หนุนพัฒนานักข่าวภูมิภาค เพิ่มรายได้ให้เหมาะสม

“เมื่อข่าวภูมิภาค กระชากเรตติ้งให้ต้นสังกัด” นักวิชาชีพ วิชาการ สะท้อนเนื้อหา การทำงานของนักข่าวภูมิภาค ถูกกำหนดโดยโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อ ที่แข่งเดือด เรตติ้ง ยอดวิว ติดกับดักรายได้ ส่งผลคุณภาพคอนเทนต์ หนุนส่วนกลางช่วยพัฒนาประเด็น ที่นักข่าวภูมิภาครู้ลึก รู้จริง ยกระดับเนื้อหาข่าวเชิงลึกให้น่าสนใจยิ่งขึ้น พร้อมทั้งทบทวนรายได้ให้เหมาะสม

         รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “เมื่อข่าวภูมิภาค กระชากเรตติ้งให้ต้นสังกัด” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย ด้านกิจการสื่อสารมวลชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)

         เมื่อข่าวภูมิภาคเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเรตติ้งให้สื่อต่างๆ ในยุคปัจจุบัน พัฒนาการของข่าวภูมิภาค และคนข่าวภูมิภาคในยุคนี้เป็นอย่างไร ในมุมมองของ รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ เห็นว่า ข่าวภูมิภาคฐานคนอ่านจะน้อยกว่าส่วนกลาง หากไม่เข้มแข็งจริง จะอยู่ยาก แต่พอยุคหลังมีสื่ออินเทอร์เน็ต สารสนเทศ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ทำให้ต้นทุนการทำข่าวลดลง การหาข่าวง่ายขึ้น ฉะนั้นตอนนี้หากเทียบกับสมัยก่อนสื่อท้องถิ่นในแง่สื่อกระดาษจะลดลง แต่ในแง่สื่อออนไลน์ สื่อใหม่ๆ เกิดมากขึ้น และสามารถติดตามได้มากขึ้น

         ขณะที่พัฒนาการของประเด็นข่าวของสื่อในภูมิภาค มีข่าวอยู่สองลักษณะ คือ 1.ข่าวส่วนกลางของท้องถิ่น จะทำออกมาในลักษณะของแมส ซึ่งประเด็นข่าวดีขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ก็ยังดีไม่มากพอ โดยเฉพาะการวิเคราะห์เจาะลึก ยังไม่ค่อยมี เป็นข่าวรายวันมากกว่า เป็นข่าวประชาสัมพันธ์มาก รวมทั้งข่าวอาชญากรรม ก็นำเสนอมาก ส่วนข่าวลึกๆ อาจจะมีมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ก็ถือว่าดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

         สื่อทางเลือก ที่เอ็นจีโอทำ สื่อของเค้าจะลงลึกกว่า ถึงชุมชนมากกว่า แต่ปัญหาก็คือ ประเด็นที่นำเสนอไม่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นข่าวที่ทุกคนรู้สึกว่าสำคัญ และอยากติดตาม จึงกลายเป็นข่าวเฉพาะกลุ่ม ซึ่งน่าเสียดาย ทั้งที่เนื้อหาดี แต่ไม่สามารถทำให้คนอื่นสนใจมาติดตามสื่อเค้าได้มากนัก

         ทั้งนี้ ในส่วนแรกข่าวที่เป็นของท้องถิ่นจริงๆ ก็มีข้อจำกัดของการทำข่าวลักษณะนี้ ในอดีตก็มีเรื่องงบประมาณ เรื่องกำลังคน ที่ไม่สามารถส่งนักข่าวไปทำเรื่องที่ลึกขนาดนั้นได้ แต่ถ้าเป็นเอ็นจีโอ พวกเค้าก็อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จึงรู้ลึก แต่ถ้าเป็นนักข่าวส่วนกลางของท้องถิ่น ให้ลงไปก็ไม่ได้ข้อมูลขนาดนั้น เพราะยังมีข่าวในเมืองที่เค้าต้องทำอยู่ 

ความสนใจอยู่ที่ประเด็นมากกว่าฉากพื้นที่

         เมื่อมาถึงยุคสารสนเทศ ทำให้ข้อจำกัดของพื้นที่ลดลงไป กลายเป็นว่าความสำคัญของประเด็นข่าวไม่ได้อยู่ที่พื้นที่ แต่เป็นความสนใจของคน ไม่ว่าเหตุเกิดขึ้นที่ไหน ฉากที่เกิดขึ้นจะที่ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน หรือที่ไหนก็ตาม ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นของเรื่องว่าน่าสนใจแค่ไหนอย่างไรมากกว่า

