควรรู้ กับต้องรู้ มันก็มีสิ่งที่ บางทีมันเป็นข่าว แต่เอามาทำเป็นคอนเทนต์ มันก็ขาดความน่าเชื่อถือ แล้วก็มาใส่คอมเมนต์ของตัวเองลงไปอีก ไม่พอยังตัดสินคนอื่นอีก แล้วถามกลับว่าไปคอมเมนต์คนอื่นมีบรรทัดฐานอะไรมาจับ มันไปไกล ถ้าคอนเทนต์เรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดวิว อันนั้นก็ต้องบอกว่าเป็นอาชีพหนึ่งของเขา

ตอนนี้แพลตฟอร์มเอง อย่าง TikTok เห็นร่องอก ต้นขา เห็นเนื้อหนัง เห็นสัดส่วน อะไรก็ไม่ได้ รูปเด็กต้องอยู่กับพ่อแม่ โพสต์เด็ก ๆ คนเดียวไม่ได้ เค้าก็มีความละเอียดอ่อน ช่วงเริ่มแพลตฟอร์มอะไรดาร์ก ๆ ก็ยอมหมด เพราะอยากให้คนเข้าไปในระบบ แต่พอหลังจากนั้นมีคนเข้าไปเยอะก็เริ่มคลีนระบบ

ตอนนี้คนไทยใช้ TikTok 44 ล้านคน (ปี 2022)  หลังจากที่เข้ามาเมื่อปี 2019 ทำให้ Facebook, YouTube ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเรื่องคอนเทนต์กันใหม่หมด แพลตฟอร์มก็ต้องแข่งกันเป็นคนดีด้วย

แพลตฟอร์มเปลี่ยนเร็ว รายได้ไม่คงที่

เมื่อถามถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เค้าก็คาดหวังรายได้ แต่ตอนนี้มูลค่า หรือราคาบรรดาแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้ผู้ผลิตคอนเทนต์เป็นอย่างไรแบบไหน ก้าวโรจน์ ระบุว่า ตอนนี้มันเปลี่ยนไป แต่ก่อน YouTube 1 ล้านวิว อาจจะได้ 30,000 บาท สมมุติคีย์เวิร์ดที่คนดูตลอดเวลา แต่ต่อมาแพลตฟอร์มชอบสร้างฮีโร่ แล้วให้คนยึดแบบอย่าง และเข้ามาใช้แพลตฟอร์มเยอะ ๆ เพราะครีเอเตอร์เยอะ สัดส่วนรายได้ก็ลดลงเหมือนเค้กเท่าเดิม แต่คนทำเยอะขึ้น แต่ครีเอเตอร์ก็ใช้โมเดลอื่นในการขายของ เค้าก็ไม่เอายอดวิวเพื่อหารายได้จาก YouTube อย่างเดียว แต่ใช้วิธี Tie-in รีวิวของ ทำไลฟ์ขายของ โมเดลมันเปลี่ยนไป อาทิตย์หนึ่งใช้ได้ เดือนนึงใช้ได้ แต่อีกอาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ใช้ไม่ได้แล้ว แพลตฟอร์มมันเปลี่ยนเร็ว 

อย่างคอนเทนต์ คลิปเดียวกัน คอนเทนต์ดูการเอาไปลงคนละช่องก็ได้ ไม่เท่ากัน เพราะคนเข้ามาดูต่างกัน รายได้ของคอนเทนต์จะไม่เท่ากันในแต่ละช่วง มันขึ้นกับโลเคชั่น คนมาดูคอนเทนต์ที่คุณทำ มันมีมูลค่า ตัดโฆษณาที่มันลงดิจิทัลมีเดีย มันไม่มีบัญญัติไตรยางค์ คอนเทนต์เดียวกัน เอาไปลงคนละช่อง รายได้ไม่เท่ากัน เพราะลักษณะที่คนเข้ามาดูต่างกัน กลุ่มคนต่างกัน วิธีการค้นหาเข้ามาดูคอนเทนต์ก็ต่างกัน

นายก้าวโรจน์ ชี้ว่าดิจิทัลมีเดีย เทคนิคเมื่อวาน ใช้ไม่ได้กับวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ และคนทำมีเดีย ถูกดิสรัปทุกวินาที มีอะไรเกิดขึ้นตลอดเวลา

แนะผลิตคอนเทนต์มีคุณค่า-คุณประโยชน์

เมื่อถามต่อว่า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านออนไลน์ และดูเรื่องการตลาดด้วยแนะนำบรรดาคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในวันนี้อย่างไรดี ต้องผลิตคอนเทนต์อย่างไรดี นายก้าวโรจน์ ระบุว่า มี 2 คำ คือ คุณค่า กับคุณประโยชน์ คอนเทนต์ต้องมีคุณค่ากับคนเข้ามาดู เป็นคีย์หลักในการทำคอนเทนต์เลย ถ้าทำสองอย่างนี้ได้ ก็จบแล้ว