         อย่างกรณีข่าวผู้ว่าฯ กทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จริงๆ ก็เป็นข่าวท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ที่คนกรุงเทพจะสนใจผู้ว่าฯ ของเค้า ว่าจะทำอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ปรากฏว่า ข่าวของสำนักข่าวเชียงใหม่เอง ก็นำเสนอด้วยว่า ผู้ว่าฯชัชชาติไปทำอะไร ออกกำลังกาย ที่ไหน เรื่องกราดยิงที่หนองบัวลำภู เรื่องถ้ำนาคา แสดงว่าเค้าสนใจประเด็น เรื่องที่คนสนใจอยู่ ส่วนเรื่องพื้นที่เป็นแค่ฉาก สื่อก็จะเสนอข่าวนั้นมากขึ้น

         เมื่อถามว่า ในที่สุดแล้วสื่อก็ต้องเสนอข่าวที่สนองความสนใจผู้บริโภคใช่ไหม รศ.ดร.นรินทร์ กล่าวว่า สื่อปัจจุบันเปลี่ยนไป ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตสื่อของตัวเองมาลงในโซเชียลมีเดีย ก็มียอดวิว ยอดไลค์ ก็กลายเป็นว่า สื่อส่วนกลางไปเอาข่าวของเค้ามาขยาย มาขยี้ต่ออีก เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่สื่อนำเสนอออกไป แล้วผู้รับสารรับจากสื่ออย่างเดียว แต่กลับกลายเป็นว่า บางทีผู้รับสารก็เป็นคนส่งออกมา แล้วสื่อก็รับเรื่องมาขยี้ต่อ

ประเด็นข่าวพื้นที่อาจไม่ตอบโจทย์กองบก.

         เมื่อถามถึงกรณีข่าวที่เกิดเหตุในภูมิภาค แล้วส่วนกลางส่งทีมลงไป ในมุมมองของนักวิชาการมองอย่างไร รศ.ดร.นรินทร์ ระบุว่า การส่งผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่ ขณะที่สตริงเกอร์อยู่ในพื้นที่จะรู้ประเด็นมากกว่า แต่ในเชิงของการมองข่าว ที่เป็นความต้องการของกอง บก. บางทีส่วนกลางลงไปอาจตอบโจทย์ความต้องการของกอง บก.ได้มากกว่า เมื่อถามว่า จะทำให้ผู้สื่อข่าวภูมิภาค ท้องถิ่น พัฒนาฝีมือให้ขึ้นมาเท่าเทียมกับนักข่าวส่วนกลางได้อย่างไร รศ.ดร.นรินทร์ เห็นว่าการที่สื่อส่วนกลางลงไป ก็จะทำเฉพาะบางประเด็นที่ตนเองสนใจ แต่ถ้าเป็นการรายงานข่าวประจำวันทั่วไป สื่อภูมิภาคน่าเห็นใจ ต้องช่วยเหลือตัวเองมาก จะให้มาทำเฉพาะเรื่อง คนก็น้อย ทุนก็น้อยกว่า ฉะนั้นการจะไปพัฒนาสื่อส่วนภูมิภาคก็ค่อนข้างลำบาก ส่วนใหญ่ก็จะไปร่วมมือกับสถาบันการศึกษามากกว่า เช่นสื่อในเชียงใหม่หลายสื่อร่วมกันกับทาง มช.

         ตลอดเวลาท่ี่ผ่านมาที่สตริงเกอร์ส่งข่าวให้กับหลายสำนักข่าวเหมือนกัน ไม่ได้มุ่งทำข่าวเอ็กซ์คลูซีฟ อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สื่อส่วนกลางก็ต้องส่งนักข่าวตัวเองลงไป ประเด็นนี้ มีประเด็นที่เกี่ยวกับค่าครองชีพหรือไม่อย่างไร รศ.ดร.นรินทร์ กล่าวว่า เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ยุคนี้ ไม่อาศัยสื่อภูมิภาคก็ไม่ได้ เพราะเค้าเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่จะไปหวังว่าเค้าจะมีข่าวเฉพาะ ที่จะทำให้สื่อส่วนกลางพิเศษ ก็ลำบากเพราะข่าวชิ้นหนึ่งออกมา สตริงเกอร์ก็ต้องส่งให้ทั้งสื่อส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่เค้าอยู่เราก็จะได้ข่าวพื้นฐาน แต่ข่าวพิเศษเฉพาะก็ต้องส่งนักข่าวส่วนกลางลงไป ก็จะเกิดปรากฏการณ์อย่างที่เห็น

หนุนร่วมกันพัฒนาทั้งประเด็น-ทักษะ

         เป็นไปได้หรือไม่ หากจะยกระดับนักข่าวภูมิภาค ควรจะมีข้อตกลงกันว่าการส่งข่าวให้สำนักข่าวหนึ่ง โดยจ่ายเป็นเงินเดือน รศ.ดร.นรินทร์ มองว่า มีโอกาสเป็นไปได้ แต่คิดว่าค่อนข้างลำบาก เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และข้อตกลง ว่าจะทำให้เขาอยู่รอดได้หรือไม่แต่ข่าวบ้านเราไม่ได้กำไรเหมือนในต่างประเทศ ที่มีเงินเดือน สวัสดิการ และคุ้มค่า ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ แค่อยู่รอดได้ หากข้อตกลงไม่ครอบคลุมพอที่จะทำให้เขาอยู่ได้ไม่ลำบาก ก็เป็นไปได้ ถ้ามีข้อตกลง มีการพัฒนาตัวสื่อออกมาให้ มีฐานมีคนติดตามมากขึ้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้

         เมื่อข่าวภูมิภาคกระชากเรตติ้งให้ต้นสังกัด เราจะต้องดูแลเขาอย่างไรดี รศ.ดร.นรินทร์ กล่าวว่า คนที่มาทำข่าว โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ถ้าไม่รักจริง อยู่ยาก เพราะฉะนั้นคนที่มาตรงนี้ เค้ามีใจและมีความพยายาม แต่ข่าวภูมิภาคเนื่องจากฐานเงินทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสื่อส่วนกลาง เพราะฉะนั้นถ้าหากสามารถจะส่งเสริม สนับสนุน นอกจากสถาบันการศึกษาที่ทำอยู่แล้ว หากสื่อส่วนกลางมีเงื่อนไขที่ดี นอกจากจะให้สตริงเกอร์ช่วยทำข่าวต่างๆ ถ้ามีเงื่อนไขอย่างอื่น ที่ทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ เช่น จัดอบรม มีสวัสดิการ ค่าตอบแทนที่มากขึ้น คิดว่าสื่อท้องถิ่นน่าจะช่วยสื่ออส่วนกลางได้อีกมาก

ยุคใหม่เทคโนโลยีเปลี่ยน แข่งความเร็ว

         ด้าน จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ สะท้อนประสบการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เป็นสตริงเกอร์สื่อต่างๆ ทุกแพลตฟอร์ม จนกระทั่งมาเป็นเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ และปัจจุบันยังทำรูปแบบออนไลน์ด้วย โดยเขาระบุว่า ถ้าเป็นสตริงเกอร์อยู่สังกัดเดียว สื่อเดียว คงอยู่ไม่ได้ เพราะสตริงเกอร์ไม่มีเงินเดือน จะได้รับค่าตอบแทนเป็นชิ้นข่าว เมื่อถูกนำไปใช้ ถูกนำเสนอจึงจะมีรายได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการไปทำข่าวก็ต้องจ่ายเองสมัยก่อนที่เป็นยุคสื่อสิ่งพิมพ์ การติดต่อสื่อสาร ใช้โทรศัพท์เป็นหลัก การส่งข่าวลำบาก ยุคนั้นการแข่งขันเพื่อส่งข่าว ใช้วิธีโทรศัพท์แล้วก็พิมพ์ข่าวส่ง ที่พัฒนาต่อมาก็จะเป็นแฟกซ์ จะง่ายและเร็วขึ้น แต่การส่งภาพก็ยังยาก จะมีเฉพาะหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ที่ส่งภาพทางไกลได้ แต่ถ้าฉบับอื่นเล็กๆ ก็ไม่มี กรณีถ้ามีเหตุการณ์ใหญ่จริงๆ สื่อใหญ่ที่มีศูนย์ข่าวภูมิภาค ก็ให้มาส่งภาพส่งข่าวที่ศูนย์ ตรงนี้เป็นความได้เปรียบ และยังมีข่าวกรอบแรก กรอบสอง ฉะนั้นสตริงเกอร์ก็ต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้ข่าวตกกรอบ