คุณค่า คือ คุณค่าที่ส่งต่อได้ ดูแล้วมีประโยชน์ คอนเทนต์แบบเรียกเรตติ้ง ฉูดฉาดแป๊บเดียวก็โดนสังคมแซงชั่นแล้ว ประเภททำคอนเทนต์แบบอันตราย มีคนออกมาประณาม สุดท้ายก็ออกมาขอโทษอยู่ดี แล้วคอนเทนต์อันนั้นก็ไม่มีคนดู แล้วเอ็นเกจก็จะบอกอยู่ในคอมเมนต์ที่โดนคนเข้ามาด่า เข้ามารุม อันนั้นไม่ใช่คอนเทนต์ที่มีประโยชน์ ที่เป็นภัยกับคนอื่นก็มี แต่ไม่ถึงเป็นประโยชน์

พัฒนาการการใช้โซเชียลมีเดียดีขึ้น

เมื่อถามถึงพัฒนาของสังคมไทย ในการใช้โซเชียลมีเดีย การแชร์เนื้อหาต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นหรือไม่ ก้าวโรจน์ ระบุว่า เป็นไปในทางดีขึ้นแต่ก่อนเรามีแต่โพสต์แบบ Toxic อยากดัง แบบอยากด่าใครที่ดังกว่า ก็ดัง คนก็แชร์เยอะ เพราะมีคนแชร์ด้วยความสะใจ แต่หลัง ๆ ก็น้อยลง ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการเมือง และการเลือกข้าง แต่ก่อนทำไมใน Facebook มีแต่เรื่องไม่ดี ก็เริ่มที่จะ Unfriend คนเหล่านั้น เป็นเราก็เลือกที่จะไม่อ่าน พอเราอยู่ในสังคมที่เห็นชีวิตคนอื่นมากกว่าเห็นชีวิตตัวเองตลอดเวลา บางทีมันก็ไม่ได้มีความสุข แม้จะเป็นเรื่องที่ดีบางทีมันก็เกิดความอิจฉา เกิดความอยากได้อยากดีเหมือนเขาโดยไม่รู้ตัวก็มี 

แนะสื่อตระหนักความรู้ด้านกฎหมาย

ขณะที่กรณี ศรีสุวรรณ จรรยา ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมสื่อไม่เข้าไปช่วย เป็นหน้าที่สื่อหรือไม่ที่ควรเข้าไปช่วย หรือเป็นหน้าที่คนไทย ซึ่งมีข้อกฎหมายระบุไว้ ประธานกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช ให้ข้อมูลในด้านกฎหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ลอบทำร้ายแบบตัวต่อตัว แต่มีสื่อกำลังสัมภาษณ์อยู่ แล้วปรากฎว่ามีคนเข้าไปทำร้ายร่างกาย ขณะเดียวกันสื่อเองก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวอยู่ ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ จะโดยสาเหตุใดก็แล้วแต่ 

กรณีเช่นนี้ มีประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบังคับใช้กับคนไทยและคนต่างชาติที่อยู่บนพื้นแผ่นดินไทยทุกคน ใครก็ตามอยู่ภายใต้บังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งว่าด้วยลหุโทษในมาตรา 374 บัญญัติว่า ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้ โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเอง หรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ แม้จะมีถ้อยคำที่ว่า “อาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น ที่เห็นผู้อื่นนั้นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต” ซึ่งกรณีดังกล่าว เราสามารถเอามาตรานี้ มาปรับได้ แม้ว่าการทำร้ายร่างกายนั้น ดูแล้วจะไม่ถึงอันตรายแก่ชีวิตก็ตาม แต่ถ้าหากคู่ต่อสู้ของคู่กรณี มีโรคประจำตัวอยู่ และอย่าลืมว่าศิลปะมวยไทย ทัดดอกไม้ เราก็เคยเห็นมาแล้วในสังเวียน หรือแม้แต่โดนดั้งจมูก ปลายคาง อาจทำให้วูบ สลบ หัวฟาด จะถึงแก่ชีวิตได้ไหม ก็ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นแล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่กฎหมาย เล็งเห็นในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ถึงได้มีการบัญญัติกฎหมายมาตรานี้ขึ้นมา เพื่อให้มนุษย์เราทุกคน ต้องมีเมตตา มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นบุคคลตกในภยันตราย ก็ต้องช่วยเหลือ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ทุกคนก็จะอ้างได้ว่า ไม่ใช่เรื่องของตัว แล้วทุกคนก็ปล่อยปละละเลย สังคมจะอยู่ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ตนไม่ได้ต้องการชี้นำให้เห็นว่า สื่อที่ทำหน้าที่อยู่เวลานั้น ผิดกฎหมายนี้ แต่ต้องการให้ตระหนักถึงบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ทุกคนควรจะรับรู้ และตระหนักว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก อย่าแต่ลำพังการทำหน้าที่ของสื่อ เพื่อจะเก็บภาพเด็ด ๆ เพราะว่าสังคมอยู่ยาก ถ้าทุกคนขาดความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน มัวแต่แสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น