         ถ้ามีประเด็นใหญ่ก็ต้องแจ้งหัวหน้าศูนย์ภูมิภาคให้ทราบก่อน เพื่อให้จองพื้นที่ไว้ ก็ต้องประสานกัน ดังนั้นการทำงานของสื่อในยุคนั้นจึงมีข้อติดขัดในเรื่องเทคโนโลยี เรื่ององค์กร แต่ก็สามารถผลิตข่าว ส่งข่าวได้ ฉะนั้นสี่อใหญ่ที่มีศักยภาพสูงกว่า ถ้ามีทั้งข่าวทั้งภาพพร้อม ก็จะขายดี นี่เป็นสภาพทั่วไปเมื่อ 20 ปีก่อนแต่ยุคปัจจุบันมันเปลี่ยนไปสภาพการทำงานของสื่อภูมิภาคทั่วไป จำเป็นต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาที่สื่อหนังสือพิมพ์จะปิดกรอบ และค่อนข้างยากลำบาก ถ้ามีข่าวที่เกี่ยวกับการทุจริตเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ก็ต้องเผชิญกับอิทธิพล หากผิดพลาด ก็ได้รับผลกระทบ นี่คือสิ่งที่นักข่าวยุคเก่าต้องเผชิญ  ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวที่เป็นคำสั่งมาจากส่วนกลาง ให้ท้องถิ่นทำ จุดนี้ก็ทำให้นักข่าวท้องถิ่นได้พัฒนาตัวเองด้วย

         เปรียบเทียบกับยุคปัจจุบัน ที่มีเครื่องมือ มีอุปกรณ์ ส่งภาพได้รวดเร็ว และเป็นการทำข่าวออนไลน์ ปรากฏว่าไม่ได้วัดกันที่ความลึกของข่าว แต่วัดกันที่ความเร็ว เพราะวันนี้ทุกคนเท่ากันหมด แต่สิ่งที่ไม่เท่ากันคือ ประเด็นยกตัวอย่างกรณี โจร 4 คนปล้นร้านทองที่ จ.ตาก เร็วๆ นี้ ถ้าเป็นยุคเก่ายากที่จะได้ภาพในพื้นที่ แต่ทุกวันนี้ เทคโนโลยีเรื่องกล้องวงจรปิดของร้าน จากถนน เห็นภาพจากโทรศัพท์มือถือคนที่อยู่ในเหตุการณ์บันทึกไว้ นั่นคือสิ่งที่นักข่าวในพื้นที่ จะต้องเอามาให้ได้ ไม่ว่าจะเอามาจากไหน เพื่อส่งไปให้สังกัด ซึ่งอาจจะมีสื่อทุกแพลตฟอร์มครบถ้วน ที่สร้างยอดวิว

สะท้อนปัญหารายได้ ความเสียเปรียบยุคออนไลน์

         อย่างไรก็ตามนักข่าวสตริงเกอร์ในปัจจุบันก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มากกว่าในยุคเก่า เพราะปัจจุบันนี้เวลาภาพเหตุการณ์ที่นำไปเสนอเป็นข่าว จะมาจากภาพของคนเห็นเหตุการณ์ เช่น ใน Facebook ซึ่งสื่อส่วนกลางก็ดึงไปใช้ โดยไม่ได้เอาไปจากนักข่าว  สำหรับปัญหาอีกส่วนคือ เรื่องรายได้ของสตริงเกอร์ ที่น้อยลง เมื่อข่าวถูกนำไปใช้ในออนไลน์ โดยวิธีการคิดค่าข่าวแตกต่างจากยุคเก่า คือสื่อสิ่งพิมพ์ เช่นคิดเป็นบรรทัด แต่วันนี้ข่าวที่ส่งไป ขึ้นอยู่กับยอดไลค์ ยอดแชร์ ที่คิดเป็นค่าตอบแทน ตามขั้นของยอดวิว ยอดไลค์ เช่น 1-501 วิว 1,000- 5,000 หรือ 5,000 -10,000 ก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นขั้น เป็นระดับ ถ้าทำตรงนี้ไม่ได้ ก็จะไม่มีรายได้ ก็น่าเห็นใจ ยุคนี้เป็นยุคที่รายได้ของนักข่าวในท้องถิ่นตกลงมามาก เมื่อเทียบกับยุคเก่า ทั้งที่เค้ามีความสามารถในหลายด้าน นี่คือปัญหาในท้องถิ่น

         จักรกฤชณ์ ยังยกตัวอย่าง ยุคก่อนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งจ่ายเงินเดือนให้นักข่าวในพื้นที่ เป็นการเหมาจ่าย แล้วให้ดูพื้นที่กี่จังหวัด ก็ทำให้นักข่าวท้องถิ่นมีรายได้เยอะ แต่พอเจอออนไลน์ดิสรัป รายได้ก็ตกไปเยอะ เพราะไม่สามารถขายโฆษณาได้ ทำให้เกิดการปลดนักข่าว ฉะนั้นยุคนี้ก็สะท้อนว่า ทำแพลตฟอร์มเดียวไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ทำครบวงจรก็จะอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับนักข่าวท้องถิ่นถ้าหวังเฉพาะค่าข่าว จากการเป็นสตริงเกอร์ ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันแต่ละสื่อรายได้ก็ตก การแข่งขันกันสูง เมื่อมีทีวีดิจิทัล ค่าโฆษณาก็แชร์กันมาก สะท้อนให้เห็นว่า สื่อที่เป็นยักษ์ใหญ่จริงๆ ก็มีคู่แข่ง จากสื่อใหม่ แม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ ทำให้รายได้หายไป

         ผลกระทบที่เห็นได้จากกรณีตัวอย่าง มีสื่อในส่วนกลางบางแห่งเซ็นสัญญากับสตริงเกอร์ กำหนดให้ภาพข่าวที่ได้มา จะเป็นลิขสิทธิ์ของของช่อง นำไปเผยแพร่ได้ในหลายแพลตฟอร์ม แต่สตริงเกอร์จะไม่ได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมจากส่วนนี้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขาหมดกำลังใจในการทำงาน

พัฒนาประเด็นไม่ง่าย หากแข่งเรตติ้งเดือด

         จักร์กฤษ เพิ่มพูล มองพัฒนาการของสื่อภูมิภาคในบ้านเรา ใน 2 ส่วน คือ แหล่งที่มาของข่าวภูมิภาค คือคนส่งข่าว และที่มาของข่าวสำหรับคนส่งข่าว น่าจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือสตริงเกอร์ หรือฟรีแลนซ์ข่าว ซึ่งมีจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ไม่ได้สังกัดองค์กรสื่อใดโดยเฉพาะ แต่ส่งข่าวทั่วไปทุกช่อง

         กลุ่มที่สอง เป็นนักข่าวที่มีสังกัดองค์กรนั้นๆ รับคำสั่งจากองค์กร และรับเงินเดือนประจำ เช่น ไทยรัฐ ไทยพีบีเอส ก็จะมีนักข่าวสังกัดองค์กรโดยเฉพาะ กลุ่มที่สาม นักข่าวส่วนกลาง ที่ถูกมอบหมายไปทำข่าวในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นเกิดเรื่องใหญ่ๆ ฉะนั้น 2-3 ส่วนนี้จะเป็นที่มาของข่า

         สำหรับพัฒนาการของข่าว หากจะพูดรวมๆ คงไม่ค่อยมีโอกาสพัฒนาเท่าไหร่ เพราะสภาพการแข่งขันในตลาดมีสูงมาก และคงจะมุ่งในเรื่องของผลประกอบการ เรื่องการสร้างเรตติ้ง ซึ่งคือความอยู่รอดขององค์กร ผมอาจจะมองในทางร้ายไปสักหน่อย ถึงปัจจุบันโดยสภาพการแข่งขัน การเข้าถึงเม็ดเงินโฆษณาซึ่งมีอยู่จำกัด จุดหมายสำคัญของนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวต่างจังหวัด ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ไปทำข่าวมาแล้วขายได้ มีคนดู ประเด็นนี้ไม่ได้โทษว่าใครผิดใครถูก เพราะโครงสร้างการทำงาน โครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน ถูกกำหนดทิศทางเป็นแบบนั้น

         เมื่อถามถึงข้อสังเกตเนื้อหาข่าวภูมิภาคปัจจุบัน ไม่ได้เน้นความลึก นอกจากความเร็วเมื่อจบข่าวแล้วก็ไม่ได้ไปตามต่อ จักร์กฤษ กล่าวว่า เข้าใจว่าความคิดที่จะทำข่าววิเคราะห์เจาะลึก ผู้บริหารสื่อคงจะต้องคุยกันเรื่องนี้อยู่ไม่ว่าสื่อใดก็ตาม แต่เอาเข้าจริง ในสถานการณ์จริงเรามีเวลามากพอหรือไม่ ที่จะมานั่งวางแผนข่าวสืบสวนสอบสวน กองบก.ส่วนใหญ่อาจจะต้องไปคิดถึงคู่แข่งว่า จะทำอย่างไรให้สถานีของเรามีเรตติ้งมากกว่าคู่แข่ง อยู่อันดับต้นๆ เพื่อเป็นการันตีรายได้ที่จะเข้ามา

         ส่วนเรื่องความคิดในอุดมคติ ที่จะทำข่าวที่มีคุณภาพ มันมีอยู่ แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริง ที่ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมันถูกกำหนดว่า เราอาจจำเป็นที่ต้องทำข่าวที่เป็น Human Interest ข่าวที่ตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ อย่างข่าวชาวบ้านทั่วไป คงจะเป็นแบบนั้นมากกว่า

สื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่พร้อมพัฒนาตัวเอง

         ต่อข้อถามว่า ที่ผ่านมาสมาคม สภาวิชาชีพ มักจะพูดกันเสมอว่า เราจะต้องให้ความรู้กับสมาชิกพัฒนาความรู้ความสามารถของสมาชิกต้องไปข้างหน้า เป็นที่พึ่งให้กับสังคม และย้อนกลับไปในส่วนของ 2-3 ส่วนของนักข่าวข้างต้น ในส่วนของสตริงเกอร์เวลาจะพัฒนางานข่าว อาชีพสื่อมวลชนจะต้องไปทั้งองคาพยพทั้งหมด แต่ดูเหมือนว่าสตริงเกอร์จะถูกทิ้งไว้หรือไม่ ขณะเดียวกันเค้าก็มีธุรกิจของตัวเองที่ต้องดูแล อาจจะไม่ได้สนใจกับรายได้จากการทำส่งข่าว ฉะนั้นก็ต่างคนต่างอยู่เช่นนี้ มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

         จักร์กฤษ กล่าวว่า ตนเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 2 ปี ก็พอจะเข้าใจอยู่ว่าสภาพการณ์ของนักข่าวสตริงเกอร์ในต่างจังหวัด ที่ดูเหมือนจะไม่โอเคเท่าไหร่ ในส่วนที่เป็นผู้รับเหมา พ่อค้า หรืออาชีพต่างๆ ในส่วนนั้นคงไม่แน่ใจว่าจะทำหน้าที่สตริงเกอร์ นักข่าวที่มีความเข้าใจในเรื่องหลักการมากน้อยขนาดไหน แต่อีกจำนวนไม่น้อย ที่เป็นสื่อท้องถิ่น มีสื่อของตัวเอง มีโรงพิมพ์ ฉะนั้น สื่อเหล่านั้นผมคิดว่า เค้าก็อยู่ในสภาพที่พร้อมจะพัฒนา เข้าใจหลักการพื้นฐานในการทำงาน

         ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงทิศทางของการทำสื่อในสังคมไทย คิดว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องมัลติ เจอนัลลิสต์ เราเรียกร้องคนที่มีความสามารถทำสื่อได้หลากหลาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่เป็นแนวโน้มใหม่ ซึ่งในต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่ตนเคยทำ เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นออนไลน์แล้ว ส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนเป็นออนไลน์ทั้งหมด แต่ตอนนี้ก็มีความกังวลอยู่บ้างว่า เวลาที่เราเปลี่ยนแพลตฟอร์ม มาทำสื่อที่ไม่ใช่สื่อดั้งเดิมแล้ว เรามีความเข้าใจเพียงพอไหม ในการผลิตคอนเทนต์หรือให้ความเข้าใจหรือไม่ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในสื่อออนไลน์ ต่างจากพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์

องค์กรสื่อขับเคลื่อน ช่วยพัฒนาทักษะ

         ตรงนี้อาจจะยังเป็นปัญหาอยู่บ้างว่า วิธีการนำเสนอ การเลือกข่าว อาจจำเป็นต้องอบรมหรือไม่ คิดว่าถ้าเป็นองค์กรสื่อในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อย ที่เป็นสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็มีความพยายาม มีกิจกรรมอยู่ไม่น้อย ซึ่งสภาการสื่อฯ พยายามจะยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของสื่อภูมิภาค และมีความสนใจเข้ามาร่วม ก็เป็นแนวโน้มที่ดี ที่เราคิดว่า แม้ปัญหาดั้งเดิมจะยังไม่เปลี่ยน คือยังไม่ได้พัฒนาทักษะที่จะเข้าใจว่า พอเปลี่ยนแพลตฟอร์ม ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน วิธีคิด แต่ก็มีความพยายามที่จะฝึกฝนตนเองเพื่อปรับเข้าสู่โลกยุคใหม่

         เมื่อถามถึงมุมมอง ค่าตอบแทนมากน้อยแค่ไหน สตริงเกอร์ถึงจะส่งข่าวให้เพียงสำนักเดียว ที่สั่งประเด๋็น โดยไม่ส่งข่าวไปให้กับสำนักอื่น จักร์กฤษ มองว่า เรื่องสตริงเกอร์เป็นเหมือนภาพมายา ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่หมายถึงสตริงเกอร์ทั้งหมด ที่อยู่ในสถานะยากลำบาก ตนเคยมีประสบการณ์่ในช่วงที่ทำงานในองค์กรสื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราก็มีแนวคิดว่า ถ้าเราปรับสตริงเกอร์ให้มาสังกัดเราก็สามารถที่จะสั่งประเด็นให้เค้าทำข่าวหรือตามประเด็นที่เราต้องการได้ โดยไม่ต้องมีข้ออ้างอะไร เพราะเขากินเงินเดือนเรา 

ค่าตอบแทนต้องเหมาะสมเมื่อหวังคุณภาพ

         ยกตัวอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช เราบอกว่า จะให้เงินเดือนในเวลานั้นก็มากกว่าสมควร แต่เค้าบอกว่า ไม่เอา เค้าอยากเป็นสตริงเกอร์เพราะมีโอกาสที่จะทำงาน แล้วมีรายได้หลายทาง ฉะนั้นตรงนี้ จึงไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่า ถ้าหลักคิดเราต้องการให้สตริงเกอร์มาสังกัดเรา และให้เงินเดือนค่าตอบแทน หลายพื้นที่ที่เค้าไม่ได้ต้องการมีสังกัด ตรงนี้ตนไม่มีคำตอบ แต่มีข้อมูลที่จะบอกว่า ไม่ใช่สตริงเกอร์ทั้งหมด ที่ต้องไปดูรายได้หรืออะไร เค้าอยู่รอดได้

         เมื่อถามว่า ทิศทางที่ควรจะเป็น สำหรับสื่อสังกัดในการบริหารสติงเกอร์ควรจะต้องเป็นอย่างไร แบบไหน จักร์กฤษ ระบุว่า เรื่องนี้อาจจะใหญ่เกินไปที่เราจะมาพูดกัน แต่พอมองเห็นภาพอยู่ว่า เรื่องนี้อยู่ที่ต้นทางมากกว่า 1.นโยบายของสถานีที่เรียกร้องข่าวที่อาจจะตอบสนองเป้าหมายในเชิงรายได้ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะเดียวกัน องค์กรสื่อส่วนกลาง ถ้าต้องการได้ข่าวคุณภาพ และมีข่าวคุณภาพของตัวเอง ก็อาจจำเป็นต้องทบทวนเรื่องรายได้ให้สมน้ำสมเนื้อ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าไม่ได้ใส่ใจดูแลเรื่องนี้ สภาพก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีทางดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้อง 2 ทางด้วยกัน คือเรื่องนโยบายข่าว ที่จะเรียกร้องให้เค้าทำข่าวให้ตัวเอง ก็ต้องชัดเจนว่า ต้องการข่าวแบบไหน อย่างไร และต้องดูแลเค้า เมื่อเรียกร้องสูงก็ต้องสมน้ำสมเนื้อด้วย

         เมื่อถามว่า ภายใต้เทคโนโลยีที่ดิสรัป ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดต่างๆ ยังจำเป็นหรือไม่ จักร์กฤษ ระบุว่า ผมว่าไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ที่คนในพื้นที่ทำ ย่อมรู้เรื่องของพื้นที่ดีที่สุด ผมคิดว่า ความจำเป็นของนักข่าวท้องถิ่น หรือภูมิภาค ยังคงจำเป็น และต้องดูแลเค้า ไม่อย่างนั้น สภาพก็จะเป็นอย่างนี้ อย่างท่ี่เป็นมาตั้งนานแล้ว