หลักจริยธรรม-หน้าที่สื่อประสานสังคม

เมื่อถามว่า ประเด็นนี้ บรรดาสื่อที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ก็ชี้แจงว่า ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ทุกคนก็ยังทำหน้าที่อยู่ ยังถือกล้องอยู่ ฉะนั้นการทำหน้าที่สื่อ ถ้าไม่บันทึกเหตุการณ์ ทุกคนก็จะไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นการไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือห้ามปรามขณะทำหน้าที่ ก็ไม่น่าจะเป็นความผิดหรือไม่ นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะคดีอาญานั้น ผู้ที่จะต้องรับโทษในทางอาญา จะต้องมีเจตนา ถ้าขาดเจตนาก็ไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติของกฎหมาย 

อย่างที่อธิบายความ ก็อยู่ที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันมีเจตนาแค่ไหนอย่างไร แต่ขณะเดียวกันนั้นคือ กฎหมายที่อยากจะทำความเข้าใจว่า เรามีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อยู่ เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นมาอีก พึงตระหนักไว้ว่าบทบัญญัติของกฎหมาย มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่อีกมุมหนึ่งที่อยากจะพูดในวันนี้ก็คือ หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ

อย่างที่สื่อให้เหตุผลนั้น ก็มีเหตุผลที่ต้องรับฟังว่า เขากำลังทำหน้าที่อยู่ ในเมื่อทุกคนไม่สามารถที่จะมีปฏิกิริยาที่จะตอบโต้ ในส่วนของตัวเองได้ ว่าต้องรักษากฎหมาย ต้องทำหน้าที่ ซึ่งในข้อกฎหมายก็ทำให้เราถึงต้องตระหนักว่า ถึงแม้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะขาดเจตนาแต่เรื่องหลักจริยธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเรามีธรรมนูญออกมาเมื่อ 11 พ.ย. 2563 และปีต่อมา 2564 ก็ได้ออกข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งมีหมวดเรื่องประโยชน์สาธารณะในข้อ 11 บัญญัติไว้ว่า สื่อมวลชนพึงทำหน้าที่ประสานความเข้าใจในสังคม ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งแตกแยกในความคิด และพึงระมัดระวังการเสนอข่าว เนื้อหาข่าว เนื้อหาทั่วไป หรือการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ มันจะเป็นการสร้าง หรือเพิ่มความหวาดระแวง ความเกลียดชัง ความขัดแย้ง และความรุนแรงในชุมชนหรือสังคม

ข้อนี้ ตนคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถเอามาถอดบทเรียน แล้วนำข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของสภาการสื่อมวลชน ในข้อ 11 มาใช้ได้ เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดในสังคม และปรากฏชัดว่า ทั้งฝ่ายผู้ถูกกระทำฝ่ายที่กระทำ มีแนวความคิดทางการเมือง ทางสังคม แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

จะเห็นได้ว่า เมื่อมีคนไปห้าม ก็มีเสียงของสอดแทรกเข้ามา และต่อมาก็มีคนใช้มือถือไลฟ์สด และกล่าวว่าด่าทออีกฝ่ายว่า ทำไมก่อนหน้านี้ ไม่ไปร้องอะไรต่าง ๆ ซึ่งปรากฏภาพชัด ฉะนั้นสื่อ ต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าวซึ่งสำคัญที่สุด

สำหรับในแง่มุมของประมวลกฎหมาย ต้องดูเป็นกรณีไป ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ รวมทั้งสื่อ มีจิตสาธารณะอยู่แล้ว เมื่อมีผู้ตกทุกข์ได้ยากก็พยายามนำเสนอข่าว ให้มีการช่วยเหลือกัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักมากว่า สื่อต้องการได้ภาพ อยากจะได้ภาพโดยไม่สนใจใยดีว่าใครจะถูกทำร้ายต่อหน้าต่อตา

สื่อเสมือนดาบสองคม ถูกทางได้ประโยชน์

ตนขอย้ำอีกทีว่า สื่อเองก็เหมือนดาบสองคม ถ้าใช้ได้ถูกต้อง ถูกทาง ถูกเวลา ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามุ่งแต่จะหารายได้อย่างเดียวก็คือเรทติ้ง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ก็จะเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ นั่นหมายถึงความล่มสลายของความถูกต้อง และสร้างแนวโน้มเชิงความคิดที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักนิติธรรม 

ประโยคนี้ จึงอยากจะฝากให้สังคม รวมถึงสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติหรือไม่ก็ตาม แต่สภาการสื่อมวลชนฯ โดยเฉพาะประธานชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ย้ำตลอดเวลาว่า แม้เค้าไม่ได้เป็นองค์กรสมาชิกของเราก็ตาม แต่ก็ถือเป็นผู้ร่วมวิชาชีพ ร่วมอุดมการณ์ เพราะวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมได้รับเกียรติในสังคม เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ในการระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดจริยธรรม เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นเกราะคุ้มครองเรา ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ยกเว้นวิชาชีพสื่อที่มีการกระทำอยู่ในกรอบขององค์กรวิชาชีพนั้น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เมื่อถามว่า ความต้องการสื่อสาร ทำให้สังคม “ไร้สติ” ขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ ในการใช้ข้อมูลและเครื่องมือสื่อสาร นายวีรศักดิ์ ระบุว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สังคมยุคปัจจุบันเรื่องการสื่อสาร ไร้พรมแดนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่สื่อ ผู้บริโภคสื่อ สำคัญที่สุด ก็คือสติ มันหมิ่นเหม่มาก เพราะหากผู้บริโภคสื่อ ไม่มีสติพอ ไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับภาวะปัจจุบัน ที่เราพยายามรณรงค์เรื่องจริยธรรมเมตตาธรรมก็จะทำให้สื่อเบี่ยงเบนได้

“สื่อในปัจจุบันนี้ ผมกล้าพูดได้เลยว่า 100% ที่ไม่ใช่สื่อภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ต้องยืนอยู่บนฐานของตัวเอง เพราะฉะนั้นแล้ว เข้าใจว่า เรทติ้งกับมาตรฐานทางจริยธรรม เหมือนกับจะสวนทางกัน เพราะถ้าสื่อใด ยึดหลักจริยธรรมบางทีเรตติ้งไม่มี การที่จะทำหน้าที่สื่อก็ลำบาก ขณะเดียวกันผู้บริโภค ก็ต้องเลือกบริโภคสื่อที่มีคุณภาพ มีหลักจริยธรรม จะได้ส่งเสริมในการทำธุรกิจของสื่อนั้น” 

มาตรฐานดีขึ้น-ร่วมกสทช.กำกับจริยธรรม

ฉะนั้นในเรื่องความต้องการสื่อสารทำให้สังคมไร้สติจริงหรือไม่ ผมยังมองว่า แม้ว่าจะมองเผิน ๆ จะเหมือนชี้นำไปอย่างนั้น แต่ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการจริยธรรมสภาการฯ ผมก็ยังมีความหวังว่า จากการรณรงค์ในเรื่องจริยธรรมแล้ว จะสังเกตได้ว่า ข่าวที่ออกมาช่วงหลัง ๆ มีจริยธรรมมากขึ้น เช่นกรณีการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับผู้เยาว์ เด็ก ซึ่งกฎหมายให้ความคุ้มครองว่า ห้ามเปิดเผยชื่อ ชื่อบิดามารดาคนใกล้ชิด ที่จะสื่อไปถึงเด็กได้ ก็มีการระมัดระวังมากกว่าเดิมเยอะ 

วีรศักดิ์ ย้ำว่า เพราะฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับสื่อด้วยว่า การทำหน้าที่ของสื่อ ไม่ถึงกับทำให้สังคมไร้สติเสียทีเดียว แต่มีีบ้าง ซึ่งสื่อทุกวันนี้มีหลายประเภท โดยเฉพาะสื่อภาคพลเมืองควบคุมยากมาก เพราะเขาไม่สังกัดองค์กรสมาชิกใด ก็ต้องใช้กฎหมายเข้าไปจัดระเบียบ แต่ถ้าเป็นองค์กรสมาชิก ตนกล้ารับได้เลยว่า ทุกองค์กรสมาชิกเรา มีหลักจริยธรรม และล่าสุด กสทช. ก็ได้ให้เกียรติกับองค์กรวิชาชีพสื่อเรา ถ้ามีเรื่องร้องเรียนในเรื่องละเมิดกฎหมาย จริยธรรม ถ้าเกี่ยวกับจริยธรรม กสทช. ให้องค์กรวิชาชีพไปช่วยกลั่นกรอง กำกับดูแลกันเองในเบื้องต้นก่อน และรายงานให้ กสทช.รับทราบ อันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันกับภาครัฐ

ทั้งนี้ในตอนท้าย ผู้ดำเนินรายการและประธานกรรมการจริยธรรมสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเชิญชวนสื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อใด รวมถึงสื่อพลเมือง สามารถเข้าร่วมอบรมการทำงานด้านจริยธรรมต่าง ๆ ได้ ตามที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกัน